การแก้ไขสนธิสัญญาเบาริงฯลฯ กับ อธิปไตยทางการคลัง
ผู้เรียบเรียง : พอพันธ์ อุยยานนท์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
การแก้ไขสนธิสัญญาเบาว์ริงที่สยามประเทศลงนามสัญญากับสหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ คือผลงานสำคัญประการหนึ่งในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อพัฒนาการเศรษฐกิจไทย
สาระสำคัญของสนธิสัญญา(หรือที่เรียกว่า สัญญาทางพระราชไมตรี)เบาว์ริงคือรัฐบาลไทยจะต้อง (๑) ยกเลิกการผูกขาดและยกเลิกข้อจำกัดทางการค้า (๒) จัดเก็บภาษีนำเข้าไม่เกินร้อยละ ๓ ของมูลค่าการนำเข้า (๓) ให้สิทธิแก่ชาวอังกฤษในการค้าขายและสามารถพักอาศัยได้อยู่ในกรุงเทพฯ และหากเกิดคดีความและข้อพิพาทระหว่างชาวอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษกับชาวไทย รัฐบาลไทยจะต้องให้สิทธินอกอาณาเขตแก่ชาวอังกฤษคนในบังคับอังกฤษโดยไม่ต้องขึ้นศาลไทย รัฐบาลได้ลงนามสนธิสัญญาประเภทเดียวกันนี้กับมหาอำนาจอื่น ๆ ในระยะเวลาต่อมา คือ สหรัฐอเมริกา (๒๓๙๙) ฝรั่งเศส (๒๓๙๙) เดนมาร์ก (๒๓๙๙) โปรตุเกส (๒๔๐๒) เนเธอร์แลนด์ (๒๔๐๓) เยอรมนี (๒๔๐๕) สวีเดน (๒๔๑๑) นอรเวย์ (๒๔๑๑) เบลเยี่ยม (๒๔๑๑) อิตาลี (๒๔๑๑) ออสเตรเลีย (๒๔๑๒) ฮังการี (๒๔๑๒) สเปน (๒๔๑๓) ญี่ปุ่น (๒๔๔๑) และรัสเซีย (๒๔๔๒)โดยในการนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้มีการเลี้ยงฉลอง “วันเสมอภาค” ของสยามเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ (ปลายปีในสมัยนั้น) มีพระราชดำรัสเฉลิมพระเกียรติอดีตพระมหากษัตริย์ ๓ พระองค์ ผู้ทรงดำเนินการเรื่องนี้มา เพราะแท้จริงพระองค์เองทรง “มีส่วนน้อยในการที่ประเทศสยามได้สู่อิศระภาพถึงเพียงนี้” จนนานาประเทศ “ได้ยอมรับให้เรามีฐานะเสมอเหมือนกับเขา ยอมทำสนธิสัญญาเสมอภาคกับเราแล้วทุกประเทศ”[1]
สนธิสัญญาเบาว์ริงและสนธิสัญญาอื่นๆ ที่สยามได้ลงนามกับประเทศต่างๆ ข้างต้น จึงมีผลข้อจำกัดต่อการเพิ่มรายได้ และการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ทำให้ไทยขาดอธิปไตยทางการคลังรวมทั้งการใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น การตั้งกำแพงภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ หรืออุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ข้อจำกัดที่เกิดจากสัญญาทางพระราชไมตรีข้างต้นมีผลต่อการขยายตัวของรายได้ ดังรายงานฉบับหนึ่ง ระบุว่า
" รายได้จากภาษีศุลกากรขยายตัวไม่ออกเลย และจำนวนเงินค่าภาษีที่เก็บได้ก็ไม่ได้ส่วนกับความเจริญแห่งการค้าขายของประเทศ ซึ่งได้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยไปนั้นด้วย พิกัดภาษีขาเข้าอย่างเก่าซึ่งใช้เก็บภาษีบรรดาสินค้าทั้วปวง เว้นแต่เหล้า แอลกอฮอล์ เป็นอัตราตายตัว คือ ร้อยชักสามตามราคาของนั้น นอกจากจะได้เงินเป็นจำนวนน้อยแล้ว ยังไม่เหมาะแก่การและผิดหลักวิธีการเก็บภาษีที่นิยมกันว่าดียิ่ง กล่าวคือ ที่จะให้เก็บเงินได้มากที่สุด แต่ให้มีความเดือดร้อนแก่การค้าขายน้อยที่สุดนั้นด้วย"[2]
