กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ
ความนำ
“กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เป็นกลุ่มรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง และประชาชนจำนวนหนึ่ง โดยมีเป้าหมายหลักๆ 2 ประการ ก็คือ การเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นในประเทศไทย และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังที่ คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ ทั้งนี้ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เริ่มมีบทบาทปรากฏเป็นที่รู้จักแก่สาธารณชนนับตั้งแต่การเคลื่อนไหวชุมนุมครั้งแรก ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 หลังจากนั้นกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบการนัดชุมนุมและปราศรัยช่วงสั้นๆ ตามสถานที่สำคัญต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งลดบทบาทลงไปภายหลังจากที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ภายใต้รัฐบาล คสช. ทำให้ถูกจับตามองจากฝ่ายภาครัฐอย่างใกล้ชิด ผลก็คือ การถูกฟ้องร้องในหลายคดี อาทิ การยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 การขัดคำสั่ง คสช. ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน การใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และพระราชบัญญัติจราจรทางบก เป็นต้น ซึ่งในหลายคดีศาลได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว ขณะที่ยังมีอีกหลายคดีซึ่งอยู่ในกระบวนการยุติธรรม
กำเนิด “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง”
จุดเริ่มต้นของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เกิดขึ้นจากกิจกรรม ”รวมพลคนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช." ที่จัดขึ้นบริเวณลานสกายวอล์ก เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561
ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ได้ประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งราวเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ... โดยมีผลให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไปอีก 90 วันนับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562[1] การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ภายหลังในนาม “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” โดยกิจกรรมเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 มีนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง ประชาชน และผู้รวมสังเกตการณ์จำนวนมาก ซึ่งเป็นที่รู้จักในสื่อมวลชน อาทิ นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Start Up People และประชาธิปไตยศึกษา นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด อดีตแกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น[2]
ทั้งนี้ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ถือเป็นกลุ่มกิจกรรม ที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองมากกว่าที่จะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเหมือนเช่นกลุ่มอื่นๆ ที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการง่ายที่จะเคลื่อนไหวในแนวระนาบและแสวงหาแนวร่วมมาสนับสนุนกิจกรรมในรูปแบบของเครือข่ายทางการเมือง และการเมืองประชาสังคม ลักษณะดังกล่าวจึงดึงดูดให้ประชาชนที่มีแนวคิดทางการเมืองใกล้เคียงกันเข้ามาร่วมสนับสนุนและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอยู่เป็นระยะ อย่างไรก็ตาม แกนนำของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือบุคคลที่มีบทบาทโดดเด่นจนเป็นที่รู้จักของสื่อมวลชน สาธารณะชน และถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ส่วนใหญ่เคยเคลื่อนไหวและดำเนินกิจกรรมพรรคการเมืองมาก่อนที่จะปรากฏคนอยากเลือกตั้งมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ ทั้งนี้ ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็นองค์กรที่รวมตัวกันโดยมีนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ปฏิบัติงาน และมีอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งเป็นที่ปรึกษา”[3] ซึ่งมีแกนนำคนสำคัญ ได้แก่ นายรังสิมันต์ โรม หรือ “โรม” นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” และ นางสาวณัฏฐา มหัทธนา หรือ “โบว์” นายอานนท์ นำภา
นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ "เพนกวิน" นายกาณฑ์ หรือ ศศิพัฒน์ พงษ์ประภาพันธ์ นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว
หรือ “ลูกเกด” นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นายปกรณ์ อารีกุล โฆษกพรรคสามัญชน และนางสาวศรีไพร นนทรีย์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต เป็นต้น
แนวทางการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
ด้วยสภาพการปกครองภายใต้รัฐบาล คสช. ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ทำกิจกรรม และชุมนุมทางการเมือง เหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งต้องประสบกับความยากลำบากในการขับเคลื่อนกิจกรรมและเรียกร้องรณรงค์ทางการเมืองทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากการเคลื่อนไหวและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทุกครั้งที่ผ่านมา กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง มักให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวโดยสันติและปราศจากอาวุธ อาศัยแนวร่วมซึ่งเป็นเครือข่ายนักกิจกรรม เครือข่ายวิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อชักชวนเชิญชวนประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน หรือ ไม่พอใจต่อการทำงานของรัฐบาล คสช. ให้เข้ามาร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กลุ่มจัดขึ้นเป็นระยะ ทั้งนี้ กลยุทธ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งสามารถจำแนกได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
ลักษณะแรก การปราศรัยแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ต้องการส่งไปถึงรัฐบาล โดยแกนนำในการชุมนุมมักเป็นผู้กล่าวปราศรัยและมีประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมราว 100-300 คน รายล้อมแสดงพลังอยู่บริเวณสถานที่สำคัญเชิงสัญลักษณ์ พร้อมทั้งชูป้ายข้อความต่างๆ ที่แสดงออกถึงการคัดค้านต่อต้านรัฐบาล คสช. ก่อนที่จะสลายการชุมนุมในเวลาไม่นาน รูปแบบการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ ปรากฏในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 บริเวณถนนราชดำเนิน ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย[4] วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 บริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่[5] วันที่ 4 มีนาคม 2561 บริเวณถนนเลียบชายหาด เมืองพัทยา[6] และวันที่ 24 มีนาคม 2561 บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก[7]
ลักษณะที่สอง การเดินขบวนชุมนุมช่วงสั้นๆ ซึ่งปรากฏลักษณะนี้ในชุมนุมใหญ่ “22 พฤษภาเราจะหยุดระบอบ คสช.” ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2561 โดยเริ่มต้นจากการชุมนุมปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเพื่อรวมพลังกลุ่มคนไม่เห็นด้วยกับ คสช. บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งคาดการณ์ว่ามีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 2,000 คน ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนขบวนชุมนุมในครั้งนั้นกลับต้องประสบกับความยากลำบาก เนื่องจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนและตำรวจพลร่มคอยตรึงกำลังและสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ ภายหลังจากการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับแกนนำหลายชั่วโมง แกนนำได้เจรจาขอมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งประกาศยุติการชุมนุมในครั้งนั้น[8]
ลักษณะที่สาม การยื่นหนังสือเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ ยุติการดำเนินการ หรือคัดค้านการดำเนินการทางการเมืองที่เกิดขึ้น อาทิ การเดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (22 พฤศจิกายน 2561, 7 มกราคม 2562 และ 11 มกราคม 2562) เพื่อคัดค้านแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกระแสที่จะให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก[9] การยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญและสหประชาชาติ (14 กุมภาพันธ์ 2562 และ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ตามลำดับ) เพื่อคัดค้านกรณีที่ กกต. มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยเกรงว่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นในสังคมการเมืองไทย[10] การยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (20 กุมภาพันธ์ 2562) ขอให้ยุติข้อสั่งการให้เปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” ในสถานีวิทยุเครือกองทัพบกและเสียงตามสายในหน่วยทหาร[11] และการยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงสมาชิกวุฒิสภา (5 มิถุนายน 2562) ให้งดออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นการบิดเบือนและลดความสำคัญของประชาชนที่เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 เสียง[12]
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในการชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกครั้ง กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
มักยึดถือจุดยืนและยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล หลักๆ 3 ประการ อันได้แก่ ประการแรก ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปโดยเร็ว เนื่องจากประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารนับตั้งแต่ปี 2557 แม้รัฐบาลได้สัญญาว่าจะให้มีการจัดการเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่ปรากฏความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ทุกครั้งเมื่อถึงกำหนดการเลือกตั้งตามที่รัฐบาลได้ให้สัญญาไว้ก็จะปรากฏข้ออ้างและเหตุผลจำเป็นต่างๆ ที่ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอยู่เสมอ ข้อเรียกร้องเพื่อให้มีการเลือกตั้งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจึงเป็นเสมือนการทวงสัญญาจากผู้มีอำนาจ[13]
