การทูตวัคซีน
ผู้เรียงเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
บทนำ
การทูตวัคซีน (vaccine diplomacy) คือการใช้วัคซีนสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตและมีอิทธิพลต่อประเทศอื่น ๆ โดยทั่วไปแล้วภายใต้สภาวะของโรคระบาด การได้รับวัคซีนอย่างเพียงพอและเร่งด่วนถือเป็นมาตรการทางการแพทย์ที่สำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ทว่า หลายประเทศไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ดังนั้น ชาติที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนหรือชาติที่มีวัคซีนเกินพอ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นชาติมหาอำนาจอาจใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือทางการทูตในการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ โดยการบริจาคหรือการจำหน่ายในราคาถูก เพื่อแผ่ขยายอิทธิพลของตนในเวทีระหว่างประเทศไปพร้อมกัน ในช่วงวิกฤติที่ทั้งโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีน Sinovac และ Sinopharm ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ร่วมผลิตวัคซีน Pfizer-BioNTech และสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีน Sputnik V ต่างพยายามหยิบยื่นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประเทศอื่นทั่วโลก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการบริจาค การให้ยืมใช้และการทำสัญญาซื้อขายในราคาต่ำ เป็นต้น ผู้สังเกตการณ์ และนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศต่างตั้งข้อสังเกตไปในทิศทางเดียวกันว่าการทูตวัคซีนของมหาอำนาจดังกล่าวเป็นการพยายามขยายอิทธิพลเหนือชาติรายได้ปานกลางและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไม่สามาถจัดหาวัคซีนได้ทันท่วงทีต่อสถานการณ์การแพร่บาดภายในประเทศ
การทูตวัคซีนในฐานะอำนาจอ่อน
ในการเมืองระหว่างประเทศการที่ประเทศหนึ่ง ๆ จะสามารถบรรลุสิ่งซึ่งตนเองต้องการจากประเทศอื่น ๆ ได้นั้น อาจมาจากการแสวงหาความร่วมมือหรือไม่ก็การใช้อำนาจบังคับ แต่ความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความสมัครใจจากประเทศพันธมิตร ดังนั้น เพื่อที่จะให้ประเทศพันธมิตรมีความต้องการไปในทิศทางเดียวกับตน ประเทศนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องมี “อำนาจอ่อน” (soft power) เพื่อที่จะสร้างอิทธิพลทางอ้อม ต่อการตัดสินใจ ซึ่งอำนาจอ่อนนี้เองที่กลายเป็นเครื่องมือของรัฐซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับ “อำนาจกระด้าง” (hard power) อันหมายถึงการใช้กำลังบีบบังคับ ทว่า การใช้อำนาจอ่อนนั้นเป็นการใช้ทรัพยากรที่บ่อยครั้งอยู่เหนือการควบคุมของรัฐและต้องอาศัยเวลานานแรมปีกว่าที่จะบรรลุผลลัพธ์ที่ชาติหนึ่ง ๆ ปรารถนา[1] ทั้งนี้ อำนาจอ่อนอาจอยู่ในรูปวัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง หรือนโยบายต่างประเทศก็ได้
ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วทั้งโลกนับตั้งแต่ปลายปี 2562 บทบาทของชาติมหาอำนาจถูกจับตามองอย่างมากว่าพยายามแผ่ขยายอิทธิพลโดยใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญของการใช้อำนาจอ่อน เนื่องจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประเทศต่าง ๆ กลับมาฟื้นตัวได้ ดังนั้น การผลิตและกระจายวัคซีนจึงเปิดประตูโอกาสให้ชาติมหาอำนาจและชาติที่ร่ำรวย สามารถสร้างอำนาจอ่อนโดยการยืนยันให้เห็นศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ และบทบาทฐานะในเวทีโลกที่จะให้รางวัลต่อชาติที่เป็นมิตร ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อระบบการเมือง ระบบตลาดและอุดมการณ์ของชาติที่ดำเนินนโยบายการทูตวัคซีน[2] ทั้งนี้ รัสเซียถือเป็นชาติแรกที่อนุมัติการใช้วัคซีนและมีตลาดใหญ่แต่ก็ไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ตามที่ให้สัญญาไว้ ขณะที่จีนผลิตวัคซีนจำนวนมากอย่างรวดเร็วแต่ก็ต้องประเชิญกับปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนที่ต่ำกว่าชาติตะวันตก ทั้งนี้ ยังไม่ต้องกล่าวถึงประสิทธิผลของวัคซีนในการต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์สายพันธ์ใหม่ที่มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วในทางกลับกัน ชาติตะวันตกกลับมีสัดส่วนการกระจายวัคซีนออกไปสู่ภูมิภาคอื่นน้อยกว่าจีนอย่างเห็นได้ชัด จนถูกมองว่าพยายามสงวนวัคซีนไว้ให้แก่พลเมืองของชาติตนเองเป็นหลักเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน[3]
