กรมเวียง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง :  ดร.โดม ไกรปกรณ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ  รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


กรมเวียง 

          ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้มีการตั้งขุนนางในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยขุนนางตำแหน่งสำคัญในสมัยนั้นได้แก่ตำแหน่ง “จตุสดมภ์” อันประกอบไปด้วย เวียง วัง คลัง นา[1]  จากการสืบค้นหนังสือจำนวนหนึ่งพบว่า ขุนนางตำแหน่งจตุสดมภ์นี้บางทีก็เรียกว่า เมือง (เวียง), วัง, คลัง, นา[2] ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เปลี่ยนชื่อเรียกกรมเวียงหรือกรมเมืองเป็น “กรมนครบาล” โดยเจ้ากรมนครบาลมียศเป็นเจ้าพระยาหรือพระยา “ที่ยมราช” ถือศักดินา 10000[3]

          สำหรับอำนาจหน้าที่ของกรมเวียงนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชาธิบายว่า กรมเมืองหรือกรมนครบาลมีหน้าที่บังคับกองตระเวน (หน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบสุขเรียบร้อยภายในเมืองหลวง) ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา รวมทั้งบังคับดูแลขุนนางในแขวงอำเภอภายในเขตกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนบังคับศาลพิจารณาคดีร้ายแรง[4] 

          แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะล่มสลายไปในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 หากแต่พระมหากษัตริย์ผู้รื้อฟื้นอาณาจักรสยามขึ้นมาใหม่ยังคงใช้ระบบราชการของกรุงศรีอยุธยา จึงปรากฏว่าในสมัยกรุงธนบุรีมีตำแหน่งพระยายมราชทำหน้ามี่เป็นเสนาบดีกรมเมืองหรือกรมนครบาล ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีการแต่งตั้งขุนนางตำแหน่งเสนาบดีกรมเวียงหรือกรมเมือง ได้แก่ พระยายมราช (อินหรือทองอิน) เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) เจ้าพระยายมราช (บุญมา) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  มาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีการตั้ง เจ้าพระยายมราช (น้อย บุณยรัตพันธุ์) และเจ้าพระยายมราช (น้อย ศรีสุริยพาท)  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตั้งเจ้าพระยายมราช (ฉิม), เจ้าพระยายมราช (พูนหรือทองพูน) เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตั้งเจ้าพระยายมราช (สุกหรือทองสุก),เจ้าพระยายมราช (นุช บุณยรัตพันธุ์) เจ้าพระยายมราช (แก้ว)  และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตั้งเจ้าพระยายมราช (เฉย)[5]

          หลังจาก เจ้าพระยายมราช (เฉย) ถึงแก่อสัญกรรมแล้วก็ไม่มีการตั้งขุนนางผู้ใดดำรงตำแหน่งเจ้าพระยายมราชอีก โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ เป็นผู้บังคับการกรมพระนครบาล อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่กรมพระนครบาลจัดการปราบปรามโจรผู้ร้ายไม่สงบเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ พ้นจากตำแหน่ง แล้วให้กรมพระนครบาลรวมเข้ากับกรมตำรวจ ซึ่งมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ เป็นแม่กอง โดยให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์, พระยาเทพประชุน, พระยาธรรมสารนิติวิชิตภักดี เป็นผู้มีอำนาจปรึกษากันบังคับการในตำแหน่งเสนาบดีกรมพระนครบาล[6]

          จากนั้นเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองใน พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ยกเลิกระบบการปกครองที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วตั้งระบบการบริหารราชการแบบใหม่ให้เหมาะสมแก่ยุคสมัย ดังนั้นตำแหน่งขุนนางที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจึงถูกยกเลิกไป[7] ในส่วนของกรมพระนครบาล ทรงโปรดให้ยกเลิก “กอมมิตตี” ที่ร่วมกันบังคับการในตำแหน่งเสนาบดีกรมพระนครบาล แล้วทรงโปรดเกล้าฯให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ (กระทรวงคมนาคม) และให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ มาเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล ต่อมาในปี 2451 พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ได้เป็นเจ้าพระยายมราช (เจ้าพระยายมราชคนสุดท้าย) จนถึงพ.ศ. 2465 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการรวมกรมนครบาลเข้าเป็นกระทรวงมหาดไทย ในการนี้ทรงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย[8]

 

บรรณานุกรม

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ประชุมพระนิพนธ์สรรพความรู้. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2555.

เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549

มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. ขุนนางอยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.

ส. พลายน้อย. ขุนนางสยาม ประวัติศาสตร์ “ข้าราชการ” ทหารและพลเรือน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน, 2559.

อาคม พัฒิยะ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์.  ศรีรามเทพนคร รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น.กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2527.

 

อ้างอิง

[1] อาคม พัฒิยะ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศรีรามเทพนคร รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น, กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2527, หน้า 46.

[2] สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ประชุมพระนิพนธ์สรรพความรู้, กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2555, หน้า 69; มานพ ถาวรวัฒน์สกุล, ขุนนางอยุธยา, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536, หน้า 122.

[3] สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549, หน้า 11.

[4] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557, หน้า 19-20.

[5] ส. พลายน้อย, ขุนนางสยาม ประวัติศาสตร์ “ข้าราชการ” ทหารและพลเรือน, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ: มติชน, 2559, หน้า 86-89, 107-112.

[6]  เรื่องเดียวกัน, หน้า 112.

[7] ดู พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557.

[8] ส. พลายน้อย, ขุนนางสยาม ประวัติศาสตร์ “ข้าราชการ” ทหารและพลเรือน, หน้า 113.