การยุบเลิกหน่วยงาน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย : อาจารย์บุญยเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


ความหมายของการยุบเลิกหน่วยงาน

การยุบเลิกหน่วยงาน คือ การยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็นเพื่อให้การบริหารราชการเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขประชาชน โดยส่วนราชการจะต้องมีการทบทวนภารกิจของตนว่าภารกิจใดมีความจำเป็นหรือสมควรที่จะได้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน นโยบายของคณะรัฐมนตรี กำลังเงินงบประมาณของประเทศ ความคุ้มค่าของภารกิจและสถานการณ์อื่นประกอบกัน

ความสำคัญ

จากแนวคิดที่ปรากฏในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ที่ว่าการบริหารราชการต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงานการจัดสรรงบประมาณ และการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ต้องคำนึงถึงหลักการ

ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรานี้ จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติราชการและการสั่งการให้ส่วนราชการและข้าราชการปฏิบัติก็ได้[1]

การยุบเลิกหน่วยงานจึงเป็นแนวทางที่ทำให้การบริหารราชการเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขประชาชน

การยุบเลิกหน่วยงานแนวทางพระราชกฤษฎีกาการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546

จากแนวคิดการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ จึงมีการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545 โดยนำแนวคิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาใช้เพื่อให้การบริหารราชการบรรลุเป้าหมาย มีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ซึ่งมีหลักการที่สำคัญดังนี้คือ

(1) เกิดประโยชน์สุขของประชาชน

(2) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ

(3) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ

(4) ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น

(5) มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์

(6) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ

(7) มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ

การยุบเลิกหน่วยงาน เป็นแนวทางหนึ่งที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 โดยให้ส่วนราชการจัดให้มีการทบทวนภารกิจของตนว่าภารกิจใดมีความจำเป็นหรือสมควรที่จะได้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน นโยบายของคณะรัฐมนตรี กำลังเงินงบประมาณของประเทศ ความคุ้มค่าของภารกิจและสถานการณ์อื่นประกอบกัน โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาในการทบทวนภารกิจ

เมื่อมีการทบทวนภารกิจแล้ว ถ้าส่วนราชการเห็นว่าควรยกเลิก ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงภารกิจ ให้ส่วนราชการดำเนินการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ โครงสร้าง และอัตรากำลัง ของส่วนราชการให้สอดคล้องกัน และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ก.พ.ร. มีหน้าที่ในการพิจารณาว่าภารกิจของรัฐที่ส่วนราชการรับผิดชอบดำเนินการอยู่สมควรเปลี่ยนแปลง ยกเลิก หรือเพิ่มเติม ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ให้ส่วนราชการนั้นดำเนินการปรับปรุงภารกิจ อำนาจหน้าที่ โครงสร้างและอัตรากำลังของส่วนราชการนั้นให้สอดคล้องกัน[2]

เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ส่วนราชการมีการยุบเลิก โอน หรือรวมส่วนราชการไม่ว่าจะเป็นทั้งหมดหรือบางส่วน พระราชกฤษฎีกาหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ได้กำหนดให้ห้ามจัดตั้งส่วนราชการที่มีภารกิจหรืออำนาจหน้าที่ที่มีลักษณะเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันกับส่วนราชการดังกล่าวขึ้นอีก เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงแผนการบริหารราชการแผ่นดิน และมีเหตุผลจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ หรือรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และโดยได้รับความเห็นชอบจาก ก.พ.ร.[3]

เมื่อมีการยุบหน่วยงานหรือตำแหน่งแล้ว กฎ ก.พ.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีทางราชการเลิกหรือยุบหน่วยงานหรือตำแหน่ง พ.ศ.2553 ได้กำหนดว่า เมื่อมีกรณีที่ทางราชการเลิกหรือยุบหน่วยงานหรือตำแหน่ง ให้ผู้บังคับบัญชาแจ้งให้ข้าราชการทราบและให้แสดงความประสงค์ ว่าต้องการจะรับราชการต่อไปหรือไม่ ในกรณีที่ไม่ประสงค์จะรับราชการต่อไป ให้ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพราะเหตุที่มีการเลิกหรือยุบหน่วยงาน และได้รับเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด

ในกรณีที่ข้าราชการประสงค์จะรับราชการต่อไป ให้แสดงความประสงค์ว่าจะขอย้ายหรือโอนไปรับราชการในตำแหน่งใด หน่วยงานใด ส่วนราชการใด ให้ดำเนินการโอนย้ายข้าราชการผู้นั้นภายใน 30 วันนับแต่ส่วนราชการโดนยุบ

ในกรณีที่ข้าราชการเป็นผู้ที่ได้รับทุนและอยู่ในระหว่างรับราชการชดใช้ทุน ไม่ต้องแสดงความประสงค์ ให้ย้ายหรือโอนไปในส่วนราชการอื่นๆต่อไป[4]

การยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็นจึงเป็นการบริหารราชการเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขประชาชน

อ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 3/1
  2. พระราชกฤษฎีกาการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มาตรา 33
  3. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มาตรา 34
  4. กฎ ก.พ.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีทางราชการเลิกหรือยุบหน่วยงานหรือตำแหน่ง พ.ศ.2553

บรรณานุกรม

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 3/1

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546

กฎ ก.พ.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีทางราชการเลิกหรือยุบหน่วยงานหรือตำแหน่ง พ.ศ.2553