การบริหารจัดการภัยพิบัติในอาเซียน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

บทนำ

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 “ประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือที่รู้จักกันในนามของอาเซียนก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้นพร้อมกับมีการทำคำประกาศกรุงเทพฯขึ้นเพื่อยืนยันถึงความร่วมมือกันในด้านต่างๆของเหล่าผู้ก่อตั้ง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือสันติภาพและความมั่นคง ซึ่ง “การบริหารจัดการภัยพิบัติ” นั้นก็ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความร่วมมือกันในด้านสังคม เพื่อช่วยให้อาเซียนสามารถพัฒนาต่อไปได้ด้วยดี ซึ่งในปัจจุบันหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติในอาเซียนก็คือคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ และมีความตกลงที่เป็นหัวใจของการบริหารจัดการภัยพิบัติที่เรียกว่า “ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน”

ความเป็นมา

ภายใต้กรอบความร่วมมือตามปฏิญญากรุงเทพที่มีขึ้นในปี ค.ศ. 1967 นั้น ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชั่วคราวเพื่อติดตามดูแลและทำหน้าที่ในเรื่องต่างๆตามที่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนได้ตัดสินใจ โดยหนึ่งในคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นก็คือ ASEAN Permanent Committee on Socio-Cultural Activities คณะกรรมการดังกล่าวปฏิบัติงานด้านสังคมและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการดูแลเกี่ยวกับภัยพิบัตินั่นเอง [1]

ในปี ค.ศ. 1976 ผู้นำอาเซียน (ซึ่งในขณะนั้นมี 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย) ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 1 (Declaration of ASEAN Concord I: Bali Concord I) ซึ่งระบุว่าภัยธรรมชาตินั้นส่งผลต่อการพัฒนาของประเทศสมาชิกได้ ดังนั้นประเทศสมาชิกจึงควรจะช่วยเหลือกันและกันตามกำลังความสามารถของตน [2] ต่อมาในปี ค.ศ. 2003 ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 2 (Declaration of ASEAN Concord II: Bali Concord II) ก็ได้มีเป้าหมายในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน โดยมีการวางแผนในเรื่องของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการภัยพิบัติอยู่ในข้อ B7 ซึ่งผลักดันให้มีการทำความตกลงว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและจัดตั้งศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สนับสนุนให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการรับมือภัยพิบัติและการแบ่งปันข้อมูลแก่กัน รวมไปถึงการให้ความรู้การฝึกอบรมและการเตรียมการต่างๆเกี่ยวกับภัยพิบัติ[3] และในแผนงานของประชาคมการเมืองและความมั่นคงข้อ B5 ที่ต้องการให้มีการกำหนดกรอบการดำเนินงานด้านการจัดการภัยพิบัติทั้งในการเตรียมพร้อมรับมือและการบรรเทาภัยพิบัติและการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิก ส่งเสริมให้ทหารและพลเรือนร่วมมือกันรับมือกับภัยพิบัติ และผลักดันให้มีการร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในการจัดการกับภัยพิบัติ เช่น การประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก [4]

คณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ACDM)

สมัยก่อนคณะกรรมการนี้มีชื่อเรียกว่า คณะผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติของประเทศอาเซียน ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1971 ก่อนจะได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญด้านภัยธรรมชาติของประเทศอาเซียน จนสุดท้ายในปี ค.ศ. 1993 ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ASEAN Committee on Disaster Management (ACDM) [5] ซึ่งในที่นี้คำนิยาม “ภัยพิบัติ” หมายรวมถึงทั้งภัยที่เกิดโดยธรรมชาติและภัยที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์

กิจกรรมที่เป็นหัวใจของการดำเนินงานของคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติคือการประชุมประจำปีของคณะกรรมการฯ การประชุมครั้งแรก มีขึ้นในปี ค.ศ. 2003 โดยเป้าหมายของการประชุมคือการหามาตรการรับและบรรเทาภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นพร้อมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการและผลักดันให้เกิดความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งความตกลงที่นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของคณะกรรมการนี้ก็คือ “ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response)

ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน (AADMER)

ในเช้าของวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.2004 เกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดียใกล้กับฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา อินโดนิเซีย แผ่นดินไหวครั้งนั้นทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิถล่มหลายประเทศในมหาสมุทรอินเดีย ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจึงได้มีการจัดทำกรอบความร่วมมือของประเทศสมาชิกในเรื่องการจัดการภัยพิบัติขึ้นในนาม ”ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน” (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response : AADMER) โดยมีจุดมุ่งหมายคือ บรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติ ร่วมกันรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน และสร้างประชาคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยความตกลงนี้ได้มีการลงนามกันในปี ค.ศ. 2005 [6]

ความตกลงดังกล่าวได้วางแนวทางความร่วมมือของประเทศสมาชิกไว้ว่า ให้ประเทศสมาชิกแบ่งปันข้อมูลและช่วยกันลดความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติ รวมทั้งการช่วยกันจับตาดูความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติและพัฒนาวิธีการเฝ้าระวังภัยพิบัติ การประเมินผล และระบบเตือนภัย พร้อมทั้งต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆอย่างทันท่วงที และการฟื้นฟูประเทศหลังจากภัยพิบัติสิ้นสุดลง [7]

ภายใต้ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นมีการวางแผนงานและก่อตั้งองค์กรที่สำคัญอันได้แก่

4.1 ระบบเตรียมความพร้อมเพื่อบรรเทาภัยพิบัติและสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียน ภายใต้ข้อที่ 8 และ 9 ของAADMER ซึ่งเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติได้วางหลักให้มีการจัดทำระบบเตรียมความพร้อมเพื่อบรรเทาภัยพิบัติและสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียน (standby arrangements for disaster relief and emergency response) โดยแบ่งเป็นสองส่วน คือ

4.1.1.1 วิธีให้ความช่วยเหลือแก่กัน ซึ่งในข้อที่ 8 ของ AADMERได้วางแนวทางให้ประเทศสมาชิกพัฒนาขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติเพื่อที่จะได้สามารถช่วยเหลือกันและกัน ส่งเสริมให้มีการฝึกซ้อมเพื่อรับสถานการณ์จริง(ASEAN Regional Disaster Emergency Simulation Exercises : ARDEX) และการให้ข้อมูลแก่ศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอาเซียนเพื่อจะได้มีการประเมินความพร้อมของระบบรับมือดังกล่าวต่อไป [8] เพื่อจุดประสงค์นี้จึงมีการจัดทำคู่มือปฏิบัติการในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ (Standard Operating Procedures for Regional Standby Arrangement and Coordination of Joint Disaster Relief and Emergency Response Operation : SASOP) โดยคู่มือนี้จะกล่าวถึงทั้งการจัดองค์กร การเตรียมความพร้อม การประเมินและติดตามภัยพิบัติ การตอบสนองในสถานการณ์ฉุกเฉิน การอำนวยความสะดวกและการเข้าช่วยเหลือ[9]

4.1.1.2 การแสดงข้อมูลทรัพย์สินและศักยภาพของแต่ละประเทศสมาชิกว่าแต่ละประเทศสามารถให้ความช่วยเหลือได้มากเท่าใด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็ให้ส่งไปยังศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียนต่อไป [10]

4.2 ศูนย์ประสานงานการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน (AHA Centre)

ในข้อที่ 20 ได้มีการกำหนดให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมขึ้นเพื่อประโยชน์ในการร่วมมือกันของประเทศสมาชิกกับองค์การสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ การทำงานของศูนย์นี้คือเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ให้ประเทศสมาชิกจัดการกันเองก่อน และหากต้องการความช่วยเหลือใดๆ AHA Centre ก็จะช่วยประสานงานให้ [11] นอกจากการอำนวยความสะดวกและช่วยประสานงานแล้ว AHA Centre ยังมีหน้าที่ในการติดตามข้อมูลจากประเทศสมาชิก ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ และแจ้งเตือนแก่ประเทศสมาชิก รวบรวมข้อมูลบัญชีรายการทรัพย์สินและศักยภาพเพื่อพัฒนาความสามารถในการตอบสนองต่อภัยพิบัติ และทำภารกิจอื่นๆตามที่ที่ประชุมระดับผู้นำภาคีได้มอบหมายให้ และเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นก็ต้องเข้าประเมินสถานการณ์และสนับสนุนประสานงานช่วยเหลือต่อไป [12]

ความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติระหว่างอาเซียนกับองค์กรอื่นนอกภูมิภาค

5.1 องค์กรสหประชาชาติ

จากการประชุมร่วมกันระหว่างอาเซียนกับองค์การสหประชาชาติในปี ค.ศ. 2010 ส่งผลให้เกิดแถลงการณ์ร่วมในการดำเนินความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติระหว่างคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติและองค์การสหประชาชาติ โดยแถลงการณ์ดังกล่าวประสงค์จะให้มีกลไกการรับมือภัยพิบัติที่อาเซียนและองค์การสหประชาชาติร่วมกันจัดทำขึ้น ซึ่งกลไกดังกล่าวจะครอบคลุมในเรื่องของการประเมินความเสี่ยงและหาทางลดความเสี่ยง การเตรียมการรับมือ การเตือนภัย การตรวจสอบ การตอบสนอง และการฟื้นฟูความเสียหาย [13]

