พรรคต่ำร้อย
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ความนำ
“พรรคต่ำร้อย” เป็นคำเปรียบเปรยและสะท้อนถึงผลการเลือกตั้งภายหลังวันที่ 24 มีนาคม 2562 ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพียง 53 ที่นั่ง แม้จะมีหลายพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. น้อยกว่า 100 ที่นั่ง เช่น พรรคอนาคตใหม่ พรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย แต่ “พรรคต่ำร้อย” ในที่นี้ได้มุ่งเป้า หมายถึงเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์เป็นการเฉพาะที่ได้ ส.ส. น้อยกว่า 100 คน ต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 ที่ได้ ส.ส. ทั้งหมด 164 ที่นั่ง นอกจากนี้ จำนวน ส.ส. ที่ลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า “พรรคต่ำร้อย” ยังฉายภาพให้เห็นถึงความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ในฐานะพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของไทยแต่ไม่สามารถประสบความสำเร็จทางการเมืองได้ ในขณะที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ประกาศให้คำสัญญาว่าถ้าหากพรรคได้ ส.ส. น้อยกว่า 100 คน จะลาออกจากหัวหน้าพรรคทันที
บริบททางการเมือง
พรรคประชาธิปัตย์ ถือได้ว่ามีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานและเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน โดยก่อกำเนิดจากการรวมเอาพรรคก้าวหน้าซึ่งนำโดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช พรรคประชาธิปไตยที่นำโดย ดร.โชติ คุ้มพันธ์ และกลุ่มการเมืองของนายควง อภัยวงศ์ รวมกันก่อตั้งเป็นพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี พ.ศ. 2489 เส้นทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์มีทั้งเป็นฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าในบรรดาพรรคการเมืองไทย พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ยึดมั่นในระบบรัฐสภาต่อต้านระบบเผด็จการตลอดมา ถึงแม้ว่าในบางช่วงระยะเวลา พรรคประชาธิปัตย์จะต้องประสบกับความขัดแย้งและความแตกต่างทางด้านอุดมการณ์ แต่ทางพรรคก็สามารถที่จะปรับปรุงภายในพรรคให้มีความคงอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากปัจจัยการมีผู้นำพรรคที่เข้มแข็งและยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย[1]
อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ในยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคนับเป็นอีกยุคหนึ่งที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการเมืองไทย เนื่องจากมีการชุมนุมทางการเมืองเพื่อขับไล่รัฐบาลหลายครั้ง จนนำไปสู่การเกิดรัฐประหารสองรอบ คือ ในปี พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และปี พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมไปถึงการก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี พ.ศ. 2551-2554 แต่หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2554 ที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ให้กับพรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส. มากที่สุดลำดับที่สอง 159 คน ในขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. 265 คน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เพื่อแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำและจัดให้มีการเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ อย่างไรก็ตามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ได้รับคะแนนเสียงให้กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรครอบที่สอง
การดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคครั้งที่สองในฐานะพรรคฝ่ายค้านดูเหมือนจะมีทำคะแนนนิยมได้ดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ร่าง พรบ. นิรโทษกรรม เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรที่นำไปสู่การถกเถียงถึงการนิรโทษกรรมให้กับนักการเมืองที่มีส่วนได้เสียกับ[2] ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์หลายคนได้ประท้วงร่าง พรบ. ดังกล่าวด้วยการชุมนุมทางการเมืองจัดตั้ง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อให้รัฐบาลถอนร่าง พรบ. ที่ผ่านจากสภาไปแล้ว ผลสุดท้ายรัฐบาลยอมดึงร่าง พรบ. ที่ผ่านการลงมติไปแล้วกลับมาและยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในทางตรงกันข้ามพรรคประชาธิปัตย์ก็มีมติไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยให้เหตุผลว่าการเมืองไทยอยู่ในภาวะล้มเหลว กระบวนการประชาธิปไตยถูกบิดเบือน และแม้พรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งก็จะไม่สามารถคลี่คลายวิกฤตนี้ได้[3] ถือเป็นการไม่ลงเป็นครั้งที่สองหลังจากที่พรรคมีมติไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2549 ภายใต้การนำพรรคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed-Member Apportionment System : MMA) โดยการนับคะแนนเสียงพรรคทั้งประเทศก่อน ถึงจะคำนวณจัดสรรสัดส่วน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมีและได้ระบุบทเฉพาะกาลให้อำนาจ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีทัดเทียมกับ ส.ส. ทาง กกต. ได้กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 24 มีนาคม 2562
