ม็อบ 2 ธันวา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:57, 25 กรกฎาคม 2567 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          “ม็อบ 2 ธันวา” คือ การจัดชุมนุมที่นำโดยคณะราษฎร ซึ่งใช้ชื่อหัวข้อการชุมนุมว่า “ไล่จันทร์โอชาออกไป” โดยเป็นการนัดชุมนุมกัน เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์_จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาศัยอยู่ในบ้านพักทหารทั้งที่เกษียณอายุราชการและพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2557 แล้ว ว่าเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) ฐานรับเงินหรือประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกไปจากที่หน่วยเหล่านี้ปฎิบัติต่อบุคคลอื่นในธุรกิจการงานปกติหรือไม่ ซึ่งหากมีความผิดจริงจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีจะมีสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการทันที รวมทั้งส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกเว้นวรรคทางการเมือง เป็นเวลา 2 ปี โดยจุดเริ่มต้นของคดีนี้เป็นผลจากการอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ซึ่งภายหลังการอภิปรายพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้ยื่นเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ[1]

          จุดเริ่มต้นของการนัดชุมนุม ได้มีการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนที่เป็นแนวร่วมคณะราษฎรจากทั่วประเทศเดินทางมาร่วมฟังการวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นจึงได้เปลี่ยนไปยังการจัดเวทีชุมนุมบริเวณห้าแยกลาดพร้าว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 16.00 น.[2] โดยมีศูนย์กลางในการชุมนุม มีการจัดทำเวทีขนาดใหญ่ ยาว 12 เมตร รวมทั้งยังมีการจัดทำเป็นรูปบัลลังค์การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลุ่มคนที่ร่วมชุมนุมในครั้งนี้มีทั้งมวลชนกลุ่มเสื้อแดง กลุ่มคนทำงาน กลุ่มนักศึกษา และกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้การชุมนุมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการชุมนุมที่ใช้เวลายาวนานกว่าการชุมนุมที่ผ่านมาแล้ว ยังเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งของกลุ่มการ์ด โดยเฉพาะการถอนตัวของกลุ่มวีโว่ (We Volunteer หรือ WeVo) ที่นำโดย นายปิยรัฐ จงเทพ หลังจากเกิดการปะทะในกลุ่มการ์ดระหว่างการชุมนุม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์[3] 

          ด้านประเด็นการปราศรัยของการชุมนุมในครั้งนี้ นอกจากจะปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลแล้ว ยังมีการตั้งคำถามต่อการใช้ดุลยพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีคุณสมบัติการเข้าพักอาศัยในบ้านพักกองทัพบกตามระเบียบว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักกองทัพบก พ.ศ. 2548 โดยระบุว่า เพราะเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบก อีกทั้งยังทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ ทำงานเพื่อส่วนรวม อยู่ในตำแหน่งสำคัญ คือนายกรัฐมนตรี ที่ตัวเองและครอบครัวจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย การยังคงพักในบ้านพักของกองทัพบกนั้นสามารถทำได้ และเป็นสิทธิที่กองทัพสามารถพิจารณาอนุญาตและดูแลรับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟให้ จึงเป็นไปตามระเบียบ ทั้งนี้หากเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากพลเรือน ไม่สามารถทำได้ แต่ด้วยพล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผู้บัญชาการทหารบกมาก่อนจึงไม่ขัดต่อระเบียบกองทัพ ทำให้สถานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลามโหมของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลง[4]

          นอกจากการปราศรัยและแสดงดนตรีแล้ว การชุมนุมครั้งนี้ยังมีการจัดกิจกรรม “วงเสวนาย่อย” ที่ให้ทุกคนสามารถเป็นแกนนำในการนำเสนอความคับข้องใจต่าง ๆ โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจมาก ก็คือการแต่งชุดไปรเวทในสถานศึกษา และเสรีภาพการแต่งกาย ที่กลุ่มนักเรียนได้ชี้ให้เห็นว่ากฎระเบียบเครื่องแต่งกายขัดต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางร่างกาย ลดทอนความเป็นมนุษย์ ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน การพูดคุยในประเด็นประวัติศาสตร์ของเครื่องแบบ การแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้รับการลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมจากสถานศึกษา ซึ่งหลายกรณีขัดต่อหลักระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดบทลงโทษไว้ 4 สถาน คือ ตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้เปลี่ยนพฤติกรรม และเหตุผลว่าทำไมจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกฎระเบียบดังกล่าว รวมไปถึงการอภิปรายถึงปัญหาด้านการศึกษาอื่น ๆ  เช่น ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาระหว่างเมืองและต่างจังหวัด ตลอดจนการทำแท้งถูกกฎหมาย เป็นต้น

