การขยายตัวสมาชิกภาพอาเซียน
บทนำ
กรอบความร่วมมืออาเซียนได้เริ่มต้นจากแนวคิดตามปฏิญญากรุงเทพจากกลุ่มประเทศอาเซียนผู้ก่อตั้งเพียง 5 ประเทศ[1] ซึ่งในมิติด้านเศรษฐกิจนั้นถือได้ว่ามีพัฒนาการที่มีประสิทธิผลชัดเจนในการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันและการดึงดูดให้เกิดการลงทุนในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น แม้จะยังไม่พัฒนาไปจนถึงขั้นการรวมกลุ่มโดยสมบูรณ์แต่ก็มีแนวโน้มความร่วมมืออย่างทางการมากยิ่งขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีกฎบัตรอาเซียนซึ่งเป็นเอกสารข้อตกลงซึ่งมีผลให้สมาคมอาเซียนมีสถานะบุคคลตามกฎหมาย[2][3] กฎบัตรอาเซียนได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในเรื่องของสมาชิกภาพในข้อ 6 [4]
พัฒนาการความร่วมมือระดับภูมิภาคของอาเซียน
สมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือสมาคมอาสา (Association of South-East Asia – ASA) [5] เป็นจุดเริ่มต้นของอาเซียน มีการก่อตั้งขึ้นเมื่อ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1961 โดยประเทศฟิลิปปินส์ สหพันธ์รัฐมาลายา และประเทศไทย เป็นรัฐสมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่เกิดการขัดแย้งกันเรื่องดินแดนระหว่างสหพันธ์รัฐมาลายากับฟิลิปปินส์ ในปลายปี ค.ศ.1962 ความสัมพันธ์จึงหยุดชะงักลง
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน(Association of South East Asian Nations) เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันได้อีกครั้งหลังจากมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์จนสามารถรวมตัวกันได้ และก่อตั้งสมาคมฯขึ้นในสมัยรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร โดยมีการลงนาม "ปฏิญญากรุงเทพ" (The Bangkok Declaration ) ที่พระราชวังสราญรมย์ [6] เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1967 ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[7] ของประเทศอินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคง รวมไปถึงการพัฒนาด้านสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศสมาชิก และในเวลาต่อมาเมื่อบรูไน ได้รับเอกราชจากอังกฤษ บรูไนก็ได้ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1984
ภายหลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย และสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงบรรยากาศทางการเมืองในเรื่องแนวคิดการแบ่งแยกการปกครองเริ่มคลี่คลายลง กลุ่มประเทศ CLMV ในค่ายสังคมนิยมได้พัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อมุ่งสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจในขณะเดียวกับที่มีความพยายามผลักดันให้เกิดเขตการค้าเสรีอาเซียนสอดรับกับกระแสการค้าโลก โดยอาเซียนได้มีการรับสมาชิกใหม่ ดังนี้
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งได้เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ของอาเซียนก่อนในปีค.ศ.1992 เป็นผลมาจากการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับหลายประเทศ รวมไปถึงการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ภายหลังการพยายามเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายต่างประเทศเป็นแบบหลายทิศทาง[8] และได้ตกลงเข้าร่วมเป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1995 ในที่สุด
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้รับผลกระทบจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกับเวียดนามจึงมีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของตนโดยเข้าร่วมประชุมเป็นผู้ร่วม สังเกตการณ์ในปี ค.ศ. 1992 และตกลงเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในโอกาสเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ.1995
สหภาพพม่าเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 และได้ตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนด้วยเหตุผลความมั่นคงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และการไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศของรัฐบาลพม่าเองในการปกครองภายใต้พรรคพรรคเดียวและการบริหารเศรษฐกิจตามแนวทางของสังคมนิยมวิถีพม่า [9]