แม้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จะแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ให้อำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาล[4] แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้มีมติให้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทุกเขตและส่งชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรายชื่อนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่สามารถส่งรายชื่อได้สูงสุดถึงสามคนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด[5]
นโยบายหลักในการหาเสียงเลือกตั้ง 2562
ก่อนการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2562 นั้น แกนนำพรรคคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกไปร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่น เช่น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และตระกูลเทือกสุบรรณที่เป็นนักการเมืองในภาคใต้ ก็ได้ออกจากพรรคไปเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งทั้งสองพรรคนี้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ผลักดันนักการเมืองรุ่นใหม่กลุ่ม New Dem ขึ้นมาเป็นผู้สมัคร ส.ส. ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ เช่น นายพริษฐ์ วัชรสินธุ นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ นายณัฐภัทร เนียวกุล[6]
ในการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอนโยบาย “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” มุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำสูง โดยการนำเอาชุดนโยบายที่เคยใช้ในช่วงที่เป็นรัฐบาลมาพัฒนาและนำเสนอการช่วยเหลือ เช่น “เกิดปั๊บรับสิทธิเงินแสน” ให้สิทธิคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรรับเบี้ยเด็กเข้มแข็งเดือนแรก 5,000 บาท และเดือนถัดไปเดือนละ 1,000 บาท จนกว่าลูกจะอายุครบแปดขวบ นโยบายเรียนฟรีถึงระดับ ปวส. การประกันรายได้แรงงาน 120,000 บาท/ปี การประกันราคาข้าวตันละ 10,000 บาท ราคายางพารากิโลกรัมละ 60 บาท การบรรจุพยาบาล 12,000 ตำแหน่ง การให้เงิน อสม. อสส. เดือนละ 1,200 บาท ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคก็มีสโลแกนจุดยืน “ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต” ซึ่งเป็นการฉายภาพทางออกจากวงจรอุบาทก์ทางการเมืองด้วยการยึดมั่นว่าการเมืองจะต้องไม่ทุจริต ซึ่งการทุจริตเป็นเหตุให้ทหารเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง[7]
ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประเมินว่าถ้านำคะแนนเสียง 9.8 ล้าน ที่เคยได้รับในการเลือกตั้งปี 2554 มาคำนวณด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 จะได้ ส.ส. 140 ที่นั่ง ลดลงจากการเลือกปี 54 ประมาณ 20 ที่นั่ง แต่ถ้าหากว่าได้ ส.ส. น้อยกว่า 140 เล็กน้อยน่าจะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เนื่องจากมีการแข่งขันหลายพรรคมากขึ้น โดยส่วนตัวยังมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส. เข้าสภาไม่น้อยกว่ากว่า 100 คน แต่ถ้าหากได้ ส.ส. ไม่ถึง 100 คน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค[8] เพราะ ในสภามีจำนวนทั้งหมด 500 คน ตัวเลข ส.ส. 100 คน ซึ่งคิดเป็น 20% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ถือว่ามีนัยยะสำคัญมากในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแบบผสมหลายพรรคการเมือง
โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง
ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง ผู้สมัคร ส.ส. ได้ปราศรัยหาเสียงตามเวทีต่างๆ การลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน แกนนำพรรคก็ได้ตระเวนขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ทั้งในส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง ตลอดจนรายการดีเบตทางโทรทัศน์และสำนักข่าวออนไลน์จำนวนมาก
แต่ในระหว่างช่วงหาเสียงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยการเผยแพร่คลิป “ผมไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี” ในเฟซบุ๊คเพจของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมองว่าการสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นการสืบทอดอำนาจที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งและขัดกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์[9]
ผลที่ตามมา ก็คือ อดีตลูกพรรคคนสำคัญระดับเลขาธิการพรรคที่ประสานความร่วมมือให้นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้ตอบโต้การประกาศของนายอภิสิทธิอย่างรุนแรงว่าการประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นนี้ เท่ากับว่านายอภิสิทธิ์ยืนข้างเดียวกับทักษิณ และถ้าฝ่ายทักษิณเทคะแนนเสียงให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะตอบรับทันทีใช่หรือไม่[10] รวมไปถึงผู้สมัครของพรรคก็ไม่เห็นด้วยกับการประกาศจุดยืนของนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ในการไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
“พรรคต่ำร้อย” ในภาวะเลือดไหลไม่หยุด
ผลการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงทั้งประเทศ 3.9 ล้านเสียง ลดลงจากการเลือกตั้งในปี 2554 มากถึง 5.9 ล้าน ได้ ส.ส. ทั้งหมด 53 คน ลดลงจากปี 2554 จำนวน 106 คน สาเหตุสำคัญที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. และคะแนนลดลง พบว่า ส.ส. เขตของพรรคที่แชมป์เก่าในพื้นที่เสียคะแนนเสียงและพ่ายแพ้ให้กับพรรคการเมืองอื่นเป็นอย่างมาก เช่น นายอรรถวิชญ์ สุวรรณภักดี นายวิทยา แก้วภราดัย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม นายวิรัช ร่มเย็น นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัตินายศิริโชค โสภา
เมื่อได้ ส.ส. น้อยกว่า 100 คน ตามที่หัวหน้าพรรคประกาศไว้ตอนหาเสียงถึง 47 คน ผลที่ตามมาคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงความรับผิดชอบด้วยลาออกจากหัวหน้าพรรคและ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แต่ยังคงเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค หลังจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้มีการเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งได้นำพรรคเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส. 53 คน แต่ก็ได้รัฐมนตรีมาถึง 7 ตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ
ภายหลังจากการตั้งรัฐบาลก็ได้มี ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ลาออกไปร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่นหลายคน เช่น นายกรณ์ จาติกวนิช ซึ่งเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ และ นายอรรถวิช สุวรรณภักดี อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต ได้ลาออกจากพรรคไปตั้งพรรคกล้า นายพีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส. บัญชีรายชื่อ ลาออกไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต และ ผู้สมัครหัวหน้าพรรค ลาออกไปร่วมงานกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย[11] ถือเป็นการจุดกระแส “เลือดไหลไม่หยุด” ของแกนนำและสมาชิกคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ที่ร่วมงานกันมาอย่างยาวนาน
กระแสวิพากษ์วิจารณ์
นักวิชาการและสื่อมวลชนจำนวนมากได้พยายามวิเคราะห์ปัจจัยว่าเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. เข้าสภาต่ำกว่าหนึ่งร้อยคน เกิดจากการที่นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่ รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย ได้วิเคราะห์ว่าเกิดจากการเมืองแบบเก่า มีวัฒนธรรมองค์กร ระบบอาวุโสในพรรค และกระบวนการกำหนดนโยบายที่มาจากคนรุ่นเดิมๆ ทำให้คนรุ่นใหม่ในพรรคไม่มีพื้นที่เสนอนโยบายที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง[12] สอดคล้องกับความเห็นของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่อธิบายว่าพรรคต่ำร้อยเกิดจากกระแสในระดับโลกที่พรรคการเมืองเก่าแก่ก่อตั้งมานาน มีผู้สมัครเป็น ส.ส. เก่าหลายสมัย ปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงต่อความต้องการของประชาชน รวมไปถึงการผลิตนักการเมืองรุ่นใหม่ช้าและจำนวนน้อยเกินไป แม้จะมีกลุ่ม New Dem ที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็ตาม ทำให้เสียเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ[13]
ส่วนพริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตสมาชิกกลุ่ม New Dem และผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบเขตมองว่า คนที่ติดตามข่าวสารทางการเมืองแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.คนที่ชอบการบริหารประเทศของนายทักษิณ ชินวัตร และไม่ชอบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 2.คนที่ชอบการบริหารประเทศของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 3. คนที่ไม่ชอบทั้งสองฝ่าย คือ ไม่ชอบการทุจริตคอร์รัปชันของนายกษิณ ชินวัตร และไม่ชอบการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะฉะนั้นคนที่ชื่นชอบนายทักษิณ ชินวัตร มีพรรคเพื่อไทยเป็นทางเลือก ขณะที่ คนที่ชื่นชอบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีพรรคพลังประชารัฐ เป็นตัวเลือก โดยคนที่ไม่ชอบทั้ง 2 พรรค ส่วนมากไปรวมตัวอยู่ที่พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งก็ช่วงชิงฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ไปอย่างมาก จึงทำให้การเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคต่ำร้อย[14]
