แนวสันติ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคแนวสันติ

พรรคแนวสันติเป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 โดยมีนายบรรจง ศรีจรูญ เป็นหัวหน้าพรรค นายอภินันท์ บูรณพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค

นโยบายของพรรคแนวสันติ

นโยบายทั่วไปของพรรคแนวสันติคือ การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้คนที่เข้าสู่การเมือง เป็นผู้ที่ไม่ใช่นายทุนและไม่ใช่ขุนศึก ทั้งนี้นโยบายหลักของพรรคแนวสันติที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนที่สุดคือ เรื่องความเป็นธรรมทางสังคม โดยพรรคแนวสันติจะกวาดล้างระบบเจ้าขุนมูลนายในระบบราชการ ระบบอาวุโส ซึ่งไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถของแต่ละคน และจะส่งเสริมให้ข้าราชการได้รับรายได้ค่าตอบแทนที่เพียงพอ

นโยบายด้านการเมือง พรรคแนวสันติเห็นว่าในอนาคตจำเป็นต้องผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการยกเลิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง เนื่องจากเป็นสาเหตุที่ทำให้ฝ่ายการเมืองยึดถือเรื่องพวกพ้องมากกว่าประเทศชาติ และควรมีการแก้ไขเกณฑ์อายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็น 18 ปี ส่วนผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งนั้นควรมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป เพื่อให้ประชาชนที่มีสิทธิทางการเมืองมีจำนวนมากขึ้น หากเป็นรัฐบาล พรรคแนวสันติจะไม่ยอมให้มีการตั้งฐานทัพของต่างชาติในประเทศไทย และจะกำหนดให้การตัดสินใจทางการทหารใด ๆ ต้องผ่านการพิจารณาปรึกษาหารือของรัฐสภาเสียก่อน

นโยบายด้านการบริหารราชการ พรรคแนวสังคมจะมุ่งปฏิรูประบบราชการ โดยเริ่มต้นจากระดับตำบลและระดับอำเภอก่อน โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งนายอำเภอจากคนในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจในการปกครอง อีกทั้งการได้คนในท้องถิ่นมาบริหารราชการย่อมรู้สภาพปัญหาในท้องถิ่นดีกว่าข้าราชการที่แต่งตั้งจากส่วนกลาง

นโยบายด้านการต่างประเทศ พรรคแนวสันติจะเป็นมิตรกับทุกประเทศ โดยติดต่อกับประเทศที่ก่อนหน้านี้ไทยเคยคิดว่าไม่เป็นมิตร และจะไม่ให้นายทุนต่างชาติเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากการลงทุนประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยโดยไม่มีขอบเขต

นโยบายทางเศรษฐกิจ พรรคแนวสันติจะให้รัฐบาลเป็นผู้หาตลาดระบายสินค้า โดยรัฐบาลจะต้องสำรวจตลาดสินค้าแต่ละประเภทล่วงหน้า โดยมีการแต่งตั้งฑูตพาณิชย์ของรัฐบาลเพื่อดำเนินการสำรวจความต้องการสินค้าในตลาดต่างประเทศ เพื่อให้รัฐบาลสามารถรู้ถึงแนวโน้มในการวางแผนส่งเสริมการผลิตภายในประเทศได้อย่างทันการณ์ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะต้องริเริ่มการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรด้วย

นโยบายด้านการเกษตร พรรคแนวสันติจะผลักดันการปฏิรูปที่ดิน โดยใช้ระบบนารวมแบบประเทศสังคมนิยม โดยให้ชาวนาสามารถร่วมกันใช้อุปกรณ์การเกษตรและปุ๋ยของส่วนกลาง เมื่อผลิตได้และจำหน่ายแล้ว ชาวนาจะเก็บผลกำไรไว้ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับองค์การซึ่งอาจเป็นรูปแบบสหกรณ์ และอยู่ภายใต้การควบคุมโดยกฎหมาย สหกรณ์จะต้องกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เมื่อรัฐบาลแจกพืชพันธุ์ไปแล้ว สหกรณ์จะเป็นผู้ติดตามควบคุมการผลิตตามพันธสัญญา โดยชาวนาไม่ต้องมีทรัพย์สินหรือที่ดินมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะผลผลิตที่ได้จะเป็นหลักประกันไปในตัว นอกจากการส่งเสริมการผลิตข้าวแล้ว รัฐบาลยังต้องส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา และพืชล้มลุกตามฤดูกาลด้วย ทั้งนี้ในระยะแรก รัฐบาลจะยังคงเงินพรีเมี่ยมเอาไว้ จนกว่าจะสามารถให้ชาวนาส่งผลผลิตออกได้เองโดยผ่านองค์การสหกรณ์

พรรคแนวสันติจะจัดตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภคขึ้นในทุกหมู่บ้าน ซึ่งทุกแห่งมีการกำหนดราคาสินค้าเท่ากันหมด โดยรัฐบาลเป็นนายหุ้นใหญ่ และบริหารในรูปองค์การหุ้นส่วนมหาชน เพื่อตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง และการค้ากำไรเกินควร ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อนในหมู่ประชาชนชนบท รัฐจะไม่ปล่อยให้สินค้าหลักเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายอย่างเสรี เช่น ข้าว เป็นต้น ทั้งนี้รัฐบาลต้องเข้ามากำกับควบคุมการซื้อขายเพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกรผู้ผลิตและประชาชนผู้บริโภคเป็นสำคัญ

นโยบายด้านการศึกษา พรรคแนวสันติจะมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา โดยสนับสนุนทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ เพื่อให้บุคลากรด้านวิชาชีพต่าง ๆ มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ของประเทศ ในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมโรงเรียนที่เน้นหลักสูตรด้านการเกษตร โรงเรียนด้านการค้าพาณิชการ โดยรัฐจะให้การศึกษาแก่เยาวชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ในระยะแรกอาจให้เรียนฟรีถึงชั้น มศ. 3 ก่อน หรือไม่ก็อาจเก็บค่าเล่าเรียนเพียงเล็กน้อย จนกว่าจะมีเศรษฐกิจที่พร้อมกว่านี้

นโยบายด้านการสาธารณสุข พรรคแนวสันติจะมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ยกระดับพยาบาลและผู้ช่วยแพทย์ให้สามารถแบ่งเบาภาระการทำงานของแพทย์ได้ สำหรับการจัดระบบบริการสาธารณสุขต้องเป็นระบบการแพทย์แบบให้เปล่า ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนสามารถดูแลสุขอนามัยและด้านการโภชนาการของตนเองด้วย

นโยบายด้านสวัสดิการสังคม พรรคแนวสันติจะจัดให้มีระบบประกันสังคม มีการเก็บเบี้ยประกันสังคม มีการส่งเสริมอาชีพ และการศึกษาสำหรับประชาชนที่ถูกทอดทิ้ง เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวและดำรงชีพอยู่ได้

ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 พรรคแนวสันติส่งผู้สมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งในเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 12 คน แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว


ที่มา

สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519

วสันต์ หงสกุล, 37 พรรคการเมือง ปัจจัยพิจารณาเปรียบเทียบ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ตะวันนา, 2518

ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ, พรรคการเมืองและปัญหาพรรคการเมืองไทย, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2524