การเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๔๗๔
ผู้เรียบเรียง : ภาพิศุทธิ สายจำปา
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
ความนำ
การเสด็จพระราชดำเนินออกนอกประเทศประพาสสหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่นนี้ เป็นครั้งที่ ๓ ในรัชกาล ซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่เสด็จออกจากพระนครวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ (พ.ศ. ๒๔๗๔ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) ถือวันที่เสด็จคืนสู่พระนครวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นเวลานานถึงเกือบ ๗ เดือน
เหตุผลของการเสด็จฯ
มูลเหตุเบื้องต้นของการเสด็จฯ คือมีความจำเป็นที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกในพระเนตรซ้ายที่สหรัฐอเมริกา เนื่องเพราะในสมัยนั้นการแพทย์ในประเทศสยามยังไม่เจริญพอที่จะทำการผ่าตัดชนิดนี้ได้ แต่ด้วยทรงตระหนักในพระราชหฤทัยถึงพระราชภารกิจในฐานะพระมหากษัตริย์ว่าจะต้องทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ จึงต้องพระราชประสงค์จะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจนั้นด้วยพร้อมกันไป แม้ในลักษณะที่เป็นเพียงทางการในบางช่วง อีกทั้งที่จะทรงใช้โอกาสนั้นทรงศึกษาดูงานเพื่อที่จะได้ทรงทราบด้วยพระองค์เองถึงความก้าวหน้าต่างๆ ในประเทศที่เสด็จฯ เพื่อนำมาปรับใช้ให้สังคมสยามมีความเจริญยิ่งขึ้นตามลำดับ ซึ่งสหรัฐอเมริกามีทั้งด้านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและด้านเทคโนโลยี่เป็นต้น เหตุผลประการสุดท้ายของการเสด็จฯ ก็คือ เพื่อที่จะได้ทรงพักผ่อนพระวรกายหลังการผ่าตัด และหลังจากที่ได้ทรงงานอย่างหนักมาแล้วเป็นเวลาหลายปีนับแต่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทรงเลือกที่สหรัฐอเมริกา ด้วยเป็นประเทศที่ไม่มีพระราชวงศ์ให้ต้องทรงเยี่ยมเยียนเฉกเช่นในยุโรป และเสด็จประพาสประเทศแคนาดาเป็นการส่วนพระองค์เป็นส่วนใหญ่ในบรรยากาศของธรรมชาติที่เงียบสงบด้วย
อนึ่ง สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศซึ่งทั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เคยเสด็จมาแล้วในพระสถานะสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาและพระชายา ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ ในเส้นทางเสด็จกลับจากประเทศฝรั่งเศส ที่ซึ่งเสด็จไปรักษาพระเนตรและทรงศึกษาเพิ่มเติมตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๓ บทความนี้จึงจะได้สอดแทรกการเปรียบเทียบเส้นทางเสด็จสองครั้งนี้ไว้ด้วยตามควร
การเตรียมการเสด็จฯ
โดยที่จะต้องทรงเข้ารับการผ่าตัดพระเนตรและทรงพักฟื้นหลังจากนั้นระยะหนึ่งที่สหรัฐอเมริกา จึงต้องมีการจัดหาที่ประทับที่ไม่ใช่โรงแรม และมีความเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งหม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร อัครราชทูตสยามประจำสหรัฐอเมริกาได้ทรงจัดหาคฤหาสน์โอฟีร์ ฮอลล์ (Ophir Hall) ไว้ก่อนหน้า คฤหาสน์หลังนี้ตั้งอยู่ใกล้เมืองไวท์เพลนส์ (White Plains) เขตปกครองนิวยอร์ค (New York State) นางไวท์ลอว์ รีด (Mrs. Whitelaw Reid) ภริยาหม้ายของอดีตเอกอัครราชทูตวิสามัญของสหรัฐอเมริกาประจำประเทศอังกฤษ เจ้าของ ถวายเป็นที่ประทับ ซึ่งตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์อเมริกันเป็นโดยไม่คิดมูลค่า[1] และทางการสยามได้จัดเตรียมห้องๆ หนึ่งไว้เป็นห้องผ่าตัดที่ทันสมัยพร้อมสำหรับใช้ในการผ่าตัดพระเนตร บ้านนี้มีห้องจำนวนมากและเรือนต่างหากสำหรับข้าราชบริพารได้พำนักใช้เป็นสำนักงานประสานงานติดต่อทางโทรเลขและโทรศัพท์กับกรุงเทพ และกรุงวอชิงตัน พร้อมสนามกอล์ฟและสระว่ายน้ำกลางแจ้ง กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาจัดผู้รักษาความปลอดภัยจากองค์กรสืบราชการลับและตำรวจดูแลไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องได้เข้าไปในบริเวณ เพื่อจะได้ประทับอยู่อย่างเป็นการส่วนพระองค์จริงๆ [2]
สำหรับค่าใช้จ่ายในการเสด็จพระราชดำเนินคราวนี้ มีพระราชดำรัสว่าไม่ต้องพระราชประสงค์จะรบกวนพระคลังมหาสมบัติ (งบประมาณแผ่นดิน) นอกจากเงินค่ารักษาพระองค์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาทที่จัดไว้ในงบประมาณประจำปีสำหรับการเสด็จประพาส[3] รวมความว่านอกเหนือจากนั้น จ่ายจากเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งถือเป็นเงินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ ๕๕๐,๐๐๐ บาท แต่กระนั้น ก็มีหลักฐานว่าทรงใช้จ่ายอย่างประหยัด เช่น ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชินี ก็ตัดเย็บเป็นแบบตะวันตกในประเทศสยาม[4] เว้นบางรายการที่ไม่มีจำหน่ายในประเทศซึ่งต้องทรงจัดหาในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ส่วนกรณีเครื่องแต่งกายข้าราชบริพารในกระบวนเสด็จ เช่นของจางวางมหาดเล็ก และข้าหลวงนั้น ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดให้เหมาะแก่หน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติ ไม่ใช่ตามชั้นยศที่ดำรงอยู่ในประเทศสยาม
ที่น่าสนใจและสำคัญก็คือ ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษาการต่างประเทศของสยามชาวอเมริกันเป็นประธานในการประชาสัมพันธ์ประเทศสยามและพระราชกรณียกิจโดยมีนายราลฟ์ เฮส์ (Ralph Hayes) เป็นเลขานุการ ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในระบบแบ่งแยกอำนาจที่มีประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งเป็นทั้งประมุขและหัวหน้ารัฐบาล ต่างจากระบอบการปกครองของสยามสมัยนั้นที่มีพระมหากษตริย์ทรงทำหน้าที่ทั้งสองอย่าง สื่อมวลชนและประชาชนชาวอเมริกัน แม้ว่าจะมีความสนใจในการเสด็จฯ ของพระเจ้าแผ่นดินจากตะวันออก แต่ก็ไม่คุ้นชิน อีกทั้งอาจมีความรู้ที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับประเทศสยามและทั้งสองพระองค์ จึงต้องมีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งโดยการให้สัมภาษณ์ การออกข่าวแถลง (press releases) และการบรรยายตามสมาคมสโมสรต่างๆ [5]
