การวางรากฐานระเบียบราชการพลเรือนและนำระบบคุณธรรมมาใช้
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
ระบบคุณธรรม (merit system)
คงเป็นที่ทราบกันดีพอสมควรว่า วันที่ ๑ เมษายนของทุกปีเป็น “วันข้าราชการพลเรือน” แต่หลายคนคงไม่ทราบสาเหตุ เรื่องนี้มีที่มาจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๑ ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ แต่ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันขึ้นศักราชใหม่ในสมัยนั้น คือวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ทั้งนี้ คำว่า “ข้าราชการพลเรือน” ที่ไม่มีคำว่า “ฝ่าย” คั่นอยู่ เพิ่งจะมาใช้เป็นทางการในพระราชบัญญัตินี้[1]
การตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นมีความสำคัญเป็นประวัติกาลอย่างหนึ่ง คือ เป็นครั้งแรกที่มีการนำ merit system ซึ่งแปลกันว่า “ระบบคุณธรรม” จนติดปากแล้ว มาใช้สำหรับการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการพลเรือน และในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง สำหรับการรับเข้านั้นให้คัดเลือกโดยการสอบแข่งขันเป็นระบบกลางเดียวกันสำหรับข้าราชการพลเรือนทั้งหมด กล่าวคือใช้ความรู้และความสามารถหรือ “คุณวุฒิคุณสมบัติ” เป็นเกณฑ์ เพื่อที่การบริหารราชการพลเรือนจะได้มีประสิทธิภาพ
บริบทของเรื่อง
ความคิดที่จะมีการสอบคัดเลือกคนเข้ารับราชการนี้ มีขึ้นภายใน ๑๐ วันแรกของรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต (พระยศขณะนั้น) ทรงเป็นผู้ริเริ่มในการประชุมอภิรัฐมนตรีสภาและกรมพระดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น) ทรงรับเรื่องไปทรงเรียบเรียงระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งได้ทรงทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย “พอเป็นโครงสำหรับทรงพระราชดำริห์” ซึ่งเป็นวลีที่ถ่อมพระองค์ ปรากฏว่าภายใน ๓ วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชกระแสลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ลงมา ความสำคัญว่าทรง
“เห็นว่าบัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะวางระเบียบการรับคนเข้าทำราชการตามกระทรวงต่างๆ และระเบียบการปกครองภายในกระทรวง อนุโลมตามที่เปนอยู่ในกระทรวงทหารบกเรือ ทหารบกทหารเรือต้องมีการสอบไล่มานานแล้ว จึงจะเปนนายทหารได้ ส่วนราชการพลเรือนนั้นยังไม่มีกำหนดความรู้อย่างไร เวลานี้การศึกษาเจริญขึ้นมากแล้ว จึ่งเปนการสมควรที่จะรับคนเข้าทำราชการแต่เฉพาะผู้ที่มีความรู้ดี ประกอบทั้งเวลานี้ ตำแหน่งหน้าที่ราชการเต็มหมด มีน้อยไม่พอกับจำนวนคนที่อยากเข้ารับราชการ จึงเปนการจำเปนที่จะหาวิธีเลือกฟั้นคนรับราชการโดยทางเปนกลางเปนยุติธรรม และให้โอกาศกับผู้ที่ได้อุสาหะพยายามเล่าเรียนมีความรู้ดี
อีกประการหนึ่ง การปกครองภายในกระทรวงต่างๆ นั้น ไม่มีระเบียบแน่นอนเหมือนกันทุกกระทรวง เห็นว่าควรวางแบบให้คล้ายกันและให้แน่นอนสำหรับข้าราชการพลเรือนทั่วไป เพื่อข้าราชการจะได้รับความยุติธรรมและมีสิทธิหรือหน้าที่ (duty) ต่อราชการเหมือนกันหมด เพื่อให้เปนการสม่ำเสมอ” (ผู้เขียน : ตัวสะกดตามต้นฉบับลายพระราชหัตถ์)[2]
อธิบายความได้ว่า ในขณะนั้น นอกจากการศึกษาจะเจริญขึ้นแล้ว สิ่งที่รัฐบาลของพระองค์ต้องรีบจัดการโดยเร่งด่วนคือการฟื้นฟูฐานะการเงินของประเทศและแก้ไขปัญหางบประมาณขาดดุล ซึ่งได้กระทำโดยการตัดทอนรายจ่าย มีการดุลข้าราชการออกเป็นมาตรการสำคัญ ซึ่งเป็นการลดขนาดของระบบราชการไปด้วย “ความต้องการข้าราชการใหม่จึงมีน้อยลงกว่าเดิม” แต่ผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับราชการมีมากกว่าอัตราที่มี การคัดเลือกโดยใช้วิธีการสอบแข่งขันจึงเป็นหนทางที่จะได้ประโยชน์ ๒ ทาง คือ หนึ่ง จะส่งผลในระยะยาวเป็นประสิทธิภาพที่สูงขึ้นในการปฏิบัติราชการ และ สอง เป็นแนวทางในมุมกลับของ “การต้อนให้คนคิดทำมาหากิน” ในอาชีพอื่น ดังที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์ฯ รับสั่งไว้แต่แรก
แต่ในขณะเดียวกัน การดุลข้าราชการออกก็ได้ทำให้เกิดความฉงนสงสัยในหมู่นักหนังสือพิมพ์บางส่วนว่าเป็นการดุลออกเพื่อให้พรรคพวกของผู้มีอำนาจปกครองได้เข้ามาแทนที่[3] ทั้งๆ ที่อาจสามารถอธิบายได้ว่าผู้ที่เข้ามาใหม่มีวุฒิการศึกษาที่เหมาะสมกว่าก็ตาม
วิเคราะห์ได้ว่าในภาวการณ์ดังกล่าว รัฐบาลต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจพอควรที่จะนำระบบคุณธรรมมาใช้ หวังผลระยะยาวให้ระบบราชการพลเรือนมีประสิทธิภาพและมีความเป็นระบบระเบียบมากขึ้นเหมือนกันทั้งระบบ และเพื่อเข้าแทนที่ระบบอุปถัมภ์ (patronage system) เท่าที่จะทำได้ เพราะจะเป็นธรรมแก่ผู้ที่มีการศึกษาและความสามารถดีอีกโสตหนึ่งด้วย
โดยพระราชกระแสที่กล่าวถึงแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “ให้เสนาบดีพิจารณาว่าตามโครงการที่ร่างมานี้จะขัดข้องอย่างไรหรือไม่ หรือจะควรแก้ไขอย่างไรเพียงไรเพื่อให้ชัดเจนหรือเปนยุติธรรมยิ่งขึ้น” ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันได้ให้ผนวกเรื่องการลงโทษข้าราชการซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์ฯ เสนาบดีกระทรวงกลาโหมทรงเสนอให้ทำ เข้าไว้ด้วย
พ.ร.บ. ระเบียบฯ เป็นส่วนของแนวพระราชดำริด้านระบอบการปกครอง?
ในช่วงนี้ คือในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษาการต่างประเทศชาวอเมริกันผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนของสหรัฐอเมริกามาก่อน (และเป็นผู้ที่ต่อมาได้ร่วมกับพระยาศรีวิสารวาจาร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าถวายฯ ในพ.ศ. ๒๔๗๔) ได้เสนอความเห็นผ่านเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ สนับสนุนอย่างเต็มที่ให้นำระบบคุณธรรมและการสอบแข่งขันมาใช้ เพราะ “การสอบแข่งขันเป็นวิธีการดีที่สุดเท่าที่มีในอันที่จะได้มาซึ่งประสิทธิภาพและความจงรักในการทำหน้าที่เชิงสาธารณะ (efficient and loyal service) ...ระบบดังกล่าวเมื่อผนวกกับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งตามเกณฑ์ความอาวุโสในราชการและความมีประสิทธิภาพจริงๆ ในการทำหน้าที่ เป็นวิธีการเดียวที่สามารถกำจัดการเลือกที่รักมักที่ชัง (favoritism) และอิทธิพลส่วนบุคคล (personal influence) ได้มาก” เขายังให้ข้อมูลเป็นข้อคิดไว้อีกว่า ในสหรัฐอเมริกาเองก็ยังมีบางกระทรวงที่ยังใช้ระบบอุปถัมภ์อยู่ และเป็นกระทรวงที่ขึ้นชื่อว่าด้อยประสิทธิภาพและมีปัญหาคอรัปชั่นที่สุด การนำระบบคุณธรรมมาใช้ในประเทศนั้นเองก็ได้กินเวลายาวนานถึงเกือบ ๓๐ ปี ด้วยเหตุที่ลักษณะการปกครองโดยมีพรรคการเมืองส่งผลให้ผู้นำระดับชาติแม้จะมุ่งมั่นเพียงใด ยังต้องยอมประนีประนอมกับผู้นำพรรคในท้องที่ต่างๆ ซึ่งชอบใช้ระบบการแจกตำแหน่ง (spoil system) เป็นวิธีการสมนาคุณที่ได้ช่วยให้พรรคชนะเลือกตั้ง ดังนั้น สยามซึ่งในขณะนั้นไม่มีการปกครองที่มีพรรคการเมืองและมีระบบกษัตริย์ที่ไม่ถูกจำกัดอำนาจ (unlimited monarchy) จึงอยู่ในฐานะที่จะและควรนำการสอบแข่งขันมาใช้ได้เลยโดยไม่มีความระส่ำระสายจนผิดสังเกต คนไทยไม่ว่าจะเป็นใครที่มีลักษณะนิสัยดี (good character) และสอบไล่ได้คะแนนในระดับสูงสุดจะได้เข้ามารับราชการ และระบบคุณธรรมจะได้ซึมลึกเข้ามาในระบบราชการตามกาลเวลา ข้อสำคัญจะต้องได้รับการควบคุมกำกับโดยคณะกรรมการอิสระที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้น สำหรับเรื่องมาตรการทางวินัยนั้น เขาไม่เห็นสมควรที่จะใช้กับข้าราชการพลเรือน วิธีการลงโทษด้วยการปรับหรือการกักบริเวณ หรือบังคับอย่างเข้มงวดให้เชื่อฟังผู้บังคับบัญชาดังที่ทำกับทหารด้วยความจำเป็นแต่เขาเห็นด้วยที่จะรวมทั้งระเบียบและวินัยไว้ด้วยกันในพระราชบัญญัติฉบับเดียว[4]
ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีของสหรัฐอเมริกาที่นายสตีเวนส์ได้เสนอเป็นข้อคิดไว้นี้ และการที่การดำเนินการเรื่องพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับการดำเนินการในส่วนต่างๆ ตามแนวพระราชดำริด้านการปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองสู่การมีระบบรัฐสภา จึงขอตั้งสมมติฐานไว้ว่าเรื่องการนำระบบคุณธรรมมาใช้ในระบบราชการมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของแนวพระราชดำริด้านดังกล่าว เพราะหากวันหนึ่งสยามจะมีรัฐสภาจากการเลือกตั้ง และมี “นักการเมือง” เข้ามาทำการปกครอง ก็ต้องเตรียมการให้ระบบราชการอันเป็นกลไกปฏิบัตินโยบาย มีข้าราชการที่มีความมั่นคงในอาชีพ และมีวิชาความรู้และแบบแผนการปฏิบัติตนมุ่งสู่ประโยชน์สาธารณะ มิฉะนั้นก็จะเอนเอียงไปตามความประสงค์ของผู้อุปถัมภ์รายใหม่ หากเป็นดังสมมติฐานนี้ จะเห็นได้ว่าแนวพระราชดำริด้านระบบการปกครองโดยรวมมีความพร้อมมูลในองค์ประกอบทีเดียว
ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่เป็นอย่างมาก
หลังจากที่ได้มีพระราชกระแสแสดงเหตุผลของการจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าสู่กระบวนการของการพิจารณาร่างระเบียบในรายละเอียดและการยกร่างพระราชบัญญัติ โดยในกระบวนการนี้ มีการขอความเห็นจากทั้งอภิรัฐมนตรี และเสนาบดีกระทรวงต่างๆ ตลอดจนที่ปรึกษาต่างประเทศในกระทรวงนั้นๆ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวอังกฤษ ฝรั่งเศสและอเมริกัน แสดงว่าทรงมีความรอบคอบระมัดระวังในการริเริ่มวางหลักใหม่เป็นครั้งแรกและทรงรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องโดยตลอด ทั้งยังได้ทรงร่วมประชุมกับอภิรัฐมนตรีสภาและเสนาบดีสภา พระราชทานความเห็น อีกทั้งเมื่อทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชบัญญัติ ก็ได้ทรงอ่านอย่างละเอียด และทรงบันทึกคำถามข้อสงสัยตลอดจนข้อคิดไว้หลายประการ[5] เช่น ที่ห้ามมิให้ข้าราชการพลเรือนเป็นตัวกระทำการในห้างหุ้นส่วนใดๆ นั้นกินความเพียงใด การอนุมัติใบลาออกจากราชการจะหน่วงเหนี่ยวไว้ ควรจะกำหนดระยะเวลาไว้ให้แน่ชัดเช่น ๑ ปี เป็นต้น แสดงถึงความเอาพระราชหฤทัยใส่ในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
เมื่อผ่านกระบวนการของเสนาบดีสภาและกรรมการร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมแล้ว จึงได้ประกาศเป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพุทธศักราช ๒๔๗๑ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ และในวันเดียวกันประกาศตั้งกรรมการรักษาระเบียบข้าราชการพลเรือน (ก.ร.พ.) มี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นนายกกรรมการ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการโดยตำแหน่งอีก ๓ ท่าน คือ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ และเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการในภายหลัง) ประกอบกันเป็นคณะกรรมการขนาดกะทัดรัด ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นั้นเอง
สาระของพระราชบัญญัติฯ
พระราชบัญญัติซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ และมี ๔๙ มาตรา[6][7]มีคำปรารภว่า “โดยที่มีพระราชประสงค์จะทรงวางระเบียบข้าราชการพลเรือนให้เป็นไปในทางเลือกสรรผู้มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการเป็นอาชีพ ไม่มีกังวลด้วยการแสวงหาประโยชน์ในทางอื่น ส่วนฝ่ายข้างราชการก็ให้ได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้น เนื่องจากความสะพรั่งพร้อมด้วยข้าราชการซึ่งมีความสามารถและรอบรู้วิถีและอุบายของราชการกับทั้งหน้าที่และวิสัยอันตนพึงรักษาเป็นนิตยกาล”
จากพระราชบันทึกเมื่อแรกเริ่มและพระบรมราชโองการดังกล่าว พอสรุปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงวางรากฐานระบบราชการพลเรือนไว้เป็นหลักสำคัญ ๔ ประการ[8] คือ
๑. ให้ข้าราชการพลเรือนทั้งหมดอยู่ภายใต้ระเบียบเดียวกัน
ข้าราชการพลเรือนรวมทั้งข้าราชการฝ่ายพลเรือนในกระทรวงการทหาร ยกเว้นข้าราชการฝ่ายตุลาการ ให้อยู่ใต้ระเบียบเดียวกันที่แน่นอนเหมือนกันและเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมเป็นสม่ำเสมอ จึงให้มีกรรมการรักษาพระราชบัญญัติ ทำหน้าที่กำหนดหลักสูตรและจัดการสอบไล่ผู้ที่สมัครจะเข้ารับราชการพลเรือน จัดการศึกษาของนักเรียนหลวงฝ่ายพลเรือนที่ส่งไปเล่าเรียนในต่างประเทศ อีกทั้งรักษาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ จึงเท่ากับว่า เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลเพียงองค์กรเดียวและกำกับดูแลกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ให้ปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน และกำหนดอำนาจการแต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่ง ลงโทษและปลดออกจากราชการไว้ให้ปฏิบัติเหมือนกัน นอกจากนั้นยังมีการวางระบบจำแนกชั้นยศให้เทียบเคียงกับทหารไว้ด้วย
ให้เลือกสรรผู้มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการโดยเสมอภาคและยุติธรรม
ผู้เข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ (คือที่มีสัญชาติไทย) ต้องเป็นผู้สอบไล่วิชาข้าราชการพลเรือนได้ โดยให้ใช้วิธีสอบแข่งขันและให้ผู้สอบได้คะแนนสูงมีสิทธิ์ก่อนผู้ได้คะแนนต่ำ โดยเป็นการสอบรวมให้ทุกกระทรวงทบวงกรม แล้วให้เจ้ากระทรวงขอผู้สอบได้ไปบรรจุต่อไป เว้นแต่การบรรจุผู้มีวุฒิหรือลักษณะพิเศษบางประการ ก.ร.พ.อาจอนุมัติให้บรรจุโดยไม่ต้องสอบแข่งขันก็ได้ เช่นผู้ได้รับปริญญา หลักนี้ตรงกับหลักของระบบคุณธรรม (merit system) และความเสมอภาคในโอกาส (equality of (opportunity) ในการบริหารบุคคลโดยหลักความรู้ความสามารถนี้ให้ใช้สำหรับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งด้วย
๒. ให้ข้าราชการพลเรือนรับราชการเป็นอาชีพ เพื่อไม่ต้องมีความกังวลที่จะต้องแสวงหาประโยชน์ในทางอื่นมาเลี้ยงชีพ จึงบัญญัติเป็นหลักประกันให้การรับราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญเป็นอาชีพโดย ก. ได้รับเงินเดือนตลอดเวลาที่รับราชการอยู่ ข. มีโอกาสได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปตามความรู้ความสามารถและอายุราชการ และ ค. ได้รับบำเหน็จบำนาญเมื่อออกจากราชการ ซึ่งตรงกับ career system ในหลักวิชาบริหารงานบุคคล คือมีลักษณะมั่นคง ลักษณะวัฒนา และลักษณะถาวร
๓. ให้ข้าราชการพลเรือนมีวินัย สำหรับวินัย กำหนดให้ข้าราชการต้องถือปฏิบัติดังนี้ ก. อุทิศเวลาทั้งหมดของตนให้แก่ราชการ ข. รักษาชื่อเสียงมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ค. เคารพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ค. ถือประโยชน์ของราชการแผ่นดินเป็นที่ตั้ง ง. ไม่กระทำกิจการใดๆ อันอาจเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ และวินัยที่เป็นข้อห้ามมิให้ข้าราชการปฏิบัติได้แก่ ก. อาศัยอำนาจหน้าที่ราชการจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือแก่ญาติมิตรของตน ข. เป็นตัวกระทำการในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใดๆ ค. กระทำการหาประโยชน์ใดๆ อันอาจเป็นทางทำให้เสียความเที่ยงธรรมในตำแหน่งหน้าที่ของตน และ ง. กระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตเป็นพิเศษชั่วครั้งคราว ทั้งนี้ หากไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย จะเสนอทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษรโดยทันทีก็ได้ แต่เมื่อผู้บังคับบัญชามิได้สั่งถอนหรือแก้ไขคำสั่ง ผู้ใต้บังคับบัญชาจะต้องปฏิบัติตาม
สำหรับโทษผิดวินัย มี ๔ สถานคือ ก. ไล่ออก ข. ลดตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือน ค. ตัดเงินเดือน และ ง. ตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษร
พึงสังเกตว่าวินัยที่เป็นข้อห้ามมิให้ข้าราชการปฏิบัติ ๔ ข้อนั้นมีไว้เพื่อป้องกันการคอรัปชั่น และการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันในปัจจุบันว่ามีมากขึ้นมากในหมู่ข้าราชการ แสดงว่าในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้มีการเล็งเห็นปัญหานี้แล้ว จึงได้วางมาตรการไว้ หากแต่ไม่เพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสมัยต่อๆ มา ที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ทำให้เกิดความซับซ้อนซ่อนเงื่อนขึ้น
อ้างอิง
- ↑ อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร, พล ต.ต. (๒๕๓๖). บันทึกปาฐกถาพิเศษเรื่อง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระผู้ทรงวางรากฐานแห่งระบบวินัยข้าราชการพลเรือน. ครรลองชีวิต ฉบับ ๑๐๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพฯ : ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์. หน้า ๕.