สำหรับประการที่สอง ก็คือ การต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. รวมถึงการเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ อาทิ กองทัพบก เป็นต้น หลีกเลี่ยงการให้การสนับสนุนรัฐบาล คสช. เนื่องจากตลอดการปกครองของรัฐบาลที่อ้างว่าต้องการเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและปราบการทุจริตคอร์รัปชั่น ทว่ารัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาเป็นเวลากว่าทศวรรษนั้นได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง กลับยิ่งเพิ่มความขัดแย้งและความเกลียดชังในหมู่ประชาชนขึ้นอีกภายใต้การปราบปราม สอดส่อง และดำเนินคดีของหน่วยงานภาครัฐ ขณะเดียวกัน ข้อความครหาที่เกิดกับบุคคลในรัฐบาลกรณีการทุจริตก็ปราศจากการตรวจสอบและดำเนินการอย่างจริงจัง กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจึงมองว่ารัฐบาล คสช. ปราศจากความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศและประชาชน[14] และประการที่สาม เรียกร้องให้มีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ชุมนุม หรือเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะหากนับตั้งแต่รัฐบาล คสช. ขึ้นสู่อำนาจหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภา 2557 ก็ปรากฏกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อนักกิจกรรมทางการเมือง นักวิชาการ และประชาชนจำนวนมาก ผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองหลายรายถูกเรียกไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จึงมองว่านอกจาก คสช. จะสร้างความหวาดกลัวด้วยเหตุผลข้ออ้างของความมั่นคงและระเบียบสาธารณะแล้ว ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยสิ้นเชิง[15]
กระแสตอบรับจากสังคมและปฏิกิริยาจากภาครัฐ
การทำกิจกรรมทางการเมืองและเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก่อให้เกิดกระแสตอบรับทางสังคมในระดับหนึ่ง ดังเห็นได้จากการจัดกิจกรรมชุมนุมและปราศรัยย่อยในนามของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในสถานที่สำคัญต่างๆ หลายจังหวัดทั่วประเทศ[16] นอกจากจะสามารถระดมประชาชนให้เข้ามาร่วมชุมนุมได้จำนวนหนึ่งแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เกิดแนวร่วมทางการเมืองที่มีความคิดไปในทิศทางใกล้เคียงกันใช้เป็น “สื่อกลาง” ในการส่งเสียงเรียกร้องและกระตุ้นเตือนรัฐบาลให้ระมัดระวังในใช้อำนาจ ดังที่นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนั้น ได้แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่ากลุ่มคนอยากเลือกตั้งอาจมีแนวคิดต่อต้านรัฐบาลแต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือหลังการสิ้นสุดอำนาจของคสช. แล้วรัฐบาลปกติจะต้องอยู่ร่วมกับการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ เพราะ เกรงว่าอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น[17] ขณะเดียวกัน กระแสเรียกร้องดังกล่าวก็ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงบุคคลในรัฐบาล คสช. ดังที่ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวว่า
หลายคนรู้สึกเอือมระอากับการมีม็อบมาตลอด 10 ปี ทำให้ประเทศชาติถอยหลังไปมาก รวมทั้งอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุปะทะได้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีรับทราบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประสานขออนุญาตจัดการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กำชับว่าให้ชุมนุมอย่างมีขอบเขต แต่เห็นว่าความจริงไม่จำเป็นต้องเรียกร้องอะไร เพราะรัฐบาลบอกกับประชาชนอยู่แล้วว่า จะมีการเลือกตั้งช่วงต้นปี 62[18]
ทั้งนี้ ตลอด 5 ปีของการครองอำนาจของรัฐบาล คสช. นั้น กิจกรรมใดก็ตามที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดคำสั่ง คสช. ก็จะต้องได้รับอนุญาตและถูกเฝ้าสังเกตการณ์จากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับกรณีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งย่อมต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะสามารถจุดกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งขึ้นได้ในระดับหนึ่งแล้ว ยังเป็นการส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. โดยตรง ผ่านรูปแบบการชุมนุมและปราศรัยในที่สาธารณะ จนถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจจากฝ่ายรัฐบาลว่า การจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นจากประชาชนผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด หากเกิดขึ้นจากการจ้างวานมาปลุกปั่นให้เกิดความคิดต่อต้านรัฐบาล[19] โดยมีพรรคการเมืองคอยให้การสนับสนุนอยู่เบื่องหลัง[20] ซึ่งหากละเมิดคำสั่ง คสช. หรือ กฎหมายอื่นๆ ก็จำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เห็นได้จากที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่งเสียงเตือนไปยังแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า “ หากแกนนำคนใดทำผิดกรอบกฎหมายและทำให้เกิดความวุ่นวายก็จะดำเนินการตามกฎหมายและต้อง รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย”[21]
