การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565
กรุงเทพมหานครถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ และเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร_พ.ศ._2528 ที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงมีหน้าที่กำกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานสังกัด กทม. ให้เป็นไปตามนโยบายที่ตัวเองเสนอไว้ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอำนาจที่เจาะจงและเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของชีวิตคนกรุงเทพฯ โดยตรง เช่น บริหารจัดการสาธารณูปโภค ควบคุมอาคารสิ่งปลูกสร้าง กำหนดผังเมือง บริการทางสาธารณสุขและการศึกษา เป็นต้น ต่างจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีหน้าที่นำนโยบายรัฐจากส่วนกลางไปปฏิบัติเท่านั้น[1]
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 11 จัดขึ้นเมื่อ วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 และถือเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งแรกในรอบ 9 ปี หลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุด คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 โดยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วยคะแนนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1,256,349 เสียง ต่อมาเมื่อมีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 การบริหารกรุงเทพมหานครยังคงดำเนินงานภายใต้ผู้บริหารชุดเดิม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2559 ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 64/2559 โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตำแหน่งและให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[2] ซึ่งถือเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากการแต่งตั้งครั้งแรกในรอบ 31 ปี[3]
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใน วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 และภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผลการเลือกตั้งใน วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้สมัครอิสระในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 1,386,215 หรือ ร้อยละ 51.84 จากผู้สมัครจำนวนทั้งสิ้น 31 คน ถือเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 และยังเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงที่มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์และทำลายสถิติผลการเลือกตั้งที่ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ได้รับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากพรรคประชาธิปัตย์ในปี พ.ศ. 2556 1,256,349 และนายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ชนะการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2543 ด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน[4]
ผู้สมัครและนโยบายการหาเสียง
ตามพระราชบัญญัติระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร 2528 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 6 พ.ศ.2562) มาตรา 46 และ มาตรา 49 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ได้กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีรายละเอียดดังนี้[5]
(1) มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
(2) อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นด้วย
(5) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
(6) ค่าธรรมเนียมการสมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จำนวน 50,000 บาท
(7) ค่าใช้จ่ายในการหาเสียง เขตเลือกตั้งละไม่เกิน 49 ล้านบาท
ภายหลังการสิ้นสุดการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใน วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2565 มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 31 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครเพศชาย 25 คน และผู้สมัครเพศหญิง 6 คน โดยผู้สมัครที่อายุมากที่สุด 75 ปี และอายุน้อยที่สุด 43 ปี ทั้งนี้ ผู้สมัครที่ได้รับการจับตาจากสื่อมวลชนมากที่สุด มี 7 คน เป็นทั้งผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมืองและผู้สมัครอิสระ โดยผู้สมัครที่สังกัดพรคคการเมืองประกอบไปด้วย หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและโฆษกพรรคก้าวไกล ผู้สมัครหมายเลข 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากพรรคประชาธิปัตย์ และผู้สมัครหมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี จากพรรคไทยสร้างไทย อดีตเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตคลองเตย สังกัดพรรคไทยรักไทย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
ในขณะที่ผู้สมัครอิสระที่ได้รับการจับตามองอย่างมาก ได้แก่ ผู้สมัครหมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตแกนนำชุดเคลื่อนที่เร็วของ กลุ่ม กปปส. หรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อมาคือผู้สมัครหมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ผู้สมัครหมายเลข 7 นางสาวรสนา โตสิตระกูล แกนนำเครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อผู้บริโภค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สมัครหมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ได้รับฉายา “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในระหว่างปี พ.ศ. 2555-2557 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์_ชินวัตร[6] รวมทั้งยังเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562
ภาพ : ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[7]

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กำหนดให้ผู้สมัครที่ประสงค์จัดทำประกาศหรือแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง สามารถจัดทำได้ 2 ดังนี้
(1) ประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ขนาดความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และยาวไม่เกิน 42 เซนติเมตร จำนวนไม่เกิน 10 เท่าของหน่วยเลือกตั้ง
(2) ป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร จำนวนไม่เกิน 5 เท่า ของหน่วยเลือกตั้ง โดยขอความร่วมมือผู้สมัครรับเลือกตั้งในเรื่องการปิดประกาศและการติดแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นได้ประกาศกำหนด โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความปลอดภัย ความมั่นคงแข็งแรง มีทัศนียภาพและทัศนวิสัยที่ดี ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนหรือยานพาหนะ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินต่อทางราชการหรือประชาชน และจะต้องไม่เป็นการกีดขวางทางสัญจร การจราจร พร้อมทั้งได้แนบประกาศฉบับดังกล่าว หลักเกณฑ์และวิธีปิดประกาศและแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งของการไฟฟ้านครหลวงให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งในวันรับสมัครเลือกตั้ง เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ผู้สมัครสามารถดำเนินการหาเสียงเลือกตั้ง โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ยูทูป แอปพลิเคชั่น อีเมล์ SMS หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่น ๆ ได้จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง หรือเวลา 18.00 น. วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565[8]
อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นอกจากเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้สมัครมากที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ทำให้มีผู้ใช้สิทธิลงคะแนนครั้งแรก หรือ “First time voter” ประมาณ ร้อยละ 16 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดมาเป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญด้วย นอกจากนี้แล้วยังถือได้ว่าเป็นการแข่งขันในการนำเสนอนโยบายและสโลแกนในการหาเสียงของผู้สมัครที่มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ตัวอย่างเช่น
ผู้สมัครหมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในนามพรรคก้าวไกล ใช้สโลแกน “เมืองที่คนเท่ากัน” โดยนโยบายสำคัญ 12 ด้าน เช่น บริหารโปร่งใสไร้คอร์รัปชั่น การปรับปรุงทางเท้าให้ดี การปรับพื้นที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะและจัดสรรงบประมาณตามเสียงของประชาชน เป็นต้น
ผู้สมัครหมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล สมัครในนามอิสระ ใช้สโลแกน “กทม.ดีกว่านี้ได้” ซึ่งได้นำเสนอนโยบายสำคัญ 6 ด้าน ตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดการใช้รถส่วนตัว การพัฒนางานด้านสาธารณสุขให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น และการพัฒนางานด้านการศึกษา ยกระดับคุณภาพให้มีความเท่าเทียมกัน เป็นต้น
ผู้สมัครหมายเลข 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอสโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” ด้วยนโยบายสำคัญ 5 ด้าน อาทิ แก้ปัญหาพื้นฐาน เช่น ฝนตก น้ำท่วม รถติด ตึกถล่ม การปรับปรุงการศึกษาให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งปรับปรุงงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ เป็นต้น
ผู้สมัครหมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สมัครในนามอิสระ ใช้สโลแกน “มาช่วยกันทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” โดยการนำเสนอนโยบาย 202 เรื่อง ใน 9 ด้าน อาทิ ทบทวน BRT เพื่อพิจารณาการดำเนินโครงการ, ท่าเรือเข้าสะดวก ออกสบาย เชื่อมต่อปลอดภัย, พิจารณาเดินเรือ เพิ่มตัวเลือกเชื่อมต่อการเดินทาง, รถไฟฟ้าสายสีเขียว ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด และเป็นธรรมกับเอกชน, หน่วยงาน กทม. เข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศ และเพิ่มรถเมล์สายหลักและรอง ราคาถูกราคาเดียว สร้างจุดเชื่อมต่อการเดินทาง (hub) เพื่อการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สะดวกสบาย และนำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย เป็นต้น[9]
ภาพ : สำรวจนโยบายผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร [10]

ผลเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565
ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เรื่อง ผลการนับคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศ ณ วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2565[11] ได้ประกาศผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใน วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 โดยมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,402,948 คน มีผู้มาแสดงตนขอรับบัตรเลือกตั้ง 2,673,696 คน คิดเป็น ร้อยละ 60.73 แบ่งเป็นจำนวนบัตรดี 2,561,447 บัตร จำนวนบัตรเสีย 40,017 บัตร จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ทำเครื่องหมายไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 72,227 บัตร คิดเป็น ร้อยละ 2.70
ตาราง : แสดงผลการนับคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเรียงลำดับตามหมายเลขผู้สมัคร
หมายเลขประจำตัว ผู้สมัคร |
ชื่อผู้สมัคร |
สังกัด |
คะแนนที่ได้รับ |
1 |
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร |
พรรคก้าวไกล |
230,534 |
2 |
พ.ท.หญิง ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล |
ผู้สมัครอิสระ |
19,859 |
3 |
นายสกลธี ภัททิยกุล |
ผู้สมัครอิสระ |
230,534 |
4 |
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ |
พรรคประชาธิปัตย์ |
254,723 |
5 |
นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ |
ผู้สมัครอิสระ |
20,750 |
6 |
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง |
ผู้สมัครอิสระ |
214,805 |
7 |
นางสาวรสนา โตสิตระกูล |
ผู้สมัครอิสระ |
79,009 |
8 |
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ |
ผู้สมัครอิสระ |
1,386,769 |
9 |
นางสาววัชรี วรรณศรี |
ผู้สมัครอิสระ |
8,280 |
10 |
นายศุภชัย ตันติคมน์ |
ผู้สมัครอิสระ |
2,189 |
11 |
น.ต.ศิธา ทิวารี |
พรรคไทยสร้างไทย |
73,926 |
12 |
นายประยูร ครองยศ |
ผู้สมัครอิสระ |
2,219 |
13 |
นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์ |
ผู้สมัครอิสระ |
868 |
14 |
นายธเนตร วงษา |
ผู้สมัครอิสระ |
1,094 |
15 |
พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที |
ผู้สมัครอิสระ |
574 |
16 |
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ |
ผู้สมัครอิสระ |
2,129 |
17 |
นายอุเทน ชาติภิญโญ |
ผู้สมัครอิสระ |
757 |
18 |
นางสาวสุมนา พันธุ์ไพโรจน์ |
ผู้สมัครอิสระ |
909 |
19 |
นายไกรเดช บุนนาค |
ผู้สมัครอิสระ |
636 |
20 |
นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ |
ผู้สมัครอิสระ |
558 |
21 |
นายนิพัทธ์พนธ์ สุวรรณชนะ |
ผู้สมัครอิสระ |
342 |
22 |
นายวรัญชัย โชคชนะ |
ผู้สมัครอิสระ |
1,128 |
23 |
นายเฉลิมพล อุตรัตน์ |
ผู้สมัครอิสระ |
432 |
24 |
นายโฆสิต สุวินิจจิต |
ผู้สมัครอิสระ |
3,247 |
25 |
นายประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ |
ผู้สมัครอิสระ |
460 |
26 |
พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ |
ผู้สมัครอิสระ |
360 |
27 |
นายภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์ |
ผู้สมัครอิสระ |
391 |
28 |
นายสราวุธ เบญจกุล |
ผู้สมัครอิสระ |
0 |
29 |
นายกฤตชัย พยอมแย้ม |
พรรคประชากรไทย |
494 |
30 |
นายพงศา ชูแนม |
พรรคกรีน |
424 |
31 |
นายวิทยา จังกอบพัฒนา |
ผู้สมัครอิสระ |
813 |
ทั้งนี้ ภายหลังการประกาศผลการนับคะแนนและชัยชนะของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในการได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีการร้องเรียนจาก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ไต่สวนนายชัชชาติ กรณีทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิล มีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปรีไซเคิล ทำกระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน เข้าข่ายกระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่ รวมไปถึงการร้องเรียนเกี่ยวกับระบบราชการ โดยผู้ร้องอ้างว่าชัชชาติระบุเนื้อหาทำนองว่าระบบราชการอาจส่งผลต่ออุปสรรคในการปฏิบัติงาน เพราะมีขั้นตอนเยอะ โดยผู้ร้องอ้างว่าการระบุเช่นนี้เหมือนเป็นการดูถูกระบบราชการ[12] ซึ่งหลังจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เสนอผลการตรวจสอบเบื้องต้น จึงได้เห็นควรประกาศผลรับรองการเลือกตั้งให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อ วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565[13]
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "ผลกระทบของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ต่อการเมืองระดับชาติ" จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวน 1,322 หน่วยตัวอย่าง ด้วยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์พบว่า ร้อยละ 77.76 คาดการณ์ไว้แล้วว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะได้รับเลือกตั้งให้ ในขณะที่ ร้อยละ 38.88 คาดว่าจะส่งผลในทางลบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลในขณะนั้นที่นำโดย พลเอกประยุทธ จันทรโอชา เช่นเดียวกับนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ อาทิ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้ความเห็นว่าผลการเลือกตั้งกรุงเทพ คือ คำตัดสินอนาคตของรัฐบาลและคำกล่าวที่ยังเป็นจริงเสมอคือ "การเมืองกรุงเทพ คือ การเมืองของประเทศไทย" ฉะนั้น การแพ้ที่กรุงเทพจึงมีนัยในตัวเองถึงการแพ้ของรัฐบาล และถ้าชนะที่กรุงเทพก็เป็นสัญญาณถึงชัยชนะในการเมืองไทยด้วย[14]
อ้างอิง
[1] “22 พ.ค. 2565 ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร”, สืบค้นจาก https://mgronline.com/politics/detail/ 9650000041823 (22 มีนาคม 2566).
[2] “ม.44 ปลด 'สุขุมพันธุ์' 'อัศวิน' เป็นผู้ว่ากทม.ให้มีผลทันที! ”, สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/758211 (31 สิงหาคม 2566).
[3] “ย้อนความจำ 12 ปี กรุงเทพฯ ภายใต้ประชาธิปัตย์ กปปส. และ คสช.”, สืบค้นจาก https://www.ilaw.or.th/node/6138 (31 สิงหาคม 2566).
[4] เลือกตั้งผู้ว่า กทม. : ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ทำสถิติใหม่ ชนะท่วมท้นเป็นผู้ว่าฯ คนที่ 17”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/live/ thailand-61477389(22 มีนาคม 2566).
[5] “ตามมาส่อง นโยบายผู้สมัครผู้ว่า กทม. 2565 สู้ศึกเสาชิงช้า”, สืบค้นจาก https://promotions.co.th/breakingnews/bangkok-gubernatorial-election-their-policies.html(22 มีนาคม 2566).
[6] “เปิดเบอร์ ‘ผู้ว่าฯ กรุงเทพ’ ผู้สมัครมากเป็นประวัติการณ์ ถึง 31 คน”, สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/bangkok2022-31number/(22 มีนาคม 2566).
[7] “เปิดเบอร์ ‘ผู้ว่าฯ กรุงเทพ’ ผู้สมัครมากเป็นประวัติการณ์ ถึง 31 คน”, สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/bangkok2022-31number/(22 มีนาคม 2566).
[8] “เปิดเบอร์ ‘ผู้ว่าฯ กรุงเทพ’ ผู้สมัครมากเป็นประวัติการณ์ ถึง 31 คน”, สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/bangkok2022-31number/(22 มีนาคม 2566).
[9] ส่องนโยบายผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม. 2565 ”, สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/general-news/519764(22 มีนาคม 2566).
[10] “สำรวจนโยบายผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ 65 เรื่องไหนใครเคยเสนอไว้แล้วบ้าง”, สืบค้นจาก https://www.tcijthai.com/news/2022/4/ scoop/ 12290 (22 มีนาคม 2566).
[11] “กกต.กทม.ประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ” ทุบสถิติได้ 1,386,215 คะแนน”, สืบค้นจาก https://mgronline. com/ politics/detail/9650000048783 (22 มีนาคม 2566).
[12] “กกต.รับรอง “ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก. พรุ่งนี้ พบถูกร้องเรียน 2 เรื่อง”, สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/politics/ news- 942441(22 มีนาคม 2566).
[13] “กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง “ชัชชาติ”เป็นผู้ว่า กทม.”, สืบค้นจาก https://thaipublica.org/2022/05/chatchart-sitthiphan-the-new-bangkok-governor-01/(22 มีนาคม 2566).
[14] “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ผู้ว่าฯ กทม. ผู้คว้าคะแนนเลือกตั้งสูงสุดในประวัติศาสตร์”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com /thai/ 61545581#:~:text=ปรับปรุงแล้ว%2029%20พฤษภาคม%202022,ที่มีการเลือกตั้งมา(22 มีนาคม 2566).