บรรณานุกรม
“4 พรรค "ขายฝัน" นโยบายเศรษฐกิจ จัดใหญ่-แจกหนัก แก้ปัญหาปากท้อง.” ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ (28 ธันวาคม 2561) เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/content/367487>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
“การลาออกของนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์.” ผู้จัดการออนไลน์. (17 มกราคม 2563). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/daily/detail/9630000005367>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
“จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หรือไม่?.” FB: Abhisit Vejjajiva. เข้าถึงจาก <https://www.facebook.com/Abhisit.M.Vejjajiva/videos/774934712871541/>. (เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563)
ฐิติกร สังข์แก้ว. สราวุธ ทับทอง. และ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. 'จุด (ไม่) จบ: จุดไม่จบช่วงฉากการเมืองไทย '48-59 (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า. 2559). หน้า 130-143.
“ถึงเวลาประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนแปลง – ‘ไอติม พริษฐ์’ กับวิกฤตศรัทธาในสายตาคนรุ่นใหม่.” ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ (4 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.the101.world/parit-wacharasindhu-interview/>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
“นักรัฐศาสตร์ ชี้ ปชป. เป็นพรรคต่ำร้อย เหตุทำการเมืองแบบเก่า.” สยามรัฐออนไลน์ (25 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/71338>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
“ปชป.ชูนโยบายเกิดปั๊บฯ สร้างคน เย้ย พปชร. ลอกมาใช้เกทับแจกเงินไม่ระบุที่มางบ.” ผู้จัดการออนไลน์ (13 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9620000015486>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
“ประชาธิปัตย์ เตรียมสรุปชื่อผู้สมัครลงเลือกตั้ง.” ThaiPBS (26 ธันวาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/276549>. (เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
“มาร์ค แจงยิบมติ ปชป. ไม่ลงเลือกตั้ง เหตุการเมืองล้มเหลว.” ไทยรัฐออนไลน์. (21 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/390878>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
“มาร์ค โชว์จุดยืน ไม่เห็นด้วยร่าง รธน..” ไทยรัฐออนไลน์ (11 เมษายน 2559) เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/604237>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
“เลือกตั้ง 2562 : เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ เผชิญอดีตส.ส. แหกค่าย-ย้ายพรรคนับร้อย.” บีบีซีไทย. (27 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-46353749>. (เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
“เลือกตั้ง 2562: อนาคต อภิสิทธิ์ ในวันที่ประชาธิปัตย์ตกที่นั่ง “พรรคต่ำร้อย”.” บีบีซีไทย (24 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47685679>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
““อนาคต” ประชาธิปัตย์ “พรรคต่ำร้อย.” รายการตอบโจทย์ ไทยพีบีเอส (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://program.thaipbs.or.th/TobJote/episodes/59664>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
“อภิสิทธิ์ เดิมพัน ปชป. คว้า ส.ส. ต่ำ 100 พร้อมไขก็อกหัวหน้าพรรค.” Voice TV (31 ธันวาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://voicetv.co.th/read/l74Dm3sp->. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
อยุทธ์ เพชรอินทร (2537). “อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์.” วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต. ภาควิชาการปกครอง. บัณฑิตวิทยาลัย. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อ้างอิง
[1] อยุทธ์ เพชรอินทร, “อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์,” (วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต, ภาควิชาการปกครอง, บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537), หน้า 115.
[2] โปรดดู ฐิติกร สังข์แก้ว, สราวุธ ทับทอง, และ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, 'จุด (ไม่) จบ: จุดไม่จบช่วงฉากการเมืองไทย '48-59 (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2559), หน้า 130-143.
[3] “มาร์ค แจงยิบมติ ปชป. ไม่ลงเลือกตั้ง เหตุการเมืองล้มเหลว,” ไทยรัฐออนไลน์, (21 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/390878>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
[4] “มาร์ค โชว์จุดยืน ไม่เห็นด้วยร่าง รธน.,” ไทยรัฐออนไลน์ (11 เมษายน 2559) เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/604237>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
[5] “ประชาธิปัตย์ เตรียมสรุปชื่อผู้สมัครลงเลือกตั้ง,” ThaiPBS (26 ธันวาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/276549>, (เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
[6] “เลือกตั้ง 2562 : เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ เผชิญอดีตส.ส. แหกค่าย-ย้ายพรรคนับร้อย,” บีบีซีไทย. (27 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-46353749>, (เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
[7] “4 พรรค "ขายฝัน" นโยบายเศรษฐกิจ จัดใหญ่-แจกหนัก แก้ปัญหาปากท้อง,” ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ (28 ธันวาคม 2561) เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/content/367487>, เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563. และ “ปชป.ชูนโยบายเกิดปั๊บฯ สร้างคน เย้ย พปชร. ลอกมาใช้เกทับแจกเงินไม่ระบุที่มางบ,” ผู้จัดการออนไลน์ (13 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9620000015486>, เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
[8] “อภิสิทธิ์ เดิมพัน ปชป. คว้า ส.ส. ต่ำ 100 พร้อมไขก็อกหัวหน้าพรรค,” Voice TV (31 ธันวาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://voicetv.co.th/read/l74Dm3sp->, เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
[9] “จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หรือไม่?,” FB: Abhisit Vejjajiva, เข้าถึงจาก <https://www.facebook.com/Abhisit.M.Vejjajiva/videos/774934712871541/>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
[10] “เลือกตั้ง 2562: อนาคต อภิสิทธิ์ ในวันที่ประชาธิปัตย์ตกที่นั่ง “พรรคต่ำร้อย”,” บีบีซีไทย (24 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47685679>, เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
[11] “การลาออกของนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์,” ผู้จัดการออนไลน์, (17 มกราคม 2563), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/daily/detail/9630000005367>, เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
[12] “นักรัฐศาสตร์ ชี้ ปชป. เป็นพรรคต่ำร้อย เหตุทำการเมืองแบบเก่า,” สยามรัฐออนไลน์ (25 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/71338>, เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
[13] “อนาคต” ประชาธิปัตย์ “พรรคต่ำร้อย,” รายการตอบโจทย์ ไทยพีบีเอส (26 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://program.thaipbs.or.th/TobJote/episodes/59664>, เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.
[14] “ถึงเวลาประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนแปลง – ‘ไอติม พริษฐ์’ กับวิกฤตศรัทธาในสายตาคนรุ่นใหม่,” ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ (4 เมษายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.the101.world/parit-wacharasindhu-interview/>, เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.