ทั้งนี้ ตลอดการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกตั้งแต่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 จนกระทั่งมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 นั้น ผู้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ตกเป็นผู้ต้องหามากถึง 130 ราย ในจำนวนทั้งสิ้น 6 คดี ได้แก่ คดีชุมนุมบริเวณสกายวอล์คหน้าห้างสรรพสินค้า MBK (หรือ MBK) คดีคนอยากเลือกตั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน (หรือ RDN50) คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ากองบัญชาการกองทัพบก (หรือ ARMY57) คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หรือ CMU06) คดีคนอยากเลือกตั้งที่พัทยา (หรือ PATTAYA12) และคดีคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน้าองค์การสหประชาชาติ (หรือ UN62)[22] ซึ่งปัจจุบันผู้ต้องหาบางรายในหลายคดีอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษายกฟ้องไปแล้ว[23] ขณะที่ ยังมีผู้ต้องหาโดยเฉพาะแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ในชั้นอัยการ หรือชั้นศาลนัดสืบพยาน จึงถือได้ว่ายังไม่เป็นที่สิ้นสุดในกระบวนการยุติธรรม[24]
บรรณานุกรม
“กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยื่นค้านเลื่อนใช้สิทธิ “เอกชัย” โผล่แจม พร้อมเต้นโชว์," ผู้จัดการออนไลน์, (22 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9610000116697>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“กลุ่มคนอยากเลือกตั้งยื่น UN ค้านยุบ ทษช.," Voice Online, (20 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://voicetv.co.th/read/Bxa002F2E>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมอบตัว และยุติการชุมนุม," Workpoint News, (22 พฤษภาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://workpointnews.com/2018/05/22/แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกต/>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
“คดี CMU06 ศาลยกฟ้องข้อหาชุมนุมการเมือง เหตุกม.ยกเลิก แต่ปรับ 100 บาท ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียง," ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (29 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=11493>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“คดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง UN62 นัดสืบพยาน ม.ค.-มี.ค.64," ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (24 กุมภาพันธ์ 2563), เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=16131>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“คนอยากเลือกตั้ง ยื่นหนังสือศาลรัฐธรรมนูญ ค้านยุบ "ไทยรักษาชาติ"," ไทยรัฐออนไลน์, (14 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1495996>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“คนอยากเลือกตั้ง ร้อง กกต.กำหนด 24 ก.พ.เป็นวันเลือกตั้ง," โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, (7 มกราคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/576175>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
““คนอยากเลือกตั้ง” บุกหน้า ทบ. เรียกร้องทหารเลิกยุ่งการเมือง แย้ม ไม่เลิก พ.ค.นี้ชุมนุมขับไล่,"
Workpoint News, (24 มีนาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://workpointnews.com/2018/03/24/คนอยากเลือกตั้ง-บุกหน้/>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
“จาก "รวมพลคนอยากเลือกตั้ง" ถึงนัดชุมนุมไล่รัฐบาล คสช. 10 ก.พ.," บีบีซี, (27 มกราคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-42846461>. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563
““จ่านิว" นำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ค้านเลื่อน ลต. ที่นนทบุรี และสำโรง," ไทยรัฐออนไลน์, (11 มกราคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/local/central/1467614>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
““จ่านิว” โผล่พัทยาพร้อมกลุ่มผู้ชุมนุม “คนอยากเลือกตั้ง” จี้ยกเลิก ม.44 จับตา คสช. นัดอีก 10 มี.ค.," ประชาชาติธุรกิจ, (4 มีนาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-125345>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
“เช็คคดีคนอยากเลือกตั้งก่อนเปิดสภาฯ: เขาและเธออยู่ตรงไหนในกระบวนการยุติธรรม," ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (20 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=12440>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“เชียงใหม่รวมตัวประท้วงอยากเลือกตั้ง จี้คสช.คืนอำนาจหยุดริดรอนสิทธิ," แนวหน้าออนไลน์, (14 กุมภาพันธ์ 2561). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/320870>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