นายสตีเวนส์ และนายเฮส์ได้จัดทำแฟ้มที่ลงข่าวพระราชกรณียกิจในระยะทางเสด็จฯ จำนวน ๑๖ แฟ้ม ในนามคณะกรรมการของบรรดามิตรอเมริกันของสยาม (Committee of American Friends of Siam) ขึ้นทูลเกล้าถวายทั้งสองพระองค์เป็นการส่วนพระองค์ (จ่าหัวว่า “To T.R.H. The Prince and Princess of Sukhodaya”) จึงเป็นแหล่งข้อมูลระยะทางเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ซึ่งมีให้บริการอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติในปัจจุบัน (เอกสารส่วนพระองค์) และพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสำเนาไมโครฟิล์มไว้ให้บริการด้วย ในการเรียบเรียงบทความนี้ จึงได้ใช้กฤตภาคชุดนี้เป็นหลักในการปะติดปะต่อระยะทางเสด็จพระราชดำเนินให้ได้โดยสังเขป (แม้ว่าบางครั้งกฤตภาคนี้จะไม่มีชื่อของหนังสือพิมพ์ปรากฏให้เห็น) ทั้งนี้เพราะไม่พบว่ามีการจัดทำจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้โดยผู้ที่อยู่ในกระบวนเสด็จฯ ไม่เหมือนกับกรณีเสด็จเยือนสิงคโปร์ ชวา บาหลี ในพ.ศ. ๒๔๗๒ และ อินโดจีนของฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๗๓ อีกทั้งเอกสารจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันรัชกาลที่ ๗ ก็ไม่มีเกี่ยวกับช่วงเวลานี้ โดยแจ้งว่าต้นฉบับยังหาไม่พบ[6] นอกจากนั้น ใช้เอกสารจดหมายเหตุของกระทรวงการต่างประเทศและของสำนักราชเลขาธิการเท่าที่จะเข้าถึงได้
ระยะทางเสด็จฯ โดยสังเขป
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จฯ จากพระนครไปยังประเทศญี่ปุ่นก่อน จากนั้นเสด็จฯ ผ่านประเทศแคนาดาข้ามไปยังสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งประทับอยู่เป็นเวลาประมาณ ๓ เดือน ระหว่างวันที่ ๒๓ เมษายน และวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ จากนั้นเสด็จฯ กลับทางประเทศแคนาดาที่ซึ่งประทับอยู่ประมาณหนึ่งเดือนกว่า และเสด็จฯ ผ่านเกาะฮาวาย (ฮาไวอิ) ของสหรัฐอเมริกาข้ามมหาสมุทรปาซิฟิกมาประพาสประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง ก่อนที่จะเสด็จนิวัตพระนคร
เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีจากกรุงเทพฯเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ (พ.ศ. ๒๔๗๔ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) เสด็จฯ ถึงเกาะฮ่องกงของอังกฤษในวันที่ ๓๑ มีนาคม ผู้สำเร็จราชการรับเสด็จแล้ว เสด็จประพาสเมืองแล้ว ประทับเรือเอมเปรส ออฟ แจแปน (Empress of Japan) เวลาค่ำ ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ เคยเสด็จฮ่องกงแล้วเป็นเวลา ๓ วัน ครั้นวันรุ่งขึ้นวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๔ เรือออกจากฮ่องกง ถึงเมืองเซี่ยงไฮ้ในวันที่ ๓ เมษายน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรับเสด็จในนามประธานาธิบดี นายพลเจียงไกเช็ค ผู้ซึ่งได้เชิญเสด็จประพาสด้วย แต่ได้ทรงขอบใจและปฏิเสธด้วยอาการแห่งพระเนตร จึงมีเพียงการยิงสลุต ๒๑ นัดเฉลิมพระเกียรติ ค่ำวันนั้นเรือออกจากท่าเมืองเซี่ยงไฮ้มุ่งหน้าสู่ประเทศญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น: วันที่ ๗ เมษายน เรือถึงเมืองโยโกฮามา (Yokohama) ประเทศญี่ปุ่น เมืองที่เคยเสด็จถึงแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ รองเสนาบดีกระทรวงวังของญี่ปุ่นรับเสด็จฯ แล้วนำเสด็จฯ โดยขบวนรถไฟพิเศษไปยังกรุงโตเกียว (Tokyo) ซึ่งเคยเสด็จแล้วเช่นกัน เจ้าชายและเจ้าหญิงชิชิบุ (Prince and Princess Chichibu) รับเสด็จฯ ไปที่วังกาสมิคาเซกิ เสด็จเข้าเฝ้าฯ พระจักรพรรดิ์ฮิโรฮิโต ทั้งนี้เมื่อครั้ง พ.ศ. ๒๔๖๗ ไม่ได้ทรงเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าจักรพรรดิ์องค์ก่อน แต่ได้ทรงพบกับพระยุพราชเป็นการส่วนพระองค์ วันรุ่งขึ้นที่ ๘ พระจักรพรรดิ์เสด็จฯ มาเฝ้าฯ ตอบแทน แสดงให้เห็นว่า เจ้านายของสองราชวงศ์มีความสัมพันธ์อันดีต่อเนื่องมาและยังคงมีพระราชไมตรีต่อกัน จากนั้นเสด็จฯ ไปงานฮานามัตสุรี (Hanamatsuri) ณ สวนฮิบายา (Hibaya Park) ในวันฉลองประสูติพระพุทธเจ้า ทรงเผากำยานตามประเพณีญี่ปุ่น จากนั้นเสด็จฯ ไปยังอนุสาวรีย์ยาชูกุนิ (Yasukuni Shrine) ของทหารสิ้นชีพในสงครามและศาลเจ้าเมจิ (Meiji Shrine) ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ ได้เสด็จที่แห่งแรกเช่นกันตามประเพณี ค่ำวันนั้น ทอดพระเนตรการแสดงละครเรื่องรามเกียรติ ซึ่งศิลปินชาวญี่ปุ่นแสดงถวายเป็นกรณีพิเศษ ณ โรงละครคาบูกิซา (Kabukiza Theatre) กับเจ้าชายชิชิบุ [7]
วันที่ ๙ เมษายน เสด็จยังเมืองกามากุระ (Kamakura) เพื่อทรงนมัสการพระพุทธรูปไดบุตสุ (Daibutsu Buddha) ตามที่มีพระราชประสงค์เป็นพิเศษ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง และทอดพระเนตรต้นสนซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปลูกไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้วเสด็จต่อไปยังเมืองโยโกฮามา ประทับเรือเอเปรสออฟแจแปนออกจากประเทศญี่ปุ่น มีนักเรียนและชาวเมืองพากันมาส่งเสด็จอย่างแน่นขนัด [8] เรือแล่นมหาสมุทรปาซิฟิกสู่ประเทศแคนาดา
แคนาดา: วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ ๒๔๗๔ เรือถึงเมืองวิคตอเรีย (Victoria) เมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศแคนาดา หม่อมเจ้าอมรทัต นายสตีเวนส์ นายราลฟ์ และคนอื่นๆ ฝ่ายสยามเฝ้าฯ แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประชวรหลอดลมอักเสบ สมเด็จพระบรมราชินีจึงได้เสด็จออกแทนพระองค์ให้คณะผู้แทนของรัฐบาลแคนาดาเฝ้าฯ มีสื่อมวลชนทำข่าวเนืองแน่น นักข่าวหญิงซึ่งเคยทำงานที่หนังสือพิมพ์บางกอก เดลีเมล์ ของกรมพระคลังข้างที่ รายงานว่าสมเด็จฯ ผู้ทรงพระสิริโฉมยิ่ง มิได้ทรงแสดงพระอาการหวั่นไหวแต่อย่างใด ทรงวางพระองค์อย่างสง่างามในฉลองพระองค์ซึ่งมีเครื่องประดับพองาม[9]
อนึ่ง ประเทศแคนาดาเคยเป็นอาณาจักรที่มีการปกครองตนเอง (Dominion) ของอังกฤษ แต่ในปี ค.ศ. 1931 (พ.ศ.๒๔๗๓) อังกฤษได้ยอมรับว่าเป็นประเทศอิสระที่ทัดเทียมกับตน โดยมีพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษเป็นประมุข คือเป็นสมาชิกเครือจักรภพอังกฤษ (British Commonwealth) ปกครองในระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ในระบบรัฐสภา โดยเป็นสหพันธรัฐ (federation) ของแคว้น (Provinces) ต่างๆ เมืองวิคตอเรียนี้อยู่ในแคว้นบริติชคอลัมเบีย (British Columbia) เช่นเดียวกับเมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) เมืองท่าขึ้นไปทางทิศเหนือ ที่ซึ่งเรือลำเดิมไปถึงในวันต่อมา
วันที่ ๑๗ เมษายน เสด็จฯ ถึงเมืองแวนคูเวอร์ ผู้ว่าราชการเมือง (Mayor) เฝ้าฯ แต่เนื่องด้วยทรงพระประชวรจึงงดพิธีรับรอง ค่ำวันนั้น เสด็จโดยขบวนรถไฟพิเศษข้ามทวีปอเมริกาเหนือไปทางทิศตะวันตกเพื่อเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างทางเสด็จฯ สู่สถานีรถไฟ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาหยุดให้สื่อมวลชนที่เฝ้ารอคอยได้ฉายพระรูป ระยะทางเสด็จโดยรถไฟนี้รายละเอียดที่ชัดเจนยังไม่พบ
สหรัฐอเมริกา: วันที่ ๒๒ เมษายน เวลา ๙.๓๐ ที่สถานีเมืองออลบานี (Albany) ในมลรัฐนิวยอร์ค (New York State) สหรัฐอเมริกา องครักษ์ของผู้ว่าการมลรัฐได้ขึ้นไปบนขบวนรถไฟ แต่ยังไม่ได้เฝ้าฯ จนรถไฟไปถึงสถานีเมืองสกาเบอโร (Scarborough) ในเวลา ๑๒.๐๐ น. ที่ซึ่งเสด็จลงจากรถไฟเขาได้กล่าวรับเสด็จในนามผู้ว่าการมลรัฐและชาวมลรัฐนิวยอร์ค มีพระราชดำรัสตอบว่าทรงทราบว่ามีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพมากที่นครนิวยอร์คนับตั้งแต่เสด็จมาเมื่อไม่ถึง ๗ ปีก่อนหน้า ทรงดีพระทัยที่ได้เสด็จมาถึงที่ซึ่งจะเป็น “บ้าน” (home) ที่ประทับในสหรัฐฯ[10] จากนั้นได้เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังโอฟีร์ฮอล์ที่ซึ่งมีพิธีรับเสด็จสั้นๆ ในนามผู้ว่าการมลรัฐฯ ชื่อรูสเวลท์ (Governor Roosevelt) ก่อนที่จะตั้งเครื่องเสวยกลางวันถวาย
วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๔ (ค.ศ. ๑๙๓๑) พระราชกรณียกิจแรกที่โอฟีร์ ฮอล์ คือการพระราชทานสัมภาษณ์แก่นักหนังสือพิมพ์อเมริกัน ๔ คน โดยนักข่าวได้เฝ้าฯ สมเด็จฯ ด้วย หลังจากนั้น พระราชทานพระแถลงการณ์ (Press Release) ผ่านสมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระบิดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ซึ่งได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ (ดูรายละเอียดในหัวข้อถัดไป) วันนี้ทรงได้รับข่าวการสิ้นพระชนม์ของกรมพระจันทบุรีนฤนารถที่ปารีส แต่ไม่ได้โปรดเกล้าฯให้งดพระราชกิจสำคัญในวันถัดไป
วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เวลา ๑๘.๐๐ น. ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ถึงสถานีรถไฟยูเนียน (Union Station) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (Washington D.C.) โดยขบวนพิเศษ รองประธานาธิบดีเคอร์ทิส (Vice – President Curtis) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสติมสัน (Secretary Stimson) รับเสด็จพร้อมทหารนาวิกโยธินเกียรติยศ ๒ แถวตามทาง ทรงพระดำเนิน เป็นการรับเสด็จอย่างย่อเนื่องด้วยเป็นเวลาค่ำ เสด็จไปประทับแรมที่บ้านในกรุงของนายและนางลาร์ซ แอนเดอร์สัน (Mr. and Mrs. Larz Anderson) อดีตนักการทูตชาวอเมริกัน บนถนนแมสซาชูเซ็ทส์ (Massachusetts Avenue) ผู้จัดถวายโดยไม่คิดมูลค่า [11]
วันที่ ๒๙ เมษายน เวลา ๑๑.๐๐ ประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (President Herbert Hoover) เข้าเฝ้าฯ ณ ที่ประทับ ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะแพทย์กราบทูลแนะนำให้งดการเสด็จออกไปที่สุสานศพทหารผู้สละชีวิตในสงคราม (Arlington Cemetary) และได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ เสด็จแทนพระองค์ไปยังบ้านเดิมของยอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ประธานาธิบดีท่านแรก ที่เมาท์เวอร์นอน (Mt. Vernon) ค่ำวันนั้นเวลา ๒๐.๐๐น. ประธานาธิบดีฮูเวอร์จัดเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวายอย่างหรูที่ทำเนียบขาว (The White House)
วันที่ ๓๐ เมษายน ผู้แทนมหาวิทยาลัย ๗ แห่ง กรมศึกษาธิการอเมริกัน สภาการศึกษาอเมริกัน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และมหาวิทยาลัยยอร์จ วอชิงตัน (George Washington University) ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (Doctor of Law, Honoris Causa) แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยทรงมีพระปรีชาสามารถทางรัฐประศาสโนบาย ณ อาคารแพนอเมริกัน ยูเนียน (Pan-American Union Building) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. [12] จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จไปยังเมืองบอลติมอร์ (Baltimore) ไกลจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี เพื่อทรงรับการตรวจพระเนตรจาก ดร.วิลเลี่ยม ฮอลแลนด์ วิลเมอร์ (Dr. William Holland Wilmer) จักษุแพทย์ผู้มีชื่อเสียงด้านการวิจัยโรคต้อที่สถาบันวิลเมอร์ แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปคินส์ (Johns Hopkins University) มลรัฐแมรี่แลนด์ (Maryland) [13] สมเด็จพระบรมราชินีเสด็จไปยังบ้านเดิมและฟาร์มของอดีตประธานาธิบดีวอชิงตันกับนางฮูเวอร์ (ข่าวบางชิ้นรายงานว่าสมเด็จฯ โดยเสด็จฯ ไปสถาบันวิลเมอร์) ค่ำวันนั้นเวลา ๒๐.๐๐ น. ทั้งสองพระองค์เสด็จในงานถวายพระกระยาหารค่ำที่สถานอัคราชทูตสยาม
วันที่ ๒ พฤษภาคม นายเฟรเดอริค แมคลอกลิน (Frederick McLaughlin) นายกเทศมนตรี (Mayor) เมืองไวท์ เพลนส์ ทูลเกล้าฯ ถวายกุญแจทองคำแห่งเมืองแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ณ ห้องประชุมโรงเรียนมัธยมเมือง ด้วยถือเป็นเกียรติยศแก่เมืองที่ทรงเลือกประทับในเขตเมืองนี้[14] คณะมิชชันนารีสำนักเพรสบีแทเรียน (Presbyterian) เฝ้าที่โอฟีร์ ฮอล สำนักนี้มีโรงเรียนและโรงพยาบาลในสยาม นายเจมส์ เจ วอล์คเกอร์ นายกเทศมนตรี (Mayor James J. Walker) และคณะเทศมนตรีจัดพิธีรับเสด็จเป็นขบวนรถแห่เข้าเมืองไปยังศาลาว่าการนครนิวยอร์ค (New York City Hall) [15]
ในระหว่างที่ประทับที่นครนิวยอร์ค ทรงประกอบพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ เช่น เสด็จฯ ไปยังสมาคมการค้าแห่งนิวยอร์ค และไปทอดพระเนตรการทดลองส่งภาพทางไกล และการทดลองภาพยนตร์ประกอบเสียงของบริษัทอเมริกันเทเลโฟน [16]
เมื่อเสร็จพระราชกรณียกิจที่สำคัญๆ เนื่องด้วยการทรงเจริญพระราชไมตรีเหล่านี้แล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ กลับประทับ ณ โอฟีร์ ฮอล์เพื่อเตรียมพระองค์สำหรับการผ่าตัดพระเนตร
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม นายแพทย์จอห์น เอ็ม วีลเลอร์ (John M. Wheeler) แห่งโรงพยาบาลเพรสซีเทเรียน (Presgyterian Hospital) แห่งนครนิวยอร์คถวายการผ่าตัดต้อกระจกในพระเนตรซ้าย ณ คฤหาสน์โอฟีร์ ฮอล์ [17] โดยการผ่าตัดต้อกระจกในสมัยนั้นซึ่งหากเทียบกันในสมัยปัจจุบันต้องนับได้ว่ายังไม่ก้าวหน้ามากนัก ต้อทำการผ่าตัดสองครั้ง ซึ่งที่สหรัฐอเมริกานี้เป็นครั้งแรกเพื่อเอาเลนส์ (lens) พระเนตรออก แล้วต้องทรงฉลองพระเนตรพิเศษแทน ทิ้งพระเนตรไว้เช่นนั้นก่อน แล้วจึงทำการผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้ต้องเสด็จฯ ไปผ่าตัดพระเนตรเบื้องซ้ายอีกเป็นครั้งที่สอง ซึ่งครั้งที่สองนี้เป็นในระหว่างการเสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ถวายการผ่าตัดโดยเซอร์สจ้วด ดุ๊ก-เอลเดอร์ (Sir Stewart Duke-Elder) ที่ลอนดอนคลีนิค กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ [18]
หลังการผ่าตัดต้องทรงพักรักษาพระองค์และทรงพระสำราญอย่างเงียบ อยู่ที่โอฟีร์ ฮอล์เป็นเวลา ๑ เดือน จากนั้นได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรกิจการต่างๆ หลากหลายรวมทั้งมีพระราชปฏิสันถารกับบุคคลผู้มีชื่อเสียงหลายท่านทั้งที่เมืองไวท์เพลนส์เองและที่เมืองอื่นๆ ในแถบตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่นับว่าน่าสนใจมีดังนี้
เสด็จยังนครนิวยอร์คอีกครั้งหนึ่ง ทอดพระเนตรตึกเอมไพร์ สเตต (Empire State Building) ซึ่งสูงสุดในขณะนั้น และโปรดเกล้าฯ ให้นายเนลสัน รอคกี้เฟลเลอร์ (Nelson Rockerfeller) มหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจและมูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ซึ่งให้การสนับสนุนการแพทย์และกิจการมหาวิทยาลัยในสยามเฝ้าฯ อีกทั้งเสด็จฯไปยังเมืองเลควูด (Lakewood) มลรัฐนิวเจอร์ซี (New Jersey State) ทอดพระเนตรและประทับยานอากาศ (dirigible) ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ชื่อ ลอส แองเจลลิส (Los Angeles) บินรอบมลรัฐนิวยอร์ค โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โดยเสด็จบนเครื่องด้วย ซึ่งเป็นกรณีพิเศษที่มีการอนุญาตให้สตรีได้ขึ้นยานอากาศชนิดนี้ทั้งนี้ สมเด็จฯ ได้เคยประทับยานอากาศอีกชนิดหนึ่งก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ครั้งที่เสด็จเยือนเกาะชวาใน พ.ศ. ๒๔๗๒ กล่าวได้ว่าทั้งสองพระองค์สนพระราชหฤทัยทั้งในความก้าวหน้าและประโยชน์ของเทคโนโลยีการบิน และที่จะได้ทอดพระเนตรภูมิสถานบ้านเมืองที่กำลังเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจากทางอากาศ
ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสด็จเยี่ยมนายธอมัส เอดิสัน (Thomas Edison) วัย ๘๔ ปี นักประดิษฐคิดค้นด้านไฟฟ้าและโทรศัพท์ผู้ต่อมาถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ นั้นเอง ทอดพระเนตรศูนย์การทดลองด้านไฟฟ้าของบริษัทเยนเนอรัล อีเลคทริค (General Electric Company) ในมลรัฐนิวยอร์ค กิจการของสถานีวิทยุและโรงแรมของอาร์.ซี.เอ (Radio Corporation of America) ทั้งที่มลรัฐนิวยอร์คและมลรัฐนิวเจอร์ซี่ (New Jersey) ทรงทัศนศึกษาโรงถ่ายภาพยนตร์ของบริษัทปาราเมานต์ (Paramount) ลองไอส์แลนด์ (Long Island) เสวยพระกระยาหารกลางวันกับผู้จัดการและทอดพระเนตรภาพยนตร์เสียงในฟิล์มซึ่งเป็นของใหม่ที่นั่น รวมทั้งต่อมาที่โรงภาพยนตร์ของปาราเมานต์ในนครนิวยอร์ค แสดงให้เห็นถึงการที่โปรดจะทรงเรียนรู้จากผู้รู้และของจริงในกิจการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งกำลังรุดหน้าไปมากในสหรัฐอเมริกาและพระราชนิยมด้านการทรงถ่ายภาพยนตร์ด้วยพระองค์เอง
ในด้านการสื่อสารมวลชนประเภทสิ่งพิมพ์ เสด็จทอดพระเนตรสำนักงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ค เฮราลด์ ทริบูน (New York Herald Tribune) ซึ่งสอดคล้องกับพระบรมราโชบายที่ทรงสนับสนุนกิจการของหนังสือพิมพ์ในประเทศสยาม
โดยที่เคยทรงเป็นนายทหารบกอาชีพ ได้เสด็จยังโรงเรียนนายร้อยทหารบกเวสต์ปอยต์ (West Point) ทอดพระเนตรการสวนสนามและมีพระราชปฏิสันถารกับนายพลแมคอาร์เธอร์ (Gen. McArthur) เสนาธิการ และนักเรียนไทยที่สถาบันนั้น
พระราชนิยมในทางกีฬา ปรากฏให้เห็นในการเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันโปโลและเทนนิสซึ่งจัดถวายเป็นกรณีพิเศษ และการแข่เรือระหว่างมหาวิทยาลัยเยล (Yale) กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard)
ในด้านศิลปวัฒนธรรมและการพิพิธภัณฑ์ เสด็จยังหอศิลป์ (Art Museum) และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum) อีกทั้งทอดพระเนตรละครและมหาอุปรากร
นอกจากนั้น ยังได้มีพระราชปฏิสันถารกับบุคคลในระดับสูงสุด ฝ่ายปกครอง ๓ ระดับ สหพันธ์รัฐระดับมลรัฐ ระดับนคร และเมือง (federal, state and city) คณะผู้แทนสมาคมเอเชียศึกษาอเมริกัน (American Asiatic Association) และผู้มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ หลายท่าน รวมทั้งได้ทรงเชิญพระยาและคุณหญิงกัลยาณไมตรี (Dr. and Mrs. Francis B.Sayre) อดีตที่ปรึกษาการต่างประเทศของรัฐบาลสยามมารับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำและค้างคืนที่โอฟีร์ ฮอลล์ ด้วย อนึ่ง ในระหว่างที่ประทับอยู่ในสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ไม่ได้เสด็จยังฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ด้วยเคยเสด็จแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗
แคนาดา: ครั้นวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จออกจากสหรัฐอเมริกาโดยขบวนรถไฟจากสถานีสการ์โบโรเพื่อเสด็จประพาสถิ่นตะวันออกของประเทศแคนาดา โดยในวันที่ ๓ สิงหาคม เสด็จถึงนครมอนทรีออล (Montreal) เมืองหลวงของแคว้นควิเบค (Province of Quebec) นายกเทศมนตรีนคร (Mayor) รับเสด็จ เสด็จประพาสเมือง ประทับนอกเมืองอยู่หลายวันก่อนที่จะเสด็จต่อไป
วันที่ ๑๐ สิงหาคม เสด็จถึงกรุงออตตาวา (Ottawa) แคว้นออนเทริโอ (Ontario) เมืองหลวงของประเทศแคนาดา ผู้สำเร็จราชการของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ (องค์ประมุขของแคนาดา) นายกรัฐมนตรี นายทหาร และนายกเทศบาล (Mayor) กรุงออตตาวาเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างเป็นทางราชการ ณ สถานีรถไฟยูเนียน (Union Station) มีการยิงสลุตและแถวกองทหารเกียรติยศ มีประชาชนมาเฝ้าดูการรับเสด็จมากมาย[19] เสด็จประทับแรม ณ ทำเนียบรัฐบาล (Government House และในวันรุ่งขึ้น ผู้สำเร็จราชการนำทอดพระเนตรกิจการต่างๆ ณ รัฐสภาที่ปาลิเมนต์ ฮิลล์ (Parliament Hill) ค่ำวันนั้นส่งเสด็จออกจากออตตาวาไปยังอุทยานแห่งชาติหุบเขาแบนฟฟ์ (Banff National Park) ในแคนาดาตะวันตกเฉียงใต้ ทรงรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรทิวทัศน์ทะเลสาบต่างๆ รวมตลอดถึงการแข่งขันตกปลาแซลมอนในแม่น้ำสเปรี (Sperry River) ในแคว้นแอลเบอร์ตา (Alberta) ทรงบันทึกภาพปลาแซลมอนตัวเขื่องที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชบุตรบุญธรรม ทรงตกได้และทรงได้รับรางวัลชมเชย [20] ทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬาที่สูงประจำปี (Highland Games) ของชาวสก็อตในประเทศแคนาดา พระรูปหมู่ปรากฏมีผู้เยาว์ที่ทรงพระราชอุปการะมาแต่วัยเยาว์ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือโดยเสด็จ[21] แสดงว่าช่วงนี้เป็นการทรงพระสำราญและพักผ่อนพระวรกายมากกว่าอย่างอื่น
จากเมืองแบนฟฟ์ เสด็จต่อไปยังน้ำพุร้อนแฮริสัน ฮอตสปริงส์ (Harrison Hot Springs) ประทับอยู่ ๓ วันระหว่างวันที่ ๒-๕ กันยายน แล้วเสด็จต่อไปยังเมืองแวนคูเวอร์ เสวยพระกระยาหารกลางวันและทรงจับจ่ายสิ่งของ ประทับเรือพิฆาตตอร์ปิโด (Torpedo boat) ของรัฐบาลแคนาดา ชื่อว่า สกีนา แล้วเสด็จโดยรถยนต์ไปประทับที่ชายทะเล
วันที่ ๑๐ กันยายน เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังเมืองวิคตอเรีย เสด็จถึงเวลา ๑๐.๐๐ น. นายกรัฐมนตรีของแคว้นบริติชโคลัมเบีย และสมุหเทศาภิบาลเมืองเฝ้าฯ และถวายพระกระยาหารค่ำที่ทำเนียบรัฐบาล
วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๔ เสด็จลงเรือเอมเปรสออฟแคนาดา (Empress of Canada) ออกจากวิคตอเรียมุ่งสู่เกาะฮาวายของสหรัฐอเมริกา ในเส้นทางเสด็จกลับ
วันที่ ๑๗ กันยายน เสด็จถึงเมืองฮอนโนลูลู (Honolulu) บนเกาะฮาไวอิ ผู้ว่าราชการเกาะเฝ้าฯ รับเสด็จ แล้วนำเสด็จประพาสเมือง ตั้งเครื่องเสวยกลางวันถวายที่วอชิงตันเพลส (Washington Place) ทำเนียบผู้ว่าราชการแล้วเสด็จทอดพระเนตรกีฬาเสิร์ฟบอร์ด (surf board) ที่หาดไวกิกิ (Waikiki) เสยาพระกระยาหารค่ำกับเจ้าหญิงเดวิด กาวานานากัว ภรรยาผู้ปกครองเกาะชาวพื้นเมืองผู้ล่วงลับ
วันที่ ๑๘ กันยายน เสด็จจากฮอนโนลูลูโดยเรือ
วันที่ ๒๗ กันยายน เสด็จถึงเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น มีการรับเสด็จเช่นเดียวกับขาเสด็จไป
เวลา ๑๕.๓๐ น. เสด็จโดยรถยนต์ถึงเมืองนาโกย่า (Nagoya) ผู้ว่าราชการจังหวัดและเทศาภิบาลเมืองรับเสด็จ คณะสงฆ์ ลูกเสือ นักเรียน และพลเมืองเฝ้าชมพระบารมีอย่างเนืองแน่น เสด็จทอดพระเนตรวัดนิสเสนจิในพระพุทธศาสนา วันที่ ๒๘ กันยายน เสวยพระกระยาหารกลางวันกับสมาชิกสมาคมสยามในญี่ปุ่นแล้วเสด็จโดยรถไฟไปเมืองโกเบ (Kobe) เพื่อประทับเรือจากโกเบวันนี้ไปยังเมืองเซี่ยงไฮ้ ถึงที่นั่นวันที่ ๑ ตุลาคม เสนาบดีกระทรวงอุตสาหกรรมรับเสด็จ แล้วต่อไปยังเกาะฮ่องกง ถึงในวันที่ ๓ ตุลาคม ชาวเมืองประดับโคมธงรับเสด็จอย่างดี จากนั้นเรือแล่นต่อไปถึงสิงคโปร์ ที่ซึ่งในวันที่ ๑๐ ตุลาคม เรือพระที่นั่งมหาจักรีได้ออกไปรับเสด็จนิวัตพระนครเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ประชาชนชาวสยามต่างพายและแล่นเรือซึ่งประดับประดาด้วยธงทิวออกไปรับเสด็จด้วยความปลื้มปิติอยู่เต็มลำแม่น้ำ ต่อมาพระประยูรญาติและข้าราชบริพารได้จัดการแสดงรีวิวขึ้น ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต อักทั้งกระทรวงกลาโหมได้เชิญเสด็จไปเสวยพระกระยาหารค่ำที่ศาลาว่าการกระทรวง เป็นการรับเสด็จด้วย [22]
ข้อสังเกตเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ
ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้
๑. การทรงเจริญพระราชไมตรี ทรงสานพระราชไมตรีกับผู้ปกครองชาวอังกฤษ และกับพ่อค้า ที่ฮ่องกงตามสมควร ในกรณีของจีน พระองค์ดูจะมิได้ทรงให้ความสำคัญมากนัก จะด้วยเหตุผลใดกันแน่ เป็นสิ่งที่อาจศึกษาเจาะลึกได้ต่อไป ในกรณีของญี่ปุ่นทรงเน้นไปที่การสืบสานพระราชไมตรีกับพระราชวงศ์ และการทรงสานไมตรีกับสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นับถือพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับผู้คนในสยามแต่ต่างนิกายกัน หากแต่ดูจะมิได้ทรงเน้นที่จะทอดพระเนตรกิจกรรมทางเทคโนโลยี่ ซึ่งคงจะทรงเห็นว่ายังไม่เจริญทัดเทียมกับทางสหรัฐอเมริกา ในกรณีของสหรัฐอเมริกานั้น ทรงให้ความสำคัญกับการเชื่อมสานพระราชไมตรีกับบุคคลสำคัญๆ ในรัฐบาลทั้งในระดับสหพันธรัฐ ระดับมลรัฐ ระดับนคร และเมือง อีกทั้งกับผู้มีชื่อเสียงทั้งคหบดี นักธุรกิจ มิชชันนารี ทหาร นักวิทยาศาสตร์ และกับสื่อมวลชน ถ้าจะได้พิจารณาต่อไปข้างล่าง ในแคนาดาก็เช่นกัน แต่โดยที่เป็นการเสด็จเป็นการเสด็จส่วนพระองค์จริงๆ โดยมาก จึงเป็นการทรงสานไมตรีกับบุคคลคณะต่างๆ ทั่วไปเป็นหลัก
๒. การพระราชทานสัมภาษณ์แก่นักหนังสือพิมพ์ ดังที่ได้เสนอให้ทราบมาแล้วตั้งแต่ต้น ในการเสด็จฯ ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่การประชาสัมพันธ์และการสานสัมพันธ์กับสื่อมวลชนเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารกับสาธารณชนในประเทศที่เสด็จฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบสาธารณรัฐ (republic) พระราชกรณียกิจด้านนี้มีจุดเด่นตรงที่ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่นักข่าวหนังสือพิมพ์ ๔ คน ในวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ โอฟีร์ ฮอลล์ ที่ประทับในบรรยากาศที่เป็นกันเองในห้องทรงพระอักษร (study) โดยมีนายราล์ฟ เฮส์ อยู่ด้วย ซึ่งข้อความพระราชทานสัมภาษณ์ได้รับการตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ของสหรัฐฯ หลายฉบับ และหนังสือพิมพ์ในประเทศสยามได้นำมารายงานต่อด้วย
