พระยาบริรักษ์เวชชการ
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง และปิยวัฒน์ สีแตงสุก
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
พระยาบริรักษ์เวชชการ (บริรักษ์ ติตติรานนท์-นามเดิม คือ ไล่ฮวด) เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อวงการสาธารณสุขของไทย ตลอดชั่วชีวิตผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ มาแล้วมากมาย รวมถึงมีผลงานการเขียนที่แสดงถึงความรู้ความสามารถออกมาเป็นที่ประจักษ์ โดยเรื่องราวเกี่ยวกับพระยาบริรักษ์เวชชการมีประเด็นที่สมควรจะพิจารณาดังต่อไปนี้
พื้นเพชีวิตและแพทย์ในระบบราชการ
พระยาบริรักษ์เวชชการ เป็นบุตรนายติ๊ดและนางช้อย ติตติรานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2435 ที่ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง (บางปลาสร้อย) จังหวัดชลบุรี มีพี่น้อง 3 คน นอกจากพระยาบริรักษ์เวชชการแล้วก็จะมี นางเทพ ติตติรานนท์ และ ขุนบุญสิริเวชช์ (บุญศรี ติตติรานนท์) เมื่อถึงขวบวัยที่จะต้องเข้ารับการศึกษา ก็เริ่มศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนอุดมพิทยากร จังหวัดชลบุรี กระทั่งปลายทางการศึกษาจบลงที่ได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ที่โรงเรียนราชแพทยาลัย (ศิริราชพยาบาล) เมื่อ พ.ศ. 2456[1]
พระยาบริรักษ์เวชชการเข้ารับราชการครั้งแรกเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลศิริราชใน พ.ศ. 2456 ต่อมาได้ย้ายไปเป็นแพทย์ผู้ปกครองโรงพยาบาลศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2462 จึงได้โอนมารับราชการในกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย[2]
ในเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2466 ได้รับทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ไปศึกษาวิชาการสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins) ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกการสาธารณสุข (Doctor of Public Health) เมื่อ พ.ศ. 2468 จากนั้นกลับมารับราชการในตำแหน่งผู้ตรวจการสาธารณสุขชั้น 1 และได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุข[3]
พระยาบริรักษ์เวชชการได้ลาออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุข รับพระราชทานบำนาญ เมื่อ พ.ศ. 2481[4] ในระยะที่ว่างราชการนี้เอง พระยาบริรักษ์เวชชการได้ศึกษาค้นคว้าวิชาโหราศาสตร์ ทั้งภาคคำนวณและภาคพยากรณ์อย่างจริงจัง และได้ร่วมปรึกษากับนักโหราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงก่อตั้งสมาคมโหรแห่งประเทศไทยขึ้น โดยไปขออนุญาตจดทะเบียนสมาคมต่อแผนกสมาคม กองตำรวจสันติบาล ใน พ.ศ. 2490[5]
จากนั้น พ.ศ. 2492 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบริรักษ์เวชชการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในคณะรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม[6] และดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาจนถึง พ.ศ. 2497 จึงได้ขอกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง[7] ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นองคมนตรี รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งนี้ตลอดมาจนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2511 สิริอายุได้ 75 ปี 7 เดือน[8]
นอกจากงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขแล้ว พระยาบริรักษ์เวชชการได้รับเกียรติให้ปฏิบัติงานพิเศษอีกหลายอย่าง โดยได้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เมื่อก่อนถึงแก่อสัญกรรมหลายตำแหน่ง เช่น รองประธานกรรมการมูลนิธิวิจัยทางประสาทในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมการสภากาชาดไทย กรรมการว่าด้วยความเป็นกลางทางการแพทย์ นายกสมาคมค้นคว้าทางจิตฯ ประธานกรรมการจัดการฝ่ายคฤหัสถ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกสมาคมโหรแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการบริษัทแหลมทอง จำกัด ฯลฯ[9]
การเผยแพร่ความรู้ด้านการสาธารณสุข
ตามประวัติข้างต้น พระยาบริรักษ์เวชชการจบการศึกษาด้านการแพทย์และทำงานในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์เป็นเวลาหลายปี ตั้งแต่เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลศิริราชกระทั่งได้รับตำแหน่งสำคัญอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทว่านอกเหนือไปจากนี้ อีกบทบาทสำคัญของพระยาบริรักษ์เวชชการ คือ การไปบรรยายความรู้เกี่ยวกับสาธารณสุขให้บรรดาข้าราชการฟัง รวมทั้งเขียนหนังสือสำหรับสอนนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ดังตัวอย่างการบรรยายในการอบรมที่ปรึกษาเทศบาลเมื่อ พ.ศ. 2477 ครั้งนั้นมีวิทยากรคนอื่น ๆ ไปบรรยายด้วย เช่น พระไวทยวิธีการ หลวงพยุงเวชศาสตร์ ขุนสอนสุขกิจ นายแพทย์ย่งฮั้ว ชัวยั่วเสง ฯลฯ
