กรณีที่ ๒ นายโชบี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

กรณีที่ ๒ นายโชบี ตัวอย่างของคนเกิดในประเทศไทยจากบิดาและมารดาโรฮินญาหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย เขาประสบความไร้รัฐเพราะไร้สถานะทางกฎหมายทะเบียนราษฎร แต่บุตรสาวของเขามีสัญชาติไทย ไม่ไร้รัฐไม่ไร้สัญชาติเช่นเดียวกับเขา เพราะภริยาของเขามีสัญชาติไทย


นายอุสเซ็น และ นางอานัวเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์โรฮินญาที่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งเกิดและอาศัยในรัฐอาระกัน ประเทศพม่า ถูกรัฐบาลพม่าผลักดันให้ออกจากประเทศพม่า จนต้องอพยพเข้ามาในประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๑๙ นางอานัวมารดาเล่าให้โชบีฟังว่า “ประเทศพม่าไม่ให้สัญชาติคนมุสลิมและผลักดันออกนอกประเทศ หาว่าเป็นกบฎ ซึ่งคนมุสลิมเหล่านี้มีจำนวนเป็นหลายพัน หลายแสนคน แล้วก็ถูกผลักดันออกจากประเทศพม่า ๓ แสนกว่าคน ถูกผลักดันไปบังคลาเทศ บางส่วนหนีมาประเทศไทย

นายอุสเซ็นและนางอานัวอพยพเข้ามาในประเทศไทยทางผ่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

หลังจากที่นายอุสเซ็นและนางอานัวอยู่ประเทศไทยได้ ๒ ปี ก็มีบุตร ๑ คน กล่าวคือนายโซบี ซุบาฮาน นางอานัวไม่ได้คลอดโชบีที่โรงพยาบาล โดยนางอานัวบอกแก่โชบีว่า นางอานัวไม่มีเอกสารหรือหลักฐานแสดงตน จึงไม่กล้าไปโรงพยาบาล แต่บอกโชบีว่า คลอดที่อำเภอพระโขนง โดยหมอตำแย ซึ่งนางคอตีเยาะห์ คนสัญชาติไทย เป็นพยานรู้เห็นการเกิดของโชบี แต่โชบีไม่รู้วันเกิดของตัวเอง เพราะนางอานัวบอกเพียงว่า โชบีเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔ บิดาเสียชีวิต ขณะที่โซบีอยู่ในครรภ์มารดาประมาณ ๗ เดือน โชบีเริ่มทำงานขายกระดาษทิชชูตั้งแต่เป็นเด็กชายตัวเล็กๆ เริ่มจากแถวสุขุมวิท สีลม ไปจนถึงสายใต้เก่าจนสายใต้ย้ายไปที่ใหม่

ในราว พ.ศ.๒๕๓๒ เมื่อโซบีอายุประมาณ ๗ ปี นางอานัวมารดาและโซบีถูกตำรวจจับข้อหาหลบหนีเข้าเมืองและถูกส่งออกนอกราชอาณาจักร ณ ด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี หลังจากนั้น มารดาและโซบีก็เดินเท้ากลับเข้ามายังไทย และพำนักอยู่ที่บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ ประมาณไม่นานนักมารดาก็เสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรีย โซบีอยู่ตามลำพัง ขณะที่โชบีอายุได้ ๑๐ ปี

โชบีจึงเติบโตโดยลำพังและด้วยการเอื้อเฟื้อของเพื่อนบ้าน โชบีอาศัยอยู่กับชาวบ้าน โดยรับจ้างเลี้ยงวัวอยู่ประมาณ ๑ ปี โดยไม่มีรายได้ นายจ้างให้ได้แต่เพียงอาหารและที่พักอาศัย

ต่อมา เมื่ออายุประมาณ ๑๕-๑๖ ปี โชบีย้ายไปอยู่กับเพื่อนแถวปากเกร็ด กทม. เพราะมีเพื่อนมุสลิมที่ไม่มีสัญชาติเหมือนกับโชบี แนะนำให้เข้ามากรุงเทพฯ กลับมาขายยาดม กระดาษชำระ และต่อมา นางบานู คนพม่านับถือศาสนาอิสลามได้รับโชบีไปอุปการะ สอนอาชีพขายโรตีให้โชบี ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน โชบีมีอาชีพขายโรตี ปัจจุบัน นางบานูยังมีชีวิตแต่ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี

หลังจากนั้น โชบีถูกจับกุมหลายครั้งในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองบ้าง หรือทำงานผิดกฎหมายบ้าง และโชบีบอกว่า ถูกจับประมาณกว่า ๑๐ ครั้ง เมื่อถูกจับ ก็จะได้รับความช่วยเหลือจากคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติและผู้พลัดถิ่น ของสภาทนายความ ซึ่งก็ช่วยอธิบายให้ตำรวจทันบ้าง ไม่ทันบ้าง และแม้ถูกส่งตัวไปที่สังขละบุรี แต่ก็เดินทางกลับมาบ้านได้ทุกครั้ง

เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ รัฐบาลไทยมีการเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายจากพม่า ลาว และกัมพูชา โชบีจึงไปขอใบอนุญาตทำงาน ประเภทไม่ต้องมีนายจ้าง และสามารถประกอบอาชีพอิสระได้ (พ.๒) แต่ก็ถูกจับอีกในข้อหา “ขายโรตี” โดยตำรวจชี้แจงว่า อาชีพขายโรตีเป็นอาชีพที่ต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวทำ โชบีบอกว่า ไม่กลัวตอนถูกจับ แต่อายมากกว่า หลังจากนั้น เขาจึงไม่เคยไปขอทำใบอนุญาตทำงานอีกเลย โชบีไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ที่อ่านออกเขียนได้ เพราะเพื่อนๆ ช่วยสอนให้ เคยไปขอเรียนที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ตอนอายุ ๑๖ ปี แต่ถูกปฏิเสธเพราะไม่มีหนังสือรับรองการเกิด ล่าสุด โชบีส่งข่าวมายังคลินิกกฎหมายเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า เขาอยู่กันฉันสามีภริยากับนางสาววิลาวัณย์ คนสัญชาติไทย และมีบุตรด้วยกัน ๑ คน กล่าวคือ เด็กหญิงเกวลินทร์ ซึ่งเกิดที่โรงพยาบาลวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาทเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ทั้งนี้ ปรากฏตามหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ซึ่งโรงพยาบาลดังกล่าวออกให้แก่เด็กหญิงเกวลินทร์ เอกสารนี้ระบุว่า เกวลินทร์มีสัญชาติไทย ทั้งวิลาวัณย์และเกวลินทร์มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายไทย

ครอบครัวของโชบีตั้งบ้านเรือนอยู่จริงที่จังหวัดชัยนาทในปัจจุบัน แต่โชบีผู้เดียวในครอบครัวยังคงไร้รัฐ กล่าวคือ ไม่มีสถานะทางกฎหมายทะเบียนราษฎร