การพระราชทานสัมภาษณ์เป็นครั้งแรกในรัชกาลนี้ นับเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจน้อย อย่างที่ทรงประกอบใน ๕ วันแรกของเสด็จเข้าประทับ และเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันก่อนที่จะเสด็จไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ซึ่งได้ทรงพระราชปฏิสันถารกับประธานาธิบดี ดังนี้ข่าวเรื่องนี้จึงปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ในเช้าวันที่เสด็จยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี ซึ่งเป็นการวางจังหวะที่ดีในแง่ของการข่าวและการประชาสัมพันธ์
คำกราบบังคมทูลถามนั้น ได้ทูลเกล้าฯ ถวายล่วงหน้า ซึ่งฝ่ายราชเลขานุการเป็นกังวลกับบางคำถาม แต่สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ รับสั่งว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงตอบ ผู้สื่อข่าว (Denny 1931) รายงานว่ารับสั่งกับเขาแต่แรกว่าขอให้การสัมภาษณ์เป็นในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ทันทีที่การสัมภาษณ์เริ่มขึ้น ก็เป็นที่ประจักษ์แก่เขาว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีความรู้และความสนพระราชหฤทัยกว้างขวางไม่ธรรมดา (extraordinary) ทั้งปรัชญาการปกครอง เบสบอลล์ (baseball) นักแสดงตลกชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin) ไปจนถึงเสรีภาพการนับถือศาสนาในสยามประเทศ ทรงมีพระสมาธิสติบ่งบอกด้วยสายพระเนตรที่มีประกาย ซึ่งไม่แสดงแม้แต่น้อยว่ามีต้อ ทรงตอบคำถามอย่างแคล่วคล่องและดูเหมือนว่าทรงพระสำราญมากกับการนั้น
ต่อคำถามแรกเกี่ยวกับระบอบการปกครองในสยาม ทรงตอบว่าพระราชาในสยามไม่ได้ทรงถือพระองค์ว่าทรงเป็นเทวราชา แต่ทรงถือว่าทรงเป็น “พ่อเมือง” คล้ายกับบิดาปกครองบุตรมากกว่าจะทรงถือว่าผู้ใต้ปกครองเป็นไพร่ฟ้า (subjects) พระราชามีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน และดำเนินการปกครองให้เขามีความสุข ซึ่งเป็นเช่นนี้นับจนปัจจุบัน โดยมุ่งให้เกิดความสุขแก่คนหมู่มากที่สุด เพราะการที่จะให้ทุกคนมีความสุขนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ต่อคำถามที่ผู้สื่อข่าวไม่แน่ใจว่าจะถามอย่างไร ที่ว่า ปัจเจกบุคคลไม่มีเสรีภาพในระบบกษัตริย์ที่มีผู้ปกครองคนเดียวเท่ากับในระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีผู้ปกครองหลายคน รับสั่งว่าในฐานที่ทรงเป็นองค์อาคันตุกะของประเทศประชาธิปไตยประเทศหนึ่ง พระองค์ไม่ควรจะตอบ แต่ได้รับสั่งว่า “ระบอบปกครองที่ดีที่สุดก็คือระบอบที่เหมาะสมแก่ผู้คนที่อยู่ภายใต้ระบอบนั้น”
จากนั้น ได้รับสั่งว่าทรงสนพระราชหฤทัยมากที่สุดในข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์กลไกของอเมริกัน และที่จะได้ทอดพระเนตรบริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ หลังจากนั้น เพื่อทรงพระราชดำรินำไปใช้ในสยาม ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ (adapt) ไม่ใช่การรับมาใช้ (adopt) ชาวสยามเก่งในเรื่องการเลือกเฟ้นสิ่งใหม่ๆ มาผสมผสานกับของที่มีมาแต่เดิม
ในด้านศาสนานั้น รับสั่งว่าเป็นหลักการที่จะไม่ถือว่าศาสนาใดดีกว่าศาสนาอื่น เราในสยามจึงยินยอมให้ผู้คนเลือกนับถือศาสนาตามใจชอบ เพราะทุกศาสนาสอนให้คนประพฤติดี ทรงเชื่อว่าอิทธิพลของตะวันตกมีประโยชน์ตรงที่เปิดสมองคนให้กว้างขึ้น และทรงแนะนำให้รู้จักเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทรงยกตัวอย่างง่ายๆ ของการที่สตรีสยามเริ่มไว้ผมบ้อบ (bob) ซึ่งก็งามดี
ต่อจากนั้น ผู้สื่อข่าวได้ทูลถามถึงการปกครองในสยามอีก รับสั่งว่าในเวลานั้นที่ไม่ได้เสด็จอยู่ในประเทศ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงรักษาพระนครแทน แต่พระองค์เองจะทรงตัดสินพระทัยในเรื่องสำคัญๆ ผ่านทางโทรเลขและโทรศัพท์ จากนั้นทรงอรรตาธิบายถึงระบบยุติธรรมว่ามี ๓ ศาลเช่นเดียวกับในสหรัฐฯ แต่ไม่มีลูกขุน (Jury) โดยถือว่าเป็นการตัดสินความในพระปรมาภิไธย และส่วนใหญ่ทรงให้เป็นไปตามที่ศาลตัดสิน
สำหรับเขตการปกครอง มีการแบ่งเป็นจังหวัดต่าง ๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่ส่วนกลางแต่งตั้ง แต่ว่ากำลังวางแผนที่จะออกกฎหมายให้เกิดการทดลองการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นแบบเทศบาล (municipality) โดยอนุญาตให้ประชาชนเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลบางส่วนด้วย ทั้งนี้ทรงเห็นว่า “ควรเริ่มให้มีการเลือกตั้งในระดับเทศบาล... เพราะประชาชนควรมีสิทธิเสียงในกิจการท้องถิ่น เรากำลังพยายามจะให้เขาได้เรียนรู้ที่จะทำเช่นนั้น เพราะจะเป็นการผิดพลาดหากจะให้มีการปกครองในระบบรัฐสภาก่อนที่ประชาชนจะได้เรียนรู้ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งโดยผ่านประสบการณ์ในระดับการปกครองท้องถิ่น” ทรงเสริมว่า “ ในสยาม การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องมาจากเบื้องบน ไม่ใช่โดยการผลักดันจากเบื้องล่าง”
พระองค์รับสั่งว่าทรงขอบใจสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้ริเริ่มยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของตนในสยามเมื่อ ค.ศ.๑๙๒๐ (พ.ศ. ๒๔๖๓) และแก้ไขสนธิสัญญาที่เคยห้ามมิให้สยามเก็บภาษีขาเข้าเกินร้อยละ ๓ ซึ่งประเทศในยุโรปก็ได้ปฏิบัติตามอย่าง เท่ากับว่าได้ให้เสรีภาพแก่สยาม
แม้ว่าจะได้รับสั่งว่า สตรีสยามเริ่มไว้ผมบ๊อบ แต่เมื่อทูลขอให้พระราชทานความเห็นเกี่ยวกับสตรีอเมริกันรับสั่งว่าไม่ทรงทราบเรื่องนี้ และได้รับสั่งเล่าต่อไปว่าสตรีในสยามไม่ได้อยู่แต่ในบ้าน บางคนกำลังศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์อยู่ในกรุงเทพฯและสยามมีระบบรถไฟที่ดีและมีความก้าวหน้าด้านการอากาศยานและกำลังสร้างฑัณทสถานแห่งใหม่ให้ทันสมัย มีการดูแลนักโทษอย่างมีเมตตา สุดท้ายรับสั่งว่าหลังการผ่าตัดพระเนตร ทรงหวังจะได้เสด็จนิวยอร์คเพื่อทอดพระเนตรละครและเกมส์เบสบอลล์เพราะไม่ใช่ฤดูกาลของการเล่นฟุตบอลอเมริกัน