“บอล-จ่านิว กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยื่นหนังสือเบรก ส.ว. ลงมติเลือกนายกฯ," ประชาไท, (5 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/06/82800>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“‘บิ๊กเจี๊ยบ' สั่งจับตาพรรคการเมืองหนุนหลัง กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง," ไทยรัฐออนไลน์, (28 มีนาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1241182>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“‘บิ๊กตู่' เมินม็อบเลือกตั้งรุกคืบ สั่งสอบโยงพรรคการเมือง," ไทยรัฐออนไลน์, (27 มีนาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1240496>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“‘บิ๊กป้อม' ฉะแกนนำกลุ่มอยากเลือกตั้ง ทำมึนโรดแม็ป ขู่ทำผิด ก.ม.โดนแน่," ไทยรัฐออนไลน์, (9 พฤษภาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1276921>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“‘บิ๊กป้อม' ลั่นม็อบทำผิด ก.ม.จับตัวแกนนำ ปูดมีการจ้างวานปั่นป่วน," ไทยรัฐออนไลน์, (22 พฤษภาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1288501>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“ประชาชนเรียกร้องรัฐบาลจัดเลือกตั้งปี 61 และชุมนุมต่อเนื่องทุกสัปดาห์," Thai PBS, (27 มกราคม 2561), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/269697>. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563
เปิดคำสั่งอัยการไม่ฟ้องคดี MBK39 ชี้ผู้ต้องหา 28 คน ไม่ถึงขนาดเป็นผู้สนับสนุนผู้จัดการชุมนุม,"
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (22 พฤศจิกายน 2562),
เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=14533>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“เปิดเบื้องหลัง แกนนำ 'คนอยากเลือกตั้ง' เหตุใดกล้าท้าทายอำนาจ คสช.," ไทยรัฐออนไลน์, (21 พฤษภาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1287742>. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563
“‘พนกวิน-เอกชัย' บุกกองทัพบก เปิด 'ประเทศกูมี' ยื่นหนังสือ โดนรวบทันที!," ข่าวสดออนไลน์, (20 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2230361>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
““มาร์ค"หวั่นเหตุรุนแรงซ้ำชี้ยังมีเชื้อความขัดแย้ง," เดลินิวส์ออนไลน์, (21 พฤษภาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.dailynews.co.th/politics/644700>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“ยกฟ้อง 'เนติวิทย์-ผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ARMY57' 43 คน," กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, (26 ธันวาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/859845>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“ยกฟ้องกลุ่มอยากเลือกตั้ง ไร้พยานยันชุมนุมฝืนกฎหมาย," เดลินิวส์ออนไลน์, (26 ธันวาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.dailynews.co.th/crime/748917>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“รบ.ซัดม็อบทำชาติถอยหลัง เตือนบุกทำเนียบฯ ฝ่าฝืนโดน ก.ม.," ไทยรัฐออนไลน์, (20 พฤษภาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1286747>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“เลือกตั้ง 2562 : กลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุม 6 จ. พร้อมกัน ย้ำจุดยืนต้องเลือกตั้ง 24 ก.พ.," บีบีซี, (8 มกราคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-46773222>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“ศาลยกฟ้อง RDN50 ชี้ ชุมนุมโดยสงบ-ไม่ใช่ยุยงปลุกปั่น," Voice Online, (20 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <http://www.voicetv.co.th/read/CoVhpfnoj>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“‘อยากเลือกตั้ง' ลั่น 'คิกออฟประชาธิปไตย' 3 แกนนำมอบตัวหลังเลิกม็อบ," ไทยโพสต์ออนไลน์, (10 กุมภาพันธ์ 2561). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/2819>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
“อัยการฟ้องคดีคนอยากเลือกตั้งพัทยาข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ," ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (25 มกราคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=10616>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
“อัยการยื่นอุทธรณ์คดีคนอยากเลือกตั้งพัทยา ยันจำเลยรายอื่นเป็นตัวการร่วมจัดชุมนุม," ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (4 พฤศจิกายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=14308>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
[1] "ประชาชนเรียกร้องรัฐบาลจัดเลือกตั้งปี 61 และชุมนุมต่อเนื่องทุกสัปดาห์," Thai PBS, (27 มกราคม 2561), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/269697>. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563