5.2 กรอบความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum หรือ ARF)

ARF จะมีการประชุม inter-sessional meeting ซึ่งเป็นการประชุมเฉพาะเรื่อง และการรับมือกับภัยพิบัติก็เป็นหนึ่งในหัวข้อการประชุม ปัจจุบันประเทศที่เข้าร่วมในความร่วมมือนี้นอกจากอาเซียนแล้วก็ได้แก่จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป รัสเซีย แคนาดา และ สหรัฐอเมริกา [14]

5.3 ASEAN+3

เป็นการร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน กับ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ซึ่งความร่วมมือนี้มีในรูปแบบการประชุมระหว่าง ACDM และสมาชิก ASEAN+3 เพื่อหาความเป็นไปได้ที่จะสร้างความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติ เช่นการฝึกซ้อม และการแบ่งปันข้อมูล [15]

5.4 สหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาการเฝ้าระวังและประเมินผลภัยพิบัติ และให้ความสนับสนุนทางด้านการเงินให้แก่ AHA Centre [16]

5.5 รัสเซีย

มีการร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินสำหรับการตอบสนองภัยพิบัติ และการสนับสนุนแบบแผนเพื่อการพัฒนา AHA Centre [17]

5.6 สหรัฐอเมริกา

สนับสนุนด้านการเงินให้กับการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการที่ไทยในปี ค.ศ.2012 และยังให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการเตือนภัยทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการรับมือกับภัยพิบัติภายในภูมิภาค [18]

บรรณานุกรม

กระทรวงต่างประเทศ. 2014. “กรอบความร่วมมือ : การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF).” http://www.mfa.go.th/main/th/world/7/19893-การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและค.html (accessed April 20,2015)

สำนักวิจัยและความร่วมมือระหว่างประเทศ. 2012. “คณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ.” http://122.155.1.145/site6/download-src.php?did=5303 (accessed April 18, 2015)

The ASEAN Secretariat. 2014. “I. ASEAN Plus Three Cooperation.” http://www.asean.org/archive/22208.pdf (accessed April 20, 2015)

The ASEAN Secretariat. 2015. “Overview of ASEAN-EU Dialogue Relations.” http://www.asean.org/news/item/overview-of-asean-eu-dialogue-relations (accessed April 20, 2015)

The ASEAN Secretariat. 2015.” Overview of ASEAN-Russia Dialogue Relations.” http://www.asean.org/news/item/overview-of-asean-russia-dialogue-relations (accessed April 20, 2015)

The ASEAN Secretariat. 2015. “Overview of ASEAN-U.S..” http://www.asean.org/news/item/overview-of-asean-us-dialogue-relations (accessed April 20, 2015)

อ้างอิง

  1. NTS ALERT. (2008). ASEAN Ministerial Meeting: Taking Stock of Challenges.
  2. Declaration of ASEAN Concord (1976).
  3. ASEAN SOCIO-CULTURAL COMMUNITY BLUEPRINT (2003).
  4. ASEAN Political – Security Community (APSC) Blueprint (2003).
  5. สำนักวิจัยและความร่วมมือระหว่างประเทศ. 2012. “คณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ.” http://122.155.1.145/site6/download-src.php?did=5303 (accessed April 18, 2015)
  6. ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response (2005): Article 2.
  7. ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response (2005): Article 4.
  8. ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response (2005): Article 8.
  9. Standard Operating Procedures for Regional Standby Arrangement and Coordination of Joint Disaster Relief and Emergency Response Operation (2008).
  10. ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response (2005): Article 9.
  11. ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response (2005): Article 20
  12. Agreement on the Establishment of the ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management (2011).
  13. Joint Declaration on ASEAN-UN Collaboration in Disaster Management (2010).
  14. กระทรวงต่างประเทศ. 2014. “กรอบความร่วมมือ : การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF).” http://www.mfa.go.th/main/th/world/7/19893-การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและค.html (accessed April 20,2015)
  15. The ASEAN Secretariat. 2014. “I. ASEAN Plus Three Cooperation.” http://www.asean.org/archive/22208.pdf (accessed April 20, 2015)
  16. The ASEAN Secretariat. 2015. “Overview of ASEAN-EU Dialogue Relations.” http://www.asean.org/news/item/overview-of-asean-eu-dialogue-relations (accessed April 20, 2015)
  17. The ASEAN Secretariat. 2015.” Overview of ASEAN-Russia Dialogue Relations.” http://www.asean.org/news/item/overview-of-asean-russia-dialogue-relations (accessed April 20, 2015)
  18. The ASEAN Secretariat. 2015. “Overview of ASEAN-U.S..” http://www.asean.org/news/item/overview-of-asean-us-dialogue-relations (accessed April 20, 2015)