พระราชทานสัมภาษณ์แล้ว สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯทรงพานักข่าวออกไปเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และพระมารดาที่ห้องทรงพระสำราญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเสด็จมาทรงร่วมด้วย สมเด็จฯซึ่งว่ากันว่าเป็นหนึ่งในสตรีที่สวยที่สุดในตะวันออก พระอิริยาบทสง่างามแม้จะทรงกระดากอายเล็กน้อย รับสั่งขณะทอดพระเนตรผ่านหน้าต่างไปข้างนอกที่ซึ่งฝนกำลังตกว่า “อากาศไม่ดีพอที่จะเล่นกอล์ฟ” ทรงพระราชปฎิสันถารทั่วๆไปอยู่อีกสักครู่แล้ว สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯทรงพานักข่าวออกไป ประทานพระราชกระแสแถลงการณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯแก่นักข่าว ความโดยสรุปว่า ในฐานะอาคันตุกะในสหรัฐทรงรู้สึกได้ถึงการที่นักข่าวมักจะปรากฏตัวอยู่เสมอ ด้วยในประเทศนี้หนังสือพิมพ์และนิตยสารเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของประเทศและต่อความคิดเห็นสาธารณะ ทั้งสมเด็จฯและพระองค์ทรงสนพระทัยยิ่งในตั้งกฤตภาคที่มีการตัดถวายมากมาย ซึ่งแสดงถึงการค้นคว้าที่ได้ทำและบางทีออกจะตกพระทัยกับรายละเอียดที่เป็นจินตนาการ (fanciful detail) ทรงขอบใจสื่อมวลชนสำหรับการต้อนรับที่ได้กรุณาถวายอย่างเป็นมิตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพที่มีต่อประเทศของพระองค์ ท้ายที่สุดทรงขอฝากไว้ดังที่ขอว่า "หวังว่าท่านจะเสริมสร้างรากฐานของการมีสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพในอเมริกานี้ให้แข็งแรงยิ่งขึ้นไป และจะไม่เพียงบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสมัยอย่างตรงตามความเป็นจริงและด้วยมารยาทอันดี แต่จะทำตนเป็นกลไกที่มีบทบาทยิ่งขึ้นไปในการอำนวยให้เกิดความเข้าใจ ความอดกลั้น (ต่อความแตกต่าง) เพื่อให้เกิดสันติภาพระหว่างประเทศในที่สุด ” [23]
บทพระราชทานสัมภาษณ์และพระราชกระแสที่ทรงแถลงนี้แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความพร้อมและพระปรีชาญาณในการทรงสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนักข่าวอเมริกัน ทรงทราบว่าสิ่งใดควรรับสั่งไม่ควรรับสั่งตามกาลเทศะ อีกทั้งทรงสามารถใช้โอกาสนั้นแสดงถึงพระราชหฤทัยกว้างเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชน และในขณะเดียวกันทรงเตือนสตินักข่าวให้ทำหน้าที่ในการรายงานข่าวตามความเป็นเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ นับได้ว่าเป็นความสำเร็จในการทรงสื่อสารความเป็นจริงของสังคมสยามและทรงแสดงพระราชอัธยาศัยให้ปรากฏแก่สาธารณชนชาวอเมริกันผ่านสื่อมวลชนของเขา
๓. การปกครองท้องถิ่น แม้ว่าแผนการของพระองค์ที่จะให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นสู่สภาเทศบาลในสยามจะเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนอเมริกันได้ชูขึ้นจ่าหัวข่าว และได้เป็นประเด็นให้สื่อมวลชนในประเทศได้รายงานเป็นข่าวใหญ่สืบต่อก็ตาม แต่ก็ยังไม่พบว่าทรงมีพระราชกรณีกิจใดเป็นการพิเศษในสหรัฐอเมริกาที่แสดงถึงการทรงศึกษาดูงานการปกครองท้องถิ่นในประเทศนั้น เว้นไว้แต่ว่าจะได้ทรงสอบถามจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในระดับต่างๆ ที่ได้มารับเสด็จและอำนวยความสะดวกระหว่างระยะทางเสด็จฯ อย่างใดก็ตามหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ฉบับวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๔ ได้ลงบทบรรณาธิการ (Editorial) ชื่อว่า “For the King’s Guidance” หรือ “คำเสนอแนะต่อพระราชา” เตือนพระองค์ว่าหากทรงมีเวลาได้ทรงศึกษาการปกครองท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกาได้ลึกซึ้งขึ้น จะทรงพบว่าประชาชนชาวอเมริกันเองให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี (Mayor) น้อยว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดี อีกทั้งผู้ศึกษาการเมืองกำลังพะวงว่ากำลังมีการขยายอำนาจของรัฐบาลสหพันธรัฐ(Federal power) ซึ่งยังผลเป็นการทอนอำนาจรัฐบาลท้องถิ่นอยู่อย่างน่ากลัว [24]
๔. พระราชดำรัสเมื่อเสด็จคืนสู่พระนคร ในพระราชดำรินี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งว่า “ด้วยขณะนี้เป็นเวลาที่ต้องระวังฐานะการเงินโดยทั่วไปอย่างกวดขัน เราจึงได้สั่งไม่ให้จัดการต้อนรับในทางอันจะสิ้นเปลือง” ทรงเปิดเผยว่าการรักษาพระเนตรได้ผลดีสมประสงค์ และทรงอธิบายว่าได้ทรง “เห็นกิจการต่างๆ ทั้งในทางการเมืองและความเป็นอยู่แห่งพลเมืองของเขา กับได้สังเกตที่มาของสิ่งเหล่านี้ คือเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และของต่างๆ ที่ได้ประดิษฐ์ขึ้น อันเป็นทางนำให้เกิดความคิดสำหรับหน้าที่ผู้บัญชาการเมือง นับว่าเราได้รับประโยชน์ในทางเปิดหูเปิดตาเป็นอย่างดี” แสดงว่าสิ่งที่ได้ทรงทัศนศึกษานั้นเป็นไปเพื่อประกอบพระบรมราโชบาย สุดท้ายรับสั่งว่า “ทุกๆ แห่งได้เอื้อเฟื้อรับรองโดยความเต็มใจ และให้ความสะดวกแก่เราและสมเด็จพระบรมราชินีทุกประการ เป็นการแสดงไมตรีจิตต์แก่ประเทศสยามเป็นอย่างดียิ่ง เราเชื่อว่าประชาชนชาวสยามจะรู้สึกขอบใจในคุณูปการของรัฐบาล และทวยชนแห่งประเทศนั้นๆ กับเราด้วย” [25] แสดงว่าทรงรู้สึกว่าการเสด็จเจริญพระราชไมตรีนั้นเกิดผลดี ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการเสด็จพระราชดำเนิน แต่อย่างน้อยแสดงให้เห็นชัดเชนว่าพระราชประสงค์ในการเสด็จคือการทรงรับการรักษาพระเนตร การเจริญพระราชไมตรี และการทรงศึกษาสังเกตทั้งด้านการปกครองและด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อทรงนำความเจริญมาสู่ราชอาณาจักร
ในประเด็นด้านการปกครองนั้น ไม่นานหลังจากนั้นได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้ นายเรมอนด์ บี.สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกุล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ ยกร่างรัฐธรรมนูญถวายทอดพระเนตร พร้อมกับทรงเร่งรัดกรมร่างกฎหมายในการตรวจตราร่างพระราชบัญญัติเทศบาล ซึ่งได้ร่างไว้โดยละเอียดแล้วตั้งแต่กลางปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ทั้งนี้นอกเหนือจากที่ต้องทรงรีบหาความตกลงในนโยบายการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่กำลังรุมเร้าอยู่ในขณะนั้น
อ้างอิง
- ↑ เอกสารส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๗ ต. การเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พ.ศ. ๒๔๗๔. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ , กฤตภาค 23 March 1931.
