การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 11 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512
ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 9 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512
ภายหลังการปฏิวัติในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัตินำโดย[จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์]] ได้เข้าบริหารประเทศ และได้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จและนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 และได้มีรัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 นอกจากนั้น ยังได้มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ. 2511 จากนั้นรัฐบาลได้ประกาศกำหนดวันจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 1512 ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 180 ซึ่งกำหนดให้ต้องมีการเลือกตั้งขึ้นภายใน 240 วัน
เมื่อพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 มีผลบังคับใช้แล้ว ปรากฏว่ามีผู้ร้องขอจดทะเบียนพรรคการเมืองต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองจำนวนมาก ได้แก่ พรรคสหประชาไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน พรรคแนวร่วมเศรษฐกร พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคแนวประชาธิปไตย พรรคสัมมาชีพช่วยชาวนา พรรคชาวนาชาวไร่ พรรคสยามใหม่ พรรคประชาพัฒนา พรรคแรงงาน พรรคไทยธิปัตย์ พรรคอิสรธรรม พรรคชาติประชาธิปไตย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองที่มีความเข็มแข็งและมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 มีเพียงสองพรรค คือ พรรคสหประชาไทย และพรรคประชาธิปัตย์ นอกนั้นเป็นพรรคขนาดเล็กซึ่งมิได้มีฐานในทางการเมืองเข้มแข็งเท่าสองพรรคดังกล่าว
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 1512 เป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขตเรียงเบอร์ โดยถือเอาหนึ่งจังหวัดเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง และเป็นการเลือกตั้งโดยตรง จำนวนผู้แทนราษฎรในแต่ละเขตคำนวณโดยถือเอาจำนวนประชาชน 150,000 คน ต่อผู้แทน 1 คน การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้แทนทั้งหมด 219 คน มีผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด 14,820,180 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 7,285,832 คน คิดเป็นร้อยละ 49.10 จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดคือ จังหวัดระนอง คิดเป็นร้อยละ 73.95 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด และจังหวัดพระนครมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 36.66
ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้พบว่า แม้จะมีพรรคการเมืองจำนวนมากส่งผู้สมัครสังกัดพรรคของตนลงแข่งขันรับเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกครบทุกที่นั่งมีเพียง 2 พรรคเท่านั้น คือ พรรคสหประชาไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ผลการเลือกตั้งไม่ปรากฏว่ามีพรรคใดได้เสียงข้างมากเพียงพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้โดยลำพัง นั่นคือต้องมีคะแนนเสียงสนับสนุนในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทน หรือเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ 219 คน ซึ่งเท่ากับ 110 คนขึ้นไป สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่สังกัดพรรคได้รับเลือกเข้ามามากถึง 70คน อย่างไรก็ตาม พรรคสหประชาไทยก็ได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด เนื่องจากพรรคนี้เป็นพรรครัฐบาลอยู่ก่อนแล้ว และได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่สังกัดพรรค และสมาชิกที่แปรพรรคมาให้การสนับสนุน
ที่มา
กระทรวงมหาดไทย, รายงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เล่ม 2, พระนคร : โรงพิมพ์กรมมหาดไทย, 2502
ฝ่ายพัฒนาการเมืองและการปกครอง สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย, อนุสารการเมือง, มีนาคม 2522
บุญทัน ดอกไธสง,การเปลี่ยนแปลงทางการบริหารและการเมืองไทย, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2520
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, การเมืองและพรรคการเมืองของไทยนับแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน, พระนคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2511
โคทม อารียา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่องที่ 5 ระบบการเลือกตั้ง, กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2544
คณิน บุญสุวรรณ, ประวัติรัฐธรรมนูญไทย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภูมิปัญญา, 2542
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519
วิทยา นภาศิริกุลกิจ, ระบบพรรคการเมืองไทย: ศึกษาเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างยุคก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. 2501 กับสมัยปัจจุบัน, วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2514