เหรียญการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ พ.ศ. 2473

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:45, 6 ตุลาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


ลักษณะ

ทองแดง

เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 เซนติเมตร

เป็นเหรียญกลม แบน มีห่วงด้านบน ตรงกลางเหรียญมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร. พาดด้วยพระแสงศร 3 องค์ ประกอบด้วยพระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต และพระแสงศรอัคนีวาต อันเป็นราชศาตราวุธของพระราม ซึ่งเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ ทั้งพระปรมาภิไธยย่อและพระแสงศร 3 องค์นี้อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎและอุณาโลม รอบขอบเหรียญมีอักษรเขียนข้อความว่า การชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๗๓

ประวัติความเป็นมา

เหรียญการชุมนุมแห่งชาติครั้งที่ 2 นี้ เป็นเหรียญที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานเป็นที่ระลึกการแสดงและการแข่งขันของลูกเสือในค่ายซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ เหรียญเงินสำหรับผู้ชนะได้รางวัลที่ 1 เหรียญทองแดงสำหรับผู้ที่ได้รางวัลที่ 2 และโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งลูกเสือที่มาในการชุมนุมหรือที่มาช่วยในกิจการต่างๆ เกี่ยวกับการชุมนุมด้วย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์สภานายก สภากรรมการกลางจัดการลูกเสือสยามทรงมีพระราชปรารภถึงการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2470 และโปรดเกล้าฯ ให้มีต่อไป 3 ปีต่อครั้ง เพื่อปลูกฝังความสามัคคีระหว่างกุลบุตรต่างท้องที่ อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของชาติในอนาคต การชุมนุมลูกเสือแห่งชาติใน พ.ศ. 2473 นี้ นับเป็นครั้งที่ 2 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันพระบรมราชสมภพแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือสยาม โดยกำหนดให้มีงานระหว่างวันที่ 1 – 7 มกราคม พ.ศ. 2473

อนึ่ง ในการชุมนุมครั้งนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญผู้แทนลูกเสือญี่ปุ่นมาร่วมสมาคมกับลูกเสือไทย เพื่อส่งเสริมสัมพันธไมตรีระหว่างลูกเสือทั้งสองชาติให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น[1] โดย เคานท์ ย. ฟูตาระ ได้นำลูกเสือญี่ปุ่นมาสมทบอีกจำนวน 21 คน และมีลูกเสือจาก 11 ประเทศ ส่งสาส์นแสดงความยินดี พร้อมส่งงานฝีมือ สิ่งของ และเอกสารอื่น ๆ มาร่วมการแสดงด้วย[2] กำหนดให้มีการอยู่ค่าย 7 วัน และได้มีการจัดการแข่งขันของลูกเสือในค่าย โดยแต่ละประเภทการแข่งจะได้รับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีลูกเสือจากมณฑลต่างๆ และผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จำนวน 1,959 คน

อ้างอิง

  1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ , ร. 7 บ.7/39.การชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 2.
  2. วิทยาลัยทับแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร, เรื่องเสือป่าและประมวลเรื่องเกี่ยวกับเสือป่า, (กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2523).