กองทุนราษฎรประสงค์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

บทนำ

          กองทุนราษฎรประสงค์เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นในปี 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมเงินบริจาคช่วยเหลือค่าประกันตัว ค่าปรับ และค่าดำเนินการต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับคดีเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นคดีทางการเมือง ทั้งนี้กองทุนราษฎรประสงค์ มีที่มาจากการนำเงินบริจาคตั้งต้นที่เหลืออยู่จาก 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนประกันตัวคดีทางการเมืองทั่วไปหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมี ไอดา อรุณวงศ์ อานนท์ นำภา และวีรนันท์ ฮวดศรี เป็นผู้ดูแล และกองทุนประกันตัวคดีคนอยากเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งมี ชลิตา บัณฑุวงศ์ และไอดา อรุณวงศ์ เป็นผู้ดูแลบัญชี ต่อมาต้นปี 2564 ได้รวบรวมเงินส่วนที่เหลือจากสองกองทุนดังกล่าวให้มาอยู่ในกองทุนเดียวกันในชื่อ “กองทุนราษฎรประสงค์” ก่อนที่จะปิดบัญชีดังกล่าว และเปิดใหม่ในชื่อเดิมในปี 2565 ภายใต้การดูแลของมูลนิธิสิทธิอิสรา

ที่มาของกองทุนราษฎรประสงค์

          กองทุนราษฎรประสงค์ มีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องที่จะระดมทุนประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งในขณะนั้น ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร นำโดย อานนท์ นำภา สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ถูกดำเนินคดีขึ้นศาลทหาร โดยการประกันตัวผู้ต้องหาในศาลทหารจำเป็นต้องวางหลักประกันเป็นเงินสดเท่านั้น[1] ทั้งนี้ อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงเริ่มเคลื่อนไหวโดยการโพสต์ข้อความบน Facebook เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 เพื่อระดมทุนประกันตัวในคดีดังกล่าว โดยมีไอดา อรุณวงศ์ อานนท์ นำภา และวีรนันท์ ฮวดศรี เป็นผู้ดูแล ทั้งนี้ มีผู้ร่วมบริจาคครั้งนั้นมากถึงแปดแสนบาทภายในคืนเดียว อย่างไรก็ตามภายหลังศาลทหารไม่อนุญาตให้ฝากขัง ทนายอานนท์ นำภา จึงนำเงินก้อนดังกล่าวไปวางเป็นหลักทรัพย์ประกันให้กับผู้ต้องหาคดีการเมืองอื่น ๆ และเมื่อเงินดังกล่าวร่อยหรอลง ก็ได้โพสต์ข้อความระดมทุนเป็นรายครั้งอยู่เป็นระยะ[2] ต่อมาเมื่อมีการชุมนุมเคลื่อนในนามกลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง" บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 และผู้ชุมนุมถูกอัยการสั่งฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จึงมีการระดมทุนภายใต้ชื่อกองทุนประกันตัวคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งมี ชลิตา บัณฑุวงศ์ และไอดา อรุณวงศ์ เป็นผู้ดูแลบัญชี[3] ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2562 คดีในศาลทหารจึงถูกโอนมาสู่ศาลพลเรือน การเคลื่อนไหวต่อต้านจึงลดจำนวนลง

          ครั้งเมื่อถึงปี 2563 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศและสั่งห้ามมิให้มีการชุมนุมโดยอ้างเหตุผลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปัญหาการจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล ได้ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และผลที่ตามมาคือผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่านับตั้งแต่การประกาศใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และประกาศอื่น ๆ รวมกันอย่างน้อย 483 คดี มีประชาชนตกเป็นผู้ต้องหาอย่างน้อย 1,171 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีที่เกิดขึ้นบริเวณแยกดินแดนและนางเลิ้งหรือที่เรียกกันว่า "คดีทะลุแก๊ส" มากถึง 118 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดี 374 คน สำหรับแกนนำผู้ชุมนุมบางคนมีคดีติดตัวตั้งแต่ 7-28 คดี[4] ด้วยจำนวนคดีการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นและด้วยเหตุที่ ทนายอานนท์ นำภา ต้องถูกคุมขังบ่อยครั้งและแต่ละครั้งเป็นเวลานาน ผู้รับผิดชอบดูแลกองทุนประกันตัวศาลทหารและกองทุนคนอยากเลือกตั้ง จึงนำเงินเหลือค้างจากทั้งสองกองทุนมาตั้งเป็นกองทุนใหม่โดยเปิดเพจ Facebook ชื่อ "กองทุนราษฎรประสงค์" ในช่วงเดือนมกราคม 2564 โดยชลิตา บัณฑุวงศ์ และไอดา อรุณวงศ์ เป็นผู้ดูแล เพื่อเป็นช่องทางในการระดมทุนและสื่อสารให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างเป็นทางการ[5]

