11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของประเทศ ที่มาของการได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นั้นต้องย้อนไปถึงการยึดอำนาจล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากรัฐสภาของคณะปฏิรูปการปกครอง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปนั้นมีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ และมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นเลขาธิการคณะยึดอำนาจ พ.ศ. 2519 และไปขอนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มาเป็นนายกรัฐมนตรี จนมีความขัดแย้งกันเองของรัฐบาลกับคณะทหารที่เป็นผู้อุปถัมภ์ คณะทหารก็ได้ยึดอำนาจอีกครั้ง ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ล้มทั้งรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519

ยึดอำนาจครั้งที่ 2 นี้คณะทหารที่ยึดอำนาจเห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่นายทหารที่เป็นผู้นำในการปฏิวัติรัฐประหารที่เสี่ยงตายทำงานต้องเป็นกันเสียเองบ้างแล้ว ตอนแรกก็มีข่าวว่าหัวหน้าคณะทหารคือ พลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง แต่เสียงสนับสนุนในคณะทหารได้ไปที่ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เลขาธิการคณะ ที่เป็นทหารบก และกล่าวกันว่ากลุ่มทหารที่มีบทบาทสำคัญคือ “กลุ่มยังเติร์ก” ของทหารไทยที่เป็นทหารบก และตัวพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เองก็เป็นมือประสาน ที่เหมาะในการจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นด้วย

งานสำคัญของนายกรัฐมนตรีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ คือการเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ผ่านเป็นกฎหมายได้ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2521 การที่นายกรัฐมนตรีผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมา ก็มีทั้งเสียงด่าและเสียงชม แต่คนจำนวนมากก็เห็นว่าท่านได้ชื่อเสียงในการเป็นผู้ที่พยายามแก้ไขความขัดแย้งในสังคม

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2521 และนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522โดยที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง