จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ถึงแก่อสัญกรรม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:23, 4 ตุลาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง สุมาลี พันธุ์ยุรา


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ถึงแก่อสัญกรรม (พ.ศ.2506)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำหน้าที่เป็นผู้นำรัฐบาลบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 จนกระทั่งประมาณกลางปี 2505 จอมพลสฤษดิ์เริ่มเจ็บป่วยเป็นระยะ ๆ และวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2506 ได้ถึงแก่อสัญกรรม ถือว่าจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์ก่อนการอสัญกรรม

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เริ่มอาการป่วยด้วยโรคหวัดตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2506 โดยมีอาการไอและคางบวมจากอาการเหงือกอักเสบและปวดฟัน แพทย์จึงแนะนำให้จอมพลสฤษดิ์ไปพักผ่อนที่ต่างจังหวัด แต่จอมพลสฤษดิ์ปฏิเสธไม่ทำตามคำแนะนำของแพทย์ในทันที จอมพลสฤษดิ์พยายามเร่งรัดทำงานที่ค้างอยู่ อาทิ การอัดเสียงออกอากาศทางโทรทัศน์ในวันสำคัญ ๆ เดินทางไปเป็นประธานในงานครบรอบ 5 ปีของการปฏิวัติ เดินทางไปเป็นประธานวางศิลาฤกษ์หอสมุดแห่งชาติ เดินทางไปเปิดอาคารตำรวจจราจร รวมทั้งการต้อนรับคนสำคัญที่เข้าพบทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศตามกำหนดการที่วางไว้ จนกระทั่งในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2506 ในตอนกลางคืนจอมพลสฤษดิ์เดินทางไปบัญชาการดับเพลิงที่โรงงานทอผ้าที่คลองเตยในขณะที่ยังป่วย และได้รับความกระทบกระเทือนจากความร้อนของเปลวไฟและไอน้ำจากหัวสูบดับเพลิง และในวันที่ 29 ตุลาคม จอมพลสฤษดิ์เดินทางไปเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลจนถึงตอนค่ำ ทำให้อาการป่วยไม่ทุเลาลง ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์จึงเดินทางไปพักผ่อนรักษาตัวที่บ้านพักรับรองแหลมแท่น บางแสน จังหวัดชลบุรีในวันที่ 30 ตุลาคม[1]

ในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ที่แหลมแท่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำกิจวัตรประจำวันเป็นปกติ เช่น ดูและฟังข่าวทางโทรทัศน์ เรียกเจ้าหน้าที่มาพบเพื่อหารือข้อราชการ ลงนามในหนังสือราชการ เดินตรวจตลาดและความสะอาด รวมทั้งติดต่อข้อราชการทางโทรศัพท์กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่ต้องรายงานให้จอมพลสฤษดิ์ทราบถึงข่าวสารต่าง ๆ เป็นระยะ เช่น ข่าวการปฎิวัติในเวียดนามใต้ ข่าวการปฏิวัติในอิรัก ข่าวการอสัญกรรมของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ซึ่งในกรณีที่เป็นราชการสำคัญ จอมพลสฤษดิ์จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปพบได้ในห้องนอน [2]

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช้เวลาพักผ่อนเพียงไม่กี่วันก็เดินทางกลับมายังกรุงเทพฯทั้งที่ยังไม่หายป่วย เพื่อเข้าร่วมงานซ้อมใหญ่ในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงไชยเฉลิมพลในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 และเป็นประธานในพิธีในวันที่ 8 พฤศจิกายน ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดซึ่งจอมพลสฤษดิ์ถือว่าเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาทุกปี และก่อนงานพิธีเพียงหนึ่งวัน จอมพลสฤษดิ์ได้จัดงานเลี้ยงรับรองนายกรัฐมนตรีประเทศลาว คือ เจ้าสุวรรณภูมาและชายาซึ่งเสด็จจากยุโรปมาที่ประเทศไทยในคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน ภายหลังจากเสร็จงานเลี้ยง จอมพลสฤษดิ์เดินทางกลับไปยังบ้านพักรับรองที่สี่เสาเทเวศร์ จอมพลสฤษดิ์เกิดอาการท้องร่วงและอาเจียนอย่างรุนแรงและไม่ได้นอนตลอดคืน แพทย์ต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วน กลางดึกของวันที่ 7 พฤศจิกายน แพทย์ได้เข้ารักษาอาการท้องร่วงของจอมพลสฤษดิ์และให้น้ำเกลือและกลูโคส จนกระทั่งวันที่ 8 พฤศจิกายน จอมพลสฤษดิ์มีอาการอ่อนเพลียมาก แพทย์แนะนำให้ จอมพลสฤษดิ์งดการไปเป็นประธานในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงไชยเฉลิมพล แต่จอมพลสฤษดิ์ไม่ฟังคำทัดทาน แพทย์ได้เอาเข็มน้ำเกลือออกในเวลาประมาณ 13.00 น. จอมพลสฤษดิ์ลุกขึ้นมาแต่งชุดจอมพลทันทีเพื่อไปเข้าร่วมพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงไชยเฉลิมพล โดยกล่าวว่า “สัญญากับลูกน้องไว้แล้วว่าจะไป ถึงจะตายก็ขอไปตายกับทหาร” ในการเข้าร่วมเป็นประธานในพิธีนั้น จอมพลสฤษดิ์ต้องอยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง[3]

นับตั้งแต่เสร็จสิ้นพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงไชยเฉลิมพลในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 เป็นต้นมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มีอาการอ่อนเพลียมากและมึนศีรษะ จึงเดินทางไปพักผ่อนที่บางแสนอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 11 พฤศจิกายน แต่จอมพลสฤษดิ์ยังพยายามปฏิบัติภารกิจเหมือนเดิมแทนที่จะพักผ่อนตามคำแนะนำของแพทย์ กล่าวคือ ในวันรุ่งขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน จอมพลสฤษดิ์ได้นัดหมายประชุมคณะรัฐมนตรีที่บ้านพักรับรองแหลมแท่น บางแสน ในระหว่างการประชุมจอมพลสฤษดิ์มีอาการอาเจียนสองถึงสามครั้งจนแพทย์ขอให้หยุดพักชั่วครู่ แต่จอมพลสฤษดิ์ไม่ยอม แม้แต่จะขอให้ปลดกระดุมคอเสื้อ เพื่อคลายเนคไทออกบ้าง จอมพลสฤษดิ์ก็ไม่ยอม และดำเนินการประชุมต่อจนเสร็จ หลังจากวันนั้นทำให้อาการป่วยของจอมพลสฤษดิ์ไม่ดีขึ้น และจอมพลสฤษดิ์ยังคงปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ เช่นเดิม คือ ลงนามในหนังสือราชการและให้เจ้าหน้าที่เข้าพบตามโอกาสเป็นครั้งคราว จนกระทั่งในวันที่ 26 พฤศจิกายน จอมพลสฤษดิ์มีอาการทรุดลง คือ มีอาการอ่อนเพลียและต้องนอกพักอยู่ที่เตียงนอน [4]

ในวันรุ่งขึ้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเยี่ยม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่บ้านพักรับรองแหลมแท่น บางแสนเป็นเวลานาน และเมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ จอมพลสฤษดิ์ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจับพระหัตถ์ทูลไว้เหนือศีรษะ อันสะท้อนให้เห็นถึงความจงรักภักดีที่จอมพลสฤษดิ์แสดงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาในวันที่ 28 พฤศจิกายน พล.อ.จิตติ นาวีเสถียร รองผู้บัญชาการทหารบกเดินทางไปเยี่ยมจอมพลสฤษดิ์และได้หารือร่วมกับคณะกรรมการแพทย์ และเห็นพ้องต้องกันว่าควรนำ จอมพลสฤษดิ์กลับมาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเพื่อให้พักผ่อนได้อย่างเต็มที่ และในวันเดียวกันนั้น จอมพลสฤษดิ์เดินทางกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าโดยเฮลิคอปเตอร์ และนับตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ข่าวการป่วยก็แพร่สะพัด โดยมีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนไปเฝ้าฟังอาการป่วยของจอมพลสฤษดิ์ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าทรงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์นำกระเช้าดอกไม้ไปพระราชทานเยี่ยม[5]

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เข้ามารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าโดยได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติม การตรวจของแพทย์พบว่านอกจากจะพบโรคไตพิการแล้ว หัวใจข้างซ้ายยังโตและทำงานมากขึ้น ปอดชื้นโดยทั่วไป และมีอาการอักเสบที่บริเวณชายปอดด้านล่างข้างขวา ความดันโลหิตสูงปานกลาง ต่อมารัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ขึ้นเพื่อให้การรักษาพยาบาลแก่จอมพลสฤษดิ์ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 คณะกรรมการแพทย์ประกอบด้วย พลตรีพร พิศกนก เป็นหัวหน้าคณะกรรมการ พลตรีพึ่ง พินธุโยธิน เป็นกรรมการ พันเอกประณต โพธิทัต เป็นกรรมการ ศาสตราจารย์วีกิจ วีรานุวัติ เป็นกรรมการ พันตรีสมพนธ์ บุณยคุปต์ เป็นกรรมการ นายแพทย์เอแลน เอส แคมะรอน เป็นกรรมการ พันตรีเรย์ เอ ออลสัน เป็นกรรมการ พันตรีประเสริฐ สกุลเจริญ เป็นผู้ช่วยกรรมการแพทย์ พันตรีสิงหา เสาวภาพ เป็นผู้ช่วยกรรมการแพทย์ ร้อยเอกอโณทัย แย้มยิ้ม เป็นผู้ช่วยกรรมการแพทย์ ร้อยเอกอัศวิน เทพาคำ เป็นผู้ช่วยกรรมการแพทย์ และร้อยเอกประชุม ทาสุคนธ์ เป็นผู้ช่วยกรรมการแพทย์ และในวันเดียวกันนี้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ส่งนายแพทย์และพยาบาลมาช่วยเหลืออีก 3 คน คือ พลโทแอล ดี ฮีตัน นายแพทย์ใหญ่ทหารบกซึ่งเป็นผู้ผ่าตัดจอมพลสฤษดิ์ในครั้งแรก พันโทปอล เตชาน ผู้เชี่ยวชาญโรคไต และพยาบาลร้อยเอกหญิงบารคเลย์ และสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีได้แถลงข่าวความคืบหน้าอาการป่วยของจอมพลสฤษดิ์เป็นระยะซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายนเป็นต้นมา[6]

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ถึงแก่อสัญกรรม

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2506 สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงข่าวอาการป่วยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ว่า มีอาการไข้และกระสับกระส่ายอยู่ตลอดทั้งคืน คณะแพทย์ทั้งหมดได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขภาวะการแทรกซ้อน แต่อาการของ จอมพลสฤษดิ์ก็ยังทรุดลง โดยมีอาการไข้ หัวใจทำงานอ่อนลง ในวันที่ 8 ธันวาคมสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวอาการป่วยของจอมพลสฤษดิ์อีกครั้ง โดยแพทย์ชี้แจงว่าเกิดอาการแทรกซ้อนทางสมองเพิ่มเติม นอกจากโรคทางไต ทางปอด และทางหัวใจที่มีอยู่แล้ว ยังมีอาการไข้ ส่วนชีพจร ความดันโลหิตและการหายใจยังอยู่ในสภาพดี อาการทางหัวใจยังคงเดิม ปัสสาวะขับถ่ายได้ดี ซึ่งแพทย์จะยังคงดำเนินการรักษาอย่างเต็มที่และพยายามอย่างดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังการแถลงข่าว อาการป่วยของจอมพลสฤษดิ์ก็ยังคงไม่ดีขึ้น ในระยะสุดท้ายของอาการป่วยนั้น หัวใจทำงานอ่อนลงโดยลำดับ ความดันโลหิตลดลงและอ่อนกำลังลงตลอดเวลา จนกระทั่งเมื่อเวลา 17.00 น.ของวันที่ 8 ธันวาคม ภายหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์เข้ารับการรักษาพยาบาลครบ 10 วัน จอมพลสฤษดิ์ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ภายหลังจากการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองได้ 36 ชั่วโมง[7] จอมพลสฤษดิ์สิริอายุรวม 55 ปี และรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน 28 วัน