หัวข้อที่พระยาบริรักษ์เวชชการบรรยาย คือ “การสาธารณสุข” โดยมุ่งไปที่การกล่าวถึงประวัติของการสาธารณสุขและหลักปกครองการสาธารณสุขเท่านั้น เนื้อหาเริ่มต้นขึ้นที่ความหมายของคำว่า “สาธารณสุข” ที่อาจกล่าวอย่างกว้าง ๆ ได้ว่า คือกิจการประเภทหนึ่งซึ่งกระทำโดยอาศัยหลักวิชาการเพื่อความประสงค์ที่จะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและความทุพพลภาพกับบำรุงพลเมืองให้เป็นคนมีร่างกายสมบูรณ์ ปราศจากโรคและมีชีวิตยืนนาน[10]
เนื้อหาต่อจากนั้นเป็นการไล่เรียงประวัติของการสาธารณสุขทั้งในต่างประเทศนับตั้งแต่ประเทศอังกฤษได้ออกกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขขึ้นใน ค.ศ. 1848 เป็นต้นมา และในประเทศสยาม ซึ่งการสาธารณสุขได้ตั้งต้นขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2440 จากการประกาศใช้ “พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116” นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ การบรรยายถึงการจัดการสาธารณสุขในท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่
1. รัฐบาลกลางดำเนินการปกครองเอง รับผิดชอบโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่ประจำท้องถิ่น และ
2. รัฐบาลควบคุมการเท่านั้น แต่ให้ความรับผิดชอบอยู่กับท้องถิ่นหรือเทศบาลนั้นเอง[11]
อีกตัวอย่าง คือ หนังสือความรู้ทั่วไปในการสาธารณสุขและสาธารณูปการของพระยาบริรักษ์เวชชการ ซึ่งใช้เป็นหนังสือสอนระดับปริญญาโททางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2478 และพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2493 เนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ “ความรู้ทั่วไปในการสาธารณสุขและสาธารณูปการ” และ “การสุขาภิบาล” ซึ่งเนื้อหาหลักจะอยู่ที่ส่วนหลัง ประกอบด้วย 9 บท ได้แก่
1. เรื่องน้ำ
2. เรื่องอากาศและการระบายลม
3. เรื่องอาหาร
4. การกำจัดสิ่งโสโครกและมูลฝอย
5. การเลือกที่และสร้างที่อาศัย
6. อุตุนิยมศาสตร์
7. การควบคุมโรคติดต่อ
8. การอนามัยในโรงเรียน และ
9. การสงเคราะห์มารดาและเด็ก[12]
เท่าที่ยกตัวอย่างมาก็พอทำให้เห็นภาพได้ว่า พระยาบริรักษ์เวชชการได้มีส่วนส่งเสริมการสาธารณสุขของสยามด้วยบทบาทหลากหลาย โดยเฉพาะหลังการปฏิวัติสยาม 2475 ที่ส่งเสริมความรู้ด้านนี้ไปสู่แวดวงข้าราชการและรั้วมหาวิทยาลัย
เมื่อพิจารณาเรื่องราวของพระยาบริรักษ์เวชชการอย่างสังเขปแล้ว อาจกล่าวได้ว่าพระยาบริรักษ์เวชชการมีบทบาทสำคัญด้านการสาธารณสุขมาตั้งแต่ยุคระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงยุคระบอบประชาธิปไตยทั้งช่วงเวลาที่คณะราษฎรมีอำนาจ (พ.ศ. 2475-2490) ถึงช่วงเวลาที่คณะราษฎรสิ้นอำนาจหลังการรัฐประหาร 2490 นอกจากนี้ พระยาบริรักษ์เวชชการยังมีผลงานด้านโหราศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตของข้าราชการแพทย์ผู้นี้มิได้เพียงรักษาความป่วยไข้ของคนด้วยการแพทย์แบบวิทยาศาสตร์ แต่ยังพยากรณ์ความเป็นไปในบ้านเมืองโดยใช้โหราศาสตร์นำทาง นี่คือคุณสมบัติเด่นของพระยาบริรักษ์เวชชการโดยแท้
เชิงอรรถ
[1] บริรักษ์เวชชการ, พระยา. 2511. ความรู้บางเรื่องเกี่ยวกับโหราศาสตร์ โดย พระยาบริรักษเวชชการ จัดพิมพ์ขึ้นเป็นบรรณาการที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาบริรักษเวชชการ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ 26 มิถุนายน พุทธศักราช 2511. พระนคร: โรงพิมพ์มิตรสยาม. หน้า 9.
[2] แหล่งเดิม. หน้า 9.
[3] แหล่งเดิม. หน้า 9-10.
[4] แหล่งเดิม. หน้า 10.
[5] สมาคมโหรแห่งประเทศไทย. 2511. ปฏิทินโหร พ.ศ. 2441-2460 สมาคมโหรแห่งประเทศไทยพิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาบริรักษเวชชการ (บริรักษ์ ติตติรานนท์) อดีตนายกสมาคมโหรแห่งประเทศไทย ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มิถุนายน 2511. พระนคร: สมาคมโหรแห่งประเทศไทย.
[6] “ประกาศตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี.” (5 กรกฎาคม 2492). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 66 ตอน 36. หน้า 503-596.
[7] “ประกาศรัฐมนตรีลาออกและแต่งตั้งรัฐมนตรี.” (25 พฤษภาคม 2497). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 71 ตอน 33. หน้า 726-727.
[8] บริรักษ์เวชชการ, พระยา. 2511. ความรู้บางเรื่องเกี่ยวกับโหราศาสตร์ โดย พระยาบริรักษเวชชการ จัดพิมพ์ขึ้นเป็นบรรณาการที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาบริรักษเวชชการ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ 26 มิถุนายน พุทธศักราช 2511. หน้า 10-11.
[9] แหล่งเดิม. หน้า 10.
[10] บริรักษ์เวชชการ, พระยา, ไวทยวิธีการ, พระ, เชฎฐไวทยาการ , พระ, สนิทรักษ์สัตว์, หลวง, วิเชียรแพทยาคม, หลวง, พะยุงเวชศาสตร์, หลวง, รัตนเวชชสาขา, ขุน, สอนสุขกิจ, ขุน และย่งฮั้ว ชัวยั่วเสง. 2477. การสาธารณสุขและสาธารณูปการ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง. หน้า 1-2.
[11] แหล่งเดิม. หน้า 2-24.
[12] บริรักษ์เวชชการ, พระยา, 2493. ความรู้ทั่วไปในการสาธารณสุข และสาธารณูปการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.