การทหาร
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
ทรงรับราชการทหารก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสำเร็จวิชาการทหารบกมาจากประเทศอังกฤษ ทั้งยังได้ทรงเข้าประจำการเป็นนายร้อยตรีกิตติมศักดิ์แห่งกองทัพอังกฤษที่กองทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ในระหว่างนั้น ในส่วนของสยามทรงดำรงพระยศเป็นนายร้อยตรีนอกกอง กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และนายร้อยโทนอกกองกรมทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ในเวลาต่อมา[1]
ครั้นเสด็จกลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที ๒๐เมษายน พ.ศ.๒๔๕๗ แล้วได้ทรงเข้ารับราชการกองทัพบกในตำแหน่งนายทหารคนสนิทของจอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ องค์เสนาบดีทหารบก ต่อมาทรงได้รับพระราชทานเลื่อนพระยศเป็นนายร้อยเอกประจำกรมบัญชาการกองทัพน้อยที่ ๒ และเป็นนายพันตรีผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม ตามลำดับ[2]
หลังจากเสด็จกลับมาจากการทรงศึกษาเพิ่มเติมในวิชาทหารเสนาธิการที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ แล้ว ได้เสด็จกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งปลัดกรมเสนาธิการทหารบก แล้วเลื่อนพระยศเป็นนายพันเอก ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๘ ทรงเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๒ และผู้บังคับการพิเศษกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ [3]
ในระหว่างนั้นทรงได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการทัดทอนรายจ่ายฝ่ายทหารเพื่อประหยัดงบประมาณโดยรวม จึงทรงแสดงพระดำริเห็นไปในทางเดียวกันกับเจ้านายและนายทหารสำคัญๆ อื่นๆ ที่เป็นกรรมการว่า การทหารยังขาดกำลังรบและยุทธปัจจัย จึงไม่สมควรจะตัดทอนงบประมาณ แต่หากจำเป็นก็ควรรวมทหารบกและทหารเรือเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน ลดเวลาการเกณฑ์ทหารลง ลดอัตราค่าเบี้ยกันดารและลดอัตราเงินเดือนเป็นการชั่วคราวเฉพาะในยามเศรษฐกิจตกต่ำเท่านั้น[4]
อนึ่ง ในฐานะพระรัชทายาทและต้องทรงวินิจฉัยเรื่องราวของทางราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวบ่อยครั้งปรากฏว่าทรงยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่ทรงมีความรู้เรื่องราชการทหารเรือพอที่จะทรงออกความเห็นแต่อย่างใด[5]
พระราชดำริเกี่ยวกับการทหารเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์
ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ แล้ว ได้มีพระราชดำรัสตอบในการทรงรับพระยศจอมพลทหารบก ทหารเรือ ว่าพระองค์เอง “นับว่าเป็นนายทหารบกตามอาชีวะ”จึงจะทรง “เอาใจใส่ในกิจการทหารบกอยู่เสมอและจะพยายามให้กองทัพบกของเราเจริญทัดเทียมชาติอื่น” สำหรับทหารเรือซึ่งมิได้ทรงเป็น ก็ทรง“ยืนยันอยู่เสมอว่าเป็นของจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการป้องกันพระราชอาณาจักรของเรา จะเลิกเสียไม่ได้เป็นอันขาด”ควรที่จะต้อง “ใช้ทหารบก ทหารเรือทำการกลมเกลียวกันที่สุด”จึงจะป้องกันพระราชอาณาเขตได้ และ“กำลังทางอากาศ..ต่อไปภายหน้าจะเป็นกำลังสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ” (ตัวสะกดตามต้นฉบับ)[6]
การเปลี่ยนแปลงด้านการทหารบก
หากแต่ว่า ในภาวะที่งบประมาณขาดดุลรายได้ไม่พอกับรายจ่ายตั้งแต่รัชกาลก่อน รัฐบาลของพระองค์จึงได้หาทางตัดรายจ่ายที่ทันที ในส่วนของกระทรวงกลาโหม (ทหารบก) และกระทรวงทหารเรือ ได้ดำเนินการบางประการตามที่ได้มีดำริไว้ก่อนแล้วในสมัยรัชกาลที่ ๖ คือการยกเลิกและยุบรวมงานบางหน่วยเข้าด้วยกัน รวมทั้งให้นายทหารออกจากประจำการจำนวนหนึ่ง อีกทั้งลดอัตราทางฝ่ายทหารกรมราชองครักษ์ด้วย ส่งผลเป็นการปรับงบประมาณในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ได้ถึงประมาณร้อยละ ๙ของงบประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๘[7]