- ↑ ประวีณ ณ นคร ทิพาวดี เมฆสวรรค์ ศุภรัชต์โชติกญาณ อดุล จันทร์ศักดิ์ และเกริกเกียรติ เอกพจน์(บรรณาธิการ). ๒๕๓๕. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับระบบข้าราชการพลเรือน. กรุงเทพฯ: สำนักงาน ก.พ. , หน้า ๒๑-๒๒.
- ↑ พรทิพย์ ดีสมโชค. ๒๕๕๔. แนวความคิดและวิธีการสื่อสารทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๗. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, หน้า ๕๔-๕๙.
- ↑ Stevens อ้างถึงในประวีณ ณ นคร ทิพาวดี เมฆสวรรค์ ศุภรัชต์โชติกญาณ อดุล จันทร์ศักดิ์ และเกริกเกียรติ เอกพจน์ (บรรณาธิการ). ๒๕๓๕. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับระบบข้าราชการพลเรือน, หน้า ๘๘-๙๓.
- ↑ ประวีณ ณ นคร ทิพาวดี เมฆสวรรค์ ศุภรัชต์โชติกญาณ อดุล จันทร์ศักดิ์ และเกริกเกียรติ เอกพจน์ (บรรณาธิการ). ๒๕๓๕. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับระบบข้าราชการพลเรือน, หน้า ๔๓๓-๔๔๑.
- ↑ ประวีณ ณ นคร ทิพาวดี เมฆสวรรค์ ศุภรัชต์โชติกญาณ อดุล จันทร์ศักดิ์ และเกริกเกียรติ เอกพจน์ (บรรณาธิการ). ๒๕๓๕. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับระบบข้าราชการพลเรือน, หน้า ๕๕๓-๕๖๖.
- ↑ อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร, พล ต.ต. (๒๕๓๖). บันทึกปาฐกถาพิเศษเรื่อง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระผู้ทรงวางรากฐานแห่งระบบวินัยข้าราชการพลเรือน. ครรลองชีวิต ฉบับ ๑๐๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพฯ , หน้า ๓-๕.
- ↑ ประวีณ ณ นคร ทิพาวดี เมฆสวรรค์ ศุภรัชต์โชติกญาณ อดุล จันทร์ศักดิ์ และเกริกเกียรติ เอกพจน์ (บรรณาธิการ). ๒๕๓๕. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับระบบข้าราชการพลเรือน, หน้า ๒-๑๕.
บรรณานุกรม
ประวีณ ณ นคร ทิพาวดี เมฆสวรรค์ ศุภรัชต์ โชติกญาณ อดุล จันทร์ศักดิ์ และเกริกเกียรติ เอกพจน์ (บรรณาธิการ). ๒๕๓๕. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับระบบข้าราชการพลเรือน. กรุงเทพฯ: สำนักงาน ก.พ.
พรทิพย์ ดีสมโชค. ๒๕๕๔. แนวความคิดและวิธีการสื่อสารทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๗. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร, พล ต.ต. (๒๕๓๖). บันทึกปาฐกถาพิเศษเรื่อง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงวางรากฐานแห่งระบบวินัยข้าราชการพลเรือน. ครรลองชีวิต ฉบับ ๑๐๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพฯ: ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์.