          อย่างไรก็ดี การชุมนุมในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนยิ่งขึ้น เมื่อได้มีการสำรวจข้อมูลของผู้ที่มาร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 2 ธันวา โดยผู้จัดทำเฟซบุ๊กเพจ “เนิร์ดข้างบ้าน”[5] ในคำถามที่ว่า “คุณมาม็อบแล้วทั้งหมดกี่ครั้ง” ซึ่งผลสำรวจพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มาร่วมชุมนุมเคยเข้าร่วมการชุมนุมมาแล้ว ประมาณ 3-5 ครั้ง และ คำถามว่า “คนมาม็อบครั้งแรกเยอะไหม” ซึ่งมีผู้ที่มาชุมนุมเป็นครั้งแรก คิดเป็น ร้อยละ 10 ของผู้ตอบคำถามทั้งหมด และช่วงอายุของคนที่มาชุมนุมครั้งแรกมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 18-35 ปี คิดเป็น ร้อยละ 71 ซึ่งผู้ทำการสำรวจได้ให้ความเห็นว่า จำนวนผู้ชุมนุมหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น อาจสัมพันธ์กับการทำงานหรือการตัดสินในประเด็นทางการเมืองที่มีความเข้มข้นของรัฐบาล นอกจากนี้แล้วในคำถามด้านพื้นฐานทางเศรษฐกิจของผู้ชุมนุมโดยพิจารณาจากรายได้ต่อเดือนของผู้เข้าร่วมชุมนุม พบว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมมาจากคนทุกกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเงินเดือนอยู่ที่ไม่เกิน 45,000 บาท

 

Mob 2 december (1).jpg
Mob 2 december (1).jpg

 ภาพ : ผลการสำรวจรายได้ต่อเดือนของผู้เข้าร่วมชุมนุม วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563[6]

 

 

Mob 2 december (2).jpg
Mob 2 december (2).jpg
Mob 2 december (3).jpg
Mob 2 december (3).jpg
Mob 2 december (4).jpg
Mob 2 december (4).jpg

ภาพ : การชุมนุมและการจัดกิจกรรม ในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563 [7]

 

          ทั้งนี้ แม้ว่าการชุมนุมได้ยุติลง เมื่อเวลาประมาณ 00.20 น. โดยไม่มีเหตุความรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น แต่ผลจากการชุมนุมได้นำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาต่อแกนนำและผู้ที่ทำหน้าที่ปราศรัยในการชุมนุมในเวลาต่อมา ได้แก่ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง รวมทั้งเยาวชน อายุ 18 ปี ในความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และ มาตรา 215 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง รวม 7 ข้อหา[8] เป็นต้น

 

อ้างอิง

[1] “เทียบระเบียบทหาร! บ้านพัก "ประยุทธ์" ขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่”.สืบค้นจาก https://news.thaipbs.or.th/content/298708 (15 กรกฎาคม 2564). 

[2] “กลุ่มราษฎร เปลี่ยนสถานที่ชุมนุม "ม็อบ 2 ธันวา" ไปห้าแยกลาดพร้าว”.สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/ 1987035 (15 กรกฎาคม 2564). 

[3] “#ม็อบ2ธันวา บอกเตรียมมีเซอร์ไพรส์ ด้าน "โตโต้" ประกาศกลุ่มการ์ด WeVo ถอนตัววันนี้”.สืบค้นจาก  https://www.sanook. com/news/8308014/ (15 กรกฎาคม 2564).

[4] เปิดเหตุผลศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย "ประยุทธ์" ได้ไปต่อ อยู่บ้านพักทหารได้ แต่คนอื่นทำแบบนี้ไม่ได้!! ”.สืบค้นจาก https:// www.pptvhd36.com/news/การเมือง/137660 (15 กรกฎาคม 2564). 

[6] “#ม็อบ2ธันวา ไม่ได้มีแค่เวทีปราศรัย ชวนฟังวงย่อย ชวนคุยหน่วยสำรวจข้อมูล”. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2020/ 12/90702 (15 กรกฎาคม 2564).

[7] “ประมวลภาพชุมนุมราษฎร ห้าแยกลาดพร้าว ยามเย็น หลังรู้ผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ”.สืบค้นจาก   https://thestandard.co/pro-democracy-protestors-rally-02122020-2/ (15 กรกฎาคม 2564) , “กลุ่มราษฎรเปลี่ยนสถานที่ชุมนุม "ม็อบ 2 ธันวา" ไปห้าแยกลาดพร้าว”.สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1987035 (15 กรกฎาคม 2564) และ “#ม็อบ2ธันวา ไม่ได้มีแค่เวทีปราศรัย ชวนฟังวงย่อย ชวนคุยหน่วยสำรวจข้อมูล”.สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2020/12/90702 (15 กรกฎาคม 2564).

[8] “เยาวชนเข้ารายงานตัวคดี ม.112 ชุมนุมม็อบ 2 ธันวา 63 โดน7 ข้อหา ‘เฮียบุ๊ง’ ให้กำลังใจ”. สืบค้นจาก https://www.matichon. co.th/local/news_2578811(15 กรกฎาคม 2564) และ “'รุ้ง-บอย' เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ม.112 จาก #25พฤศจิกาไปSCB และ #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว”. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2021/01/91066 (15 กรกฎาคม 2564).