ประชาธรรม (พ.ศ. 2517)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:25, 4 ตุลาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคประชาธรรม

พรรคประชาธรรม เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 โดยได้ยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 ทะเบียนเลขที่ 11/2517 พรรคประชาธรรมมีหัวหน้าพรรคการเมือง คือ นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค 2 คน ได้แก่ นายมนูญ สันติวงศ์ และนายสมพล เกยุราพันธ์ เลขาธิการพรรค คือ นายนิพนธ์ วิสิษฐ์ยุทธศาสตร์ รองเลขาธิการพรรค คือ นายประสาน เรืองกาญจนเศรษฐ์ กรรมการอำนวยการอื่น ได้แก่ นายองอาจ ตั้งสถิตชัย นายชูสิทธิ์ ศิระพงษ์ประภา นายบัญชา วัฒนวงศ์วิสุทธิ์ นายสมัคร เจริญรัตน์ นายดนัย นพสุวรรณวงศ์ นายสาย บุญสรรค์ นายบุญเกิด นากดี นายพูนสวัสดิ์ มูลศาสตร์สาทร นางสาวจินดา เรืองกาญจนเศรษฐ์

นโยบายของพรรคประชาธรรม

พรรคประชาธรรมมีนโยบายทางการเมือง ดังนี้ พรรคประชาธรรมจะดำเนินการทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน จะเทิดทูนพระมหากษัตริย์ไว้ในฐานะองค์พระประมุขของชาติ จะพิทักษ์รักษาความเป็นเอกราชของชาติอย่างเด็ดเดี่ยว จะคัดค้านการรุกรานทางการเมืองอย่างรุนแรงและเหนียวแน่น พรรคประชาธรรมยึดหลักการที่ว่าการต่อสู้ทางการเมืองที่มีอุดมการณ์และผลประโยชน์ต่างกันในระบบพรรคการเมืองนั้น จะต้องใช้วิธีการต่อสู้ที่เคารพต่อกฎหมายและอยู่ภายใต้กติกา จะห้ามมิให้มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามในกรณีที่มีการขัดแย้งทางการเมือง เว้นแต่การกระทำนั้นผิดกฎหมาย นอกจากนี้ พรรคประชาธรรมจะจัดให้มีการปกครองตนเองโดยประชาชนอย่างแท้จริงในหน่วยการปกครองทุกระดบับ ตั้งแต่การจัดให้มีสภาตำบล และสภาอำเภอ เป็นต้น

พรรคประชาธรรมยึดหลักสิทธิและเสรีภาพ โดยจะเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นทั้งทางการเมืองและการนับถือศาสนา จะส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจทางการเมืองไปสู่ประชาชน และจะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างแท้จริง อีกทั้งจะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การปฏิรูประบบงานกฎหมายและการปฏิบัติงานของเข้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้สามารถทำงานรับใช้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

นโยบายด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาธรรมจะดำเนินการให้ประชาชนมีงานทำอย่างทั่วถึง จะผลักดันมาตรการที่ทำให้ค่าตอบแทนหรือค่าจ้างแรงงานเป็นไปอย่างยุติธรรมตามความสามารถ และสอดคล้องกับระดับค่าครองชีพ พรรคประชาธรรมจะระดมทรัพยากรและเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาปรับปรุงและส่งเสริมกระบวนการผลิตทางการเกษตรอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มผลผลิตของชาวไร่ชาวนา จะทำการจัดสรรที่ดินเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ชาวไร่ชาวนาอย่างจริงจัง และจะวางแผนและดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติอย่างมีเป้าหมาย มีหลักการอิสระและพึ่งตนเองได้ เพื่อให้รายได้ประชาชนสูงขึ้น

พรรคประชาธรรมจะผลักดันให้รัฐต้องเข้าดำเนินการหรือควบคุมทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะผูกขาด ตัดตอน หรือที่เป็นสาธารณูปโภค หรือที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่อย่างใกล้ชิด จะรักษาดุลการค้าและดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ ให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความยุติธรรม นอกจากนี้ พรรคประชาธรรมจะผลักดันมาตรการส่งเสริมการศึกษาและสวัสดิการสำหรับชาวนา ชาวไร่และผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

นโยบายด้านการศึกษาและวัฒนธรรม พรรคประชาธรรมจะให้การศึกษาทุกระดับแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า โดยมุ่งเน้นการปลูกฝันความนึกคิดที่ดีงามแก่เยาวชน จะขยายการศึกษาภาคบังคับจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จะเปิดและขยายการศึกษาชั้นอุดมศึกษาและด้านเทคนิคในท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และจะพิทักษ์รักษาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและศิลปะประจำชาติให้รุ่งเรือง

นโยบายด้านสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม พรรคประชาธรรม จะจัดสร้างสถานพยาบาล โรงพยาบาล ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ทางการรักษาพยาบาลให้เพียงพอในทุกท้องถิ่น จะผลักดันให้รัฐดำเนินกิจการโรงพยาบาลโดยให้บริการแก่ประชาชนแบบไม่คิดมูลค่า และกำหนดมาตรการคุ้มครองให้การบริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดให้ทั่วถึงและเท่าเทียม จะจัดให้มีการศึกษาทางการแพทย์และพยาบาลอย่างกว้างขวาง สำหรับมาตรการด้านสวัสดิการสังคมนั้น พรรคประชาธรรมจะผลักดันให้ประชาชนต้องได้รับหลักประกันในด้านอาชีพและการทำงาน ได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรมและเสมอภาคกัน ได้รับบำนาญเมื่อปลดเกษียณ และมีสวัสดิการเมื่อว่างงาน

นโยบายด้านการต่างประเทศ พรรคประชาธรรมจะดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยอิสระ มุ่งสร้างความสัมพันธ์กับนานาประเทศโดยยึดถือหลักแห่งความเสมอภาคและสวัสดิภาพ จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศใด จะยึดมั่นในกฎบัตรแห่งสหประชาชาติและให้ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ จะต่อต้านสงครามและการรุกรานทั้งทางตรงและทางอ้อม และจะยึดหลักพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ แต่หากจำเป็นต้องรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ จะต้องไม่มีภาระผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น

ในการเลือกตั้งทั่วเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 พรรคประชาธรรมส่งผู้สมัครลงแข่งขัน โดยผลการเลือกตั้งปรากฏว่าผู้สมัครของพรรคประชาธรรมได้รับเลือกตั้งทั้งสิ้น 6 คน

ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 92 ตอนที่ 193 ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2518 หน้า 129-133

สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519