หลังจากนั้นสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงข่าวฉบับที่ 11 ในตอนค่ำของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2506 โดยมีใจความว่า “สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีมีความเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ขอแถลงให้เพื่อนร่วมชาติและมิตรผู้หวังดีต่อประชาชาติไทยว่า บัดนี้ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้ถึงแก่อสัญกรรมเสียแล้วในวันนี้เวลา 17.00 น. ดังรายงานของคณะแพทย์ต่อไปนี้ นายกรัฐมนตรีได้ถึงแก่อสัญกรรมวันนี้เวลา 17.00 น. เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง โดยโลหิตไปเลี้ยงสมองน้อยกว่าปกติ ทั้งนี้เนื่องจากหัวใจทำงานอ่อนลงและความดันโลหิตลดลงอีกด้วย การป่วยครั้งสุดท้ายเริ่มมาประมาณเดือนที่แล้ว ต่อมาโรคไตและโรคหัวใจได้แทรกซ้อนโรคตับ ซึ่งมีอยู่ก่อนตามที่ได้แถลงการณ์ในไว้ฉบับก่อน ๆ นั้น ภายหลังปรากฎว่าอาการต่าง ๆ ดีขึ้น หากเพราะภาวะแทรกซ้อนทางสมองซึ่งเกิดโดยกระทันหันเมื่อประมาณ 36 ชั่วโมงมานี้ จึงทำให้ ฯพณฯ อ่อนกำลังลงจนถึงที่สุด...” [8]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงพระราชทานพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2506 แด่ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ เพื่อแสดงความเสียใจต่อการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดังมีใจความว่า “เราทั้งสองได้ทราบเรื่องนายกฯถึงแก่อสัญกรรมด้วยความเศร้าสลดใจเหลือเกิน จึงขอแสดงความเสียใจมายังท่านผู้หญิงและครอบครัวทุกคนด้วยความจริงใจ นายกฯได้ปฏิบัติหน้าที่มาด้วยความเหน็ดเหนื่อยตรากตรำโดยมิได้นึกถึงตนเองเลยและได้บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ จึงเป็นการสูญเสียอันใหญ่สำหรับบ้านเมืองและเราด้วย” [9]

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเป็นพิเศษรับศพจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ไว้ใน พระบรมราชูปถัมภ์และให้ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร โดยพระราชทานน้ำอาบศพ พระราชทานโกศทองกุดั่นน้อยบรรจุศพ แล้วเชิญขึ้นประดิษฐานเหนือชั้นแว่นฟ้า แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบเกียรติยศ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีพระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม มีกำหนดเวลา 21 วัน[10]

ภายหลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต

ภายหลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพลเอกถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2506 กล่าวได้ว่า จอมพลถนอมก็คือมรดกทางการเมืองที่สืบทอดอำนาจต่อจากจอมพลสฤษดิ์นั่นเอง จอมพลถนอมได้รับการไว้วางใจให้รับผิดชอบดำเนินการตามระบอบการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งจอมพลถนอมได้อ้างไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่ารัฐบาลของตนมิได้ดำเนินนโยบายผิดแผกไปจากนโยบายที่จอมพลสฤษดิ์วางไว้ กล่าวคือ รัฐบาลยังคงยืดมั่นต่อการบริหารอย่างเข้มแข็ง การพัฒนายังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล การร่วมมือกับพระมหากษัตริย์และข้าราชการจะยังคงดำเนินสืบไป ตลอดจนความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ เกิดเรื่องราวอื้อฉาวเกี่ยวกับการแก่งแย่งทรัพย์สินมรดกจำนวนมหาศาลของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งประชาชนและสื่อมวลชนต่างให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ จึงทำให้จอมพลถนอม กิตติขจรต้องแทรกแซงและสวบสวนเบื้องหลังความมั่งคั่งของจอมพลสฤษดิ์ในคดีฟ้องร้องแย่งชิงมรดกมูลค่าพันล้านระหว่างท่านผู้หญิงวิจิตราภรรยาคนสุดท้ายของจอมพลสฤษดิ์กับบุตรธิดาที่เกิดจากการสมรสครั้งก่อน ๆ ของจอมพลสฤษดิ์ ในที่สุดจอมพลถนอม นายกรัฐมนตรีต้องใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ การสอบสวนคดีนี้เริ่มตั้งแต่ในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2507 จอมพลถนอมมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทรัพย์สินของรัฐในกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ขึ้น ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนทรัพย์สินฯ ได้ทำรายงานสรุปผลการสอบสวนไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีจอมพลถนอมเป็นประธาน คณะกรรมการกฤษฎีกาลงมติด้วยคะแนนเสียง 25 ต่อ 22 จากทั้งหมด 48 เสียง ให้ทำการยึดทรัพย์อันเป็นมรดกของจอมพลสฤษดิ์ทั้งหมด[11]

ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2507 จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีจึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ออกคำสั่งยึดทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยให้ทรัพย์สินในกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์และทรัพย์สินของท่านผู้หญิงวิจิตรา ผู้เป็นภรรยาตกเป็นของรัฐ ซึ่งในคำสั่งมีสาระสำคัญ คือ “โดยที่ปรากฎว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะมีชีวิตอยู่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในราชการโดยมิชอบ กระทำการเบียดบังและยักยอกทรัพย์สินของรัฐไปหลายครั้งหลายหนป็นจำนวนมากมาย เท่าที่ปรากฏในขณะนี้มีมูลค่าถึงเงิน 435,704,115.89 บาท ซึ่งเมื่อรวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5ต่อปีแล้ว เป็นเงินที่รัฐต้องได้รับความเสียหายรวมทั้งสิ้น 574,328,078.26 บาท การกระทำดังกล่าวนี้มีผลเป็นการบ่อนทำลายความั่นคงของราชอาณาจักร และโดยที่ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์เป็นภริยาของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ร่วมรับประโยชน์จากการนี้ด้วย อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของรัฐทันทีในวันที่ออกคำสั่งนี้” [12]

ต่อมาในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2507 จอมพลถนอม กิตติขจรได้ออกคำสั่งยึดทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นฉบับที่ 2 โดยเพิ่มยอดเงินที่จะต้องยึดเข้าเป็นของรัฐจำนวน 30,223,198.36 บาท ดังนั้นเมื่อรวมยอดเงินที่รัฐบาลจอมพลถนอมสามารถยึดมรดกของ จอมพลสฤษดิ์เข้าเป็นของรัฐทั้งหมด มีจำนวนทั้งสิ้น 604,551,276.62 บาท[13] ซึ่งเป็นเรื่องที่ จอมพลถนอมต้องกระทำเพราะไม่สามารถฝืนมติมหาชนได้ ดังนั้นการใช้มาตรา 17 สั่งยึดทรัพย์สินมรดกของจอมพลสฤษดิ์ จึงเป็นทางเดียวที่จอมพลถนอมจะสามารถดำรงอำนาจต่อไปได้โดยชอบธรรม

ที่มา

กองทัพบก. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพฯพณฯจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์. กรุงเทพฯ: บริษัท ธนะการพิมพ์ จำกัด, 2507.

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมืองการปกครองไทย: ยุคเผด็จการ-ยุคปฏิรูป. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เสมาธรรม, 2549.

สัมฤทธิ์ มีวงศ์อุโฆษ. บันทึกประวัติศาสตร์การยึดทรัพย์สินนักการเมืองและผู้มีอำนาจทางการปกครองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: บริษัท สยามบรรณ จำกัด.

หนังสือแนะนำ

กองทัพบก. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพฯพณฯจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์. กรุงเทพฯ: บริษัท ธนะการพิมพ์ จำกัด, 2507.

หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพฯพณฯจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยกองทัพบก ได้กล่าวถึงการทำงานและการเจ็บป่วยของจอมพลสฤษดิ์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม โดยมีรายละเอียดของอาการป่วย การพักผ่อนรักษาตัวที่บ้านพักรับรองแหลมแท่น บางแสนในจังหวัดชลบุรี และการเข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า จวบจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

อ้างอิง

  1. กองทัพบก, ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพฯพณฯจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ( กรุงเทพฯ: บริษัท ธนะการพิมพ์ จำกัด, 2507), หน้า 248.
  2. เรื่องเดียวกัน, หน้า 248-249.
  3. เรื่องเดียวกัน, หน้า 250-251.
  4. เรื่องเดียวกัน, หน้า 251-252.
  5. เรื่องเดียวกัน, หน้า 252-253.
  6. เรื่องเดียวกัน, หน้า 257-258.
  7. เรื่องเดียวกัน, หน้า 261.
  8. แถลงข่าวของสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 11 (8 ธันวาคม 2506) อ้างถึงใน กองทัพบก, ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพฯพณฯจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, หน้า 262.
  9. พระราชหัตถเลขาถึงท่านผู้หญิงวิจิตรา (8 ธันวาคม 2506) อ้างถึงใน กองทัพบก, ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพฯพณฯจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, หน้า 254.
  10. ประกาศสำนักพระราชวัง (8 ธันวาคม 2506) อ้างถึงใน กองทัพบก, ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพฯพณฯจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, หน้า 263.
  11. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมืองการปกครองไทย: ยุคเผด็จการ-ยุคปฏิรูป (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เสมาธรรม, 2549), หน้า 50.
  12. สัมฤทธิ์ มีวงศ์อุโฆษ, บันทึกประวัติศาสตร์การยึดทรัพย์สินนักการเมืองและผู้มีอำนาจทางการปกครองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน (กรุงเทพฯ: บริษัท สยามบรรณ จำกัด), หน้า 9.
  13. เรื่องเดียวกัน, หน้า 9-10.