ครั้นเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมแทนเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ใน พ.ศ.๒๔๖๙ ได้มีการจัดโครงสร้างกระทรวงกลาโหมใหม่แบ่งภาระรับผิดชอบออกไปจากหน่วยขึ้นตรงต่อเสนาบดีซึ่งมีจำนวนมากเกินไป เพื่อให้การประสานงานสะดวกขึ้น และต่อมาได้มีการปรับปรุงราชการทหารและตัดทอนรายจ่ายฝ่ายทหารไปตามความจำเป็นของสภาพเศรษฐกิจ อีกทั้งใน พ.ศ.๒๔๗๐ ปรับปรุงสภาป้องกันพระราชอาณาจักรเดิมซึ่งมีมาแต่ครั้งปลายรัชกาลที่ ๕ กำหนดหน้าที่ให้ทำการพิจารณานโยบายและดำเนินการป้องกันพระราชอาณาจักรได้โดยเด็ดขาด มีคณะกรรมการประกอบด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สภานายก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ อุปนายก เสนาบดีกระทรวงกลาโหม (ทหารบก) ทหารเรือ การต่างประเทศ มหาดไทย การคลัง และพาณิชย์และคมนาคม เป็นกรรมการ แสดงถึงการมุ่งให้นโยบายและการปฏิบัติที่สอดคล้องกันยิ่งขึ้นทางด้านความมั่นคงของชาติ ในภาพกว้าง[8]
ต่อมาเมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมแทนสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ใน พ.ศ.๒๔๗๐ได้ลดจำนวนกรมในกระทรวงกลาโหมลง พร้อมทั้งใน พ.ศ.๒๔๗๑ วางแนวทางพัฒนาคุณภาพและบำรุงวินัยทางทหารให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น มีความประสงค์ให้ ๑.ทหารเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในอาชีพของตน กระตือรือร้นและซื่อสัตย์โดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือน ๒.ให้บุคคลระดับบริหารมีความสามารถในการบริหารอย่างแท้จริง และ ๓.ให้ทหารแสวงหาความรู้ความชำนาญในหน้าที่ให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้ผู้ที่ทำเช่นนั้นมีโอกาสเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งอย่างยุติธรรมด้วยการสอบแข่งขัน ทำนองเดียวกันกับที่ในปีเดียวกันได้มีการตราพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๗๑ ให้ใช้ระบบคุณธรรม (merit system ) เป็นหลักในการบริหารงานบุคคล ทั้งหมดนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัยมากและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ กระทรวงกลาโหมดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอที่ประชุมสภาป้องกันพระราชอาณาจักรก่อนแต่ให้ถวายรายงานเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ก่อนดำเนินการ ต่อมาปรากฏว่าพระองค์เจ้าบวรเดชทรงมุ่งบำรุงกิจการทหารบก และได้ทรงของบประมาณในการดำเนินการเพิ่มขึ้นจากเดิม สำหรับการเพิ่มเงินเดือนฝ่ายทหาร ขยายกิจการก่อสร้างในกรมทหารจัดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ที่ทันสมัย ฯลฯ แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นไม่เอื้อต่อการเพิ่มรายจ่าย ข้อเสนอของท่านบางส่วนจึงไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาและเสนาบดีสภา นอกจากนั้นพระองค์เจ้าบวรเดชยังมีพระดำริจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบของทหารบก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เอาพระราชหฤทัยใส่กับหนังสือกราบบังคมทูลนี้โดยตลอด และได้พระราชทานหลักสำหรับวินิจฉัยไว้ว่า “๑.ไม่ควรคิดเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ต้องเปลืองเงินมากขึ้น ๒.ควรเปลี่ยนแต่ที่จำเป็นเพราะของเดิมไม่สะดวกและไม่เหมาะด้วยกาลสมัยจริงๆ ไม่ใช่เปลี่ยนเล่นเฉยๆ หรือเพื่อสรวยงามอย่างเดียว ” (ตัวสะกดตามต้นฉบับ)ดังกรณีที่เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบพิเศษสำหรับนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ทรงไว้ว่า แม้ฝ่ายทหารเหล่านั้นจะมี “หน้าที่” พิเศษก็ต้องไปอยู่ตามกรมกองอยู่ดี จึงควรแต่งกายอย่างเหล่าเดิมของตน เป็นต้น (ตัวสะกดตามต้นฉบับ)[9] แสดงให้เห็นว่าทรงทราบความเป็นจริงและความควรจะเป็นในวิชาชีพที่ทรงชำนาญการและจึงได้ทรงแสดงความคิดเห็นของพระองค์อย่างมั่นเหมาะ
ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าแม้ว่าจะทรงมีวิชาชีพทางการทหารบกมาก่อนและทรงเห็นแก่กิจการทหารเพียงใดก็ตาม เมื่อทรงเป็นหัวหน้ารัฐบาลแล้วก็ทรงตระหนักดีว่าจะต้องทรงมีพระบรมราโชบายไปในทางที่เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศในภาพรวมมากกว่าของส่วนหนึ่งส่วนใด และตามความเห็นส่วนใหญ่ของที่ประชุม ดังที่เป็นพระราชปฏิบัติโดยมาก
การเปลี่ยนแปลงด้านการทหารเรือ
ในส่วนของกระทรวงทหารเรือ ซึ่งมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกรทรงเป็นเสนาบดี ก็ต้องตัดทอนรายจ่ายเช่นกัน ในการนี้นายพลเรือตรี พระยาราชวังสัน เสนาธิการทหารเรือได้มีหนังสือกราบทูลเสนาบดีถึงหน้าที่ของกองทัพเรือ ยุทธศาสตร์การป้องกันอ่าวสยามและรายละเอียดของเรือและอาวุธที่จำเป็นสำหรับการนั้น ซึ่งยังต้องจัดหาอย่างคำนึงโดยตลอดถึงสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ มีสาระสำคัญโดยสังเขปว่า กองทัพเรือมีหน้าที่ป้องกันอ่าวสยามให้ข้าศึกไม่สามารถปิดอ่าวไทยได้โดยง่าย หน่วงไว้ให้ช้าเพื่อสันนิบาตชาติและสัมพันธมิตรจะมาช่วยทัน โดยกองทัพเรือมีสมรรถภาพพอจะพึ่งพาอาศัยได้และได้รับความเชื่อถือจากเขา ภายใต้กรอบรัฐประศาสโนบายที่ตั้งอยู่บนความเป็นกลาง ในการนี้มีแผนปรับปรุงกองทัพเรือด้วยการจัดหาเรือ ๘ ประเภท ตั้งแต่เรือปืนขนาดใหญ่ ไปจนถึงเรือดำน้ำและเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ อีกทั้งตอร์ปิโดและทุ่นระเบิด โดยกำหนดเป็นโครงการระยะยาวประมาณ ๑๕ ปี[10]
กระทรวงทหารเรือประสบความสำเร็จในการใช้เงินสะสมของกระทรวงตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๕ รวมกับเงินพิเศษที่ขอพระราชทาน สั่งต่อเรือรบได้เป็นลำแรกในรัชกาลในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๒ คือเรือหลวงสุโขทัย แต่เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำมากตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๓ งบประมาณกระทรวงทหารเรือก็ถูกปรับลด อีกทั้งที่ประชุมเสนาบดีสภายังมีมติเรียกเงินสะสมเข้าท้องพระคลังตามคำเรียกร้องของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติด้วย[11]
การรวมกระทรวงทหารเรือเข้ากับกระทรวงกลาโหม
เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๔ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รักษาพระเนตรอยู่ที่สหรัฐอเมริกา พระองค์เจ้าบวรเดชได้ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ด้วยไม่พอพระทัยที่เสนาบดีสภาและอภิรัฐมนตรีสภามีมติให้ตัดงบประมาณของกระทรวงที่ทรงดูแลอยู่อีก[12] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนหลังจากเสด็จฯ กลับมาแล้วได้มีการดำเนินการตามแนวความคิดที่มีมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ ๖ ให้รวมราชการทหารบกและทหารเรือเข้าด้วยกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสทรงอธิบายในการประชุมใหญ่ที่กระทรวงกลาโหม ความสำคัญว่า การรวมกระทรวงเข้าด้วยกันนี้ มิได้เป็นการประหยัดเงินอย่างเดียวแต่เพื่อประโยชน์ทางการทหารมากกว่าอย่างอื่น ด้วยสยามเป็นประเทศเล็ก มีทหารไว้ป้องกันตัวเท่านั้นไม่เหมือนประเทศใหญ่ๆ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศจึงต้อง “ติดต่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันพร้อมเพรียงกัน…ใช้กำลังร่วมกัน”ไม่แยกงบประมาณกัน ซึ่งทำให้ไม่รู้ถึงกันว่าทำอะไรกันอยู่ และเป็นการสิ้นเปลืองดังที่มีเสียงวิจารณ์ กระทรวงกลาโหมจะต้องวางแผนให้ชัดว่าจะทำอย่างไรให้สำเร็จสำหรับการป้องกันพระราชอาณาจักร แล้วทุ่มเทเงินไปทางนั้น ในการทำแผนนั้นไม่ควรทำโดยคิดโครงการให้โตแล้วค่อยๆ ทำตามแต่จะทำได้ เพราะจะไม่มีวันสำเร็จควรวางแผนโดยการทำเป็นขั้นๆ “ให้ข้าศึกต้องใช้เงินมากขึ้นทุกที ทำการเข้าตียากขึ้นทุกที ”จะดีกว่า จากนั้นรับสั่งถึงภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจว่า “ประเทศสยามตกอยู่ในที่อันตรายเท่ากับเวลาสงคราม แต่มีใช่สงครามอาวุธเป็นสงครามการเงินจึงอยากให้ทหารเอาใจช่วยผู้ที่จะต้องต่อสู้กับสงครามการเงิน”เหมือนกับในทางกลับกัน “ถ้าหากเป็นเวลาสงครามมาติดพระนครเงินของรัฐบาลย่อมต้องใช้ในการทหารหมด”ทรงหวังว่าทหารจะไม่ขวัญเสียตามที่มีผู้ยุแหย่อยู่ และรับสั่งต่อไปว่าหากนายทหารและข้าราชการพลเรือน “ไม่รู้สึกตัวเองว่าตนเป็นข้าของแผ่นดิน ไม่ยอมเสียสละความสุขส่วนตัวให้เมื่อจำเป็น ถ้าทุกคนรู้สึกเหมือนเป็นเพียงลูกจ้างเช่นนี้แล้ว บ้านเมืองก็ล่มแน่”[13]
กระทรวงกลาโหมที่จัดใหม่นี้มีนายพลเรือเอก กรมหลวงสิงหวิกรมฯ ทรงเป็นเสนาบดีบังคับบัญชากิจการทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ โดยมีนายพลเอกพระองค์เจ้าอลงกฏผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมอยู่เดิมนับแต่พระองค์เจ้าบวรเดชทรงลาออก ทรงเป็นรองเสนาบดี
กรมอากาศยาน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ สนพระราชหฤทัยเรื่องการอากาศยาน ตั้งแต่พระองค์ยังประทับทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ ครั้นในรัชกาลกรมอากาศยานซึ่งยังนับว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้น สังกัดอยู่กับกระทรวงกลาโหม แต่ใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชมว่าการที่ได้ส่งนายทหารไปเรียนวิชาการทหาร ๓ คนนั้นได้ผลเกินคาด คือ สามารถทดลองสร้างเครื่องบินขึ้นเองได้ด้วยฝีมือคนไทย เครื่องบินชุดนี้ทดลองบินในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นที่น่าพอใจและได้รับพระราชทานนามว่าเครื่องบินแบบ“บริพัตร”และมีบทบาทในการออกไปเยือนประเทศเพื่อนบ้าน เช่นอินเดีย และอินโดจีนของฝรั่งเศส และในการเป็นเครื่องบินพยาบาลด้วย[14]
การตัดทอนกำลังกองทัพเพื่อประหยัดงบประมาณประจำปี
ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม พ.ศ.๒๔๗๔ ได้มีการประชุมอภิรัฐมนตรีสภาหลายรอบในเรื่องของการประหยัดงบประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งจะเริ่มในเดือนเมษายนนั้น ในภาวการณ์ที่งบประมาณแผ่นดินยังคงขาดแคลนมาก และที่เริ่มมีข่าวว่าทหารบางคนไม่พอใจในกิจการของรัฐบาลและลือกันว่าจะมีการตัดบำนาญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รับสั่งว่าการที่คิดจะตัดตอนต้องอย่าให้มีอันตรายต่อการช่วยรักษาความสงบ การยุบพลทหารที่หัวเมืองโดยการปล่อยทหารเกณฑ์ชั้นปี ๒ ออกไม่มีอันตราย การปลดนายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็ไม่เป็นไร แต่นายทหารชั้นผู้น้อยลำบาก ผลที่สุดได้วางรูปโครงการให้ลดจำนวนตำแหน่งและนายทหารระดับสูงลง ยุบกองพันกรมละ ๑ กองพัน ปล่อยทหารปีที่๒ หัวเมืองให้ลาพัก ๑๐ เดือนเป็นต้น มีผลเป็นการตัดเงินได้ประมาณ ๑.๖ ล้านบาทจากประมาณ ๔.๔ ล้านบาท[15] เห็นได้ว่าในภาวะที่ต้องรักษาวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัดนั้น การที่ทหารจะอ้างเหตุผลพิเศษที่จะไม่อยู่ในกรอบวินัยดังกล่าวเป็นไปได้ยาก
การศึกษาวิชาทหารในรัชกาลที่ ๗
