การสาดสี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          การสาดสีในพื้นที่สาธารณะ เป็นหนึ่งในการประท้วงและต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธีและไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งการสาดสีในโลกของศิลปะสมัยใหม่นั้นปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดเป็นครั้งแรก ๆ ในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม (abstract expressionism) ที่ถือกำเนิดขึ้นในนิวยอร์ก ในช่วง ปี ค.ศ. 1940-1950 ศิลปะในรูปแบบนี้เน้นการแสดงออกของอารมณ์ความรู้สึกผ่านการทำงานศิลปะที่ไม่ยึดติดกับความเป็นจริง และสำแดงความเคลื่อนไหวแบบฉับพลัน รุนแรงตามสัญชาตญาณ โดย “การสาด” นอกจากจะเป็นอากัปกิริยาที่ศิลปินใช้ในการแสดงออกทางศิลปะดังที่กล่าวมาแล้วยังเป็นสิ่งที่นักเคลื่อนไหวหรือองค์การทางสังคมการเมืองใช้ในการประท้วงในประเด็นต่าง ๆ[1]

         

ภาพ : การรวมตัวประท้วงชาวแคว้นกาตาลุญญา ในนครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน[2]

Color splash (1).jpg
Color splash (1).jpg
Color splash (2).jpg
Color splash (2).jpg

 

          ตัวอย่างการสาดสีในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ ชาวแคว้นกาตาลุญญา รวมตัวประท้วงใน นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เพื่อแสดงความไม่พอใจหลังจากครบรอบหนึ่งปีของการไม่รับรองผลการลงประชามติ แบ่งแยกแคว้นคาตาลันออกเป็นเอกราชเมื่อ ปี ค.ศ. 2017 ภายใต้การอ้างถึงการละเมิดต่อหลักประชาธิปไตยและความเป็นเอกภาพของประเทศ จนส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองกระทั่งนำไปสู่การที่รัฐบาลมาดริดต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเข้าควบคุมการเมืองของแคว้นคาตาลัน ในระหว่างการชุมนุมผู้ประท้วงได้สาดสีไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและรถตำรวจ ในขณะที่ตำรวจควบคุมสถานการณ์ด้วยการใช้กระบองและยิงกระสุนโฟมเพื่อสกัดการบุกรุกของผู้ชุมนุม รวมทั้งป้องกันเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย[3]

          เหตุการณ์ต่อมาคือผลสืบเนื่องจากการเรียกร้องเรียกสิทธิให้กับประชาชนชาวผิวสีในประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 ประชาชนรวมถึงนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมใช้ลูกกลิ้งทาสีเหลืองเป็นข้อความ “Black Lives Matter” ขนาดใหญ่ยักษ์ปรากฏเด่นชัดบนพื้นถนนหน้าอาคาร ทรัมป์ ทาวเวอร์ (Trump Tower) ในเมืองแมทแฮตตัน มหานครนิวยอร์ค เพื่อส่งข้อความไปยังประธานาธิปดี โดนัลด์ ทรัมป์ และเป็นการเน้นย้ำถึงการให้เกียรติต่อชุมชนคนผิวสี ผู้มีบทบาทในการสร้างชาติ[4]

          ในขณะที่หลายประเทศในเอเชีย เช่น ไต้หวัน ได้มีผู้ประท้วงสาดสีแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเลือดใส่โลงศพของ เจียงไคเช็ก อดีตท่านผู้นำไต้หวันเพื่อลบภาพเผด็จการ เหตุการณ์เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2018 ซึ่งเป็นวันครบรอบ ปีที่ 71 ของ “เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์ 1947” ซึ่งมีการปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พรรคก๊กมินตั๋งของ เจียงไคเช็ก นำไปสู่การปกครองด้วยกฎอัยการศึกตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1947-1987 ซึ่งต่อมา ถูกเรียกว่า “ยุคทมิฬขาว” (White Terror) โดยในเหตุการณ์สาดสีครั้งนี้มีผู้ประท้วงประมาณ 10 คน โดยแถลงการณ์ของผู้ประท้วงระบุว่า ตราบเท่าที่ไต้หวันยังหมดเปลืองกับการเทิดทูนและสักการะดวงวิญญาณของ เจียงไคเช็ก ไต้หวันย่อมไม่มีวันบรรลุถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านไปเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์[5]