          สำหรับชื่อ “ราษฎรประสงค์” นั้น นำชื่อมาจากชื่อสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 โดยทนายอานนท์ นำภา (และปิดตัวลงภายหลังเนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ) เพื่อช่วยเหลือคดีความแก่ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ในแง่นี้ "ราษฎรประสงค์" จึงล้อชื่อมาจาก "ราชประสงค์" หากแต่เปลี่ยนจากคำว่า "ราช" มาเป็น "ราษฎร" เพื่อให้สื่อความหมายถึง "เจตจำนงค์ของประชาชน"[6]

          ต่อมาวันที่ 26 เมษายน 2565 เพจ "กองทุนราษฎรประสงค์" ได้โพสต์ข้อความถึงการปิดกองทุนในนามบุคคล เพื่อไปเปิดบัญชีใหม่ในชื่อเดิมภายใต้การดูแลของนิติบุคคลรูปแบบมูลนิธิที่ชื่อมูลนิธิสิทธิอิสรา โดยใช้ชื่อบัญชี "กองทุนราษฎรประสงค์ โดยมูลนิธิสิทธิอิสรา" เลขบัญชี 125-8-64752-8 ธนาคารกสิกรไทย สาขาศาลยุติธรรม ซึ่งมีวงเงินโอนมาจากกองทุนเดิม 9,949,740.45 บาท[7] โดยกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ประกอบด้วย ไอดา อรุณวงศ์ ชลิตา บัณฑุวงศ์ มุทิตา เชื้อชั่ง นีรนุช เนียมทรัพย์ และเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว ทั้งนี้เว็ปไซต์มูลนิธิสิทธิอิสรา ระบุว่ากองทุนฯ ในนามบุคคลเดิม ไม่มีฐานะทางกฎหมายเป็นหลักประกันในอันที่จะดูแลเงินบริจาคจำนวนมากที่มาจากประชาชนให้ยั่งยืน ทั้งการทำงานที่ผ่านมาก็เป็นงานอาสา ซึ่งอาสาสมัครจำต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง จึงต้องการวางหลักประกันให้กับการปกป้องเงินบริจาค และจัดหาค่าใช้จ่ายให้กับคนที่ทำงานในมูลนิธิอย่างเป็นระบบ โดยกองทุนฯ มีขอบข่ายการให้ความช่วยเหลือในด้านการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ตลอดจนค่าปรับต่าง ๆ ช่วยเหลือค่าเดินทาง และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในเรือนจำผู้ต้องหา/จำเลย อันเกี่ยวเนื่องกับคดีการเมือง[8]

การดำเนินการกองทุนราษฎรประสงค์

          กองทุนราษฎรประสงค์ มักโพสต์ข้อความระดมทุนบนเพจ Facebook เมื่อคาดการณ์ว่าเงินคงเหลือในบัญชีอาจไม่เพียงพอต่อการนำไปช่วยเหลือคดีการเมือง ซึ่งเคยได้รับบริจาคสูงสุดมากถึง 15 ล้านบาท เมื่อเปิดระดมทุนระหว่าง วันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2565 (ก่อนก่อตั้งมูลนิธิสิทธิอิสรา) เพื่อวางเงินประกันให้กับ ทนายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ซึ่งครั้งนั้นใช้จ่ายไปมากถึง 2.6 ล้านบาท[9] สำหรับขั้นตอนการจ่ายเงินนั้น มูลนิธิสิทธิอิสรา ระบุไว้ในเว็ปไซต์ทางการว่า เริ่มต้นจากทนายผู้รับผิดชอบคดีจะเป็นผู้คัดกรองโดยประสานไปยังกองทุนฯ หากกองทุนฯ เห็นว่าคดีนั้นเข้าข่ายความช่วยเหลือ ก็จะส่งตัวแทนไปดำเนินการวางหลักประกันหรือชำระค่าปรับ โดยผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินบริจาค จากนั้นจึงแสดงหลักฐานและยอดเงินคงเหลือบนเพจ Facebook ของกองทุนฯ[10]

          อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนคดีความในความดูแลของกองทุนราษฎรประสงค์จำนวนมาก เงินคงเหลือในบัญชีจึงลดลงอย่างไม่เป็นสัดส่วนกับเงินบริจาคที่เพิ่มเข้ามา กล่าวเฉพาะตั้งแต่กองทุนราษฎรประสงค์อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิสิทธิอิสรา เมื่อเดือนเมษายน 2565 นั้น มีเงินตั้งต้นถึง 9.9 ล้านบาท แต่กลับลดลงเหลือเพียง 1 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2565 ในระหว่างนี้มียอดเงินบริจาคเพิ่มเข้ามาเพียง 3.5 ล้านบาท ขณะที่ยอดใช้จ่ายเพื่อประกันตัว ชำระค่าปรับ ค่าเดินทาง และเงินช่วยเหลือในเรือนจำ มากถึง 21.7 ล้านบาท โดยเดือนมิถุนายน และสิงหาคม 2565 มียอดใช้จ่ายช่วยเหลือสูงถึง 4.6 ล้านบาท และ 4.8 ล้านบาท ตามลำดับ[11] จากข้อมูลบนเพจ Facebook ของกองทุนฯ เปิดเผยว่าสถานะของกองทุน ณ วันที่ 22 เมษายน 2566 มียอดบริจาคคงเหลืออยู่ที่ 2,292,856.62 บาท[12]

บทส่งท้าย

          จุดกำเนิดของกองทุนราษฎรประสงค์เกิดขึ้นท่ามกลางระบบการเมืองของไทยที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร คสช. แม้ประชาชนจำนวนไม่น้อยจะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร คสช. และต้องการออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล ทว่าอาจหวั่นเกรงต่อการถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาที่ร้ายแรงและขึ้นศาลทหาร ซึ่งมีกระบวนการที่แตกต่างไปจากศาลพลเรือนปกติ กองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหา/จำเลยในคดีความทางการเมือง มักได้รับเงินบริจาคส่วนใหญ่จากประชาชนรายย่อยด้วยจำนวนเงินหลักร้อยหรือหลักพันบาท จนมียอดบริจาคหลายล้านบาทนั้น ย่อมสะท้อนถึงความขุ่นเคืองไม่พอใจของประชาชนจำนวนมากที่แสดงออกผ่านการบริจาค สำหรับ ไอดา อรุณวงศ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง กองทุนราษฎรประสงค์แล้ว จำนวนเงินเหล่านี้ไม่ใช่เพียงเงินบริจาค แต่คือ “ม็อบ” รูปแบบหนึ่ง ที่ต้องการสนับสนุนหรือเอาใจช่วยผู้ที่ออกไปชุมนุมประท้วงเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล[13]

          กองทุนราษฎรประสงค์ในฐานะที่เป็นช่องทางเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ถูกส่งทอดต่อมาหลังการเลือกตั้งปี 2562 ที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนรัฐบาลต้องประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ซึ่งประชาชนจำนวนไม่คับข้องใจกับการบริหารงานของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงแสดงออกถึงความไม่พอใจผ่านการร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล อย่างไรก็ตามประเด็นการเคลื่อนไหวก็มิได้จำกัดอยู่เพียงการวิพากย์วิจารณ์รัฐบาลเท่านั้น หากยังกว้างไกลไปถึงการตั้งคำถามกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ดังนั้นผู้ต้องหา/จำเลย จึงถูกดำเนินคดีตั้งแต่ความผิดเล็กน้อยตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ไปจนถึงความผิดร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) และมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) ซึ่งความผิดตามกฎหมายชั้นหลังนั้นต้องใช้เงินวงประกันหลักแสนแทบทั้งสิ้น ในแง่นี้กองทุนราษฎรประสงค์จึงทำให้ผู้ต้องหา/จำเลย จำนวนไม่น้อยซึ่งเข้าไม่ถึงสิทธิในการประกันตัว สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้ สำหรับไอดา อรุณวงศ์ แล้ว หากสังคมไทยเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย โดยเงินประกันตัวกลายเป็นสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้ประชาชน กองทุนราษฎรประสงค์ก็จะแปรสภาพไปทำภารกิจด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ ต่อไป[14]

บรรณานุกรม

“กองทุนราษฎรประสงค์ - เพราะทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิในการประกันตัว," iLaw (18 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://freedom.ilaw.or.th/node/983>. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.

“‘กองทุนราษฎรประสงค์' ปิดบัญชีบริจาคเดิม และเปิดบัญชีบริจาคใหม่ในนาม 'มูลนิธิสิทธิอิสรา'," ประชาไท (27 เมษายน 2565). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2022/04/98338>. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.

“กองทุนราษฎรประสงค์ เผยยอดบริจาครวม 13 ล้าน ชี้เป็นปวศ.ครั้งใหม่จากราษฎรสามัญ," มติชนออนไลน์ (24 กุมภาพันธ์ 2565). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_3199981>. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566.

กองทุนราษฎรประสงค์, "เรียน ราษฎร ขอนำส่งรายงานการรับ-จ่ายของกองทุนราษฎรประสงค์ ระหว่างวันที่ 10-21 เม.ย. 66," Facebook (22 เมษายน 2566). เข้าถึงจาก <https://web.facebook.com/photo?fbid=631023509039700&set=pcb.631027559039295>. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566.

“กองทุนราษฎรประสงค์: ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตย การประกันตัวจะเป็นสิทธิ เงินประกันจะเป็นสวัสดิการ," The Matter (23 กันยายน 2564). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/social/ratsadonprasong-fund-interview/155748>. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.

“คนส. แถลงยอดเงินกองทุนประกันตัวคนอยากเลือก 1.15 ล้านแล้ว เตรียมคดีอื่นต่อ," ประชาไท (6 เมษายน 2561). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/04/76263>. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.

“ที่มาและหลักการ - กองทุนราษฎรประสงค์ โดยมูลนิธิสิทธิอิสรา," มูลนิธิสิทธิอิสรา. เข้าถึงจาก <https://sis.or.th/bail-fund/purpose/>. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566.

“เมื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะใช้คุมโรค กลายเป็นเครื่องมือหลักในการ "คุมม็อบ"," iLaw (4 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://freedom.ilaw.or.th/node/976>. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.

“รายงานกองทุนราษฎรประสงค์ประจำปี 2565 ตอนที่ 1: ยอดบริจาค," มูลนิธิสิทธิอิสรา. เข้าถึงจาก <https://sis.or.th/2022-fund-report-part-1/>. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566.

อ้างอิง

[1] "กองทุนราษฎรประสงค์: ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตย การประกันตัวจะเป็นสิทธิ เงินประกันจะเป็นสวัสดิการ," The Matter (23 กันยายน 2564). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/social/ratsadonprasong-fund-interview/155748>. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.

[2] "กองทุนราษฎรประสงค์ - เพราะทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิในการประกันตัว," iLaw (18 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://freedom.ilaw.or.th/node/983>. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.

[3] "คนส. แถลงยอดเงินกองทุนประกันตัวคนอยากเลือก 1.15 ล้านแล้ว เตรียมคดีอื่นต่อ," ประชาไท (6 เมษายน 2561). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/04/76263>. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.

[4] "เมื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะใช้คุมโรค กลายเป็นเครื่องมือหลักในการ "คุมม็อบ"," iLaw (4 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://freedom.ilaw.or.th/node/976>. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.

[5] "กองทุนราษฎรประสงค์ - เพราะทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิในการประกันตัว," iLaw (18 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://freedom.ilaw.or.th/node/983>. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.

[6] "กองทุนราษฎรประสงค์ - เพราะทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิในการประกันตัว," iLaw (18 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://freedom.ilaw.or.th/node/983>. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.

[7] "'กองทุนราษฎรประสงค์' ปิดบัญชีบริจาคเดิม และเปิดบัญชีบริจาคใหม่ในนาม 'มูลนิธิสิทธิอิสรา'," ประชาไท (27 เมษายน 2565). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2022/04/98338>. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.

[8] "ที่มาและหลักการ - กองทุนราษฎรประสงค์ โดยมูลนิธิสิทธิอิสรา," มูลนิธิสิทธิอิสรา. เข้าถึงจาก <https://sis.or.th/bail-fund/purpose/>. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566.

[9] "กองทุนราษฎรประสงค์ เผยยอดบริจาครวม 13 ล้าน ชี้เป็นปวศ.ครั้งใหม่จากราษฎรสามัญ," มติชนออนไลน์ (24 กุมภาพันธ์ 2565). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_3199981>. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566.

[10] "ที่มาและหลักการ - กองทุนราษฎรประสงค์ โดยมูลนิธิสิทธิอิสรา," มูลนิธิสิทธิอิสรา. เข้าถึงจาก <https://sis.or.th/bail-fund/purpose/>. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566.

[11] "รายงานกองทุนราษฎรประสงค์ประจำปี 2565 ตอนที่ 1: ยอดบริจาค," มูลนิธิสิทธิอิสรา. เข้าถึงจาก <https://sis.or.th/2022-fund-report-part-1/>. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566.

[12] กองทุนราษฎรประสงค์, "เรียน ราษฎร ขอนำส่งรายงานการรับ-จ่ายของกองทุนราษฎรประสงค์ ระหว่างวันที่ 10-21 เม.ย. 66," Facebook (22 เมษายน 2566). เข้าถึงจาก <https://web.facebook.com/photo?fbid=631023509039700&set=pcb.631027559039295>. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566.

[13] "กองทุนราษฎรประสงค์ - เพราะทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิในการประกันตัว," iLaw (18 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://freedom.ilaw.or.th/node/983>. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.

[14] "กองทุนราษฎรประสงค์: ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตย การประกันตัวจะเป็นสิทธิ เงินประกันจะเป็นสวัสดิการ," The Matter (23 กันยายน 2564). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/social/ratsadonprasong-fund-interview/155748>. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.