ตั้งแต่ต้นรัชกาลคือในปี พ.ศ.๒๔๖๘ ได้มีการรวมกิจการโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม(ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เคยทรงเป็นผู้บังคับการ) และโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมเข้าด้วยกัน เป็นโรงเรียนนายร้อยทหารบก จัดระเบียบชั้นเรียนและระเบียบการปกครองนักเรียนใหม่เพื่อสะดวกในการปกครองและเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ต่อมาเมื่อปรากฏว่าผลิตนักเรียนนายร้อยออกมารับราชการทหารได้ไม่เพียงพอ ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ กรมยุทธศึกษาทหารบกจึงรับสมัครนักเรียนสามัญจากกระทรวงธรรมการเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก และในปี พ.ศ.๒๔๗๑ ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยที่สำเร็จการศึกษาเป็นครั้งแรกของประเทศ[16] เป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน พระบรมราโชวาทในการพระราชทานกระบี่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ความตอนหนึ่งว่า “ทหารนั้นเป็นเหมือนเครื่องกันภัยของประชาชน เราต้องให้ประชาชนเขาไว้ใจที่สุดเพราะมิฉะนั้นก็เป็นทหารที่เก๊แน่นอน”[17]
อนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ กรมยุทธศึกษาทหารบกได้ให้คณะกรรมการเรียบเรียงหนังสือแนวสอนวิชาจรรยาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกขึ้นมีพระพุทธธรรมและวิธีการปฏิบัติของพระสงฆ์เป็นฐาน แล้วขยายความสู่ธรรมของผู้ครองเรือน ธรรมเกี่ยวกับแก่หน้าที่ ไม่เฉพาะของทหารแต่ของพลเมืองด้วย และธรรมรอบตัว ปรากฏว่าหนังสือเล่มนี้มีการนำไปใช้สอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายด้วยจนสิ้นรัชกาลที่ ๗[18] การนี้นับว่าสอดคล้องกับพระราชประสงค์โดยทั่วไปที่ให้มีการแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กในช่วงเวลาเดียวกันและน่าจะเนื่องด้วยใน พ.ศ.๒๔๗๒ กระทรวงกลาโหมได้ตกลงกับกระทรวงธรรมการ[ศึกษาธิการในปัจจุบัน] ให้มีการฝึกวิชาการทหารในโรงเรียนของกระทรวงธรรมการและโรงเรียนอื่นๆ ที่กระทรวงธรรมการรับรอง เป็นวิธีการแก้ปัญหาของการที่ยังขยายกองทัพให้โตพอไม่ได้ด้วยขาดแคลนงบประมาณ จึงเห็นว่าหากนักเรียนเต็มใจสมัครเข้ารับการฝึกวิชาทหารเพิ่มขึ้นจากการศึกษาปกติ เขาก็จะเป็นฐานกำลังแก่การทหารได้และต่อไปเป็นผู้บังคับบัญชาทหารกองหนุนซึ่งยังขาดอยู่ โดยโครงการนี้ลงทุนน้อย[19] นับเป็นการวางรากฐานของการฝึก ร.ด. ทหารกองหนุนรักษาดินแดนของกรมรักษาดินแดนในปัจจุบัน
สำหรับการศึกษาวิชาทหารนั้นในต่างประเทศนั้นกระทรวงกลาโหมมีการส่งนักเรียนนายร้อยออกไปศึกษาวิชาทหารบก จำนวน ๒๐ คนต่อปี นายทหารไปศึกษาเพิ่มเติมจำนวนไม่เกิน ๓ นายและไม่เกิน ๓ ปี คณะนายทหารออกไปดูงาน ๓-๕ นาย ระยะเวลาไม่เกิน ๑ ปี กรมแผนที่มีจำนวน ๓นาย ทั้งหมดโดยผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการที่มีเกณฑ์คัดเลือก กรมอากาศยานไม่มีจำนวนแน่นอนแล้วแต่สะดวกในการคัดเลือกคนและเงินค่าใช้สอย ในส่วนของกระทรวงทหารเรือ ไม่มีหลักการคัดเลือกที่แน่นอนเพราะไม่คิดส่งนักเรียนเป็นจำนวนมาก ประเทศที่ออกไปศึกษามีทั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกาและเยอรมนี[20]
สรุป
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เคยทรงประกอบวิชาชีพทหารบกมาก่อน จะทรงตั้งพระราชหฤทัยตั้งแต่ต้นรัชกาลที่จะทรงทะนุบำรุงกิจการทั้งทหารบก เรือ และอากาศให้เจริญก้าวหน้า แต่เมื่อประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ งบประมาณขาดแคลน ก็ทรงเห็นจำเป็นที่รัฐบาลของพระองค์จะต้องตัดทอนงบประมาณด้านการทหารพร้อมๆ ไปกับและได้สัดส่วนกับด้านอื่นๆ โดยยังมีพอที่จะให้ทหารสามารถปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศได้ ในการนี้ต้องคิดหาวิธีการต่างๆ นานา เพื่อให้งบประมาณลงตัว ทั้งนี้มีหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่าการตัดทอนได้ส่งผลต่อกำลังใจของทหารบางส่วน หลักฐานที่สำคัญคือกระแสพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ข้าราชการกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ ๕กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ซึ่งรับสั่งเป็นการชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา “ระหว่างเพื่อนนายทหารด้วยกัน”ว่า “ต้องทำการตัดรอนอะไรต่ออะไรซึ่งข้าพเจ้ามีความเสียใจมาก…ตัวข้าพเจ้าเองรู้สึกเหมือนเกิดมาสำหรับตัดรอน”จากนั้น ทรงอธิบายโดยละเอียดถึงเหตุปัจจัยและทางเลือกทางเศรษฐกิจที่กำลังพิจารณาอยู่ แล้วทรงจบพระราชกระแสด้วยข้อความว่า “นายทหารโดยเฉพาะคงจะเห็นใจและรู้สึกมีน้ำใจดีต่อข้าพเจ้ามากดว่าคนอื่น… ขอให้ทำน้ำใจให้ดีและช่วยหนุนขวัญของคนไทยทั้งหมดให้ต่อสู้กับอันตรายของเราในเวลานี้”[21] กระนั้นก็ตามการตัดทอนงบประมาณทหารนับได้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งในบรรดาปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดมีการยึดอำนาจการปกครองเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ก่อนที่การดำเนินการของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสู่ระบบพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ(Constitutional Monarchy) อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจะบรรลุผล
บรรณานุกรม
แนวสอนวิชาจรรยาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก. ๒๕๑๙. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้ากมลปราโมทย์ เทวกุล ทจ.ว.. กรุงเทพ: โรงพิมพ์พระจันทร์.
รัฐสภา.๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).
บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บก.)๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ / วัชรินทร์การพิมพ์.
Batson, Benjamin. 1984. The End of the Absolute Monarchy in Siam. Singapore: Oxford University Press.
อ้างอิง
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า 32-33.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า ๓๓.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า ๔๒.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า ๒๑๕-๒๑๖.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า ๔๓.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า ๒๑๗.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า ๒๑๘–๒๑๙.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า ๒๒๒–๒๒๓.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า ๒๒๓–๒๓๑.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า ๒๓๒–๒๓๔.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า ๒๔๓.
- ↑ Batson, Benjamin. 1984. The End of the Absolute Monarchy in Siam. Singapore: Oxford University Press. p.193.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว.หน้า ๒๔๔-๒๔๕.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า ๒๔๕-๒๔๖.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า ๒๔๗-๒๗๐.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า ๒๖๕.
- ↑ บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บก.)๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ / วัชรินทร์การพิมพ์.หน้า ๑๗๒.
- ↑ แนวสอนวิชาจรรยาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก. ๒๕๑๙. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้ากมลปราโมทย์ เทวกุล ทจ.ว.. กรุงเทพ: โรงพิมพ์พระจันทร์.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว.หน้า ๒๖๕-๒๖๙.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997).หน้า ๒๖๙-๒๗๐
- ↑ บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บก.)๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ / วัชรินทร์การพิมพ์.หน้า ๒๑๕-๒๑๘.