[2] "จาก "รวมพลคนอยากเลือกตั้ง" ถึงนัดชุมนุมไล่รัฐบาล คสช. 10 ก.พ.," บีบีซี, (27 มกราคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-42846461>. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563
[3] "เปิดเบื้องหลัง แกนนำ 'คนอยากเลือกตั้ง' เหตุใดกล้าท้าทายอำนาจ คสช.," ไทยรัฐออนไลน์, (21 พฤษภาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1287742>. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563
[4] "'อยากเลือกตั้ง' ลั่น 'คิกออฟประชาธิปไตย' 3 แกนนำมอบตัวหลังเลิกม็อบ," ไทยโพสต์ออนไลน์, (10 กุมภาพันธ์ 2561). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/2819>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
[5] "เชียงใหม่รวมตัวประท้วงอยากเลือกตั้ง จี้คสช.คืนอำนาจหยุดริดรอนสิทธิ," แนวหน้าออนไลน์, (14 กุมภาพันธ์ 2561). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/320870>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
[6] "“จ่านิว” โผล่พัทยาพร้อมกลุ่มผู้ชุมนุม “คนอยากเลือกตั้ง” จี้ยกเลิก ม.44 จับตา คสช. นัดอีก 10 มี.ค.," ประชาชาติธุรกิจ, (4 มีนาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-125345>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
[7] "“คนอยากเลือกตั้ง” บุกหน้า ทบ. เรียกร้องทหารเลิกยุ่งการเมือง แย้ม ไม่เลิก พ.ค.นี้ชุมนุมขับไล่," Workpoint News, (24 มีนาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://workpointnews.com/2018/03/24/คนอยากเลือกตั้ง-บุกหน้/>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
[8] "แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมอบตัว และยุติการชุมนุม," Workpoint News, (22 พฤษภาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://workpointnews.com/2018/05/22/แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกต/>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
[9] "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยื่นค้านเลื่อนใช้สิทธิ “เอกชัย” โผล่แจม พร้อมเต้นโชว์," ผู้จัดการออนไลน์, (22 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9610000116697>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.; "คนอยากเลือกตั้ง ร้อง กกต.กำหนด 24 ก.พ.เป็นวันเลือกตั้ง," โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, (7 มกราคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/576175>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.; ""จ่านิว" นำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ค้านเลื่อน ลต. ที่นนทบุรี และสำโรง," ไทยรัฐออนไลน์, (11 มกราคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/local/central/1467614>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
[10] "คนอยากเลือกตั้ง ยื่นหนังสือศาลรัฐธรรมนูญ ค้านยุบ "ไทยรักษาชาติ"," ไทยรัฐออนไลน์, (14 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1495996>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563. และ "กลุ่มคนอยากเลือกตั้งยื่น UN ค้านยุบ ทษช.," Voice Online, (20 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://voicetv.co.th/read/Bxa002F2E>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
[11] "บอล-จ่านิว กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยื่นหนังสือเบรก ส.ว. ลงมติเลือกนายกฯ," ประชาไท, (5 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/06/82800>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
[12] "'เพนกวิน-เอกชัย' บุกกองทัพบก เปิด 'ประเทศกูมี' ยื่นหนังสือ โดนรวบทันที!," ข่าวสดออนไลน์, (20 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2230361>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
[13] "'อยากเลือกตั้ง' ลั่น 'คิกออฟประชาธิปไตย' 3 แกนนำมอบตัวหลังเลิกม็อบ," ไทยโพสต์ออนไลน์, (10 กุมภาพันธ์ 2561). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/2819>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
[14] "“คนอยากเลือกตั้ง” บุกหน้า ทบ. เรียกร้องทหารเลิกยุ่งการเมือง แย้ม ไม่เลิก พ.ค.นี้ชุมนุมขับไล่," Workpoint News, (24 มีนาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://workpointnews.com/2018/03/24/คนอยากเลือกตั้ง-บุกหน้/>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563. และ "“จ่านิว” โผล่พัทยาพร้อมกลุ่มผู้ชุมนุม “คนอยากเลือกตั้ง” จี้ยกเลิก ม.44 จับตา คสช. นัดอีก 10 มี.ค.," ประชาชาติธุรกิจ, (4 มีนาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-125345>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
[15] "เชียงใหม่รวมตัวประท้วงอยากเลือกตั้ง จี้คสช.คืนอำนาจหยุดริดรอนสิทธิ," แนวหน้าออนไลน์, (14 กุมภาพันธ์ 2561). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/320870>. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563.