          ในกรณีของไทย การสาดสีได้รับความสนใจเมื่อ นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues ได้นำถังสีไปสาดใส่ตำรวจที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ เมื่อวันที่​ 28​ สิงหาคม พ.ศ. 2563 ในขณะที่แกนนำกลุ่มประชาชนปลดแอก เข้ารายงานตัวตามหมายเรียกจากกรณีปราศรัยจากการชุมนุม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563  ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยได้ให้ความหมายการสาดสีครั้งนี้ว่าเป็นการตอบโต้ด้วยศิลปะ หลังประชาชนถูกป้ายสีมามากแล้ว[6] นอกจากนี้การใช้สียังมีเป้าหมายเพื่อป้องกันตัวและสามารถแสดงออกทางสัญลักษณ์ ทั้งยังเป็นการแสดงอารมณ์ของมวลชนซึ่งยังอยู่ในขอบข่ายสันติวิธีภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลมีการจัดการการชุมนุมด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ทั้งการฉีดน้ำ การใช้แก๊สน้ำตา[7] ซึ่งการสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้ได้รับคำวิจารณ์อย่างกว้างขวาง[8] พร้อมทั้งถูกแจ้งข้อกล่าวหาในการกระทำความผิดฐานทําร้ายร่างกายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358  และ ความผิดฐานทำให้ปรากฏซึ่งรูปรอยใด ๆ บนถนนหรือที่สาธารณะ ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 12[9] ในเวลาต่อมา

 

ภาพ : การสาดสีใส่ตำรวจที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ ของนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์[10]

Color splash (3).jpg
Color splash (3).jpg
Color splash (4).jpg
Color splash (4).jpg

 

          ต่อมา การสาดสีได้ถูกนำมาใช้เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์อีกครั้ง เมื่อกลุ่มคณะราษฎรได้นำมวลชนร่วมชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยมวลชนได้นำสีละเลงและทาทับบนป้ายชื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยแกนนำได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงอธิบายถึงเหตุผลของการสาดสีตอนหนึ่งว่า “สี คือศักดิ์ศรีของราษฎร ที่โดนฉีดน้ำและยิงแก๊สน้ำตาใส่เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ด้านหน้ารัฐสภา” อย่างไรก็ดี แม้แกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้ว มวลชนยังทำกิจกรรมเพื่อแสดงออกอย่างต่อเนื่อง อาทิ โยนสีที่บรรจุถุงและขวดน้ำ ขว้างเข้าไปยังภายในรั้วของ สตช. และนำปืนฉีดน้ำบรรจุน้ำผสมสี ฉีดเข้าไปยังภายในบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย[11]

 

ภาพ : การสาดสีบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563[12]

Color splash (5).jpg
Color splash (5).jpg
Color splash (6).jpg
Color splash (6).jpg

 

          นอกจากนี้ การสาดสียังได้นำมาใช้ในการแสดงสัญลักษณ์ต่อความไม่ธรรม จากกรณีศาลอาญาได้ปล่อยตัวชั่วคราว นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) หลังนำตัวมาฝากขังในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการร่วมชุมนุมใน วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563 โดยมีการจัดกิจกรรมชุมนุมแฟลชม็อบ “ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส” หน้าศูนย์การค้า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ปทุมวัน โดยหลังได้รับการปล่อยตัว จุฑาทิพย์ได้นำสีขาวที่หมายถึงความบริสุทธิ์สาดใส่ตัวเพื่อแสดงสัญลักษณ์ถึงการถูกคุกคามจากรัฐพร้อมกับประกาศว่า “ประชาชนเปื้อนสียังล้างได้ แต่ความอยุติธรรมที่มีอยู่มันล้างไม่ได้” เพื่อสื่อสารว่าการจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่มีความจริงใจต่อข้อเรียกร้องที่ให้หยุดคุกคามประชาชน[13]

 

ภาพ : นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ เทสีขาวราดตัวหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 1 กันนายน ค.ศ. 2563[14]

Color splash (7).jpg
Color splash (7).jpg
Color splash (8).jpg
Color splash (8).jpg

 

          อย่างไรก็ดี นอกจากการใช้สีเพื่อการประท้วงแล้ว ยังมีการใช้สิ่งอื่น ๆ มาใช้ในการสาดเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ อาทิ การประท้วงขององค์กรเรียกร้องสิทธิสัตว์ในอิตาลีของกลุ่ม “100% Animalisti” ใน ปี ค.ศ. 2017 ที่ใช้ปุ๋ยคอกปริมาณเกือบ 40 กิโลกรัม ไปสาดเทหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Palazzo Grassi ในกรุงเวนิส ประเทศอิตาลี เพื่อทำการประท้วงการจัดแสดงนิทรรศการของ เดเมียน เฮิร์สต์ ศิลปินชาวอังกฤษผู้มักใช้ซากศพจริง ๆ ของสัตว์มาทำงานศิลปะจนโด่งดังและร่ำรวยมหาศาลด้วยการฆ่าสัตว์ในนามของศิลปะ[15] เป็นต้น

 

อ้างอิง

[1] “ศิลปะแห่งการสาดสี และท่าทีของการประท้วงด้วยศิลปะ”, สืบค้นจาก https://thematter.co/thinkers/protest-with-art/122818 (27 กรกฎาคม 2564).

[2] “Riot of color as separatists throw paint at Barcelona police”, Retrieved from URL  https://www.euronews.com/  2018/09/29/catalonia-separatists-throw-paint-police-barcelona-spain-n915001 (27 July 2021).

[3] “Catalan separatists hurl paint at police amid angry clashes in Barcelona”, Retrieved from URL  https://metro. co.uk/2018/09/29/catalan-separatists-hurl-paint-at-police-amid-angry-clashes-in-barcelona-7990016/ (27 July 2021).

[4] “นิวยอร์กทาสีข้อความยักษ์ "ชีวิตคนดำก็มีค่า’ หน้าออฟฟิศ "ทรัมป์” ”, สืบค้นจาก https://www.newtv.co.th/news/59998(27 กรกฎาคม 2564).

[5] “นักกิจกรรมไต้หวันเร่ง รบ. กำจัดภาพ ‘เผด็จการเจียงไคเช็ก’”, สืบค้นจาก https://voicetv.co.th/read/rJLaHbNuG(27 กรกฎาคม 2564).

[6] “แอมมี่ ประท้วงสาดสี ใช่วิธีประท้วงสากลหรือไม่? ใครทำกันบ้าง ? ”, สืบค้นจาก https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_4799334(27 กรกฎาคม 2564).

[7] “ศิลปะแห่งการสาดสี และท่าทีของการประท้วงด้วยศิลปะ”, สืบค้นจาก https://thematter.co/thinkers/protest-with-art/122818 (27 กรกฎาคม 2564).

[8] “ส่องคอมเมนต์โซเชียล หลัง "แอมมี่" สาดสีใส่ตำรวจ”, สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/local/1919916 (27 กรกฎาคม 2564).

[9] “"แอมมี่" The Bottom Blues ถูกฟ้องใน 3 คดี หลังสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์วันที่ 28 ส.ค. 2563 เจ้าตัวเผยไม่กังวล”, สืบค้นจาก https://www.komchadluek.net/news/crime/470834(27 กรกฎาคม 2564).

[10] “แอมมี่ The Bottom Blues สาดสีใส่ตำรวจ ตอบโต้ด้วยศิลปะ...หลังประชาชนถูกป้ายสีมามากแล้ว”, สืบค้นจาก https://www.post today.com/ent/news/631691(27 กรกฎาคม 2564).

[11] "ม็อบ" สาดสี-ปักหมุดคณะราษฎร63 บนป้าย "สตช." - ประกาศเป้าหมายต่อไป”, สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/ news/detail/908525 (27 กรกฎาคม 2564).

[12] “ศิลปะแห่งการสาดสี และท่าทีของการประท้วงด้วยศิลปะ”, สืบค้นจาก https://thematter.co/thinkers/protest-with-art/122818 (27 กรกฎาคม 2564).

[13] “ประธาน สนท. เทสีขาวราดตัวหลังศาลอาญาให้ประกันตัวคดีชุมนุมร่วมเยาวชนปลดแอก”, สืบค้นจาก https://voicetv.co.th/read/ HWYulEvw4(27 กรกฎาคม 2564).

[14] “ประธาน สนท.สาดสีใส่ตัวเองหลังศาลปล่อยตัว ระบุสีซักออกได้แต่ความอยุติธรรมซักไม่ออก”, สืบค้นจาก https://themomentum. co/jutatip-sirikhan-released/(27 กรกฎาคม 2564).

[15] “ศิลปะแห่งการสาดสี และท่าทีของการประท้วงด้วยศิลปะ”, สืบค้นจาก https://thematter.co/thinkers/protest-with-art/122818 (27 กรกฎาคม 2564).