เมืองโรงพยาบาล

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:44, 27 มิถุนายน 2567 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          โครงการ “เมืองโรงพยาบาล (The City Hospital)” หรือศูนย์การแพทย์ (Medical Center) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างศูนย์การแพทย์และสาธารณสุขครบวงจรขนาดใหญ่ให้รวมกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีลักษณะเป็นศูนย์กลางทางด้านความรู้ การให้บริการและแหล่งรวมความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์และการสาธารณสุขสมัยใหม่ให้มาตั้งรวมอยู่ในที่เดียวกัน ทั้งยังต้องการให้เป็นศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติอักด้วย

 

แนวคิดและจินตนาการในการสร้างเมืองโรงพยาบาล

          เรื่องการตั้งเมืองโรงพยาบาลอันเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในยุคทศวรรษ 2490 ที่มีปรากฏเป็นบันทึกหลักฐานของทางราชการกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏในหนังสืออนุสรณ์สาธารณสุข ครบรอบ 25 ปี ดังนี้

          ใน พ.ศ. 2492 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้พิจารณาเห็นว่า ควรจะได้มีสถานที่โดยเฉพาะสักแห่งหนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่รับตรวจรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้ทุกประเภท และให้บรรดาแพทย์ทั้งหลายได้ทำการศึกษาค้นคว้าความรู้ความชำนาญให้ทันสมัยอยู่เสมอ จึงได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งพิจารณาโครงการจัดตั้ง ‘เมืองโรงพยาบาล’ หรือ ‘ศูนย์การแพทย์’ ขึ้นที่ทุ่งพญาไท โดยใช้ที่ดินทั้งหมด ระหว่างถนนพญาไท ถนนราชวิถี ถนนพระราม 6 และถนนศรีอยุธยา แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหญ่ จะทำการก่อสร้างทั้งหมดในทันทีย่อมไม่ได้ เพราะจะต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก ทั้งยังขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินงานด้วย จึงให้เริ่มโครงการด้วยการจัดตั้งโรงพยาบาลหญิงขึ้นก่อนเป็นแห่งแรก[1]

 

          หลักฐานจากความทรงจำของ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิงที่สร้างเสร็จเป็นส่วนแรกของโครงการนี้ และยังเป็นผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ในฐานะเป็นลูกน้องคนสนิทของ นายแพทย์นิตย์ เวชวิสิษฐ์ ที่เป็นผู้กำกับด้านการสร้างโรงพยาบาลให้กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อีกด้วย ได้กล่าวถึงที่มาโครงการการขอซื้อที่จากทหารและความคาดหวังในด้านความเป็นเลิศด้านการแพทย์ของโครงการศูนย์การแพทย์นี้ว่า

          คุณหลวงนิตย์ไปเจรจากับจอมพล ป. ว่าเราอยากสร้าง Medical Center ตรงนี้ (คือบริเวณรอบโรงพยาบาลหญิง) เพราะเราไปเห็นเมืองนอกมา องค์ประกอบของ Medical Center คือมีทุกอย่างมีทุกแขนง จะผลิตเฉพาะ Post Graduate ที่จะส่งหัวเมือง โรงเรียนแพทย์ผลิตคนให้เป็นแพทย์เราจะผลิตแพทย์ให้เป็นผู้ชำนาญการ เราเริ่มต้นผลิตที่โรงพยาบาลเด็กก่อน โดยอบรมแพทย์ประจำบ้านเป็น Residency Training ซึ่งในอเมริกาเขาทำอยู่ เราก็เอาของเขามา เจรจากันอยู่นานทหารเห็นว่ามีประโยชน์ก็เลยให้ทำ ทางทหารบกเขาจะขายที่ให้เรา โดยจะย้ายกองสัตว์พาหนะของกองทัพบกให้ไปอยู่ข้างนอก เราจะมีเนื้อที่ครอบคลุมไปถึงมุมถนนศรีอยุธยา ทหารเขาจะขายให้เราทั้งหมด 20 ล้าน[2]

 

          ในขณะที่เอกสารราชการที่เป็นหลักฐานชั้นต้นในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เรื่อง “เมืองโรงพยาบาล” ได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกว่านายกรัฐมนตรีให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาดำเนินการจัดตั้งเมืองโรงพยาบาลขึ้น ดังปรากฏจากหนังสือของ นายฉาย วิโรจศิริ ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ว่านายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาดำเนินการจัดตั้ง “เมืองโรงพยาบาล” (The City Hospital) ขึ้นในบริเวณพญาไท หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันก็มีหนังสือคำสั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เพื่อแต่งตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาดำเนินการจัดตั้งเมืองโรงพยาบาล (The City Hospital)” โดยระบุวัตถุประสงค์สั้น ๆ ว่า “เพื่อให้การรักษาพยาบาลคนเจ็บป่วยได้เป็นไปด้วยดี” คณะกรรมการดังกล่าวประกอบไปด้วย พระยาบริรักษ์เวชชการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธาน พล.ต.สงวน โรจนวงศ์ พล.ต.สุทธิ์ สุทธิสารรรณกร พ.ต.หลวงนิตย์เวชวิสิษฐ์ พ.ต.หลวงบุรกรรมโกวิท พ.อ.ขุนปทุมโรคประหาร พ.ต.ประจักษ์ ทองประเสริฐ เป็นกรรมการ และมีขุนสงัดโรคกิตติ เป็นเลขานุการ[3]

          จากหลักฐานเอกสารราชการพบว่า โครงการเมืองโรงพยาบาลได้รับความสนใจจากรัฐบาลอยู่พอสมควร ดังที่มีการส่งหนังสือทวงถามความคืบหน้าของโครงการในอีก 8 เดือนต่อมา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระยาบริรักษ์เวชชการในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งเมืองโรงพยาบาลจึงทำหนังสือรายงานความคืบหน้าของโครงการขึ้นเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ว่าหลังจากที่คณะกรรมการได้มีข้อตกลงแล้วว่าควรสร้างเมืองโรงพยาบาลให้เป็นศูนย์การแพทย์ (Medical Centre) ประจำกรุงเทพฯ ตามรูปแบบศูนย์การแพทย์ประจำเมืองใหญ่ที่มีอยู่แพร่หลายในอเมริกา โดยจัดให้มีแผนกบำบัดโรคในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ แผนกศัลยศาสตร์ แผนกอายุรศาสตร์ แผนกสูติ-นรีเวชชศาสตร์ แผนกหู คอ จมูก และตา แผนกโรคเด็ก แผนกรังสี แผนกพยาธิ และอื่น ๆ และได้แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นในแต่ละแผนกเพื่อไปพิจารณาจัดทำรายละเอียดเสนอมา เพื่อประมวลเป็นโครงการใหญ่และจัดทำงบประมาณขึ้นมาเสนอ โดยจะให้ทุกแผนกตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันเพื่อความสะดวกในการประสานงานกัน และเมื่อรวมทุกแผนกแล้วคาดว่าจะสามารถรับผู้ป่วยได้ไม่น้อยกว่า 2,000 เตียง[4] ถือเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่มากของประเทศ

          ถัดมา ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 คณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งเมืองโรงพยาบาลก็จัดส่งโครงการเมืองโรงพยาบาลเพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา โครงการจัดตั้งเมืองโรงพยาบาลที่เสนอขึ้นไปนี้มีรายละเอียดสำคัญ คือ เมืองโรงพยาบาลจัดให้มี “แผนกบำบัดโรคทุกประเภทให้รวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน” ยกเว้นโรคติดต่อที่มีอันตราย เช่น อหิวาตกโรคหรือไข้ทรพิษ เป็นต้น และโรคที่น่ารังเกียจแก่คนไข้ทั่วไป เช่น วัณโรค โรคเรื้อน โรคจิตเวช เป็นต้น และมีแผนการก่อสร้างด้านพื้นที่กายภาพเชิงการแพทย์ที่จะ “สร้างอาคารติดต่อกันเป็นแบบนิ้วมือ ไม่ใช่ตั้งห่างกันแบบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อประหยัดพื้นที่และให้ความสะดวกแก่ทั้งเจ้าหน้าที่และคนไข้” เมืองโรงพยาบาลนี้กำหนดให้จัดตั้งขึ้นในบริเวณทุ่งพญาไทในเขตด้านทิศเหนือจดถนนราชวิถี ตรงข้ามกับโรงพยาบาลทหารบก วังพญาไท ทิศตะวันออกจดถนนพญาไท ทิศใต้จดถนนศรีอยุธยา ทิศตะวันตกจดถนนพระราม 6 เป็นพื้นขนาดใหญ่ผืนเดียว โดยเป้าหมายสำคัญอันดับแรก ๆ ของเมืองโรงพยาบาล คือ เพื่อเป็นที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคทุกสาขา ทั้งยังเป็นสถานศึกษาค้นคว้าของนักเรียนแพทย์และแพทย์ที่สำเร็จแล้ว ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนในด้านประยุกต์ซึ่งไม่ใช่แบบโรงเรียนแพทย์ โดยจะให้เป็นแบบ “Medical Centre” ที่ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ ในสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ของประเทศไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศตะวันตกได้จากการวิจัยของแพทย์ไทย นอกจากนี้ยังได้กำหนดแผนกโรคเฉพาะต่าง ๆ ตามแบบเชี่ยวชาญพิเศษที่กำหนดไว้ในโครงการ คือ แผนกคนไข้นอก แผนกอายุรศาสตร์ แผนกสูตินรีเวชชศาสตร์ แผนกจักษุและนาสิกลาริงซ์ แผนกกุมารเวชชศาสตร์ แผนกรังสีและกายภายบำบัด แผนกทันตกรรม แผนกเภสัชกรรม แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกอำนวยการ และแผนกโรงพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย เฉพาะแผนกคนไข้นอกนั้นกำหนดให้มีเตียง จำนวน 32 เตียง เพื่อเป็นเตียงจรไม่นับรวมเข้าเป็นเตียงประจำของโรงพยาบาล เป็นตึกใหญ่สำหรับคนเจ็บไข้ทุกโรคมารับการตรวจและรับยาไปรักษาที่บ้าน รายใดที่จำเป็นเข้าอยู่รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลก็รับไว้เป็นผู้ป่วยใน ในเวลาทำงานตามปกตินายแพทย์เฉพาะโรคทุกประเภทจะผลัดเปลี่ยนกันออกมาทำการตรวจและให้การรักษาโรคทุกประเภท และมีพื้นที่สำหรับให้คนไข้นั่งรอคอยรับการตรวจในวันหนึ่ง ๆ ซึ่งกำหนดว่าจะรับคนไข้ได้ไม่น้อยกว่า 500 คน นอกจากแผนกคนไข้นอกแล้ว เมืองโรงพยาบาลจะจัดให้มีตึกรับคนเจ็บอาการหนักและเป็นอย่างปัจจุบันทันด่วน (Emergency Ward) ที่มาโรงพยาบาลนอกเวลาทำการปกติ หรือโดยภาวะฉุกเฉินไว้ด้วย ซึ่งหลังให้การบำบัดแล้วก็จะต้องนอนพักในตึกนี้เป็นการชั่วคราวก่อนและแพทย์ในแผนกจัดการให้เข้าเป็นผู้ป่วยของแผนกในวันต่อไป นอกจากนี้เมืองโรงพยาบาลต้องการจะให้มีแผนกวิทยาศาสตร์และวิจัย เพื่อทำหน้าที่คอยสนับสนุนงานทางด้านวิชาการให้กับเมืองโรงพยาบาลในฐานะเป็นสถานที่วิทยาศาสตร์กลางเพื่อช่วยกิจการของทุกแผนกที่เกี่ยวแก่การชัณสูตรโรค พิเคราะห์โรค กำเนิดพยาธิของโรค และเตรียมสิ่งต่าง ๆ เพื่อป้องกันและบำบัดโรค ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นหน่วยพิเคราะห์และชัณสูตรโรค หน่วยห้องปฏิบัติการทั่วไป หน่วยพิพิธภัณฑ์และแสดงรูป หน่วยชัณสูตรศพ แผนกเลี้ยงสัตว์เพื่อการชัณสูตร และห้องสมุดของแผนก[5]

          เมืองโรงพยาบาลถูกจัดวางให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ขนาดใหญ่ที่จะรองรับผู้ป่วยไว้รักษาภายในได้ถึง จำนวน 2,018 เตียง ถ้าหากจำเป็นก็อาจขยายรับคนเจ็บไข้เพิ่มขึ้นได้อีก 200 เตียง โดยไม่ต้องสร้างสถานที่เพิ่มเติม โดยแบ่งออกเป็นแผนกอายุรกรรม 534 เตียง แผนกศัลยกรรม 502 เตียง แผนกสูตินรีเวช 500 เตียง แผนกกุมารเวช 240 เตียง และแผนกจักษุนาสิกและลาริงศ์ 242 เตียง โครงการจัดตั้งเมืองโรงพยาบาลระบุว่า ถ้าคิดเฉลี่ยให้ผู้ป่วยแต่ละคนต้องนอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาล เฉลี่ยคนละ 10 วัน ภายในเดือนหนึ่งเมืองโรงพยาบาลจะสามารถรองรับผู้ป่วยไว้รักษาได้ประมาณ 6,000 คน หรือประมาณ 32,000 คน ในเวลา 1 ปี และจะสามารถรองรับการตรวจบำบัดผู้ป่วยที่เป็นคนไข้นอกได้ประมาณ 200,000 คน ต่อปี ขณะที่หากรวมเตียงในโรงพยาบาลทุกโรงทั้งของรัฐและเอกชนในขณะนั้นยังมีเตียงรวมกันได้เพียงประมาณ 1,500 เตียง ถ้าสร้างเมืองโรงพยาบาลขึ้นอีก 2,000 เตียง รวมกันแล้วจะมีเตียง 3,500 เตียง ซึ่งเมื่อเทียบจำนวนเตียงต่อพลเมืองเฉพาะในกรุงเทพฯ กับธนบุรีที่มีอยู่ ประมาณ 1 ล้านคนแล้ว จะมีสัดส่วนเฉลี่ยเท่ากับจำนวนพลเมือง 300 คนต่อ 1 เตียง ซึ่งนับว่าเป็นมาตรฐานที่เหมาะสำหรับนครหลวงของประเทศไทย ซึ่งประชาชนนิยมการแพทย์แผนปัจจุบันเพียง 75 เปอร์เซ็นต์ ในสหรัฐอเมริกาซึ่งประชาชนนิยมการแพทย์แผนปัจจุบันแล้วเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ กำหนดมาตรฐานการโรงพยาบาลไว้เป็นพลเมือง 200 คนต่อ 1 เตียง โครงการจัดตั้งเมืองโรงพยาบาลได้เสนองบประมาณค่าก่อสร้างอาคารเป็นตึกขนาดใหญ่ จำนวน 83 หลัง คิดเป็นเงิน 111,862,800 บาท ค่าเครื่องมือเครื่องใช้ 133,915,800 บาท เงินเดือนสำหรับเจ้าหน้าที่ 1,985 คน ตกปีละ 10,348.360 บาท และค่าใช้จ่ายประจำปี 23,366,000 บาท โดยกำหนดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการจัดตั้ง 10 ปี[6] ซึ่งหากดูจากตัวเลขงบประมาณเทียบกับรายจ่ายของแผ่นดินขณะนั้นแล้วนับว่าสูงมากและอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ไม่ได้ดำเนินการสร้างขึ้นในเวลาต่อมา ในขณะที่จะหวังเงินจากความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาก็คงสูงเกินไปเช่นกัน

          ภายหลังการเสนอโครงการต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว โครงการจัดตั้งเมืองโรงพยาบาลยังได้รับการสนับสนุนจาก นายแพทย์เบน ไอส์แมน (Ben Eiseman) ซึ่งได้เข้ามาสำรวจปัญหาของกิจการโรงพยาบาลและสาธารณสุขทั่วประเทศไทยร่วมกับ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นเวลา 3 เดือน ก่อนมีโอกาสได้บรรยายเรื่อง “As I see it” ที่แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2493 โดยนายแพทย์ไอส์แมนได้เน้นถึงปัญหาของแพทย์ในชนบทที่ไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนตัวเองให้ทันตามความก้าวหน้าของการแพทย์ทันทีที่ออกไปอยู่ตามชนบท และการต้องเป็นแพทย์ทั่วไปที่ต้องทำให้ได้ทุกอย่าง ทำให้แพทย์ในชนบทหมดโอกาสที่จะปรับปรุงความรู้ความสามารถของตนเอง นายแพทย์ไอส์แมนเสนอว่าทางออกของปัญหาดังกล่าวนี้ คือ โครงการฝึกอบรมหลังปริญญาสำหรับแพทย์ชนบท โดยเฉพาะในสาขาความชำนัญพิเศษเฉพาะทางเช่นเดียวกับที่ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ย้ำถึงจุดประสงค์หลักของการสร้างเมืองโรงพยาบาลแห่งนี้ข้างต้น โดยใช้หลักสูตรระยะสั้นประมาณ 3 เดือน ซึ่งสามารถจัดทำขึ้นโดยการจัดตั้งองค์กรหรือคณะกรรมการแพทย์เฉพาะทาง (Specialty Board) ขึ้นมากำหนดและกำกับดูแลหลักสูตรการอบรมในรูปแบบที่จัดทำกันอยู่โดยทั่วไปในสหรัฐ และอังกฤษ ในที่สุดหลังจากนั้นอีกประมาณหนึ่งเดือน นายกรัฐมนตรีก็นำโครงการการจัดตั้งเมืองโรงพยาบาล (The City Hospital) เข้าไปพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติตกลงรับหลักการ[7] ให้สร้างขึ้นได้

          อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณ 6 ปี หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับในหลักการจนกระทั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม หมดอำนาจจากการรัฐประหาร เมื่อ พ.ศ. 2500 โครงการจัดตั้งเมืองโรงพยาบาลก็ไม่ได้มีการดำเนินการจัดสร้างแต่อย่างใด เหตุผลหนึ่งที่หลายฝ่ายอ้างถึงคือสาเหตุทางการเมือง รัฐประหารวัดรอยเท้าของ จอมพลสฤษดิ์_ธนะรัชต์ ในวันที่ 16 กันยายน 2500 เพียงอย่างเดียว ดังที่ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เองก็ดูจะยอมรับเหตุผลนี้อย่างเต็มที่ เพราะตัวท่านเองก็ต้องลาออกจากราชการหลังจากสิ้นอำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพราะถูกมองว่าเป็นคนสนิทคนหนึ่ง จึงไม่ได้มีโอกาสทำงานตามความคิดเรื่อง "เมืองโรงพยาบาล" ที่จะทำให้ประเทศไทยไม่เพียงแต่จะมีสถาบันที่เป็นศูนย์รวมการบำบัดรักษาและวิชาการทางการแพทย์อันทันสมัยทุกแขนงเท่านั้น แต่จะสามารถพึ่งตนเองได้ในการสร้างผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระดับสูงภายในประเทศได้เป็นจำนวนมากโดยประหยัดงบประมาณ และที่สำคัญคือศูนย์การแพทย์จะเป็นแหล่งผลิตและกระจายบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพไปสู่ภูมิภาค[8] แต่ขณะเดียวกันก็มีประเด็นให้น่าคิดว่า ถ้าหากโครงการดังกล่าวได้รับการผลักดันอย่างจริงจังในช่วงเวลา 6 ปี หลังคณะรัฐมนตรีลงมติรับหลักการแล้ว ในขณะที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังมีอำนาจอยู่นั้นก็สามารถกระทำได้ ทำไมจึงไม่ดำเนินการตามโครงการแต่อย่างใด

          สุดท้ายแล้วแม้ว่าเมืองโรงพยาบาลไม่ได้ถูกสร้างขึ้นตามแผนการที่คณะกรรมการพิจารณาดำเนินการจัดตั้งเมืองโรงพยาบาลได้นำเสนอโครงการทั้งหมดก็ตาม แต่ปรากฏว่าในพื้นที่ซึ่งเตรียมไว้สำหรับโครงการเมืองโรงพยาบาลดังกล่าวต่อมาก็ได้เป็นที่จัดตั้งหน่วยงานด้านการแพทย์ชั้นสูงทั้งทางความรู้และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคเด็ก โรคมะเร็ง โรคเขตร้อน เป็นต้น รวมทั้งได้ตั้งมหาวิทยาลัยมหิดลและโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่ทันสมัยตามแบบฉบับสหรัฐอเมริกาขึ้นอีกแห่งในบริเวณใกล้เคียงกัน คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็ไม่ผิดนักที่จะเรียกบริเวณทุ่งพญาไทแห่งนั้นว่าเมืองแห่งโรงพยาบาลได้อยู่

 

บรรณานุกรม

กระทรวงสาธารณสุข. 2510. อนุสรณ์สาธารณสุขครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2485-2510. กรุงเทพฯ: มิตรนราการพิมพ์.

ทวีศักดิ์ เผือกสม. 2550. เชื้อโรค ร่างกายและรัฐเวชกรรม:  ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สันติสุข  โสภณสิริ. 2537. เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง ชีวประวัติ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์.

 

เชิงอรรถ

[1] กระทรวงสาธารณสุข, 2510, อนุสรณ์สาธารณสุขครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2485-2510, กรุงเทพฯ: มิตรนราการพิมพ์, น. 350.

[2] สันติสุข โสภณสิริ, 2537, เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง ชีวประวัติ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว, กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, น. 132.

[3] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (2) สร.0201.27.2/31 โครงการจัดตั้งเมืองโรงพยาบาล. อ้างใน ทวีศักดิ์ เผือกสม, 2550. เชื้อโรค ร่างกายและรัฐเวชกรรม:  ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย, กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น. 243.

[4] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (2) สร.0201.27.2/31 โครงการจัดตั้งเมืองโรงพยาบาล. อ้างใน เรื่องเดียวกัน, น. 243-244.

[5] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (2) สร.0201.27.2/31 โครงการจัดตั้งเมืองโรงพยาบาล. อ้างใน เรื่องเดียวกัน, น. 244-245.

[6] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (2) สร.0201.27.2/31 โครงการจัดตั้งเมืองโรงพยาบาล, อ้างใน เรื่องเดียวกัน, น. 245-246.

[7] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (2) สร.0201.27.2/31 โครงการจัดตั้งเมืองโรงพยาบาล, อ้างใน เรื่องเดียวกัน, น. 246-247.

[8] สันติสุข  โสภณสิริ, 2537, เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง ชีวประวัติ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว, กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, น. 133.