[16] "เลือกตั้ง 2562 : กลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุม 6 จ. พร้อมกัน ย้ำจุดยืนต้องเลือกตั้ง 24 ก.พ.," บีบีซี, (8 มกราคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-46773222>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
[17] ""มาร์ค"หวั่นเหตุรุนแรงซ้ำชี้ยังมีเชื้อความขัดแย้ง," เดลินิวส์ออนไลน์, (21 พฤษภาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.dailynews.co.th/politics/644700>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
[18] "รบ.ซัดม็อบทำชาติถอยหลัง เตือนบุกทำเนียบฯ ฝ่าฝืนโดน ก.ม.," ไทยรัฐออนไลน์, (20 พฤษภาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1286747>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
[19] "'บิ๊กป้อม' ลั่นม็อบทำผิด ก.ม.จับตัวแกนนำ ปูดมีการจ้างวานปั่นป่วน," ไทยรัฐออนไลน์, (22 พฤษภาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1288501>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
[20] "'บิ๊กตู่' เมินม็อบเลือกตั้งรุกคืบ สั่งสอบโยงพรรคการเมือง," ไทยรัฐออนไลน์, (27 มีนาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1240496>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563. และ "'บิ๊กเจี๊ยบ' สั่งจับตาพรรคการเมืองหนุนหลัง กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง," ไทยรัฐออนไลน์, (28 มีนาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1241182>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
[21] "'บิ๊กป้อม' ฉะแกนนำกลุ่มอยากเลือกตั้ง ทำมึนโรดแม็ป ขู่ทำผิด ก.ม.โดนแน่," ไทยรัฐออนไลน์, (9 พฤษภาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1276921>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
[22] "เช็คคดีคนอยากเลือกตั้งก่อนเปิดสภาฯ: เขาและเธออยู่ตรงไหนในกระบวนการยุติธรรม," ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (20 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=12440>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
[23] ดูรายละเอียดใน "เปิดคำสั่งอัยการไม่ฟ้องคดี MBK39 ชี้ผู้ต้องหา 28 คน ไม่ถึงขนาดเป็นผู้สนับสนุนผู้จัดการชุมนุม," ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (22 พฤศจิกายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=14533>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.; "ยกฟ้อง 'เนติวิทย์-ผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ARMY57' 43 คน," กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, (26 ธันวาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/859845>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.; "ยกฟ้องกลุ่มอยากเลือกตั้ง ไร้พยานยันชุมนุมฝืนกฎหมาย," เดลินิวส์ออนไลน์, (26 ธันวาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.dailynews.co.th/crime/748917>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.; "ศาลยกฟ้อง RDN50 ชี้ ชุมนุมโดยสงบ-ไม่ใช่ยุยงปลุกปั่น," Voice Online, (20 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <http://www.voicetv.co.th/read/CoVhpfnoj>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.; "คดี CMU06 ศาลยกฟ้องข้อหาชุมนุมการเมือง เหตุกม.ยกเลิก แต่ปรับ 100 บาท ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียง," ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (29 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=11493>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.
[24] ดูรายละเอียดใน "คดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง UN62 นัดสืบพยาน ม.ค.-มี.ค.64," ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (24 กุมภาพันธ์ 2563), เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=16131>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.; "อัยการยื่นอุทธรณ์คดีคนอยากเลือกตั้งพัทยา ยันจำเลยรายอื่นเป็นตัวการร่วมจัดชุมนุม," ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (4 พฤศจิกายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=14308>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.; "อัยการฟ้องคดีคนอยากเลือกตั้งพัทยาข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ," ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (25 มกราคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=10616>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563.