ความพยายามของการแก้ไขสนธิสัญญาข้างต้นมีมาโดยตลอด ทั้งในรัชสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๖ ดร. เอลดอน อาร์. เจมส์ ( Eldon R. James) ที่ปรึกษาราชการกระทรวงต่างประเทศสามารถเจรจาให้รัฐบาลอเมริกันลงนามในสนธิสัญญาไทยอเมริกัน ซึ่งแก้ไขข้อผูกมัดด้านภาษีอากรและการศาลได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ต่อมา ได้แต่งตั้ง ดร. ฟรานซิส โบเวส แซร์ ( Francis Bowes Sayre) [3] เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยเดินทางไปเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาประเทศอังกฤษ และประเทศต่างๆโดยได้ทำงานมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดย สามารถทำให้ประเทศต่างๆ ยินยอมแก้ไขสนธิสัญญา ( ๒๔๖๗) เนเธอร์แลนด์ ( ๒๔๖๘) อังกฤษ (๒๔๖๘) สเปน ( ๒๔๖๘) โปรตุเกส ( ๒๔๖๘) ประเทศเดนมาร์ก ( ๒๔๖๘) สวีเดน (๒๔๖๘) อิตาลี (๒๔๖๙) เบลเยี่ยม (๒๔๖๙) นอรเวย์ (๒๔๖๙)[4]
ในปี ๒๔๖๘ ไทยสามารถแก้ไขอัตราภาษีในสนธิสัญญาเบาริงได้บางส่วน โดยสามารถเพิ่มอัตราภาษีได้มากกว่าร้อยละ ๓ ในบางประเทศของสินค้าอาจจะเป็นร้อยละ ๕, ร้อยละ ๓๐ ร้อยละ ๕๐ หรือ ๖๐ แล้วแต่กรณี การที่ไทยได้รับอธิปไตยทางการคลังบางส่วนจนเกือบสมบูรณ์ ในปีพ.ศ. ๒๔๖๘ มีผลให้รัฐบาลไทย ณ ขณะนั้นสามารถปรับปรุงอัตราภาษี (พิกัดอัตราภาษี) เพื่อเพิ่มรายได้จากภาษี ตัวอย่างข้างล่างนี้เป็น ดังรายงานในจดหมายเหตุสภาเผยแพร่พาณิชย์:
“รัฐบาลเริ่มประกาศใช้พิกัดภาษีใหม่มีนาคม ปี ๒๔๖๘ ได้กำหนดอัตราพิเศษไว้สำหรับสินค้านำเข้าหลายอย่าง เช่น ไม้ขีดไฟ น้ำมัน ก๊าด บุหรี่มวนเล็ก และน้ำตาล ซึ่ง ณ ขณะนั้นถือว่าเป็นสินค้าที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งเพิ่มภาษีขาเข้าแก่สินค้าต่างๆ ด้วย โดยเก็บเป็นอัตราภาษีร้อยชักห้าทั่วไปตามราคาของสินค้า แต่ได้เพิ่มค่าภาษีขาเข้าแก่สินค้าเหล้าต่างๆ ขึ้นคือ แอลกอฮอล์บริสุทธิ์เพิ่มจากลิตรละ ๑.๖๐ บาท เป็นลิตรละ ๒.๕๐ บาท และสุราที่ทำในประเทศนี้ เพิ่มเป็นลิตรละ ๒.๒๕ บาท …….ดังนั้นจึงถือได้ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในประเทศนี้เป็นเงินเพียง ๘ ล้านบาท คือคิดได้ว่าจากภาษีขาเข้าตามพิกัดใหม่ ๖ ล้านบาท และได้จากภาษีสุรา ๒ ล้านบาท [5]
ความพยายามแก้ไขสนธิสัญญาเบาริงได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มาประสบความสำเร็จในปี ๒๔๗๙ โดยได้รับอธิปไตยทางการคลังโดยสมบูรณ์ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยประสบความสำเร็จในการแก้ไขสนธิสัญญาเบาริง เพราะภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ สหราชอาณาจักรได้สูญเสียความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกให้แก่สหรัฐอเมริกา ทำให้อำนาจการต่อรองของไทยโดยผ่านการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกามีสูงขึ้น
นอกจากนี้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ไทยได้เข้าร่วมรบกับฝ่ายพันธมิตรอันมีอังกฤษเป็นผู้นำ และเกียรติภูมิของไทยในสายตาต่างประเทศมาสูงขึ้น ทำให้การเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาฯ สามารถทำได้ง่ายขึ้น
