พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:55, 13 กันยายน 2553 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ธิกานต์ ศรีนารา


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

ในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 เพียง 1 ปี หลังจากคณะราษฎรทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ปรีดี พนมยงค์ หรือที่รู้จักกันดีโดยบรรดาศักดิ์ขณะนั้นว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้เสนอเอกสาร “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ที่เขาร่างขึ้นต่อสมาชิกคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่รู้จักกันในนาม “คณะราษฎร” และรัฐบาลตามหลักการข้อที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักทั้ง 6 ประการที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้ว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”[1] แม้ว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของปรีดี พนมยงค์ จะถูกเสนอท่ามกลางความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างปรีดี พนมยงค์ และ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา แต่รัฐบาลก็ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณา “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของ ปรีดี พนมยงค์ ขึ้นโดยมี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นประธาน

คณะอนุกรรมาธิการพิจารณา “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของปรีดี พนมยงค์ ได้จัดประชุมขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม 2476 โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธาน ที่ประชุมมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเสนอให้ดำเนินการทางเศรษฐกิจอย่างรัฐบาลเก่า คือ ขยายสหกรณ์ประเภทเครดิต และขจัดคนกลาง เลือกทำในบางเรื่องตามโอกาสอำนวย และที่สำคัญคือ ไม่ต้องมีการวางแผนเศรษฐกิจ ส่วนฝ่ายของปรีดี พนมยงค์ เสนอให้รับหลักการที่จะดำเนินตาม “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” แต่งตั้งสภาเศรษฐกิจสำรวจและวางแผนจัดดำเนินการ “เมื่อมีแรงทุนเท่าใดทำเพียงเท่านั้น” การประชุมในวันนั้น ฝ่ายปรีดี พนมยงค์ พยายามรุกให้ที่ประชุมตกลงว่า จะเอาอย่างไรให้แน่นอน แต่ฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็เบี่ยงบ่ายด้วยความคิดที่ว่า โครงการนั้นจะดำเนินการไม่ได้ และถ้าหาก ปรีดี พนมยงค์ ประกาศโครงการเศรษฐกิจในนามของตนเอง ก็อย่าทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นของรัฐบาล [2]

ในที่ประชุมวันเดียวกัน ได้มีผู้ลงมติเห็นชอบด้วยกับ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของปรีดี พนมยงค์ 8 เสียง ได้แก่ ปรีดี พนมยงค์, หลวงเดชสหกรณ์, นายแนบ พหลโยธิน, ม.จ.สกลวรรณกร วรวรรณ, หลวงคหกรรมบดี, หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์, นายทวี บุณยเกตุ และนายวิลาศ โอสถานนท์ และผู้ที่คัดค้านมี 4 เสียง ได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน, พระยาศรีวิสารวาจา และ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ส่วนเสียงที่หายไปมี 2 เสียง คือ นายประยูร ภมรมนตรี และหลวงอรรถสารประสิทธิ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการ นอกจากนี้ กลุ่มผู้คัดค้าน “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของปรีดี พนมยงค์ ยังได้เสนอร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เตรียมไว้อย่างคร่าวๆ ต่อที่ประชุมด้วย แต่ก็ไม่มีการอภิปรายถึงเรื่องนี้ในที่ประชุมอีกเลย แม้ว่าจะได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกถึง 3 ครั้งก็ตาม [3]

ความขัดแย้งระหว่าง ปรีดี พนมยงค์ กับ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างเข้มข้น ต่างฝ่ายต่างก็ยืนยันแนวทางของตนเองอย่างไม่ลดละ เงื่อนไขมีอยู่ว่า ถ้ารัฐบาลยอมรับนโยบายของฝ่ายใด อีกฝ่ายก็จะลาออก ปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า เข้าเฝ้าและได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “ถ้าจะประกาศเค้าโครงการณ์ของข้าพเจ้าก็ให้ลาออกจากรัฐมนตรีและข้าราชการ เพราะจะทำให้คนเข้าใจผิด อย่าให้เป็นโปลิซีของรัฐบาล จะได้ปล่อยให้มหาชนติชมกันได้ตามความพอใจ” ดังนั้น ปรีดี พนมยงค์ จึงขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี แต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาคัดค้านโดยอ้างว่า ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลที่สำคัญมากของรัฐบาล จะให้ลาออกไม่ได้ ปรีดี พนมยงค์จึงเสนอทางเลือกที่ 2 นั่นคือ ยังคงอยู่ร่วมรัฐบาลแต่ขอให้ความเห็นทางเศรษฐกิจของตนปรากฏในทางใดทางหนึ่ง แต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็คัดค้านอีกโดยอ้างว่า ถ้าจะให้ทำอย่างนั้นก็ทำให้รัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือ เพราะรัฐมนตรีร่วมคณะมีนโยบายแตกต่างกัน การประชุมครั้งนี้ ผู้ที่วางตัวเป็นกลางและทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งคือ พระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งเสนอไม่ให้ประกาศนโยบายของฝ่ายใดเลย อันไหนดีทำได้ให้ทำอย่างนั้น และให้ส่งคนไปดูงานต่างประเทศ [4]

วันที่ 28 มีนาคม 2476 ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีก ในที่ประชุม พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ถามว่า นโยบายทางเศรษฐกิจได้จัดการอย่างไรบ้าง ปรีดี พนมยงค์ ได้เล่าถึงการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของตน จากนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ได้นำเอาบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 เกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ มาเสนอต่อที่ประชุมและให้ปรีดี พนมยงค์อ่าน การกระทำดังกล่าวทำให้ความขัดแย้งต้องยุติลง พระบรมราชวินิจฉัยดังกล่าวนี้บ้างก็เชื่อว่าเป็นของรัชกาลที่ 7 บ้างก็ว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดากับพวกทำขึ้นแล้วให้รัชกาลที่ 7 ลงพระนาม แต่พระบรมราชวินิจฉัยดังกล่าวโต้แย้งปรีดี พนมยงค์ รุนแรงมาก เช่นบางตอนกล่าวว่า “โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการทั้ง 2 นี้ เหมือนกันหมด”[5] ซึ่งทำให้ ปรีดี พนมยงค์ ถึงกลับกล่าวว่า “เมื่อในหลวงไม่เห็นด้วยแล้วก็มีทางเดียวเท่านั้น คือ ข้าพเจ้าต้องลาออกจากรัฐมนตรี” แต่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ขอให้ระงับการลาออกไว้ก่อน [6]

แต่แล้วในท้ายที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับเอานโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยมีผู้ออกเสียงสนับสนุนถึง 11 เสียง ได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน พระยาศรีวิสารวาจา พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ นายประยูร ภมรมนตรี เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ พระยาจ่าแสนยบดี พระยาเทพวิทุรฯ น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย และหลวงเดชสหกรณ์ ผู้ซึ่งเคยลงคะแนนสนับสนุนเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ส่วนผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ มีเพียง 3 เสียงเท่านั้น คือ ปรีดี พนมยงค์ พระยาประมวลวิชาพูล และนายแนบ พหลโยธิน ผู้งดออกเสียง ได้แก่ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม และนายตั้ว พลานุกรม โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ลงมติว่าจะไม่ประกาศต่อสาธารณะว่า นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นอันเดียวกันกับนโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพื่อหวังให้ปรีดี พนมยงค์ไม่ลาออกจากรัฐมนตรีดังที่เขาได้ตั้งเงื่อนไขไว้[7]

ใน พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจ ของ ปรีดี พนมยงค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงความเห็นโต้แย้งแนวคิดทางเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์ แทบจะทุกประเด็น เริ่มตั้งแต่ หมวดที่ 1 ว่าด้วยหลักของคณะราษฎร ทรงก็ “ขอให้ฟังเสียงของราษฎรจริงๆ อย่างได้หักโหมบังคับเอาโดยทางอ้อม หรือทางใดทางหนึ่ง ให้ออกเสียงเห็นด้วยเลย ขออย่างโกรษราษฎรถ้าเขาพากันออกเสียงว่าไม่ชอบวิธีเหล่านี้ ซึ่งย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจแก่พวกของผู้เขียนโดยแน่นอน และอย่างได้ว่าราษฎรนั้นถือทิฐิมานะงมงายหรือเป็นอุบาทว์กาลีโลก”, ส่วนเรื่องของ “ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจในปัจจุบัน” ซึ่งอยู่ในหมวดที่ 2 ของเค้าโครงการเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่อง “ความแร้นของราษฎร” นั้น รัชกาลที่ 7 ทรงโต้แย้งว่า “ราษฎรของเราตลอดจนชั้นคนขอทานยังมิปรากฏเลยว่าอดตาย คนที่อดตายจะมีก็แต่คนที่กลืนไม่ลงเพราะความเจ็บไข้เท่านั้น แม้แต่สุนัขตามวัดก็ปรากฏยังไม่มีอดตาย...ราษฎรของเรามีน้อยคนหรือเกือบจะไม่มีก็ได้ที่นอนกลางคืนแล้วนึกว่ารุ่งขึ้นเช้าจะหากินไม่ได้ นอกจากผู้นั้นจะกระดุกกระดิกตัวไม่ได้ หาไม่ฉะนั้น คงหากินได้เสมอ” [8]

ในหมวดที่ 3 ข้อ 3 ซึ่งว่าด้วยเรื่อง “การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโต้แย้งว่า “ค่าประกันความสุขสมบูรณ์อันนี้ คือ ต้องสละเสรีภาพเสีบละกระมัง การเป็นไทยจะกลายเป็นทาสเสียละกระมัง เพราะตามที่ปรากฏในประเทศรัสเซีย ซึ่งก็ใช้วิธีประกันแบบนี้เหมือนกัน ราษฎรต้องประกันความสุขด้วยเสรีภาพของเขา และยอมตนเป็นทาสของรัฐบาล” สำหรับข้อ 4 ที่ว่าด้วยเรือง “ราษฎรชอบเป็นข้าราชการ” นั้น พระองค์ก็โต้แย้งว่า “ความข้อนี้อาจเป็นจริงได้ แต่ไม่ใช่จริงอย่างตลอด เพราะเหตุว่าความหมายของราษฎรให้คำว่า ‘ข้าราชการ’ นั้นมิได้หมายดังที่ผู้เขียนหมาย ‘ข้าราชการ’ ตามความจริงของราษฎรนั้น คือผู้นั่งชี้นิ้วอำนวยการงาน หรือผู้นั่งโต๊ะเป็นเสมียน กินน้ำชาและงานเบาๆ ในประเภทเช่นว่านี้ ข้าราชการเช่นนั้น ข้าพเจ้ายอมรับว่าราษฎรอยากเป็นจริง เพราะสบายดี ไม่ต้องเหนื่อยยากอันใด แต่ถึงกระนั้นเองก็ยังไม่เป็นการจริงทั้งสิ้น เพราะมีราษฎรหลายคนที่ไม่พึงประสงค์จะเป็นแม้แต่เสมียน เขาชอบประกอบการอาชีพทำการอิสระ ดั่งนี้มักมีจำนวนอยู่มากไม่น้อย” [9]

ในบทที่ 1 ที่ว่าด้วยเรื่อง “แรงงานที่เสียไปโดยที่มิได้ใช้ให้เต็มที่” ซึ่งอยู่ในหมวดที่ 4 ซึ่งว่าด้วยเรื่อง “แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก” นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโต้แย้งว่า “การที่จะจัดให้ราษฎรมาทำงานให้แก่รัฐบาลดังนี้ได้ โดยรัฐบาลมีอำนาจเต็มที่จะสั่งอะไรก็ได้ ในเวลากำหนดเท่าใดก็ได้ ดังแผนนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ถ้าจะทำได้ก็คงต้องถึงใช้การบังคับกันอย่างหนัก ถึงกับต้องยิงกัน อย่าลืมว่าคนไทยนันรักเสรีภาพความเป็นอิสระอยู่ในเลือดแล้ว เขาย่อมสละเสรีภาพมาให้ง่ายๆ ไม่ได้แน่ ถ้าจะต้องบังคับกันอย่างนี้แล้ว จะสมควรละหรือ เราหวังจะให้ความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎรทั่วไป การต้องบังคับกดคอให้เขาทำงานนั้น จะจัดว่าให้ความสุขสมบูรณ์แก่เขาอย่างไร มันจะกลายเป็นให้ทุกข์สมบูรณ์เสียมากกว่า” ส่วนบทที่ 4 ที่ว่าด้วยเรื่อง “แรงงานที่เสียไปเพราะบุคคลที่เกิดมาหนักโลก” นั้น ทรงวิจารณ์ว่า

  1. if:
{{#if:|
border: 1px solid #AAAAAA;

}}" class="cquote"

width="20" valign="top" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px ความหนักโลกดังผู้เยนกล่าวนี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าจะหมดไปได้ นอกจากนั้นใครจะยอมว่าใครหนักโลก ตัวก็พูดว่าคนอื่นหนักโลก เรามักเห็นตัวเราไม่ถนัด เขาหนักเสมอ ต่างก็นึกเช่นนั้นเสมอเป็นธรรมดา เราเห็นว่าเราทำความดีให้ชาติ คนอื่นเขาก็คงมีเหตุผลอย่างเดียวกันที่จะนึก ดังนั้น คนเราย่อมมีใจคิดด้วยกัน ใครจะมาเป็นผู้ตัดสินว่า ใครผิดใครถูกโดยไม่มีข้อพิสูจน์อย่างใดชัดย่อมไม่ได้ เช่น พวกปรปักษ์ของรัฐบาลบางจำพวกที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เขาอาจเห็นตัวเขาไม่หนักโลก แต่เห็นคนอื่นหนักก็ได้[10] width="20" valign="bottom" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px
{{#if:|

—{{{4}}}{{#if:|, {{{5}}}}}

}}

}}

สำหรับหมวดที่ 5 ซึ่งว่าด้วยเรื่อง “วิธีซึ่งรัฐบาลจะหาที่ดิน แรงงาน เงินทุน” ที่ปรีดี พนมยงค์ เน้นย้ำว่า “หลักการสำคัญที่ควรคำนึงก็คือ รัฐบาลต้องดำเนินการวิธีโดยละม่อม ไม่ประหัตประหารคนมั่งมี” นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเตือนว่า “ข้าพเจ้าขอให้เป็นดังนั้นจริงๆ เถิด ลงท้ายเข้าเกรงจะหันเข้าหาวิธีรัสเซียใช้ คือ เก็บภาษีสูบเลือดไปทีละเล็กละน้อย ให้ใบบอนด์ซึ่งมีราคาเกินกระดาษ จัดการเข้าประหารคนมั่งมี หาว่าคนมั่งมีหนักโลกเสียละกระมัง” ในข้อที่ 16 ที่ว่าด้วยเรื่อง “รักชาติหรือรักตัว” พระองค์ก็ทรงโต้แย้งว่า “การที่จะพูดว่า คนที่เช่าที่เขาหรือคนที่มีที่ดินของตัวเองว่าใครจะรักชาติมากกว่าใครนั้นเฉยๆ ไม่ได้ เราจะรู้ได้ว่าใครจะรักมากกว่าใคร กลับจะต้องไปพิสูจน์เสียอีกว่า ถ้าชาติพังทะลายเสียแล้ว ผู้ใดจะเสียประโยชน์มากกว่ากันเป็นคะแนนวัดความรักชาติเสียอีก เพราะคนย่อมรักของๆ ตัวและประโยชน์ของตัวเป็นใหญ่จึงจะมีความรักใคร่ส่วนรวม คือ ชาติ” ส่วนที่ปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า “ข้าราชการบางคนเกียดกันไม่อยากให้ราษฎรเป็นข้าราชการ” นั้น พระองค์ก็ทรงโต้แย้งว่า “คำพูดเช่นนี้เป็นการกล่าวโทษข้าราชการโดยไม่ยุติธรรม”[11]

ส่วนหมวดที่ 6 ว่าด้วยเรื่อง “การจัดทำรายได้และรายจ่ายของรัฐบาลเข้าสู่ดุลยภาพ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ว่าด้วยเรื่อง “การจัดการเศรษฐกิจโดยรัฐบาลต้องระวังไม่ให้มนุษย์กลายสัตว์” นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิจารณ์ว่า “การที่จะไม่ให้คนกลายเป็นสัตว์นั้น ย่อมอยู่ที่คอยเพ่งเล็งมิให้เขาเสียเสรีภาพของเขาเป็นส่วนใหญ่ แต่ตามโครงการเศรษฐกิจที่ผู้เขียนกล่าวไว้แล้วนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าจะทำให้เป็นผลสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่ใช้การบังคับ” ซึ่งก็จะทำให้ราษฎรกลายเป็นทาสเช่นเดียวกับในช่วงก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะทรงประกาศเลิกทาส “แทนที่จะเรียกว่าข้าราชการก็กลายเป็นรัฐทาสเสียมากกว่า สัตว์นั้นอดหยากได้ยากกว่ามนุษย์ เพราะมันหาหย้ากินได้สบายกว่า แต่รัฐทาสนี้ไม่มีทางใดจะหากินทีเดียวนอกจากเป็นทาส” [12] ขณะที่พระองค์ไม่ทรงวิจารณ์หมวดที่ 7 ว่าด้วยเรื่อง “การแบ่งงานออกเป็นสหกรณ์” มากนัก ทรงวิจารณ์หมวดที่ 8 “รัฐบาลจะจัดให้มีการเศรษฐกิจชนิดใดบ้างในประเทศ” โดยเฉพาะข้อที่ว่าด้วยเรื่อง “ป้องกันปิดประตูการค้า” อย่างรุนแรงว่า

  1. if:
{{#if:|
border: 1px solid #AAAAAA;

}}" class="cquote"

width="20" valign="top" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px การที่จะคิดป้องกันการปิดประตูค้านี้ก็เป็นการดีอยู่ แต่ถ้าจะพูดถึงความจำเป็นแล้วว่า เราควรจะกลัวการปิดประตูค้าแล้วหรือไม่ ก็จะต้องตอบว่าไม่ควรกลัวเลย การปิดประตูการค้านี้ ถ้าใครจะทำกับประเทศสยามแล้ว ก็เป็นการโง่ของผู้นั้น เพราะจะมาเสียเงินทำเช่นนั้นทำไม มีวิธีอื่นที่จะบังคับให้ประเทศสยามยอมจำนนได้ถมเถไป มีอาทิเช่น ส่งเรือรบซึ่งมีเครื่องบินบรรทุกอยู่เสร็จเข้ามากับเรือครูเซอร์ บรรทุกทหารมาขึ้นที่กรุงเทพฯ ก็คุมกรุงเทพฯ อยู่แล้ว ทุกวันนี้เราย่อมรู้ดีว่าเพื่อนบ้านเขาไม่ชอบวิธีการเศรษฐกิจแบบนี้ ถ้าเราทำขึ้นเมื่อใดก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาจะไม่ส่งคนของเขาเข้ามายึดทรัพย์สิ่งของเราดั่งกล่าวแล้ว กวาเราจะมีกำลังพอป้องกันการปิดประตูค้าได้ บ้านเมืองของเราก็หมดไปเสียแล้ว โดยแม้แต่บานประตูก็คงจะยังทำไม่แล้วทัน เพราะฉะนั้น การกลัวที่จะปิดประตูค้านี้เป็นการกลัวที่หามูลมิได้ เป็นการเอาอย่างประเทศรัสเซียเท่านั้น[13] width="20" valign="bottom" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px
{{#if:|

—{{{4}}}{{#if:|, {{{5}}}}}

}}

}}

สำหรับหมวดที่ 9 ซึ่งว่าด้วย “การป้องกันความยุ่งยากในปัญหาเรื่องนายจ้างกับลูกจ้าง” โดยเฉพาะในหัวข้อ “เอกชนเป็นเจ้าของโรงงานทำให้ระส่ำระสาย” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิจารณ์ว่า “ถ้ารัฐบาลจัดการทำเศรษฐกิจเสียเองหมดแล้ว และห้ามไม่ให้ราษฎรไปทำนาเอง ไม่ให้ราษฎรจับจองที่ดินเอง โดยจำกัดการออกสัมปทานแล้ว การระส่ำระสายดังว่าน่าจะมีมากกว่านั้น” ส่วนที่ ปรีดี พนมยงค์ บอกว่า “รัฐบาลทำมีกำไร” นั้น “ก็ไม่เห็นว่ามีอะไรมาเป็นของประกันว่าผลที่ทำนั้นจะดี นอกจากความเชื่อว่าจะดีเท่านั้น แต่ถ้าผลนั้นร้าย ราษฎรก็พากันอดตายไปหมด จะมีผู้ที่ไม่ไปร่วมอดอยากกับราษฎร ก็คือ พวกท่านที่ชำนาญคอยชี้นิ้วอำนวยการเท่านั้น” และตามธรรมดานั้นถ้ารัฐบาลทำอะไรแล้ว อาจเป็นการเปลืองมาก “การขาดทุนนั้นจะเกิดขึ้นได้” เพราะถึงแม้รัฐบาลจะจัดระเบียบอย่างดี ข้อเสียหายก็อาจเกิดจากการอื่น และเมื่อขาดทุนแล้ว “รัฐบาลไม่ช้าก็ต้องเที่ยวกดขี่คนโดยขึ้นภาษีเป็นสิ่งของ” ซึ่งก็เท่ากับเป็นการริบทางอ้อม “แล้วความสันติสุขจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ข้าพเจ้าแลไม่เห็น” [14]

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่มีความเห็นแย้งต่อหมวดที่ 10 ซึ่งว่าด้วยเรื่อง “แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ” แต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้ผู้ร่างแผน “ลองสำรวจดู” ให้ละเอียดถี่ถ้วน แต่สำหรับหมวดที่ 11 ซึ่งว่าด้วย “ผลสำเร็จอันเกี่ยวแก่หลัก 6 ประการ” อันได้แก่ เอกราช, การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน, การเศรษฐกิจ, เสมอภาค, เสรีภาพ และ การศึกษา นั้น พระองค์ทรงวิจารณ์ทุกเรื่องและมีความเห็นในทางตรงข้ามทั้งหมด เช่น เรื่อง “เอกราชทางเศรษฐกิจ” พระองค์ทรงวิจารณ์ว่า “ข้าพเจ้าไม่เชื่อเลยว่าประเทศเราจะอยู่ได้เฉยๆ โดยไม่ต้องค้าขายกับผู้ใด เมื่อเป็นเช่นนี้ราคาในโลกเขามีอยู่อย่างไร เราก็คงต้องกัดฟันซื้อขายอยู่อย่างเดิม เพราะฉะนั้นการที่เราจะเป็นเอกราชในทางเศรษฐกิจนั้นคงยังจะไม่ได้แน่”, เรื่อง “เอกราชทางการเมือง” ก็ทรงวิจารณ์ว่า “ถ้าเราดำเนินวิธีการเศรษฐกิจแบบนี้แล้ว ความเป็นเอกราชในทางการเมืองอาจจะมีไม่ได้ เพราะในชั้นต้นเราย่อมทราบดีแล้วว่า การดำเนินการตามโครงการนี้เป็นวิธีการดั่งที่ประเทศรัสเซียดำเนินอยู่” ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของเราเห็นว่าเป็นวิธีการของ “คอมมิวนิสต์”, เรื่อง “การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน” ก็ทรงวิจารณ์ว่าน่าจะทำไม่ได้ดีนัก, เรื่อง “การเศรษฐกิจ” ก็ทรงวิจารณ์ว่า น่าจะลงเอยแบบรัสเซีย นั่นคือ มี “ราษฎรอดอยากยิ่งกว่าแต่ก่อนใช้โครงการเศรษฐกิจเป็นอันมาก” [15]

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงวิจารณ์หลัก 6 ประการข้ออื่นๆ ด้วย เรื่อง “ความเสมอภาค” ทรงวิจารณ์ว่า “จะมีความเสมอภาคได้อย่างไร ข้าราชการส่วนหนึ่งต้องทำงานเป็นทาส และอีกส่วนหนึ่งเป็นนายผู้ชำนาญทำงานชี้นิ้ว ความเสมอภาคที่ผู้เขียนกล่าวนั้นไม่ใช่มีแต่บนกระดาษ เป็นแต่เพียงเสมอภาคด้วยชื่อ”, เรื่อง “เสรีภาพ” ทรงวิจารณ์ว่า “เมื่อห้ามปรามขัดขวางไม่ให้ราษฎรทำตามสมัครใจได้ดังกล่าวแล้ว ก็เท่ากับตัดเสรีภาพ ก็เมื่อรัฐบาลตั้งใจจะตัดเสรีภาพเช่นนี้ ก็นับว่าเป็นการนำความสุขสมบูรณ์มาให้แล้วก็จะทิ้งคนให้มีชีวิตอยู่ทำไม ประหารชีวิตมันเสียให้หมดก็แล้วกัน มันจะได้ไม่ตายดีกว่าที่จะสละทิ้งเสรีภาพของตน” และสุดท้าย เรื่อง “การศึกษา” ทรงวิจารณ์ว่า “การบังคับให้เรียนหรือการบังคับต่างๆ นี้ ทำไมผู้เขียนจึงชอบนัก ก็จะการชักชวนแทนมิได้หรือ ถ้าจะจัดการศึกษาควรจะต้องชักชวนให้ราษฎรรักการศึกษา และให้ความสะดวกในการศึกษา ทำไมจะต้องใช้แต่ไม้บังคับตลอดไป” [16]

ควรกล่าวด้วยว่า ใน พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจ ของ ปรีดี พนมยงค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงวิจารณ์ “เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” และ “เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ” อย่างละเอียดด้วย จากนั้นในท้ายที่สุด พระองค์ได้ทรง “สรุปความ” ว่า

  1. if:
{{#if:|
border: 1px solid #AAAAAA;

}}" class="cquote"

width="20" valign="top" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px            เรื่องที่ได้พิจารณามาแล้วนี้ย่อมเป็นความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า ซึ่งจะเป็นการถูกต้องหรือไม่นั้นก็เป็นแต่ความคิดของข้าพเจ้าเท่านั้น การที่จะรู้ว่าใครเป็นคนถูกหรือผิดก็ต้องทดลองดูเท่านั้นจึงจะเห็นได้ แต่มีข้อสำคัญอันหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนอย่างไม่ต้องเป็นสิ่งสงสัยเลยว่า โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการทั้ง 2 นี้เหมือนกันหมด เหมือนกันจนรายละเอียดเช่นที่ใช้และรูปแบบของวิธีการกระทำ จะผิดกันก็แต่รัสเซียนั้นแก้เสียเป็นไทย หรือไทยนั้นแก้เป็นรัสเซีย ถ้าสตาลินเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ ข้าวสาลีแก้เป็นข้าวสาร หรือข้าวสารแก้เป็นข้าวสาลี รัสเซียเขากลัวอะไร ไทยก็กลัวอย่างนั้นบ้าง รัสเซียเขาหาวิธีตบตาคนอย่างไร ไทยก็เดินวิธีตบตาคนอย่างนั้นบ้าง

..............

แต่ในส่วนโครงการเศรษฐกิจแบบหลวงประดิษฐ์ฯ นี้ ควรเลิกล้มความคิดเสีย เพราะแทนที่จะนำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ของประเทศชาติบ้านเมืองดังกล่าวนั้น กลายเป็นสิ่งนำมาซึ่งความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า จนเป็นความหายนะถึงแก่ความพินาศแห่งประเทศ และชาติบ้านเมืองอันเป็นมรดกที่เราคนไทยได้รับมาแต่บรรพบุรุษ

width="20" valign="bottom" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px
{{#if:|

—{{{4}}}{{#if:|, {{{5}}}}}

}}

}}

ประชาธิปก[17]

ดังที่กล่าวไปแล้ว คำวิจารณ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัยนั้น รุนแรงถึงขั้นที่ ปรีดี พนมยงค์ ประกาศจะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม, ภายหลังจากวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นวันที่มีการลงมติเกี่ยวกับ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เพิ่มความเข้มข้นขึ้นยิ่งกว่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2476 กลุ่มพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้อพยพเข้าไปอยู่ในวังปารุสกวัน ซึ่งมีนายทหารของกลุ่ม พ.อ. พระยาทรงสุรเดชคุมอยู่, ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2476 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติลับด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 38 ต่อ 11 ให้รัฐบาลสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามข้าราชการเข้าเป็นสมาชิกสมาคมการเมืองโดยให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้แทน, ในตอนเช้าของวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2476 ได้เกิดความวุ่นวายที่สภาผู้แทนราษฎร โดยมีกองทหารเข้ามาตรวจค้นอาวุธสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม มีทหารนั่งถืออาวุธในห้องประชุมสภาและห้ามสมาชิกสภาออกนอกห้องประชุม ตอนเย็นของวันเดียวกัน นายประยูร ภมรมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เข้าควบคุมการพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษตลอดคืน[18]

ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่, วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2476 รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศใช้พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์และห้ามจัดตั้งสมาคมการเมือง ซึ่งมีผลให้สมาคมคณะราษฎรต้องเปลี่ยนเป็นสโมสรคณะราษฎรและดำเนินกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง, วันที่ 7 – 8 เมษายน พ.ศ. 2476 หนังสือพิมพ์ประชาชาติลงคำสัมภาษณ์ พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่กล่าวว่า ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ และเร่งให้รัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และวิจารณ์ว่ารัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของกฎหมายเลือกตั้ง และในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 ปรีดี พนมยงค์ได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปหลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศสในฐานะบุคคลธรรมดา เพียงไม่กี่วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดเกล้าพระราชทานเงินทุนส่วนพระองค์ให้รัฐบาลจัดพิมพ์พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมออกมามากถึง 3,000 ฉบับ เพื่อแจกจ่ายให้ทราบโดยทั่วกัน[19] มีการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ (ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม) และหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ด้วย[20]

พระบรมราชวินิจฉัย มีชื่อที่เป็นทางการว่า “บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม” ไม่ระบุชื่อผู้เขียน มีขนาด 21 x 30 เซนติเมตร เนื้อหาภายในเป็นข้อวิจารณ์ที่มีต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจจำนวน 50 หน้ากระดาษ ปกนอกสีขาว พิมพ์ที่โรงพิมพ์ลหุโทษ ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยระบุจำนวนพิมพ์ 3,000 เล่ม อย่างไรก็ตาม ต้นฉบับลายมือเขียนของเอกสารดังกล่าวน่าจะมีจำนวนหน้ามากกว่านี้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้ประเด็นเกี่ยวกับ “ผู้เขียน” บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ มีลักษณะคลุมเครือยิ่ง เนื่องจากเราล้วนทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมักทรงพระราชนิพนธ์เรื่องขนาดยาวด้วยภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เช่น Problem of Siam และ Democracy in Siam เนื่องจากทรงดำรงพระชนชีพอยู่ในยุโรปตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์นานเกือบ 10 ปี ทั้งยังมีอุปสรรคจากปัญหาเกี่ยวกับพระเนตร และเมื่อตรวจสอบ คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่องกบฏ ก็พบเบาะแสที่ชวนให้ไขว้เขวเกี่ยวกับตัวผู้เขียน บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ว่า “พระยามโนปกรณ์ฯ กับพวกได้ทำพระราชวิจารณ์ตำหนิเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ว่าไม่เหมาะสมกับประเทศไทยและเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วให้พระปกเกล้าฯ ลงพระนาม” ถึงแม้จะยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ได้ แต่การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นทุนในการพิมพ์มากถึง 3,000 เล่มและนำออกแจกจ่ายในวงกว้าง ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระองค์ทรงเห็นชอบกับเนื้อหาสาระของ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ มากเพียงใด[21]

ควรกล่าวด้วยว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ได้มีการเมืองของการพิมพ์และการเผยแพร่เอกสารทั้ง 2 ชิ้นเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นด้วย ที่สำคัญคือ การเผยแพร่ เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ นั้นอยู่ในวงจำกัดกว่าการเผยแพร่ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ อย่างมาก ดังจะเห็นว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ถูกแจกจ่ายให้อ่านกันเฉพาะในหมู่คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ขณะที่ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ถูกพิมพ์และถูกแจกจ่ายมากถึง 3,000 เล่ม นอกจากนี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะนายกรัฐมนตรียังได้สั่งห้ามไม่ให้มีการตีพิมพ์ซ้ำและเผยแพร่ เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ต่อสาธารณะด้วย นี่หมายความว่า ในเวลานั้น สาธารณชนน่าจะได้อ่านและรู้จัก บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ มากกว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ แม้ว่าในเวลาต่อมารัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจะสั่งห้ามพิมพ์ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ก็ตาม แต่กระบวนการแจกจ่ายเผยแพร่ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ทั้ง 3,000 เล่ม ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว และดูเหมือนว่า เป็นเวลาหลายปีนับตั้งปี 2476 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทั้ง เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ และ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ จะยังคงถูกตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำอีกหลายครั้ง [22]

ที่มา

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475 – 2500. (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544)

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ปฏิวัติ 2475. (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547)

ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 - 2477. (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518)

ณัฐพล ใจจริง. “วิวาทะของหนังสือ เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ และ พระบรมราชวินิจฉัยฯ กับการเมืองของการผลิตซ้ำ” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 26 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2548)

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์). เค้าโครงการเศรษฐกิจ. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2542)


อ้างอิง

  1. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์). เค้าโครงการเศรษฐกิจ. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2542) หน้า 4.
  2. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475 – 2500. (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544) หน้า 139.
  3. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ปฏิวัติ 2475. (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547) หน้า 359.
  4. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ปฏิวัติ 2475, หน้า 359 - 360.
  5. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475 – 2500, หน้า 141.
  6. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ปฏิวัติ 2475, หน้า 360.
  7. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ปฏิวัติ 2475, หน้า 360 - 361.
  8. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 - 2477. หน้า 282 – 283.
  9. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 - 2477. หน้า 282 – 283.
  10. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 286 – 292.
  11. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 297 – 301.
  12. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 313 – 314.
  13. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 318.
  14. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 320 – 322.
  15. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 326 – 332.
  16. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 333 – 336.
  17. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 354 – 356.
  18. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ปฏิวัติ 2475, หน้า 493.
  19. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ปฏิวัติ 2475, หน้า 494 - 495.
  20. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475 – 2500, หน้า 147.
  21. ณัฐพล ใจจริง. “วิวาทะของหนังสือ เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ และ พระบรมราชวินิจฉัยฯ กับการเมืองของการผลิตซ้ำ” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 26 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2548) หน้า 77 – 80.
  22. ณัฐพล ใจจริง. “วิวาทะของหนังสือ เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ และ พระบรมราชวินิจฉัยฯ กับการเมืองของการผลิตซ้ำ”, หน้า 80 และ หน้า 94.