เซ็ตซีโร่พรรคการเมือง
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ความนำ
“เซ็ตซีโร่พรรคการเมือง” เป็นคำที่ใช้สื่อความถึง คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งกำหนดให้บรรดาสมาชิกพรรคการเมือง ของพรรคการเมืองที่ดำรงอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคอีกครั้งและจ่ายเงินบำรุงพรรค ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ 1 เมษายน 2561 นอกจากนั้นแล้ว ภายใน 180 วัน สมาชิกไม่น้อยกว่า 500 คน จะต้องจ่ายเงินบำรุงพักสำหรับปี 2561 ต่อมาภายในหนึ่งปี สมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน จะต้องจ่ายเงินบำรุงพรรค และภายใน 4 ปี สมาชิกไม่น้อยกว่า 10,000 คน จะต้องจ่ายเงินบำรุงพรรคที่ตนเป็นสมาชิก นับจากวันที่ 1 เมษายน 2561 ทั้งนี้ การ “เซ็ตซีโร่พรรคการเมือง” มีเจตนาที่จะต้องการสะสางบัญชีสมาชิกพรรคซ้ำซ้อน การมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ทั้งยังเป็นการปรับระนาบพรรคการเมืองทุกพรรคให้มาจากระดับตั้งต้นที่เท่าเทียมกันจนไม่เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบแก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นการเฉพาะ ขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ที่มีสมาชิกเป็นจำนวนมากอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาโต้แย้งถึงความยากลำบากในการปฏิบัติและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากมาตรการดังกล่าว ทั้งยังเกิดข้อครหาขึ้นในเวลานั้นว่า การ “เซ็ตซีโร่พรรคการเมือง” จะเป็นการเปิดปูทางให้กับพรรคการเมืองที่จะเข้ามาสืบทอดอำนาจต่อจาก คสช.
การจัดตั้ง "พรรคการเมือง" ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ ก่อให้เกิดความชะงักงันทางการเมือง ประชาชนถูกระงับสิทธิเสรีภาพ และการแสดงออกทางการเมือง ในส่วนของพรรคการเมืองนั้น ถูกห้ามไม่ให้ดำเนินกิจการและเคลื่อนไหวทางการเมือง จากประกาศและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายฉบับ ที่สำคัญก็คือ ประกาศ คสช. ที่ 57/2557 ซึ่งห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุมหรือดำเนินกิจการใดๆ รวมถึงระงับการสนับสนุนผ่านกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราว[1]และ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (ข้อ 12) ที่ห้ามไม่ให้มีการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 ขึ้นไป ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ[2] อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ผ่านการลงประชามติและประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ได้ระบุไว้ใน มาตรา 45 ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ”[3] หลังจากนั้นไม่นาน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ก็ถูกตราขึ้น อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการอันดำเนินไปสู่การเลือกตั้งและกลับเข้าสู่สภาวะการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
ทั้งนี้ สาระสำคัญของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560[4] ที่ดูเหมือนจะสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายมากที่สุดก็คือ การจัดตั้งพรรคการเมือง ที่กำหนดให้บุคคลผู้มีคุณสมบัติไม่น้อยกว่า 250 คนมาประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดชื่อชื่อย่อเครื่องหมายคำประกาศอุดมการนโยบายและข้อบังคับอื่นๆ ของพรรค ตัวมีการเลือกผู้บริหารพรรคและกรรมการบริหารพรรค (มาตรา 10) จากนั้นการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองจะกระทำได้โดยบุคคลไม่น้อยกว่า 500 คนมาร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองและมีทุนประเดิมพรรคการเมืองหนึ่งล้านบาทจากผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองคนละไม่น้อยกว่า 1000 บาทแต่ต้องไม่เกิน 50,000 บาท (มาตรา 9,11) ภายในหนึ่งปีนับจากวันจดทะเบียนจัดตั้งแล้วจะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5000 คน และภายในสี่ปีจะต้องมีสมาชิก 1000 คน โดยพรรคการเมืองจะต้องตั้งสาขาในแต่ละภาคและจังหวัดตามที่กำหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา ซึ่งมีสมาชิก 500 คนขึ้นไป (มาตรา 33)
เส้นตาย “เซ็ตซีโร่พรรคการเมือง”
สำหรับพรรคการเมืองหลายพรรคที่ดำรงอยู่ก่อนกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ซึ่งอาจมีสมาชิกดั้งเดิมที่สังกัดพรรคอยู่ก่อนแล้ว พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2560 กำหนดให้ตรวจสอบทบทวนและแจ้งความเปลี่ยนแปลงของสมาชิกแก่นายทะเบียนพรรคภายใน 90 วัน หลังจากนั้นจึงดำเนินการหาสมาชิกพรรคจนครบ 500 คนภายใน 180 วัน ที่แต่ละคนจะต้องจ่ายค่าบำรุงพักไม่น้อยกว่า 1,000 บาท รวมกันเป็นทุนประเดิมพรรค 1,000,000 บาท และภายในเวลา 1 ปีจะต้องให้สมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5,000 คนจ่ายค่าบำรุงพรรค และเพิ่มเป็น 10,000 คนที่จะต้องจ่ายค่าบำรุงพรรคภายในเวลา 4 ปี มิเช่นนั้นจะถือว่าสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคผู้ไม่ได้ชำระค่าบำรุงพักเป็นอันสิ้นสุดลง (มาตรา 140-141) ทันทีที่กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ ก็เกิดข้อเรียกร้องและ ข้อวิพากษ์วิจารณ์วิจารณ์จำนวนมากถึงความยากลำบากในการปฏิบัติ ซึ่งเป็นเสมือนความจงใจที่จะ “เซ็ตซีโร่พรรคการเมือง” และไม่ได้เป็นการส่งเสริมพรรคการเมืองอย่างแท้จริง ทั้งการหาสมาชิกพรรคเพิ่มขึ้นตามปีที่กำหนด และให้สมาชิกพรรคจ่ายเงินบำรุงพรรคหลายปีๆ คนละ 100 บาท ก็เป็นข้อกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะนอกจากจะส่งผลให้มีผู้สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคน้อยลงแล้วยังเท่ากับเป็นการกดดันให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเข้าหาประชาชนเพื่อขอให้มาเป็นสมาชิกพรรคเพิ่มขึ้น[5] (ห106-111) จึงเกิดกระแสเรียกร้องในบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ให้มีการผ่อนผันและยืดระยะเวลาดำเนินการออกไป
ต่อมาได้มีการออก คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกอบมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557)[6] กำหนดให้บรรดาสมาชิกพรรคการเมือง ของพรรคการเมืองที่ดำรงอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคอีกครั้งและจ่ายเงินบำรุงพรรค ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ 1 เมษายน 2561 และวันที่ 1 เมษายน 2561 นี้เองที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “เส้นตาย” ในการนับถอยหลัง “เซ็ตซีโร่พรรคการเมือง” เนื่องจาก พรรคการเมืองต่างๆ จะต้องดำเนินการให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 500 คน จ่ายเงินบำรุงพรรคสำหรับปี 2561 ภายใน 180 วัน ต่อมาภายในหนึ่งปี สมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน จะต้องจ่ายเงินบำรุงพรรค และภายใน 4 ปี สมาชิกไม่น้อยกว่า 10,000 คน จะต้องจ่ายเงินบำรุงพรรคที่ตนเป็นสมาชิก ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการให้
...พรรคการเมืองทั้งที่จัดตั้งขึ้นแล้วและที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่มีลักษณะเป็นพรรคการเมืองของประชาชน กล่าวคือ ประกอบด้วยสมาชิกที่มีความผูกพันกับพรรคการเมือง มีการชําระค่าบํารุงพรรคการเมือง มีส่วนร่วมอย่างกว่างขวางในการกำหนดนโยบายและการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และกระจายอยู่ทั่วไปในทุกเขตพื้นที่ที่จะส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน สมาชิกพรรคการเมืองจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของพรรคการเมือง จำเป็นต้องมีการจัดทำทะเบียนรายชื่อสมาชิกให้ถูกต้องเรียบร้อย เป็นปัจจุบัน ไม้ซ้ำซ้อนกับรายชื่อสมาชิกพรรคการเมืองอื่น สมาชิกต้องมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกันมิใช่เข้าเป็นสมาชิกเพราะการรวบรวมรายชื่อกันมาหรือเพราะเหตุจูงใจอย่างอื่น ทั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และยังต้องมีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายอีกด้วย จึงสมควรให้สมาชิกมีโอกาสทบทวนเจตนารมณ์ที่แท้จริงอีกครั้งหนึ่ง[7]
ภายหลังการเผยแพร่คำสั่ง คสช. ฉบับนี้ คำเรียก “เซ็ตซีโร่พรรคการเมือง” ก็ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสองพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ มีสมาชิกมากที่สุดถึง 2,895,933 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทย มีสมาชิก 134,822 คน[8] ทั้งนี้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เห็นว่า คำสั่งดังกล่าว "มุ่งช่วยให้พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่เป็นพรรคที่จะสืบทอดอำนาจให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังทำให้พรรคการเมืองเก่าต้องยุ่งอยู่กับการแก้ปัญหาสมาชิกพรรคที่มีอยู่แล้ว จนส่งผลให้เป็นการรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองทางอ้อม"[9] (Voice) ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า การ “เซ็ตซีโร่พรรคการเมือง” คือ กลยุทธ์ของ คสช. ในการอาศัยกลไกทางกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองที่จะมาสืบทอดอำนาจต่อจาก คสช. โดยการย้อนกลับไปสู่จุดตั้งต้น หรือ "เคลียร์บัญชี" สมาชิกพรรค เพื่อให้พรรคการเมืองสืบทอดอำนาจ คสช. สามารถดึงดูดสมาชิกที่หลุดจากบัญชีเหล่านั้น มาเป็นสมาชิกของตน[10] (มติชน, Voice)
บทส่งท้าย
พรรคการเมือง (political party) ถือเป็นสถาบันการเมืองที่สำคัญในระบอบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งทำหน้าที่หลากหลายในระบบการเมืองหนึ่งๆ นับตั้งแต่การเป็นตัวกลางเชื่อมโยงประชาชนเข้ากับรัฐบาล (representative linkage) การรวบรวมและสะท้อนผลประโยชน์ของกลุ่มทางสังคมผ่านนโยบาย (policy linkage) การเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน (participatory linkage) การให้บ่มเพาะทางการเมืองและเชื่อมโยงเชิงอุดมการณ์ (ideological linkage) รวมถึงการจัดหาผู้นำทางการเมืองและรณรงค์เลือกตั้ง (campaign linkage) เป็นต้น[11] ในสังคมการเมืองไทย แม้จะมีพรรคการเมืองดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน แต่ก็ยังคงขาดความเป็นสถาบันการเมืองที่ตั้งมั่น (lack of institutionalization) ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ พรรคการเมืองมีการยึดโยงเข้ากับประชาชน น้อยกว่าที่นักการเมืองในฐานะ "ตัวบุคคล" เข้าไปเชื่อมโยงสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่โดยตรง ดังนั้นในแง่หนึ่งแล้ว การ “เซ็ตซีโร่พรรคการเมือง” จึงเป็นการทำให้แน่ใจว่าสมาชิกของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ดำรงอยู่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีเจตจำนงที่จะนำตนเองไปผูกพันเข้ากับพรรคการเมืองนั้นๆ อย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นการชำระสะสางบัญชีซ้ำซ้อน และคุณสมบัติที่ครบถ้วนของสมาชิกพรรคให้เป็นปัจจุบัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยระยะเวลาอันจำกัด ก็ส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ซึ่งมีสมาชิกพรรคอยู่จำนวนมาก เกิดความยากลำบากในการปฏิบัติให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ทั้งข้อกำหนดเรื่องเงินบำรุงพรรคการเมืองก็ยังเป็นการสร้างภาระให้กับผู้เป็นสมาชิกอีกด้วย พรรคการเมืองขนาดใหญ่จึงเกรงว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียสมาชิกที่มีอยู่เดิม
บรรณานุกรม
Dalton, Russell J., David M. Farrell, and Ian McAllister (2013). Political Parties and Democratic Linkage: How Parties Organize Democracy. Oxford: Oxford University Press.
“ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 จำนวน 69 พรรค." สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. เข้าถึงจาก
<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171106155158.pdf>. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563.
“คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 132 ตอนพิเศษ 73 ง, 1 เมษายน 2558.
“คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนพิเศษ 317 ง, 22 ธันวาคม 2560.
““เซ็ตซีโร่สมาชิก” กับกลยุทธ์บอนไซพรรค ในสถานการณ์ “ดึง-ดูด-บีบ”." มติชนออนไลน์ (4 พฤษภาคม 2561). <https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_941946>. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563.
ณัชชาภัทร อมรกุล, อรรถสิทธิ์ พานแก้ว และฐิติกร สังข์แก้ว. (2562). ความหวังและความน่าจะเป็น : ฉากทัศน์พรรคการเมืองไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. '2560'. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.
“ปชป.โวยม.44หวังเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง." โพสต์ทูเดย์ (23 ธันวาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/531911>. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563.
“ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 57/2557 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับ มีผลบังคับใช้ต่อไป." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 131 ตอนพิเศษ 105 ง, 11 มิถุนายน 2560.
“พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 105 ก, 7 ตุลาคม 2560.
“ม.44 ซ่อนกล สองพรรคใหญ่ผวา 'เซ็ตซีโร่'สมาชิก." Voice Online (25 ธันวาคม 2560). <https://voicetv.co.th/read/Sy9g4DRGz>. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563.
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก, 6 เมษายน 2560.
[1] "ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 57/2557 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับ มีผลบังคับใช้ต่อไป," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 105 ง, 11 มิถุนายน 2560.
[2] "คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132 ตอนพิเศษ 73 ง, 1 เมษายน 2558.
[3] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก, 6 เมษายน 2560.
[4] "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 134 ตอนที่ 105 ก, 7 ตุลาคม 2560.
[5] ณัชชาภัทร อมรกุล, อรรถสิทธิ์ พานแก้ว และฐิติกร สังข์แก้ว, ความหวังและความน่าจะเป็น : ฉากทัศน์พรรคการเมืองไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2562), หน้า 106-111.
[6] "คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 134 ตอนพิเศษ 317 ง, 22 ธันวาคม 2560.
[7] "คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง," ราชกิจจานุเบกษา, หน้า 8.
[8] "ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 จำนวน 69 พรรค," สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, เข้าถึงจาก <https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171106155158.pdf>. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563.
[9] "ม.44 ซ่อนกล สองพรรคใหญ่ผวา 'เซ็ตซีโร่'สมาชิก," Voice Online (25 ธันวาคม 2560), <https://voicetv.co.th/read/Sy9g4DRGz>. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563.
[10] โปรดดู "ปชป.โวยม.44หวังเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง," โพสต์ทูเดย์ (23 ธันวาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/531911>. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563.; "ม.44 ซ่อนกล สองพรรคใหญ่ผวา 'เซ็ตซีโร่'สมาชิก," Voice Online (25 ธันวาคม 2560), <https://voicetv.co.th/read/Sy9g4DRGz>. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563.; "“เซ็ตซีโร่สมาชิก” กับกลยุทธ์บอนไซพรรค ในสถานการณ์ “ดึง-ดูด-บีบ”," มติชนออนไลน์ (4 พฤษภาคม 2561), <https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_941946>. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563.
[11] Russell J. Dalton, David M. Farrell, and Ian McAllister, Political Parties and Democratic Linkage: How Parties Organize Democracy (Oxford: Oxford University Press, 2013), pp. 215-218.