มังกรแดง หรือ พญาอินทรีย์? : การแข่งขันเพื่อขยายอิทธิพลผ่านการทูตวัคซีน
แม้รัสเซียและจีนจะเริ่มออกตัวในการแข่งขันการทูตวัคซีนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทว่า จีนกลับประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำของการพูดวัคซีนเหนือรัสเซียและชาติตะวันตกอื่น ๆ เมื่อเดือนกันยายน 2564 กระทรวงการต่างประเทศของจีนประกาศว่า จีนสามารถส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วกว่า 1.1 พันล้านโดส ซึ่งครอบคลุมมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก[4] ผู้สังเกตการณ์หลายรายวิเคราะห์ว่าจีนใช้อำนาจอ่อนผ่านการทูตวัคซีนเป็นเครื่องมือชิงความได้เปรียบ ซึ่งนอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อผูกมิตรกับชาติต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นความพยายามที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับเหนือกว่าสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่การเข้าถึงวัคซีนเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อย โดยการทูตวัคซีนจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับรัฐบาลจีนจากสายตาของประเทศผู้รับมอบทั้งหลาย[5] ความพยายามของจีนในการดำเนินนโยบายการทูตวัคซีนนี้ทำให้ถูกมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมเชิงอนามัย” (Health Silk Road) เพื่อลบล้างภาพลักษณ์ที่ว่าจีนเป็นต้นทางของการแพร่เชื้อโคโรนาไวรัสไปทั่วโลก และแทนที่ด้วยการเป็นผู้เข้ามาแก้ปัญหาโรคระบาดในครั้งนี้ หลายประเทศที่ได้รับวัคซีนจากจีนเป็นสมาชิกและเป็นผู้สนับสนุนโครงการเส้นทางสายไหม จีนจึงใช้การทูตวัคซีนกับประเทศเหล่านี้เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถสร้างบุณคุณต่อประเทศเหล่านี้ เพราะขณะเดียวกัน จีนเองก็ไม่ได้จัดหาวัคซีนให้ประเทศอย่างสหรัฐฯ ชาติตะวันตก อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย[6]
เมื่อเข้าสู่ปี 2564 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้กลายเป็นเป้าหมายของการแข่งขันการทูตวัคซีนเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 พุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด (ทั้ง ๆ ที่ตลอดปี 2563 หลายประเทศ ในภูมิภาคฯ สามารถจัดการกับการควบคุมจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ) อันส่งผลให้ความต้องการวัคซีนป้องกันโควิด1-19 ภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ จีนเป็นชาติแรกในบรรดามหาอำนาจที่ดำเนินนโยบายการทูตวัคซีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้อินโดนีเซียกลายเป็นฐานการผลิตวัคซีนในภูมิภาค[7] จากข้อมูลในเดือนกันยายน 2564 พบว่าทุกประเทศในภูมิภาคฯ ได้รับการจัดหาวัคซีนจากจีนโดยรวมแล้วมาจากการสั่งซื้อเป็นจำนวนสูงถึง 203 ล้านโดส ซึ่งคิดเป็น ร้อยละ 25.6 ของสัดส่วนการจำหน่ายวัคซีนของจีนทั่วโลก ซึ่งมีอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ซื้อสูงสุด (Sinovac 125 ล้านโดส) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ (Sinovac 25 ล้านโดส) ประเทศไทย (Sinovac 18.6 ล้านโดส) และกัมพูชา (Sinovac 14.5 ล้านโดส และ Sinopharm 4 ล้านโดส) เป็นต้น ขณะที่ยอดบริจาคโดยรวมในภูมิภาคมีสูงถึง 7.3 ล้านโดส หรือ คิดเป็น ร้อยละ 29 ของยอดบริจาคที่จีนมอบให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก[8]
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ชิงอำนาจอ่อนผ่านการทูตวัคซีนของจีนก็ต้องสะดุดลง ภายหลังมีรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากในอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้วยังคงติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้วัคซีน Sinovac และ Sinopharm ของจีนถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ต่ำกว่าวัคซีนจากชาติตะวันตก[9] จนหลายประเทศที่เคยได้รับวัคซีนจากจีนต้องปรับเปลี่ยนนโยบายให้มีการฉีดวัคซีน เข็มกระตุ้น (booster doses) จากชาติตะวันตก[10] สถานการณ์ดังกล่าวจึงถือเป็นโอกาสที่ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จะเดินเกมการทูตวัคซีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ในสภาวะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนค่อนข้างตึงเครียด อันเป็นผลมาจากการกล่าวหาว่าต้นกำเนิดของ โควิด-19 มาจากอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนจากสหรัฐฯ จะเปิดโอกาสให้เกิดการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคภายหลังจากที่สหรัฐฯ ละเลยความสนใจต่อภูมิภาคจนส่งผลให้จีนรุกคืบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) จึงดำเนินนโยบายการทูตที่จริงจังมากขึ้น เห็นได้จากการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐ ทั้งรองประธานาธิบดี รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไปประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้นำของหลายประเทศในภูมิภาคฯ ซึ่งสามารถบรรลุแผนการ ที่จะบริจาควัคซีนมากกว่า 20 ล้านโดส[11]
ในบริบทที่กว้างออกไป สหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีไบเดน กำลังเร่งขยายการทูตวัคซีนออกไปทั่วโลก เว็บไซต์ของทำเนียบขาวได้เผยแพร่ประกาศของประธานาธิบดีไบเดน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2564 ว่าจะบริจาควัคซีนจำนวน 80 ล้านโดส หลังจากนั้นไม่นานในการประชุมกลุ่ม G7 ที่สหราชอาณาจักรก็ประกาศเพิ่มเติมว่าจะบริจาควัคซีนจำนวน 500 ล้านโดส ให้ประเทศรายได้ปานกลางและประเทศยากจนแบบไม่มีเงื่อนไข โดยกำหนดให้ 200 ล้านโดสแรก จัดส่งภายในปี 2564 และอีก 300 ล้านโดสภายในกลางปี 2565[12] นอกจากนั้นแล้ว ชาติตะวันตกอื่น ๆ เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย รวมถึงชาติพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น ก็ประกาศเข้าร่วมโครงการโคแว็กซ์ (COVAX) ที่บริหารจัดการโดยองค์การอนามัยโลกรวมถึงความช่วยเหลือในแบบทวิภาคี ทว่าการจัดสรรวัคซีนของชาติตะวันตกและพันธมิตรยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 2 พันล้านโดส[13]
อย่างไรก็ตาม การที่อุปสงค์ด้านวัคซีนจากชาติตะวันตกยังคงสูงกว่าอุปทานและชาติตะวันตกเองก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นแก่พลเมืองของชาติตนเอง ทำให้วัคซีนของจีนยังคงเป็นทางเลือกที่ไม่อาจตัดทิ้งไปได้สำหรับประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อย แม้ว่าการทูตวัคซีนของจีนก็ไม่ได้คลี่คลายปัญหาความขัดแย้งเดิม ๆ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้อพิพาทในเขตทะเลจีนใต้กับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เป็นต้น[14]
นัยยะสำคัญต่อประเทศไทย
การทุ่มงบประมาณของรัฐกว่า 600 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการผลิตวัคซีน AstraZeneca ในประเทศไทย นอกจากจะสร้างความหวังให้กับประชาชนที่จะมีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการแล้ว ยังถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนในภูมิภาค[15] อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในช่วงกลางเดือนเมษายน 2564 ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการวัคซีนที่เพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ กอปรกับปัญหาทางเทคนิคของการผลิตวัคซีนในประเทศไทย รัฐบาลพลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา จึงตัดสินใจหันไปหาตัวเลือกอื่น ๆ ซึ่งวัคซีน Sinovac ของจีนกลายเป็นตัวเลือกแรกเนื่องจากสามารถนำเข้าได้ทันทีเมื่อเทียบกับวัคซีนจากชาติตะวันตกที่ความต้องการจากทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น[16] สถานการณ์นี้นำไปสู่คำวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลถึงความล้มเหลวในการจัดการวัคซีนที่หลากหลาย และเพียงพอต่อกลุ่มประชากรที่มีความต้องการแตกต่างกัน ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลเหล่านี้มาพร้อมกับกระแสเรียกร้องให้มีการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจากชาติตะวันตก เช่น Pfizer, Moderna, Johnson & Johnson จนกระทั่งในที่สุดคณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 อนุมัติการจัดซื้อวัคซีน Pfizer จำนวน 20 ล้านโดส มาใช้ในประเทศ นอกเหนือจากวัคซีนทางเลือกค่ายอื่น ๆ จากฝั่งตะวันตก[17] สถานการณ์วัคซีนในประเทศไทยจึงเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการทูตวัคซีนเพื่อชิงความได้เปรียบเหนือจีน ที่เริ่มจากการบริจาควัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส ตามมาด้วยการบริจาควัคซีน AstraZeneca จากญี่ปุ่นจำนวน 1.05 ล้านโดส ขณะที่จีนก็ส่งสัญญาณว่าจะบริจาควัคซีนให้ประเทศไทยเพิ่มเติมในอนาคต ประเทศไทยจึงกลายเป็นสมรภูมิของการแข่งขันการพูดวัคซีนของชาติมหาอำนาจเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้[18]
บรรณานุกรม
“As Chinese Vaccines Stumble, U.S. Finds New Opening in Asia." The New York Time (August 20, 2021). Available <https://www.nytimes.com/2021/08/20/business/economy/china-vaccine-us-covid-diplomacy.html>. Accessed October 27, 2021.
“China’s COVID-19 Vaccine Diplomacy Reaches 100-Plus Countries." VOA (September 18, 2021). Available <https://www.voanews.com/a/china-s-covid-19-vaccine-diplomacy-reaches-100-plus-countries/6233766.html>. Accessed October 27, 2021.
“China’s Vaccine Diplomacy, the “Health Silk Road” and a Global Pledge." Future Directions (July 15, 2021). Available <https://www.futuredirections.org.au/publication/chinas-vaccine-diplomacy-the-health-silk-road-and-a-global-pledge/>. Accessed October 27, 2021.
Chongkittavorn, Kavi. (2021). "Thailand: A Battleground for Vaccine Diplomacy." Points of View. No. 3/2021. Available <https://isc.mfa.go.th/en/content/thailand-a-battleground-for-vaccine-diplomacy?cate=5f204a5928600c531517cb75>. Accessed October 27, 2021.
Nye, Joseph (2004). Soft Power: The Means to Success in World Politics. New York: Public Affairs.
“The Rise of Vaccine Diplomacy." British Foreign Policy Group (July 23, 2021). Available <https://bfpg.co.uk/2021/07/the-rise-of-vaccine-diplomacy/>. Accessed October 21, 2021.
“Vaccine Diplomacy Isn’t Working. It’s Time For a New Approach." Bloomberg (September 3, 2021). Available <https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2021-09-02/vaccine-diplomacy-isn-t-working-it-s-time-for-a-new-approach>. Accessed October 27, 2021.
Zaini, Khairulanwar (2021) “China’s Vaccine Diplomacy in Southeast Asia – A Mixed Record.” ISEAS Perspective. No.86. Available <https://www.iseas.edu.sg/articles-commentaries/iseas-perspective/2021-86-chinas-vaccine-diplomacy-in-southeast-asia-a-mixed-record-by-khairulanwar-zaini/>. Accessed October 27, 2021.
“โควิด-19 : สหรัฐอเมริกาพาโลกเสรีบริจาคแข่งจีนในศึกการทูตวัคซีน." บีบีซีไทย (19 มิถุนายน 2564). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-57536561>. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564.
“ด่วน! ครม. อนุมัติซื้อวัคซีน “ไฟเซอร์” จำนวน 20 ล้านโดส." ประชาชาติธุรกิจ (6 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-706974>. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564.
“วัคซีนโควิด : สยามไบโอไซเอนซ์ ย้ำนโยบาย "ไม่กำไร ไม่ขาดทุน" โรงงานได้มาตรฐานสากล." บีบีซีไทย (25 มกราคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-55794351>. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564.
อ้างอิง
[1] โปรดดูรายละเอียดใน Joseph Nye, Soft Power: The Means to Success in World Politics (New York: Public Affairs, 2004).
[2] "The Rise of Vaccine Diplomacy," British Foreign Policy Group (July 23, 2021). Available <https://bfpg.co.uk/2021/07/the-rise-of-vaccine-diplomacy/>. Accessed October 21, 2021.
