ปฏิญาณตน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
(เปลี่ยนทางจาก การปฏิญาณตน)

ผู้เรียบเรียง สุเทพ เอี่ยมคง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


ในการใช้อำนาจ และการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนของปวงชนชาวไทย ล้วนแล้วมีความเกี่ยวข้องผูกพัน มีผลประโยชน์ได้เสียต่อประเทศชาติและประชาชน ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง แม้ว่าการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่จะมีรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุม ระเบียบวิธีการปฏิบัติเป็นแนวทางเพื่อไม่ให้เกิดความบกพร่องผิดพลาดอันอาจนำไปสู่ความเสียหายได้ เพื่อให้เกิดผลผูกพันทางจิตใจทั้งของผู้ใช้อำนาจหน้าที่ และผู้ที่จะได้รับผลจากการใช้อำนาจหน้าที่ จึงได้นำวิธีการปฏิญาณตนมาใช้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา

ความหมาย

ปฏิญาณตน หมายถึง การยืนยัน หรือการให้คำรับรองโดยถือเอาความสุจริตใจเป็นที่ตั้ง[1] ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ที่ให้ไว้ต่อที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก เพื่อเริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กฏหมายรับรองไว้ สมาชิกแห่งสภาผู้ใดยังไม่ปฏิญาณตนในที่ประชุม ถือว่ายังไม่มีความสมบูรณ์ จึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ อันส่งผลถึงยังไม่อาจรับเงินประจำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นได้

เมื่อแรกเริ่มมีสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งให้คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารใช้อำนาจแทนคณะราษฎร แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นการชั่วคราวจำนวน 70 คน และได้เปิดประชุมสภาผู้แทน ราษฎรครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ก่อนที่ประชุมจะพิจารณาเรื่องอื่นใด หลวงประดิษฐมนูธรรม ผู้นำทางความคิดของคณะราษฎรเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนับต่อไปนี้ เป็นภารกิจที่สำคัญมีผลต่อการกำหนดทิศทางก้าวต่อไปของประเทศ มีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวาง เพื่อที่จะจัดวางโครงสร้างทางการเมืองการปกครองขึ้นใหม่ตามแนวคิดของคณะราษฎร และ “...ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับแต่งตั้งนี้จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อราษฎร...” [2] จึงได้นำหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่แถลงไว้ในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มาเป็นคำกล่าวปฏิญาณตน ว่า

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อย ลงให้มาก

3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะต้องจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิ์ยิ่งกว่าราษฎร เช่นที่เป็นอยู่

5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร [3]

ด้วยแนวคิดและวิธีการของคณะราษฎร ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ขุนนางและ ข้าราชการชั้นสูง ว่าเป็นการเลียนแบบสหภาพโซเวียต ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปก่อนหน้านี้ ที่พยายามสร้างคณะบอลเชวิค เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจทั้งปวง ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนญฉบับถาวร จึงได้มีการประนีประนอมกันระหว่างคณะราษฎรกับขุนนางและข้าราชการชั้นสูง เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “ปฏิญาณตน” นับเป็นการลดบทบาทของคณะราษฎรมาสู่ “รัฐธรรมนูญ” ดังคำปฏิญาณตนตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ว่า “จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญนี้” [4] มีความหมายว่าจะปกป้องรักษารัฐธรรมนูญนี้ให้มีความมั่นคงสถาวรและปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฏหมายสูงสุดของแผ่นดินกำหนดไว้ และเพื่อแสดงให้เห็นว่าจะรักษาไว้รัฐธรรมนูญนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำอย่างไร ความชัดเจนปรากฏภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช ในปี 2476 โดยการออกกฎหมายคุ้มครองรัฐธรรมนูญ มีสาระสำคัญเป็นการปกป้อง คุ้มครองรักษารัฐธรรมนูญให้มีความมั่นคงสถาวร และหลักฐานที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันเป็นการยืนยันถึงการจะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ คืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ บริเวณวงเวียนหลักสี่ใกล้ ๆ สำนักงานเขตบางเขน นั่นเอง

เจตจำนงให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ใช้อำนาจแทนปวงชาชนชาวไทยอย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ และปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนอย่างบริสุทธิ์ใจนั้น นำมาใช้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 เป็นครั้งแรก และการปฏิญาณตน ได้กำหนดเป็นถ้อยคำให้สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนกล่าวตามประธาน ว่า “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” [5]

หลังจากนั้นเป็นต้นมา การปฏิญาณตนได้ยึดหลักการและถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นแบบอย่างเรื่อยมา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้ขยายขอบเขตเพิ่มเติมออกไปอีกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ตกอยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และได้กำหนดเป็นถ้อยคำ ว่า “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” [6]

ความสำคัญ

การปฏิญาณตน มีความสำคัญ 2 ประการ

ประการแรก ความสำคัญทางจิตใจ กล่าวคือ การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาได้เปล่งวาจาเพื่อเป็นการยืนยัน หรือให้คำรับรองโดยถือเอาความสุจริตใจ ความตั้งใจเป็นที่ตั้งนั้น ย่อมเป็นสิ่งย้ำเตือนตนเองอยู่เสมอในการปฏิบัติหน้าที่ การไม่สามารถปฏิบัติตามที่เปล่งวาจาได้ ยิ่งเป็นวาจาที่เปล่งขึ้นท่ามกลางพิธีการมหาสมาคมอย่างเช่น การประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ดี การประชุมวุฒิสภาก็ดี ในทางสังคมจะลงโทษ ส่งผลให้บุคคลผู้นั้นขาดความน่าศรัทธาเลื่อมใส สูญเสียความเชื่อมั่น ในที่สุดขาดความนิยมที่จะไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

ประการที่สอง ความสำคัญทางกฏหมาย แรกเริ่มเดิมทีถือว่าการปฏิญาณตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติหน้าที่ สมาชิกผู้ได้ปฏิญาณตนต่อที่ประชุมแล้วจึงมีความเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ สามารถใช้อำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและกฏหมายอื่นรับรองไว้ได้ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยส่วนใหญ่ มีสาระเหมือนกันว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น ต้องปฏิญาณตนต่อที่ประชุมซึ่งตนเป็นสมาชิกเสียก่อน

ปัจจุบัน การปฏิญาณตนนอกจากจะเป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ยังมีผลผูกพันกับเงินประจำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจะได้รับตามสิทธิที่มีอยู่อีกด้วย ดังปรากฏว่า “เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของ...สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดให้จ่ายได้ไม่ก่อนวันเข้ารับหน้าที่” [7] ทั้งนี้ วันเข้ารับหน้าที่คือวันที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ได้ปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก การกำหนดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งที่มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ปี 2549 แต่สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกตั้งนี้ยังไม่สามารถเข้ารับหน้าที่ได้เพราะองค์ประกอบยังไม่ครบตามจำนวนสองร้อยคน อีกทั้งมีปัญหาการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปก่อนหน้านี้ จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถเรียกประชุมรัฐสภาได้ สมาชิกวุฒิสภาชุดเดิมที่หมดวาระลงแล้ว แต่ยังต้องทำหน้าที่ต่อไป เพราะสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่แม้สมาชิกภาพจะเริ่มต้นนับแต่วันเลือกตั้งแล้วก็ตาม แต่เมื่อยังไม่สามารถเรียกประชุมได้ ย่อมไม่อาจปฏิญาณตนเพื่อเข้ารับหน้าที่ได้ ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีสมาชิกวุฒิสภาอยู่ถึงสองชุด ซึ่งเป็นภาระของรัฐที่จะต้องจ่ายเงินประจำตำแหน่งให้แก่สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

ลำดับขั้นตอนการปฏิญาณตน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้สมาชิกภาพของสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง เริ่มต้นตั้งแต่วันเลือกตั้ง ส่วนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา ให้สมาชิกภาพเริ่มต้นตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการสรรหา การเรียกประชุมรัฐสภาจะกระทำภายในสามสิบวันนับจากวันเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร เพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมครั้งแรก ซึ่งการประชุมครั้งแรกนี้เป็นรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญทั่วไปครั้งแรก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบรัฐพิธีด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์มาทำรัฐพิธี

หลังจากนั้น สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จะได้ประชุม โดยที่การประชุมครั้งนี้ยังไม่มีประธานสภาทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม จึงให้สมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งมาประชุม เป็นประธานชั่วคราวเพื่อดำเนินการประชุม และเป็นผู้กล่าวนำปฏิญานตนของสมาชิก ในขณะกล่าวปฏิญาณตนต่อที่ประชุมนี้ให้สมาชิกยืนขึ้นและอยู่ในอาการสำรวม หากการปฏิญาณตนของสมาชิกมีขึ้นภายหลังไม่ว่ากรณีใด ๆ ที่มีประธานสภาแล้ว ให้ประธานหรือรองประธานที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมเป็นผู้กล่าวนำปฏิญาณตน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาผู้ใด ยังมิได้ปฏิญาณตนต่อที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ย่อมขาดความสมบูรณ์ในสถานะและตำแหน่ง จึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้

อนึ่ง นอกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาที่ต้องปฏิญาณตนต่อที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก แล้ว ยังรวมความถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก่อนจะเข้ารับหน้าที่ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันของทั้งสองสภาด้วยถ้อยคำว่า “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” [8] หากกรณีนี้มีขึ้นในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรหมดวาระ หรือยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภา

อ้างอิง

  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525. หน้า 495.
  2. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 1 สมัยที่ 1 ครั้งที่ 1/2475 วันที่ 28 มิถุนายน 2475
  3. แถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 วันที่ 24 มิถุนายน 2475
  4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาตรา 19
  5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 มาตรา 102
  6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 123
  7. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 196
  8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 21

บรรณานุกรม

ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 : ตอนพิเศษ 76ง, 25 เมษายน 2551.

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 : ตอนพิเศษ 79ง, 2 พฤษภาคม 2551.

คณิน บุญสุวรรณ. ภาษาการเมืองในระบบรัฐสภา. กรุงเทพฯ. โอเดียนสโตร์: ครั้งที่ 2 , 2533.

เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. สำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร : 2550

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). กรุงเทพฯ: ช. ชุมนุมช่าง, 2517

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, ครั้งที่ 6 . 2539.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 . หน้า 529 . 10 ธันวาคม 2475

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 77, 23 มีนาคม 2492.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47ก, 24 สิงหาคม 2550.

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ชุดที่ 1 สมัยที่ 1 ครั้งที่ 1/2475 วันที่ 28 มิถุนายน 2475

ดูเพิ่มเติม

วิจิตรา ประยูรวงศ์. ถวายสัตย์ปฏิญาณ. บทความทางวิชาการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบงานรัฐสภา, 2552.

คณิน บุญสุวรรณ. ภาษาการเมืองในระบบรัฐสภา. 2533.