ศาสตราจารย์ อินแกรม (J.C. Ingram) ได้แสดงทัศนะว่า จุดประสงค์หลักของการจัดเก็บภาษีอากรนำเข้าเหล่านี้เพื่อที่จะเพิ่มรายได้ของรัฐบาลมากกว่าจะเป็นเครื่องมือกระตุ้นการขยายตัวของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีอากรนำเข้าย่อมมีผลทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศขยายตัวได้เช่นกัน อาทิเช่น อุตสาหกรรมบุหรี่ สบู่ และไม้ขีดไฟ[6] ผลจากการปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจึงมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้อย่างต่อเนื่องสัดส่วนของรายได้จากภาษีอากรนำเข้าเมื่อเทียบกับมูลค่าของสินค้านำเข้าทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๓.๗ ในปี ๒๔๖๙ เป็นร้อยละ ๒๒.๐ ในปี ๒๔๗๘ และสัดส่วนของรายได้ภาษีอากรนำเข้า เมื่อเทียบกับรายรับของรัฐบาลทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๗ เป็นร้อยละ ๒๕ ในช่วงเดียวกัน[7] ผลการเพิ่มของรายได้ทำให้รัฐบาลสามารถเพิ่มรายจ่ายงบประมาณในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย
บรรณานุกรม
เอกสารขั้นต้นจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หจช. รฟท. ๒/๑๑.จดหมายเหตุของสภาเผยแผ่พาณิชย์
หนังสือ
กรมศิลปากร. ๒๕๓๖. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหา
ประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.
บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บ.ก.) ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว.กรุงเทพ ฯ วัชรินทร์การพิมพ์ Ingram, J. C. Economic Change in Thailand ,1850-1970. California: Stanford University Press, 1971.
Website
พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) ผู้มีบทบาทในการยกเลิก ข้อผูกพันตามสนธิสัญญาเบาว์ริง, http://update.in.th/948)
อ้างอิง
- ↑ บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บ.ก.) ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว.กรุงเทพ ฯ วัชรินทร์การพิมพ์, หน้า ๙๑-๙๓.
- ↑ หจช. รฟท. ๒/๑๑.จดหมายเหตุของสภาเผยแผ่พาณิชย์
- ↑ สำหรับพระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) เกิดวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๘ เป็นบุตรเขยของวูดโรว์ วิลสัน อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ขณะดำรงตำแหน่งในประเทศไทย ได้ช่วยงานด้านการต่างประเทศของไทย โดยเป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๖ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดร.แซร์ มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขตามสนธิสัญญาเบาว์ริงที่ไทยทำ ไว้กับประเทศอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ ๔ และสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันที่ไทยทำไว้กับประเทศอื่น ๆ ซึ่งฝ่ายไทยเสียเปรียบมาก ดร.แซร์ เป็นผู้มีวิริยะ มีความสามารถทางการทูต และมีความตั้งใจดีทีจะช่วยเหลือประเทศไทยเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อประเทศไทย ดร.แซร์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ พระยากัลยาณไมตรีถึงแก่อนิจกรรมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ อายุได้ ๘๗ ปี
- ↑ กรมศิลปากร. ๒๕๓๖. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, หน้า ๔๒๒-๒๔.
- ↑ หจช. รฟท. ๒/๑๑.จดหมายเหตุของสภาเผยแผ่พาณิชย์
- ↑ ในประเด็นนี้โปรดดูใน Ingram, J. C. Economic Change in Thailand ,๑๘๕๐ – ๑๙๗๐. California: Stanford University Press, ๑๙๗๑. , pp. ๑๘๒ – ๑๘๔.
- ↑ Ingram, J. C. Economic Change in Thailand ,๑๘๕๐ – ๑๙๗๐. California: Stanford University Press, ๑๙๗๑. , pp. ๑๘๒ – ๑๘๔.