[3] "Vaccine Diplomacy Isn’t Working. It’s Time For a New Approach," Bloomberg (September 3, 2021). Available <https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2021-09-02/vaccine-diplomacy-isn-t-working-it-s-time-for-a-new-approach>. Accessed October 27, 2021.
[4] "China’s COVID-19 Vaccine Diplomacy Reaches 100-Plus Countries," VOA (September 18, 2021). Available <https://www.voanews.com/a/china-s-covid-19-vaccine-diplomacy-reaches-100-plus-countries/6233766.html>. Accessed October 27, 2021.
[5] "China’s COVID-19 Vaccine Diplomacy Reaches 100-Plus Countries," VOA (September 18, 2021). Available <https://www.voanews.com/a/china-s-covid-19-vaccine-diplomacy-reaches-100-plus-countries/6233766.html>. Accessed October 27, 2021.
[6] "China’s Vaccine Diplomacy, the “Health Silk Road” and a Global Pledge," Future Directions (July 15, 2021). Available <https://www.futuredirections.org.au/publication/chinas-vaccine-diplomacy-the-health-silk-road-and-a-global-pledge/>. Accessed October 27, 2021.
[7] "Vaccine Diplomacy Isn’t Working. It’s Time For a New Approach," Bloomberg (September 3, 2021). Available <https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2021-09-02/vaccine-diplomacy-isn-t-working-it-s-time-for-a-new-approach>. Accessed October 27, 2021.
[8] Khairulanwar Zaini, “China’s Vaccine Diplomacy in Southeast Asia – A Mixed Record,” ISEAS Perspective, No.86 (2021). Available <https://www.iseas.edu.sg/articles-commentaries/iseas-perspective/2021-86-chinas-vaccine-diplomacy-in-southeast-asia-a-mixed-record-by-khairulanwar-zaini/>. Accessed October 27, 2021.
[9] "China’s COVID-19 Vaccine Diplomacy Reaches 100-Plus Countries," VOA (September 18, 2021). Available <https://www.voanews.com/a/china-s-covid-19-vaccine-diplomacy-reaches-100-plus-countries/6233766.html>. Accessed October 27, 2021.
[10] "The Rise of Vaccine Diplomacy," British Foreign Policy Group (July 23, 2021). Available <https://bfpg.co.uk/2021/07/the-rise-of-vaccine-diplomacy/>. Accessed October 21, 2021.
[11] "As Chinese Vaccines Stumble, U.S. Finds New Opening in Asia," The New York Time (August 20, 2021). Available <https://www.nytimes.com/2021/08/20/business/economy/china-vaccine-us-covid-diplomacy.html>. Accessed October 27, 2021.
[12] "โควิด-19 : สหรัฐอเมริกาพาโลกเสรีบริจาคแข่งจีนในศึกการทูตวัคซีน," บีบีซีไทย (19 มิถุนายน 2564). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-57536561>. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564.
[13] "The Rise of Vaccine Diplomacy," British Foreign Policy Group (July 23, 2021). Available <https://bfpg.co.uk/2021/07/the-rise-of-vaccine-diplomacy/>. Accessed October 21, 2021.
[14] China’s COVID-19 Vaccine Diplomacy Reaches 100-Plus Countries," VOA (September 18, 2021). Available <https://www.voanews.com/a/china-s-covid-19-vaccine-diplomacy-reaches-100-plus-countries/6233766.html>. Accessed October 27, 2021.
[15] "วัคซีนโควิด : สยามไบโอไซเอนซ์ ย้ำนโยบาย "ไม่กำไร ไม่ขาดทุน" โรงงานได้มาตรฐานสากล," บีบีซีไทย (25 มกราคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-55794351>. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564.
[16] Kavi Chongkittavorn, "Thailand: A Battleground for Vaccine Diplomacy," Points of View, No. 3/2021. (2021). Available <https://isc.mfa.go.th/en/content/thailand-a-battleground-for-vaccine-diplomacy?cate=5f204a5928600c531517cb75>. Accessed October 27, 2021.
[17] "ด่วน! ครม. อนุมัติซื้อวัคซีน “ไฟเซอร์” จำนวน 20 ล้านโดส," ประชาชาติธุรกิจ (6 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-706974>. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564.
[18] Kavi Chongkittavorn, "Thailand: A Battleground for Vaccine Diplomacy," Points of View, No. 3/2021. (2021). Available <https://isc.mfa.go.th/en/content/thailand-a-battleground-for-vaccine-diplomacy?cate=5f204a5928600c531517cb75>. Accessed October 27, 2021.