การปฏิบัติการข่าวสารสารสนเทศ (IO)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          การปฏิบัติการข่าวสารสารสนเทศหรือ Information Operation (IO) หมายถึง การสนธิ การปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารและระบบข้อมูลข่าวสารไว้ด้วยกัน แนวคิดนี้คล้ายกับการปฏิบัติการร่วม (Joint Operation) อันเป็นการรวมเอาขีดความสามารถของหน่วยต่าง ๆ หรือการปฏิบัติการผสม (Combined Operation) ซึ่งรวมเอากำลังของกองทัพต่าง ๆ ของพันธมิตรเข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งสร้างผลกระทบหรือมีอิทธิพลต่อข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ กระบวนการคิดหรือกระบวนการตกลงใจของฝ่ายตรงข้าม หรือกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ทั้งที่กระทำโดยมนุษย์ และระบบอัตโนมัติ ขณะเดียวกันก็เป็นการปฏิบัติการเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามกระทำต่อฝ่ายเราในลักษณะเดียวกัน โดยปฏิบัติติการนี้เป็นการนําเอาพันธกิจการปฏิบัติการทางทหารหลายประการมาบูรณาการ ได้แก่ การสงครามอิเล็กทรอนิกส์ การปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การปฏิบัติการจิตวิทยา การลวงทางทหารและการรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการ ซึ่งโดยทั่วไปรัฐบาลแต่ละประเทศมักมีการใช้ปฏิบัติการข่าวสารสารสนเทศ หรือ “ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร” เพื่อเป็นเครื่องมือรักษาความมั่นคง และการให้ข้อมูลข่าวสารด้วยข้อเท็จจริง โดยหลักการสำคัญของปฏิบัติการข่าวสารสารสนเทศคือการเผยแพร่ความคิดและความเชื่อของ “ฝ่ายเรา” ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และทำให้เกิดความคิดความเชื่อคล้อยตามความประสงค์ของ “ฝ่ายเรา” ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางระงับยับยั้ง ขัดขวาง หรือทำลายศักยภาพด้านการปฏิบัติการข่าวสารสารสนเทศของฝ่ายตรงข้าม หรือ “ฝ่ายศัตรู” เพื่อไม่ให้สามารถเผยแพร่ความคิดความเชื่อต่อกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายของ “ฝ่ายเรา” ได้ กล่าวได้ว่าในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลอย่างมาก “ข้อมูล” ได้กลายเป็น “อาวุธ” ชิ้นใหม่ที่รัฐบาลหลายประเทศใช้สู้รบกับฝ่ายตรงข้าม

          จุดเริ่มต้นของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารสารสนเทศนี้ เริ่มมีการนำมาใช้ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษ 1970 ที่ได้เกิดสงครามข่าวสาร (Information Warfare) และระบบการสงครามโดยการบังคับบัญชาและการควบคุม (Command and Control Warfare) ที่ได้มีความตระหนักถึงความสำคัญของข่าวสารว่าเป็นส่วนหนึ่งของกำลังอำนาจแห่งชาติไม่ว่ายามสงบหรือยามสงคราม โดยเป็นหลักการที่ออกเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2003 ภายใต้การอนุมัติหลักการ โดยนายโดนัล รัมเฟล (Donald Rumsfeld) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น และนำเสนอเป็นหลักนิยมของกองทัพสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า Joint Publication 3-13, Information Operations ในปี ค.ศ. 2006 ซึ่งเป็นการขยายผลจากหลักการที่เกี่ยวข้องกับ สงครามสารสนเทศ (Information Warfare) ในมุมมองของกองทัพสหรัฐอเมริกา โดยการนำเอาบทเรียนจากการรบกับอิรักในสงครามอ่าว (Gulf Wars) หรือ ที่นิยมเรียกกันว่า “CNN Effect” มาเป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนาในการสนธิการปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อทำให้มีอิทธิพล ทำลาย ลดประสิทธิภาพในการตัดสินใจและการปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งดำเนินการป้องกันการกระทำของฝ่ายตรงข้ามต่อฝ่ายตนเองในลักษณะเดียวกัน ปัจจุบันปฏิบัติการข่าวสารได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งภัยคุกคาม เทคโนโลยีที่ทันสมัย รูปแบบสงครามสมัยใหม่ที่ไม่ได้มุ่งแต่การปฏิบัติการทางทหารที่เอาชนะด้านกายภาพเพียงฝ่ายเดียว แต่มุ่งไปสู่ความรู้ความเข้าใจของประชาชนในฐานะการทำสงครามจิตวิทยายุคใหม่

          ในกรณีของไทย ได้นำแนวทางของสหรัฐอเมริกามาจัดทำ “หลักนิยมกองทัพไทยสำหรับการปฏิบัติการข่าวสารร่วม (ใช้เพื่อพลาง) ปี พ.ศ. 2551” ตามนโยบายของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น โดยได้มีการปรับแก้เนื้อหาบางส่วนให้มีความเหมาะสมกับขีดความสามารถของกองทัพไทยเพื่อใช้วางแผน เตรียมการ ปฏิบัติการ และประเมินผลการปฏิบัติการข่าวสาร สนับสนุนการปฏิบัติการร่วมและปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การปฏิบัติการข่าวสารสารสนเทศได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ในกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้มีการใช้งบประมาณในปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารสารสนเทศที่เชื่อว่านำไปสู่การยุยงปลุกปั่นในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการโจมตีผู้เห็นต่างจากรัฐบาล

          ทั้งนี้ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลจากฝ่ายความปลอดภัยของทวิตเตอร์หรือ @TwitterSafety เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ว่าได้มีการระงับการใช้งานบัญชีผู้ใช้ไปทั้งหมด 1,594 บัญชี ในจำนวนนี้เป็นบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ใน 5 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน จำนวน 104 บัญชี, รัสเซีย จำนวน 5 บัญชี, คิวบา จำนวน 526 บัญชี, ซาอุดีอาระเบีย จำนวน 33 บัญชี และไทย จำนวน 926 บัญชี ซึ่งทวิตเตอร์ตรวจสอบแล้วพบว่าเครือข่ายบัญชีผู้ใช้เหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับปฏิบัติการด้านข่าวสารของรัฐ ทั้งยังละเมิดนโยบายด้านการป้องกันการบิดเบือนชี้นำความเห็นในทวิตเตอร์และยังมีลักษณะที่เชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations: IO) ซึ่งในกรณีของไทยนั้นบัญชีเหล่านี้มีส่วนร่วมในการกระจายเนื้อหาที่สนับสนุนกองทัพและรัฐบาล และยังมีพฤติกรรมโจมตีนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นอีกด้วย ซึ่งในจำนวน 926 บัญชี ที่ถูกระงับใช้งานนั้นมีเพียง 455 บัญชี ที่ยังมีการใช้งานอยู่ และมีจำนวนข้อความทวิตรวมกัน 21,385 ข้อความ และกิจกรรมการทวิตของบัญชีเหล่านั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยมีหัวข้อหลัก ๆ คือ เหตุการณ์กราดยิงโคราช และการยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น โดยยังได้มีการเปิดเผยว่าในระหว่างปี พ.ศ. 2557-2562 รัฐบาลไทยได้ส่งคำขอข้อมูลมายังทวิตเตอร์ จำนวน 4 ครั้ง และคำขอให้ลบเนื้อหาอีก 6 ครั้ง แต่ทวิตเตอร์ไม่เคยให้ความร่วมมือเลยแม้แต่ครั้งเดียว รวมทั้งทวิตเตอร์ยังมีนโยบายตรวจสอบความเคลื่อนไหวย่อย ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายปฏิบัติการด้านข่าวสารนี้ต่อไป  

          ด้านการตอบโต้ต่อข้อกล่าวหานี้ ทางกองทัพบกไทยได้ยืนยันว่าไม่มีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในทวิตเตอร์ เพราะไม่ใช่ภารกิจหรือวัตถุประสงค์ในการใช้ทวิตเตอร์ของกองทัพ โดยทวิตเตอร์ที่อยู่ในระบบของกองทัพบกมีการใช้แบบเปิดเผยชัดเจน โดยมีศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบกที่เป็นคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ดูแลควบคุมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของกองทัพบก หน่วยขึ้นตรงกองทัพบก รวมถึงหน่วยระดับกองพล และกองพันลงไป โดยมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนและใช้เพื่อประชาสัมพันธ์งานของกองทัพบก ตลอดจนการบรรเทาสาธารณภัย และการบริการภาครัฐ เท่านั้น ซึ่งการเชื่อมโยงข้อมูลจากบัญชีผู้ใช้ ซึ่งไม่สามารถระบุตัวตนได้แล้ววิเคราะห์สรุปว่ามีความเกี่ยวข้องกับกองทัพบกนั้นเป็นข้อสรุปที่ไม่เป็นธรรมกับกองทัพบก

          ในขณะที่ปฏิบัติการข่าวสารสารสนเทศในประเทศอื่น ๆ นั้น ตัวอย่างอิหร่าน ทวิตเตอร์ได้ปิดกั้นบัญชีผู้ใช้งานที่พูดถึงประเด็นสนทนาที่มีความอ่อนไหว เช่น การเคลื่อนไหว “Black Lives Matter” เพื่อสร้างความยุติธรรมให้คนผิวสีและประเด็นที่มีความเกี่ยวพันกับการเหยียดเชื้อชาติ ขณะที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับประเทศกาตาร์ ซึ่งทั้งสองประเทศกำลังมีปัญหาทางการเมืองอย่างหนัก เช่นเดียวกับประเทศรัสเซียที่ถูกกล่าวหาว่ามีการซื้อโฆษณาในเฟซบุ๊คเพื่อเผยแพร่เนื้อหาทั้งที่เกี่ยวกับกลุ่ม Black Lives Matter ที่ออกมาประท้วงการใช้ความรุนแรงกับคนผิวสีของตำรวจ และกลุ่ม Blue Lives Matter ที่สนับสนุนตำรวจ เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์จากความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมและสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

          ด้านการควบคุมภายในประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์โดยกระทรวงมหาดไทย ได้เสนอกฎหมายการแทรกแซงจากต่างประเทศ (มาตรการตอบโต้) หรือ The Foreign Interference (Countermeasures) Act ที่เสนอให้ป้องกัน ตรวจจับ และขัดขวางการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารด้วยเจตนาที่จะรุกรานและการใช้ตัวแทนท้องถิ่นโดยหน่วยงานต่างประเทศเพื่อแทรกแซงการเมืองภายในประเทศ โดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจในการลบเนื้อหาที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการด้านข้อมูลที่ไม่เป็นมิตร ซึ่งกฎหมายนี้มุ่งเป้าไปที่บริษัทด้านสื่อสังคมออนไลน์ บริการอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แอพพลิเคชั่นส่งข้อความออนไลน์หรือเสิร์ชเอ็นจิ้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึงผู้ที่เป็นเจ้าของหรือเปิดเว็บไซต์หรือบล็อก เป็นต้น รวมไปถึงการแสดงบทบาทของรัฐบาลจีนที่ใช้ปฏิบัติการข่าวสารสารสนเทศผ่านระบบที่ชื่อว่า “อู่เหมาตั่ง หรือ กองทัพ 0.5 หยวน” ซึ่งทำหน้าที่โพสต์ข้อความสนับสนุนรัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์ และคอยตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามก็ที่ถูกจ้างด้วยเงิน 0.5 หยวนต่อหนึ่งโพสต์ โดยกลยุทธ์ของรัฐบาลจีน คือ หลีกเลี่ยงการโต้เถียงกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคคอมมิวนิสต์หรือรัฐบาล แต่ใช้วิธีการเบี่ยงประเด็นความสนใจไปยังเรื่องอื่น ๆ

          กล่าวได้ว่า ปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารที่กระจายไปอยู่ในทุกพื้นที่การสื่อสารอย่างไม่มีขีดจำกัด ได้รับการวิจารณ์ว่าสามารถถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยกที่ส่งผลรุนแรงได้มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อีกทั้งได้นำไปสู่ความวิตกกังวลว่าในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนอย่างรวดเร็วอย่างในปัจจุบัน หากฝ่ายใดมีเครื่องมือมากกว่าและมีโอกาสสูงกว่าที่จะชนะในสงครามข่าวสาร

 

อ้างอิง

“‘IO’ คืออะไร ทำไมรัฐต้องมีปฏิบัติการนี้?”. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/868029 (2 กันยายน 2563).

“Twitter แบนบัญชีไอโอเกือบ 1,600 บัญชี เชื่อมโยงกองทัพบก 926 บัญชี”. สืบค้นจาก https://www. thairath.co.th/news/tech/1948784 (22 ธันวาคม 2564).

“ข้อเท็จจริงไอโอ(IO) ปฏิบัติการข่าวสาร ในมุมกองทัพคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร”. สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/politics/452223(22 ธันวาคม 2564).

“เปิดสมรภูมิไอโอระดับโลกในยุคที่ข้อมูลคืออาวุธ”. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/world/639337(22 ธันวาคม 2564).

““ทวิตเตอร์” ตีข่าว "บัญชีไอโอ" มาจากกองทัพ กูรูมองไม่ถึง1% เป็นเรื่องปกติ”. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/economy/news/635740 (22 ธันวาคม 2564).

“ทวิตเตอร์เปิดโปงเครือข่ายไอโอ พบเชื่อมโยงกองทัพบกไทยรวมทั้งสิ้น 926 บัญชี”. สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/twitter-io/?fbclid=IwAR 3BtnIG74qelpns lMUzXQFQRaR4PK9q5iA6lM8gUSnglebjMMEtO7dGYHM (9 ตุลาคม 2563).

พันเอก วัชรินทร์ แก่นทอง. เอกสารวิจัยส่วนบุคคล เรื่อง การปฏิบัติการข่าวสารภัยคุกคามที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของกองทัพไทย. วิทยาลัยการทัพบก กันยายน 2560.

มนวดี ตั้งตรงหฤทัย. เอกสารศึกษาเฉพาะกรณี “การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ (Strategic Communication : SC) และการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations : IO) ของกองทัพไทย : แนวทางการดำเนินงานในอนาคต”. กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, 2559.

“รู้ทันปฏิบัติการข่าวสาร (IO) และมหกรรมข่าวลวงช่วงชุมนุม”. สืบค้นจาก https:// themomentum.co/aware-of-information-operations/ (6 กันยายน 2563).

“เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ การปฏิบัติการสารสนเทศ (Information Operation)”. สืบค้นจาก https://www.acisonline.net/?p=815(6 กันยายน 2563).

“สงคราม IO เปลี่ยนปฏิบัติการจากสมรภูมิรบ เข้าแทรกซึมชีวิตพลเรือน”. สืบค้นจาก https://waymagazine.org/io/(6 กันยายน 2563).

“สิงคโปร์สกัดต่างชาติใช้ IO แทรกแซงการเมือง”. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/world/663 088?utm_source=posttoday.com&utm_medium=article_relate_inread&utm_campaign=new%20article(22 ธันวาคม 2564).

สุรชาติ บำรุงสุข.บรรณาธิการ. “ปฏิบัติการข่าวสาร Information Operations”. จุลสารความมั่นคงศึกษา มิถุนายน 2553 ฉบับที่ 78 สถาบันการข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ.