ถนอม กิตติขจร (จอมพล)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองของประเทศไทยนั้น จะต้องมีบุคคลสำคัญเข้าไปมีบทบาทด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการเมืองเอง เช่น คณะราษฎร หรือผู้ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังเช่นในคราวเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่ประชาชน นักศึกษาได้เดินขบวนประท้วงขับไล่รัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญอย่างมาก ได้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นวันมหาวิปโยค จึงถือว่าเส้นทางชีวิตการงานและการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี คนที่ 10 น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่มีเหตุการณ์ในครั้งนั้น การมีส่วนร่วมทางการเมืองภาคประชาชนก็คงจะไม่เกิดขึ้นในคราวต่อมา

ชีวประวัติและการรับราชการ

จอมพลถนอม กิตติขจร เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2454 ณ บ้านหนองพลวง อำเภอเมือง จังหวัดตาก เป็นบุตรขุนโสภิตบรรณรักษ์ (อำพัน กิตติขจร) กับนางโสภิตบรรณารักษ์ (ลิ้นจี่ กิตติขจร) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 7 คน[1] เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนประชาบาล วัดโคกพลู จังหวัดตาก หลังจากนั้น ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อย ชั้นเตรียม 1 ข. โรงเรียนนายร้อยทหารบก หรือต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในช่วงปี พ.ศ. 2463 – 2472 และในระหว่างรับราชการได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนแผนที่ทหาร กองทัพบก ในช่วงปี พ.ศ. 2474 – 2477 โรงเรียนทหารราบ กองทัพบก ในปี พ.ศ. 2481 และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (รุ่นที่ 1) กระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ. 2498[2] สมรสกับท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร มีบุตร ธิดารวมทั้งสิ้น 6 คน ในด้านการรับราชการนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมวด กรมทหารราบที่ 8 กองพันที่ 1 พ.ศ. 2472 – 2474 (ยศร้อยตรี) และได้เติบโตในหน้าที่ราชการโดยลำดับ คือ นายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนแผนที่ พ.ศ. 2474 – 2477 นายทหารประจำแผนกวางโครงหลักฐาน กรมแผนที่ พ.ศ. 2477 นายทหารประจำ กองบัญชาการ กรมยุทธศึกษาทหารบก พ.ศ. 2478 ครูแผนกวิชาการ กรมยุทธศึกษาทหารบก พ.ศ. 2479 – 2481 นายทหารฝึกหัดราชการ โรงเรียนทหารราบ พ.ศ. 2481 ครูแผนที่ กรมยุทธศึกษาทหารบก พ.ศ. 2482 – 2484 ผู้บังคับกองร้อยปืนกลหนัก ร.พัน.34 พ.ศ. 2484 – 2486 อาจารย์แผนกที่ 2 กรมยุทธศึกษาทหารบก พ.ศ. 2486 – 2489 อาจารย์โรงเรียนนายร้อยทหารบก พ.ศ. 2489 – 2490 ผู้บังคับกองร้อยที่ 4 กองการปกครอง โรงเรียนนายร้อยทหารบก พ.ศ. 2490 ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 พ.ศ. 2490 – 2491 ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 พ.ศ. 2491 – 2492 รองผู้บัญชาการกองพลที่ 1 พ.ศ. 2492 ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 พ.ศ. 2493 รองแม่ทัพภาคที่ 1 พ.ศ. 2494 แม่ทัพภาคที่ 1 พ.ศ. 2497 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ. 2500 รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พ.ศ. 2502 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ. 2506 โดยได้รับยศทางทหารสูงสุดคือยศ จอมพลคุมสามเหล่าทัพ ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดยุคนั้น

เส้นทางสู่การเมือง

จอมพลถนอม กิตติขจร ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ในปี พ.ศ. 2494 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสหกรณ์ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 7) โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2498 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 8) อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาได้เกิดความขัดแย้งในทางการเมือง โดยเฉพาะในเหตุการณ์การเลือกตั้งสกปรกเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ในเวลาต่อมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลตรีสิริ สิริโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์ พลโทถนอม กิตติขจร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลโทประภาส จารุเสถียร และพลอากาศโทเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2508 และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา โดยพลโทถนอม กิตติขจร และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ประจำการอีก 40 กว่าท่าน ได้ลาออกตามไปด้วย

ครั้นถึงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 คณะรัฐประหาร โดยการนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้นำคณะทหารจำนวนหนึ่งเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยได้มอบหมายให้นายพจน์ สารสิน มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะรัฐมนตรี ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2500 หลังการเลือกตั้งพรรคสหภูมิที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้การสนับสนุน แม้จะมี ส.ส. ได้รับเลือกเข้ามามากเป็นอันดับหนึ่ง คือ 44 เสียง แต่ยังไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ประกอบกับปรารถนาที่จะรวมสมาชิกทั้ง 2 ประเภทเข้าด้วยกัน จึงได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น คือ “พรรคชาติสังคม” โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนพลโทถนอม กิตติขจร และพลโทประภาส จารุเสถียร เป็นรองหัวหน้าพรรค ซึ่งพรรคชาติสังคมมี ส.ส. ในสังกัด 202 คน มาจากพรรคสหภูมิที่ยุบไป 44 คน รวมกับ ส.ส. ประเภทที่ 1 จากพรรคต่าง ๆ และ ส.ส. ประเภทที่ 2 ที่มาเข้าพรรคด้วย เมื่อมีจำนวนเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง พรรคชาติสังคมจึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เป็นหัวหน้ารัฐประหาร ได้ประกาศว่าจะไม่ยอมรับตำแหน่งทางการเมือง ขอคุมกำลังทางทหารด้านเดียว ประกอบกับมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 10 ของประเทศไทย คือ พลโทถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร[3]

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 1

พลโทถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 การขึ้นดำรงตำแหน่งสมัยแรกของพลโทถนอม กิตติขจร ไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร เพราะนอกจากต้องต่อสู้กับเกมการเมืองของพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส. บางคนที่ไม่ได้สังกัดพรรคแล้ว ซึ่งบางส่วนเป็นอดีต ส.ส. พรรคเสรีมนังคศิลาที่เคยให้การสนับสนุนจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในอดีต อีกทั้งยังประสบปัญหาในพรรคเองที่เกิดจากการยุบรวมพรรคสหภูมิมาอยู่กับพรรคชาติสังคม แม้จะมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี แต่สถานการณ์ความวุ่นวายก็ยังไม่ดีขึ้น กระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เดินทางกลับจากการรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา และทำการปฏิวัติ โดยมีพลโทถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าคณะปฏิวัติ ต่อมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง ให้พลโทถนอม กิตติขจร เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงเป็นอันสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 1[4]

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2

การอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ทำให้จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ถือว่าเป็นสมัยที่ 2 โดยในช่วงนี้จอมพลถนอม กิตติขจร มีอำนาจทั้งทางการเมืองและการทหารอย่างแท้จริง ประกอบกับระยะเวลาผ่านมา 5 ปี ที่อยู่ในทางการเมืองจึงมีความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้น ได้พยายามดำเนินนโยบายเจริญรอยตามที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะการใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 (ฉบับที่ 7) ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ภายหลังการทำรัฐประหาร ดังนั้น เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 (ฉบับที่ 8) ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 เป็นผลให้คณะรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้สิ้นสุดลง รัฐบาลจึงได้รักษาการในระหว่างรอการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 เป็นวันเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรไทย

ดังนั้น เพื่อเตรียมตัวในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2511 คือ “พรรคสหประชาไทย” ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งพรรคสหประชาไทยนับเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นหลังจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ถูกยุบไปเมื่อคราวที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 โดยสมาชิกพรรคสหประชาไทยส่วนใหญ่เป็นสมาชิกเดิมสมัยมีพรรคเสรีมนังคศิลาเรื่อยมาจนถึงพรรคสหภูมิและพรรคชาติสังคม ผลจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 มี ส.ส. จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้รับเลือกเข้าสู่สภาฯ ดังนี้ สหประชาไทย 76 คน ประชาธิปัตย์ 57 คน แนวร่วมเศรษฐกร 4 คน แนวประชาธิปไตย 7 คน ประชาชน 2 คน เสรีประชาธิปไตย 1 คน ชาวนาชาวไร่ 1 คน และไม่สังกัดพรรค 71 คน รวมทั้งสิ้น 219 คน แม้พรรคสหประชาไทยได้รับเลือกเข้ามามากที่สุดถึง 76 คน แต่จะต้องมีสมาชิกสนับสนุนกึ่งหนึ่งคือ ต้องเกิน 109 เสียงขึ้นไปจึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และเมื่อได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. อิสระไม่สังกัดพรรคทั้ง 71 เรื่อง การดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลและกลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ของจอมพลถนอม กิตติขจร จึงประสบความสำเร็จโดยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคที่เหลือเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2512[5]

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 3

จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ตามประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2512 ในการบริหารประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร สมัยที่ 3 มีปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้นหลายประการ เช่น ในเรื่องร่างกฎหมายให้ถ่ายทอดเสียงการประชุมรัฐสภา ต่อมาได้มีสมาชิกกลุ่มหนึ่งเสนอญัตติแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาฯ และเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ซึ่งแม้จำดำเนินการเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ผ่านพ้นไปได้ แต่ต่อมาได้มีการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทสลาออกจากตำแหน่ง จึงทำให้คะแนนของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เริ่มลดน้อยลงเพราะไม่อาจแก้ปัญหาภายในที่เกิดขึ้นให้ผ่านพ้นไปได้ รวมถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2515 เกิดปัญหาการแบ่งปันงบประมาณ ทำให้พระราชบัญญัติงบประมาณฯ ประจำปีต้องล่าช้าออกไป จนถูกโจมตีจากพรรคฝ่ายค้านรวมถึง ส.ส. บางกลุ่มของรัฐบาลที่ไม่พอใจ และมีแนวโน้มว่ากฎหมายงบประมาณประจำปี อาจจะตกไปไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรโดยการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลจะต้องลาออกทันที หรือต้องยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยเวลานั้นความนิยมรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรตกต่ำมาก หากรัฐบาลลาออกหรือยุบสภาก็ไม่อาจมีหลักประกันว่าจอมพลถนอม กิตติขจร จะกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 4 ได้อีก ดังนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้ทำการปฏิวัติตนเอง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 รวมถึงยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 จึงเป็นอันสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 3[6]

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 4 (ปกครองโดยคณะปฏิวัติ)

นับตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศในนามคณะปฏิวัติ (ทำรัฐประหารรัฐบาลตนเอง) ได้จัดตั้ง “สภาบริหารคณะปฏิวัติ” ขึ้น เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เพื่อใช้อำนาจแทนรัฐบาล โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาบริหารคณะปฏิวัติเทียบเท่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเวลาต่อมาได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 แทนรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไป ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามธรรมนูญการปกครองดังกล่าวได้มีมติให้จอมพลถนอม กิตติขจร เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และตามบทบัญญัติของธรรมนูญฉบับดังกล่าว กำหนดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่การยกร่างได้ดำเนินการล่าช้า ไม่เป็นที่พอใจของนิสิตนักศึกษาและประชาชน จนเกิดการประท้วงในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งในช่วงการปกครองประเทศ โดยคณะปฏิวัตินั้นได้สิ้นสุดลง วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2516 จอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้หมดวาระการเป็นประธานสภาบริหารคณะปฏิวัติไปโดยปริยาย[7]

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 5 และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

การเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 5 ของจอมพลถนอม กิตติขจร ตามประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เกิดการต่อต้านและไม่พอใจในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะความล่าช้าในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในขณะเดียวกันได้มีกลุ่มพลังสำคัญเกิดขึ้น คือ “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ประชาชนในเขตเมืองหลวงสนใจปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเป็นอย่างมาก เช่น การรณรงค์ต่อต้านการซื้อสินค้าญี่ปุ่น การต่ออายุราชการให้จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร อีก 1 ปี เป็นต้น[8]

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516[9]

“กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ได้รวมตัวกันในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เพื่อประกาศเจตนารมณ์ 3 ประการ คือ

1. เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว

2. ให้การศึกษาทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

3. กระตุ้นให้ประชาชนเกิดความสำนึกและหวงแหนในสิทธิและเสรีภาพของตน

แม้การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญจะเป็นไปด้วยความสงบและสันติ แต่รัฐบาลกลับสั่งให้มีการจับกุมผู้ที่เป็นแกนนำในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จำนวน 13 คน โดยตั้งข้อหากบฏต่อราชอาณาจักร การจับกุมอย่างไม่เป็นธรรมของฝ่ายรัฐบาลในครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้แก่นิสิตนักศึกษาและประชาชนเป็นอย่างมาก มีการชุมนุมและเดินขบวนประท้วง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมโดยไม่มีเงื่อนไข การชุมนุมของประชาชนจำนวนนับแสนเป็นการยากต่อการควบคุม ทำให้ประชาชนบางส่วนปะทะกับเจ้าหน้าที่ เหตุการณ์เกิดบานปลายถึงขั้นจราจล จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จากการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงด้วยอาวุธสงคราม รถถัง ปืนกล และแก๊ซน้ำตา ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ด้วยเหตุนี้ จอมพลถนอม กิตติขจร จึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันเดียวกัน จากนั้นได้เดินออกนอกประเทศพร้อมจอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จและเตรียมการเลือกตั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้ยุติบทบาททางการเมืองและใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สิรายุรวม 93 ปี รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 10 ปี 6 เดือน 29 วัน

ผลงานที่สำคัญ

ในช่วงที่จอมพลถนอม กิตติขจร บริหารประเทศ ได้มีผลงานที่สำคัญดังนี้[10]

1. ด้านการทหาร ตลอดระยะเวลา 15 ปี นับแต่จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ. 2500 และเลื่อนขั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จนถึงดำรงตำแหน่งสูงสุดคือ นายกรัฐมนตรี ได้เสริมสร้างกองทัพทั้งสามเหล่าทัพอย่างทัดเทียม ได้มีการวางนโยบายปรับปรุงแก้ไขพัฒนากิจการงานสาขาต่าง ๆ ของกระทรวงกลาโหม สำนักงานเลขานุการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ตลอดจนรัฐวิสาหกิจที่ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม ให้มีความเจริญก้าวหน้า มีการสนับสนุนกองทัพทั้ง 3 เหล่าทัพด้วยการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เสริมเหล่าทัพให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับประเทศตะวันตก รวมถึงงานด้านยุทธบริการ เช่น ริเริ่มปรับปรุงงานส่งกำลังบำรุง ได้แก่ จัดทำแคตตาล็อคสำหรับสิ่งอุปกรณ์ ยุทธภัณฑ์ เพื่อให้ทุกเหล่าทัพสามารถใช้ร่วมกันได้ กำหนดแบบอาการมาตรฐานของกระทรวงกลาโหมเพื่อให้เป็นแบบเดียวกันซึ่งจะอำนวยให้ลดงบประมาณค่าก่อสร้างและค่าซ่อมบำรุง นอกจากนี้ ยังได้พัฒนางานในด้านการศึกษาให้เจริญเติบโต ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาออกไปทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร โรงเรียน เสนาธิการทหาร โรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนช่างฝีมือทหาร เป็นต้น

2. ด้านการเศรษฐกิจและสังคม จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ยึดหลักการพัฒนาตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ทำการพัฒนาประเทศ ดำเนินการตามโครงการสนับสนุนการพัฒนาส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นต่าง ๆ ดังนี้

- การพัฒนาส่วนภูมิภาค แยกออกเป็น 5 ภาค โดยมีคณะกรรมการพัฒนาภาครับผิดชอบในเรื่องนโยบายและจัดสรรเงินงบประมาณให้กับโครงการที่เห็นสมควร

- การพัฒนาส่วนท้องถิ่น อันได้แก่ องค์การบริหารจังหวัด เทศบาล และสุขาภิบาลของแต่ละจังหวัด โดยอาศัยรายได้ของส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก

- การเร่งรัดพัฒนาชนบท ในเขตเร่งรัดพัฒนาชนบท อันได้แก่ จังหวัดชายแดนในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอาจขยายวงกว้างได้ขึ้นภายหลังตามความจำเป็น

- การพัฒนาเขตทุรกันดารห่างไกล เป็นโครงการพิเศษเฉพาะบางอำเภอและบางตำบลที่อยู่บริเวณชายแดนซึ่งติดต่อได้ยาก เพราะขาดเส้นทางคมนาคม โดยจะเน้นเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชายแดนภาคตะวันออกและบริเวณชายแดนภาคใต้

- การพัฒนาเฉพาะท้องที่ เป็นโครงการที่จะดำเนินการเฉพาะท้องที่บางแห่ง โดยได้ดำเนินการในเขตลุ่มน้ำป่าสัก บริเวณสัตหีบ บริเวณเขตชะอำกับปราณบุรี

ทั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง ดังเห็นได้จากการเน้นหนักด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อันเป็นรากฐานของพลังทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อมา อาจจะกล่าวได้ว่า แนวทางการพัฒนาในช่วงนี้ของจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นก้าวสำคัญที่สุดที่ปูพื้นฐานความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจส่วนร่วมของประเทศไทยในปัจจุบันนี้

อ้างอิง

  1. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ถนอม กิตติขจร”. (ระบบออนไลน์) http://th.wikipedif.org/wiki/ สืบค้น ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2552
  2. ธนากิต (นามแฝง). “ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย”. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ปิรามิด, 2545, หน้า 217.
  3. เรื่องเดียวกัน หน้า 218 – 219.
  4. เรื่องเดียวกัน หน้า 220 – 225.
  5. เรื่องเดียวกัน หน้า 227 – 229.
  6. เรื่องเดียวกัน หน้า 230 – 233.
  7. เรื่องเดียวกัน หน้า 235 – 236.
  8. วีรชาติ ชุ่มสนิท. “24 นายกรัฐมนตรีไทย”. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549, หน้า 88 – 92.
  9. เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516. (ระบบออนไลน์) http://www.grocities.com/thai freeman/14 October/14 Oct.html? 20096 สืบค้น ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2552
  10. ศิลปะชัย ชาญเฉลิม. “ชีวิตและงานจอมพลถนอม กิตติขจร”. พระนคร : โอเดียนสโตร์, 2507, หน้า 251 – 354.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

จรัล ดิษฐาอภิชัย, (2546) “ก่อนจะถึง 14 ตุลา : บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับพัฒนาการและบทบาทของขบวนการนักศึกษายุค ถนอม-ประภาส”. กรุงเทพฯ : เมฆขาว.

ถนอม กิตติขจร และศิลปะชัย ชาญเฉลิม, (2521) “ชีวิตและผลงานของจอมพลถนอม กิตติขจร”. กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์.

พศิน เนื่องชมพู, (2544) “บทบาททางการเมืองของผู้นำฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือนในระบบรัฐสภา : ศึกษากรณีนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร กับพลเอกชาติชาติ ชุณหะวัณ”. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สว่าง ลานเหลือ, (2507) “จอมพลถนอม กิตติขจร นายกคนซื่อ”. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

บรรณานุกรม

ธนากิต (นามแฝง), (2545) “ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย”. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ปิรามิด.

วีรชาติ ชุ่มสนิท, (2549) “24 นายกรัฐมนตรีไทย”. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง.