การหาได้รายของท้องถิ่นในประเทศไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:52, 1 กันยายน 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : เอกวีร์ มีสุข

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          การหารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยเป็นประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ที่เพียงพอต่อการจัดบริการสาธารณะ ประเทศไทยนับแต่มีการกระจายอำนาจตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ก็ได้พยายามให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการจัดการตนเองที่รวมถึงการมีอิสระทางการคลังและการจัดหารายได้อีกด้วย

 

ภาพรวมการคลังและการหารายได้ของท้องถิ่นของไทย

          การกระจายอำนาจทางการคลังและการหารายได้ของประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อมีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 284 วรรคแรก ที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการกำหนดนโยบาย การปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ และวรรคสามที่ให้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ โดยแผนดังกล่าวต้องมีสาระใน “การจัดสรรสัดส่วนภาษีและอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงภาระหน้าที่ของรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเองเป็นสำคัญ” ต่อมาเมื่อเกิดรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 และตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ลงรายละเอียดเรื่องการคลังและการหารายได้ท้องถิ่นใน มาตรา 283 วรรคแรก ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ วรรคสอง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพัฒนาระบบการคลังท้องถิ่นจัดบริการสาธารณะได้โดยครบถ้วนตามอำนาจหน้าที่ วรรคสี่ ให้มีกฎหมายรายได้ท้องถิ่นเพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีและรายได้อื่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และวรรคห้า ที่กำหนดอำนาจหน้าที่และการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้คณะกรรมการตามกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจต้องนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาทบทวนใหม่ทุกระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี

          สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ตราขึ้นภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 มีข้อความที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจทางการคลังและงบประมาณใน มาตรา 250 ที่ให้การกำหนดหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องสอดคล้องกับรายได้ของท้องถิ่น ให้รัฐดำเนินการให้ท้องถิ่นมีรายได้และส่งเสริมการพัฒนารายได้และให้ท้องถิ่นมีอิสระทางการเงินและการคลังรวมถึงมีการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

 

{วรรคสอง} การจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะใดที่สมควรให้เป็นหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบหรือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการใด ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งต้องสอดคล้องกับรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามวรรคสี่ และกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกลไกและขั้นตอนในการกระจายหน้าที่และอำนาจ ตลอดจนงบประมาณและบุคลากรที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจดังกล่าวของส่วนราชการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

 

{วรรคสี่} รัฐต้องดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ของตนเอง โดยจัดระบบภาษีหรือการจัดสรรภาษีที่เหมาะสมรวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการหารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้อย่างเพียงพอ ในระหว่างที่ยังไม่อาจดำเนินการได้ให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปพลางก่อน

 

{วรรคห้า} กฎหมายตามวรรคหนึ่งและกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา การเงินและการคลัง และการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม การป้องกันการทุจริต และการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความแตกต่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ และต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการป้องกันการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วย

 

          ส่วนกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับรายได้และการคลังของท้องถิ่นไทยอีกฉบับ คือ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. 2542 หมวด 3 การจัดสรรสัดส่วนภาษีและอากรที่กำหนดประเภทของภาษี อากร เงินรายได้ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่สามารถจัดเก็บเองและที่รัฐบาลกลางจัดเก็บให้แต่ต้องจัดสรรคืนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อเพิ่มแหล่งรายได้ของ อปท. ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดสัดส่วนร้อยละของรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้ของรัฐบาลกลางเพื่อประกันรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน มาตรา 30 (4) กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐบาลกลางไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 ภายใน พ.ศ. 2544 และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐบาลไม่น้อยกว่า ร้อยละ 35 ภายใน พ.ศ. 2549 อย่างไรก็ตาม มีการแก้ไขสัดส่วนการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ลดลงจากเดิมในพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 มาตรา 30 (4) โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 โดยมีจุดมุ่งหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลในอัตราไม่น้อยกว่า ร้อยละ 35[1]

          ทั้งนี้ประเภทรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยที่ได้รับจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนรายได้ที่ท้องถิ่นได้รับเพิ่มขึ้นจาก 97.747 พันล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 15.79 ของรายได้รัฐบาลทั้งหมดใน พ.ศ. 2542 เป็น 2,400 พันล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 29.5 ของรายได้รัฐบาลทั้งหมดใน พ.ศ. 2566 ขณะที่รายได้แต่ละประเภทที่ได้รับของท้องถิ่นส่วนมากยังคงเป็นรายได้จากเงินอุดหนุนแต่รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองยังมีสัดส่วนไม่มากนักใน พ.ศ. 2565 มีรายได้ท้องถิ่นจัดเก็บเอง จำนวน 75.095 พันล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 10.61 ของรายได้ท้องถิ่นทั้งหมด แตกต่างจากรายได้ประเภทเงินอุดหนุนที่มากถึง 297.780 พันล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 42.06 ของรายได้ท้องถิ่นทั้งหมด[2]

 

แผนภูมิที่ 1 : เปรียบเทียบสัดส่วนรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทในปีงบประมาณ พ.ศ.2542 และ พ.ศ. 2556-2565

Thai local finance.png
Thai local finance.png

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

การหารายได้ที่จัดเก็บเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

          รายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยจัดเก็บเอง คือ รายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดเก็บจากประชาชนในท้องถิ่นของตนเองภายใต้ศักยภาพการจัดเก็บที่ตนมี แต่ท้องถิ่นไทยยังจัดเก็บรายได้เองไม่มากนัก โดยในแต่ละปีงบประมาณคิดเป็นประมาณ ร้อยละ 10 ของรายได้ท้องถิ่นทั้งหมด และใน พ.ศ. 2565 มีรายได้ในส่วนนี้เพียง ร้อยละ 10.61 โดยรายได้ที่จัดเก็บเองจะประกอบด้วยรายได้ที่มาจากภาษี รายได้ที่ไม่ได้มาจากภาษี และรายได้จากการกู้ยืมเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          1) รายได้ที่มาจากภาษีอากร เป็นรายได้ที่กำหนดให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดเก็บ โดยกฎหมายจะควบคุมเฉพาะเรื่องอัตราภาษีและข้อกำหนดเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเท่านั้น ส่วนกระบวนการจัดเก็บองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการเอง อาทิ การสำรวจ การประเมิน การจัดเก็บ การพิจารณาอุทธรณ์และการบังคับหรือการเปรียบเทียบปรับผู้หลีกเลี่ยงภาษี เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (มาแทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่) ภาษีป้าย อากรฆ่าสัตว์ อากรรังนก และภาษีน้ำมันและยาสูบ โดยท้องถิ่นแต่ละรูปแบบมีอำนาจการจัดเก็บภาษีที่แตกต่างกัน[3]

 

ตารางที่ 1 : รายได้จากภาษีอากรที่ท้องถิ่นเก็บเอง

รายได้จากภาษีอากรที่ท้องถิ่นเก็บเอง

อบจ.

เทศบาล

อบต.

กทม.

พัทยา

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

/

/

/

/

ภาษีป้าย

 

/

/

/

/

อากรฆ่าสัตว์

 

/

/

   

อากรรังนกอีแอ่น

 

/

/

   

ภาษีท้องถิ่นจากยาสูบ น้ำมันและโรงแรม1

/

   

/

(เฉพาะภาษีโรงแรม)

 

ที่มา : แก้ไขจาก วุฒิสาร ตันไชย, และเอกวีร์ มีสุข, ระบบการปกครองท้องถิ่นประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน : ราชอาณาจักรไทย (กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า, 2557)

 

          2) รายได้ที่ไม่ได้มาจากภาษี ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอนุญาตให้ท้องถิ่นแต่ละประเภทสามารถหารายได้จากทางอื่นได้เช่น

                    2.1) ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตและค่าปรับ

                    2.2) รายได้จากทรัพย์สิน

                    2.3) รายได้จากสาธารณูปโภคและการพาณิชย์ และ

                    2.4) รายได้เบ็ดเตล็ด[4]

          ในส่วนค่าธรรมเนียม (user charge) จากการใช้บริการสาธารณะ หมายถึง เงินที่เก็บจากการได้รับหรือการใช้บริการที่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้บริการ โดยมีองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ

                    1) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการได้รับหรือการใช้บริการสาธารณะ

                    2) ผู้ได้รับหรือผู้ใช้บริการสาธารณะเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย

                    3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดให้บริการสาธารณะ และ

                    4) การบริการสาธารณะต้องเป็นภารกิจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[5]

          ในประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ให้อำนาจท้องถิ่นจัดเก็บเองได้ อีกทั้งในระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Electronic Local Administrative Accounting System: E-LAAS) มีรายการค่าธรรมเนียมที่ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บได้มากถึง 30 รายการ[6]

          ส่วนกิจการพาณิชย์ (local public enterprise) หมายถึง กิจการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งเพื่อดำเนินงานบริการสาธารณะสำหรับหารายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กิจการพาณิชย์ไม่ได้จำกัดถึงประเภทของบริการที่จัดและรูปแบบองค์การเพื่อดำเนินงาน แต่การแสวงหาผลกำไรของกิจการพาณิชย์ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและชุมชนท้องถิ่น[7] ในประเทศไทยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากการสำรวจระหว่าง พ.ศ. 2547-2548 พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้มีการสำรวจส่วนใหญ่ไม่ได้ดำเนินกิจการพาณิชย์ แต่ในส่วนที่มีการดำเนินการพาณิชย์พบว่าเทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินกิจการพาณิชย์ในสัดส่วนที่สูง กิจการพาณิชย์ที่ท้องถิ่นไทยดำเนินการ ได้แก่ การประปา ตลาด โรงฆ่าสัตว์ โรงรับจำนำ และบ่อบำบัดน้ำเสีย[8]

          3) รายได้จากการกู้ยืมเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากท้องถิ่นมีฐานะเป็นนิติบุคคลอิสระจึงสามารถกู้ยืมเงินโดยเงินกู้นับเป็นรายได้ประเภทหนึ่ง ในทางหลักการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับอนุญาตเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากรัฐบาลกลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยสามารถมีรายรับเงินกู้จากกระทรวง ทบวง กรม องค์การ หรือนิติบุคคลต่าง ๆ และเงินกู้จากต่างประเทศ องค์การต่างประเท หรือองค์การระหว่างประเทศตาม มาตรา 28 ของ พรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542[9]

 

การหารายได้ที่ไม่ได้จัดเก็บเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

          รายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยไม่ได้จัดเก็บเองของไทยประกอบด้วยรายได้ที่รัฐจัดเก็บให้ รายได้ที่รัฐแบ่งให้ และเงินอุดหนุน รายได้ในส่วนนี้ถือเป็นสัดส่วนที่สูงคิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 90 ของรายได้ท้องถิ่นทั้งหมดและใน พ.ศ. 2565 มีรายได้ในส่วนนี้สูงถึง ร้อยละ 89.39 โดยรายได้กลุ่มนี้ ประกอบด้วย

          1) รายได้ที่รัฐจัดเก็บให้ คือ รายได้ที่กฎหมายให้อำนาจรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นรายได้แก่ท้องถิ่น แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

                    1.1) ภาษีที่กฎหมายให้อำนาจท้องถิ่นในการออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็นรายได้ของท้องถิ่น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ

                    1.2) ภาษีกฎหมายกำหนดอัตราภาษีไว้ตายตัวและในหน่วยงานที่จัดเก็บภาษีจัดเก็บเพิ่มขึ้นตามอัตราที่กำหนดเพื่อเป็นรายได้ของท้องถิ่น เช่น ภาษีสุรา ภาษีสรรพสามิต และภาษีการพนัน รวมถึงภาษีที่รัฐจัดเก็บและมอบให้ท้องถิ่นทั้งหมดเช่น ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน และ

                    1.3) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐจัดเก็บให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บ ร้อยละ 7.0 จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่รัฐจัดเก็บเป็นรายได้ของรัฐ ร้อยละ 6.3 และส่วนที่รัฐจัดเก็บให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 0.7[10] โดยใน พ.ศ.2565 มีรายได้ในส่วนนี้ 224.185 พันล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 31.66 ของรายได้ท้องถิ่นทั้งหมด[11]

          2) รายได้ที่รัฐแบ่งให้ คือ การแบ่งรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดให้รัฐต้องแบ่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมกันในอัตราไม่เกิน ร้อยละ 30 ของรายได้ประเภทภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ทั้งหมดทั่วประเทศตาม มาตรา 23 (4) มาตรา 24(3) และมาตรา 25 (6) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติม[12] โดยใน พ.ศ. 2565 มีรายได้ในส่วนนี้ 111.000 พันล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 16.72 ของรายได้ท้องถิ่นทั้งหมด[13]

          3) เงินอุดหนุน คือ เงินงบประมาณที่รัฐอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้สำหรับการดำเนินงานให้เพียงพอ เงินอุดหนุนถือเป็นแหล่งรายได้หลักของท้องถิ่นไทยโดยคิดเป็นประมาณ ร้อยละ 40 ของรายได้ท้องถิ่นไทยทั้งหมดในแต่ละปีงประมาณ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

                    3.1) เงินอุดหนุนทั่วไป (general grant) ประกอบด้วยเงินอุดหนุนทั่วไปที่กำหนดตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปใช้จ่ายได้เฉพาะโครงการหรือกิจกรรมที่ระบุไว้ และเงินอุดหนุนทั่วไปตามอำนาจหน้าที่ที่อนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้จ่ายได้อย่างอิสระตามความต้องการของท้องถิ่นใน พ.ศ. 2565 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากเงินอุดหนุนทั่วไปที่ 232.517 พันล้านบาท

                    3.2) เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ (specific grant) เป็นเงินอุดหนุนที่ให้ท้องถิ่นตามโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือเป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาลใน พ.ศ.2565 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากเงินอุดหนุนทั่วไป จำนวน 39.566 พันล้านบาท[14]

 

บรรณานุกรม

วุฒิสาร ตันไชย, อรทัย ก๊กผล, ศิกานต์ อิสรระชัยยศ, วิลาวัลย์ หงษ์นคร, อภิวรรณ ซักเซ็ค, พิชิตชัย กิ่งพวง, and เอกวีร์ มีสุข. ข้อเสนอเชิงนโยบายนวัตกรรมการพัฒนารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า, 2558.

วุฒิสาร ตันไชย, and เอกวีร์ มีสุข. ระบบการปกครองท้องถิ่นประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน: ราชอาณาจักรไทย. กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า, 2557.

สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. "ตารางการจัดสรรรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น." เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม, 2566. https://shorturl.at/cxzAO.

สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. "แผนผังการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น." เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม, 2566. https://shorturl.at/quzA2.

 

อ้างอิง

[1] วุฒิสาร ตันไชย, และ เอกวีร์ มีสุข, ระบบการปกครองท้องถิ่นประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน: ราชอาณาจักรไทย (กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า, 2557), 162-63. และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ.2542

[2] สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, "ตารางการจัดสรรรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น," เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม, 2566, https://shorturl.at/cxzAO.

[3] วุฒิสาร ตันไชย, และ เอกวีร์ มีสุข, 166.

[4] วุฒิสาร ตันไชย, และ เอกวีร์ มีสุข, 166-67.

[5] วุฒิสาร ตันไชย และคณะ., ข้อเสนอเชิงนโยบายนวัตกรรมการพัฒนารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า, 2558), 110.

[6] วุฒิสาร ตันไชย และคณะ., 131-32.

[7] วุฒิสาร ตันไชย และคณะ., 212.

[8] วุฒิสาร ตันไชย และคณะ., 256.

[9] วุฒิสาร ตันไชย, และ เอกวีร์ มีสุข, 167.

[10] วุฒิสาร ตันไชย, และ เอกวีร์ มีสุข, 167-68.

[11] สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

[12] วุฒิสาร ตันไชย, และ เอกวีร์ มีสุข, 168-69.

[13] สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

[14] วุฒิสาร ตันไชย, และ เอกวีร์ มีสุข, 169. และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, "แผนผังการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น," เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม, 2566, https://shorturl.at/quzA2.