การขอเปิดอภิปรายทั่วไปวุฒิสภา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง นารีลักษณ์ ศิริวรรณ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฏร และวุฒิสภา ในส่วนของวุฒิสภา ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน ๑๕๐ คน โดยแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทแรก เป็นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจากทุกจังหวัด จังหวัดละ ๑ คน (ปัจจุบันมี ๗๖ คน) และประเภทที่สอง เป็นสมาชิกที่มาจากการสรรหาเท่ากับจำนวน ๑๕๐ คน หักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง[1] มีอำนาจหน้าที่ด้านการกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาอนุมัติพระราชกำหนด ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา โดยไม่มีการลงมติ การตั้งคณะกรรมาธิการ การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญการใช้อำนาจรัฐ โดยการเลือกหรือให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและศาล การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง และ การพิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญต่าง โดยการ ให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม ให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย ให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาในการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ[2]

การเปิดอภิปรายทั่วไปเป็นมาตรการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินวิธีหนึ่ง ซึ่งวุฒิสภาสามารถเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๖๑ บัญญัติว่า สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภามีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ การขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตราดังกล่าว จะกระทำได้ครั้งเดียวในสมัยประชุมหนึ่ง[3] และ ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๑ ในหมวด ๙ การเปิดอภิปรายทั่วไป ข้อ ๑๗๔ กำหนดให้ การขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา ๑๖๑ ของรัฐธรรมนูญให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธานวุฒิสภา โดยระบุให้ชัดเจนว่าจะให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินเรื่องใด โดยให้ประธานวุฒิสภาแจ้งการขอเปิดอภิปรายทั่วไปไปยังนายกรัฐมนตรี และให้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน เมื่อคณะรัฐมนตรีได้แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องที่ขอเปิดอภิปรายทั่วไปแล้ว สมาชิกมีสิทธิที่จะอภิปรายซักถามได้ โดยรัฐมนตรีเท่านั้นที่มีสิทธิจะอภิปรายตอบข้อซักถาม รัฐมนตรีจะตอบสมาชิกที่ซักถามและอภิปรายในเรื่องที่ขอเปิดอภิปรายทั่วไปทีละคนเป็นลำดับไป หรือจะรอรวมตอบครั้งละหลายคนก็ได้[4]

ลักษณะการอภิปราย

การอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่ขอเปิดอภิปรายทั่วไปที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น หรือใช้ภาษาต่างประเทศโดยไม่จำเป็น และห้ามมิให้นำเอกสารใด ๆ มาอ่าน หรือนำวัตถุใด ๆ เข้ามาแสดงในที่ประชุมวุฒิสภา เว้นแต่ประธานของที่ประชุมจะอนุญาต แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิสมาชิกที่จะเขียนคำอภิปรายของตนและอ่านคำอภิปรายนั้นต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยห้ามมิให้ผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามมิให้กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น

ผู้อภิปรายและลำดับในการอภิปราย

ผู้มีสิทธิอภิปรายคือผู้เข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป แต่ถ้าผู้เสนอญัตติขออภิปรายหลายคน ให้ประธานของที่ประชุมอนุญาตให้ใช้สิทธิอภิปรายก่อนได้เพียงคนเดียว การอภิปรายในลำดับต่อไปจะต้องเป็นการอภิปรายสลับกันระหว่างฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุน เว้นแต่ในวาระของฝ่ายใดไม่มีผู้อภิปรายอีกฝ่ายหนึ่งจึงอภิปรายซ้อนได้ การอภิปรายไม่สนับสนุนและไม่คัดค้านย่อมกระทำได้โดยไม่ต้องสลับ และมิให้นับเป็นวาระอภิปรายของฝ่ายใด ถ้ามีผู้ขออภิปรายหลายคน ประธานของที่ประชุมจะให้คนใดอภิปรายก็ได้ แต่ให้คำนึงถึงผู้ร่วมเสนอญัตติ และผู้ซึ่งยังไม่ได้อภิปรายด้วย

การยุติอภิปราย และอภิปรายสรุป

ในการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา ถ้าประธานของที่ประชุมเห็นว่าผู้ใดได้อภิปรายพอสมควรแล้ว ประธานของที่ประชุมจะให้ผู้นั้นยุติการอภิปรายก็ได้ และในการพิจารณาเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภานั้น การอภิปรายเป็นอันยุติเมื่อ ๑. ไม่มีผู้ใดอภิปราย ๒. ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติให้ปิดอภิปราย โดยสมาชิกเสนอญัตติขอปิดอภิปราย หรือในกรณีที่ประธานของที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า ได้อภิปรายกันพอสมควรแล้ว จะขอให้ที่ประชุมวุฒิสภาวินิจฉัยว่าจะปิดอภิปรายหรือไม่ก็ได้ ๓. ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติให้ยกเรื่องอื่นขึ้นปรึกษา เมื่อการอภิปรายได้ยุติแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดอภิปรายอีก นอกจากในกรณีที่ที่ประชุมวุฒิสภาจะต้องลงมติในเรื่องที่กำลังปรึกษากันอยู่ จึงให้ผู้มีสิทธิอภิปรายก่อน อภิปรายสรุปได้อีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะลงมติเมื่อการอภิปรายได้สิ้นสุดแล้ว ให้ประธานของที่ประชุมให้สัญญาณแจ้งสมาชิกที่มาประชุมทราบก่อนลงมติ[5] โดยสรุป บทบาทอำนาจหน้าที่ที่สำคัญของวุฒิสภาคือ “สภาตรวจสอบ” ซึ่งต้องควบคุมตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งผู้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติ รวมทั้งกรรมการองค์กรอิสระ ต่าง ๆ โดยที่รัฐธรรมนูญกำหนดช่องทางและกลไกการตรวจสอบไว้ในช่องทางต่าง ๆ ซึ่งการดำเนินงานของวุฒิสภาที่ผ่านมาถือว่ามีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการบรรลุผลของการปฏิรูปการเมืองไทย เช่น กรณีที่สมาชิกวุฒิสภาได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีชี้แจงปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ส่อว่าจะเกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองตามมาตรา ๖๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งการที่สภาได้พิจารณา ในวันศุกร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ และวันพุธที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เป็นการอภิปรายนโยบายโครงการรับจำนำข้าวที่ล้มเหลว และการบริหารราชการแผ่นดินที่บกพร่อง โดยผลของการอภิปรายทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงมากขึ้นเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสโครงการรับจำนำข้าวมากขึ้น และแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของรัฐบาล

อ้างอิง

  1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ระบบรัฐสภา, กรุงเทพฯ สำนักการพิมพ์ สำนักงาน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ๒๕๕๒, หน้า ๘, ๑๘–๑๙.
  2. เรื่องเดียวกัน หน้า ๒๙–๓๑.
  3. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ๒๕๕๓, หน้า ๑๕๕.
  4. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ข้อบังคับการประชุม, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ๒๕๕๑, หน้า ๑๗๑.
  5. คลังปัญญาไทย. (๒๕๕๕) การเปิดอภิปรายทั่วไป. [ออนไลน์]. วันที่ข้อค้นข้อมูล ๒๓ มกราคม ๒๕๕๖. เข้าถึงได้จาก http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%”E0%B81%E0%B8