- ↑ เอกสารส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๗ ต. การเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พ.ศ. ๒๔๗๔. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ , กฤตภาค 23 March 1931.
- ↑ หจช ๒๔๗๓-๒๔๗๔ที่ ภ. ๒๔๔/๒๒๑๐๐ วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๔๗๓.
- ↑ เอกสารส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๗ ต. การเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พ.ศ. ๒๔๗๔. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ , กฤตภาค “Siam’s Queen Picks Gowns for Touring” 18 March 1931.
- ↑ เอกสารส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๗ ต. การเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พ.ศ. ๒๔๗๔. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ , กฤตภาค “Kings of Siam Works Actively in Ruling Far-away Millions” Times Union, Rochester N.Y. , 5-7-31.
- ↑ บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๖). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาคปลาย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์, ๘๒๕.
- ↑ ราชเลขาธิการ, สำนัก. (๒๕๒๘). ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพ พรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔), หน้า ๑๒๐ และ ราชเลขาธิการ, สำนัก. (๒๕๓๑). พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง, หน้า ๕๘.
- ↑ ราชเลขาธิการ, สำนัก. (๒๕๒๘). ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพ พรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔), หน้า ๑๒๑-๑๒๒.
- ↑ Brandon, Dorothy. (1931). Queen of Siam accepts official welcome for King. Vancouver Daily Province. 17 April 1931, กฤตภาค, นายสตีเวนส์ ทูลเกล้าฯ ถวาย
- ↑ Brandon, Dorothy. (1931). Queen of Siam accepts official welcome for King. Vancouver Daily Province. 17 April 1931, กฤตภาค, นายสตีเวนส์ ทูลเกล้าฯ ถวาย
- ↑ เอกสารส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๗ ต. การเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พ.ศ. ๒๔๗๔. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ , กฤตภาค 23 March 1931 และ 28 April 1931.
- ↑ ราชเลขาธิการ, สำนัก. (๒๕๒๘). ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพ พรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔), หน้า ๑๒๖ และ ราชเลขาธิการ, สำนัก. (๒๕๓๑). พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง, หน้า ๖๒.
- ↑ เอกสารส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๗ ต. การเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พ.ศ. ๒๔๗๔. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ , กฤตภาค 12 April 1931.
- ↑ ราชเลขาธิการ, สำนัก. (๒๕๒๘). ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพ พรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔), หน้า ๑๒๘.
- ↑ ราชเลขาธิการ, สำนัก. (๒๕๒๘). ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔), หน้า ๑๒๙.
- ↑ ราชเลขาธิการ, สำนัก. (๒๕๓๑). พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง, หน้า ๖๒.
- ↑ ราชเลขาธิการ, สำนัก. (๒๕๒๘). ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพ พรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔), หน้า ๓๐.
- ↑ พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (๒๕๕๕). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๒๔๗๗ เพื่ออะไรบ้าง? รายงานกิจการประจำปี ๒๕๕๔ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: มปท. หน้า ๒-๓.
- ↑ ราชเลขาธิการ, สำนัก. (๒๕๒๘). ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔), หน้า ๑๓๓.
- ↑ ราชเลขาธิการ, สำนัก. (๒๕๒๘). ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔), หน้า ๑๓๔.
- ↑ ราชเลขาธิการ, สำนัก. (๒๕๒๘). ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔), หน้า ๑๓๕.
- ↑ ราชเลขาธิการ, สำนัก. (๒๕๒๘). ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔), หน้า ๑๓๘-๑๔๐.
- ↑ Danny, Harold N. (1931). Suffrage for Siam is planned by King to test democracy. His brother dies in Paris. The New York Times, April 28, 1931. สำเนาใน สนธิ ๒๕๔๕: ๑๕๑-๑๕๗
- ↑ Danny, Harold N. (1931). Suffrage for Siam is planned by King to test democracy. His brother dies in Paris. The New York Times, April 28, 1931. สำเนาใน สนธิ ๒๕๔๕: ๑๕๑-๑๕๗
- ↑ บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๖. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาคปลาย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การ พิมพ์ , หน้า ๒๐๔.
บรรณานุกรม
กฤตภาค
เอกสารส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๗ ต. การเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พ.ศ. ๒๔๗๔. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. (บ่อยครั้งกฤตภาคไม่มีข้อมูลชื่อหนังสือพิมพ์หรือมีแต่อ่านไม่ออก)
หนังสือและบทความ
นายหนหวย (นามแฝง) ของศิลป์ชัย ชาญเฉลิม. ๒๕๓๐. เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ. กรุงเทพฯ: ศิลปชัย ชาญเฉลิม
บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์.
บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๖. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาคปลาย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การ พิมพ์.
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. ๒๕๕๕. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๒๔๗๗ เพื่ออะไรบ้าง? รายงานกิจการประจำปี ๒๕๕๔ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: มปท.
ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๒๘. ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพ พรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔)
ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง.
สนธิ เตชานันท์ (รวบรวม). ๒๕๔๕. แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: สถาบัน พระปกเกล้า.
Brandon, Dorothy. 1931. Queen of Siam accepts official welcome for King. Vancouver Daily Province. 17 April 1931, กฤตภาค, นายสตีเวนส์ ทูลเกล้าฯ ถวาย
Danny, Harold N. 1931. Suffrage for Siam is planned by King to test democracy. His brother dies in Paris. The New York Times, April 28, 1931. สำเนาใน สนธิ ๒๕๔๕: ๑๕๑-๑๕๗