ราชอาณาจักรกัมพูชา ได้เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ก่อนในเบื้องต้นเช่นเดียวกันในปี ค.ศ. 1994 แต่ด้วยสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศทำให้ต้องเลื่อนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน โดยการเลื่อนครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในการส่งผู้แทนไปเพื่อหาทางออกโดยกลไก troika [10] สะท้อนถึงความตั้งใจแน่วแน่ที่จะรับกัมพูชา กัมพูชาจึงเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนลำดับล่าสุด โดยเข้าเป็นสมาชิกเมื่อ วันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1999
เกณฑ์การรับสมาชิกใหม่
กฎบัตรอาเซียน ข้อ 6 ได้มอบหมายให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนเป็นผู้กำหนดกระบวนการสมัครและการรับสมาชิกใหม่ โดยการรับสมาชิกใหม่นั้นจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ ต่อไปนี้ [11]
(ก) ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับว่าอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(ข) ได้รับการยอมรับจากรัฐสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ
(ค) ตกลงที่จะผูกพันและเคารพกฎบัตรอาเซียน
(ง) มีความสามารถและความเต็มใจที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีของสมาชิกภาพ
ทั้งนี้การรับสมาชิกใหม่จะต้องได้รับการเสนอจากคณะมนตรีประสานงานอาเซียนและได้รับฉันทามติจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน โดยรัฐผู้สมัครจะเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนต่อเมื่อได้ลงนามภาคยานุวัติกฎบัตรอาเซียนโดยสมบูรณ์แล้ว [12]
บรรณานุกรม
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล.2014.”มุม’เขตร้อนต้อนรับ ASEAN.” http://www.tm.mahidol.ac.th/th/asean/ASEAN1.pdf (accessed April 18,2015)
พรพิมล ตรีโชติ และคณะ, ความมั่นคงและสมรรถนะทางการเมืองของประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน:ศึกษากรณี เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า, กรุงเทพฯ:สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2549
อณูทิพย์ธารทอง. 2555. “จากสมาคมอาสาสู่ประชาคมอาเซียน”.อาเซียนศึกษา 7. http://www.oknation.net/blog/Anutip/2012/08/24/entry-2 (accessed April 18,2015)
อนุสรณ์ ชัยอักษรเวช. “อาเซียนกับกระบวนการสร้างสถาบัน:จาก “ปฏิญญากรุงเทพฯ1967” ถึง “กฎบัตรอาเซียน 2008”," วิทยานิพนธ์ หลักสูตร รัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2556.
อ้างอิง
- ↑ ได้แก่ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ราชอาณาจักรไทย มาเลเซีย
- ↑ ASEAN Charter, November 20, 2007, Singapore.
- ↑ บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
- ↑ ASEAN Charter, Art 6.
- ↑ อณูทิพย์ธารทอง. 2555. “จากสมาคมอาสาสู่ประชาคมอาเซียน”.อาเซียนศึกษา 7. http://www.oknation.net/blog/Anutip/2012/08/24/entry-2 (accessed April 18,2015)
- ↑ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล.2014.”มุม’เขตร้อนต้อนรับ ASEAN.” http://www.tm.mahidol.ac.th/th/asean/ASEAN1.pdf (accessed April 18,2015)
- ↑ ได้แก่ อาดัม มาลิกแห่งอินโดนีเซีย, นาร์ซิโซ รามอสแห่งฟิลิปปินส์, อับดุล ราซัคแห่งมาเลเซีย, เอส. ราชารัตนัมแห่งสิงคโปร์ และถนัด คอมันตร์ แห่งไทย”
- ↑ พรพิมล ตรีโชติ และคณะ, ความมั่นคงและสมรรถนะทางการเมืองของประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน:ศึกษากรณี เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า, (กรุงเทพฯ:สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2549.), หน้า 11.
- ↑ เพิ่งอ้าง., หน้า 12.
- ↑ อนุสรณ์ ชัยอักษรเวช. “อาเซียนกับกระบวนการสร้างสถาบัน:จาก “ปฏิญญากรุงเทพฯ1967” ถึง “กฎบัตรอาเซียน 2008”," (วิทยานิพนธ์ หลักสูตร รัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2556). หน้า 87.
- ↑ ASEAN Charter Art. 6.2
- ↑ ASEAN Charter, Art 6.3-6.4.