รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:56, 19 ตุลาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ


ความนำ

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ให้ฉายาว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” สะท้อนเจตนารมณ์ของคณะผู้ร่างที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดได้เป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอันถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ รัฐธรรมนูญจึงได้เพิ่มบทบาทองค์กรอิสระและศาลให้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมรัฐบาลและฝ่ายการเมืองเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตั้งแต่ขั้นตอนของการคัดกรองคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ไปจนกระทั่งมาตรการในการถอดถอนหรือลงโทษที่รุนแรงต่อผู้กระทำความผิด อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยตลอดถึงได้แสดงความวิตกกังวลต่อบทบัญญัติต่างๆ อันเป็นมาตรการ “ปราบโกง” ในรัฐธรรมนูญ โดยมองว่าเป็นเพียงข้อกล่าวอ้างของทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น ไม่อาจที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสกัดกั้นหรือเล่นงานนักการเมืองหรือฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ

 

กลไกปราบโกงในรัฐธรรมนูญ

          นอกจากรัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายที่รวบรวมบทบัญญัติว่าด้วยระเบียบกฎเกณฑ์ที่สำคัญอันสอดคล้องกับอุดมการณ์หลักในการปกครองประเทศ รวมถึงกำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่แก่สถาบันทางการเมืองและองค์กรต่างๆ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับซึ่งถูกร่างขึ้นผ่านเจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแต่ละชุด ยังอาจมีเนื้อหาสาระที่มุ่งตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาทางการเมืองภายใต้เงื่อนไขเฉพาะของแต่ละช่วงสมัยอีกด้วย ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ จึงเป็นผลผลิตหนึ่งที่เกิดขึ้นบนกระแสธารของการปฏิรูปประเทศ อันเป็นหลักหมายสำคัญภายหลังจากที่รัฐบาลของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศและมุ่งมั่นที่จะแก้ไข บรรเทาปัญหาของสังคมการเมืองในหลากหลายมิติ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติมุ่งเน้นให้ความสำคัญ คือการวางกลไกหรือมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยเฉพาะการทุจริตในภาครัฐซึ่งส่งผลกระทบเสียหายอย่างยิ่งต่อประเทศชาติและประชาชน นอกจากนี้ การแสดงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลยังเป็นการชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาทางการเมืองก่อนหน้าที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งบรรยากาศทางการเมืองที่เต็มไปด้วยข้อกล่าวหาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตของภาครัฐ และปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อกล่าวหาต่างๆ มีความเกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจขณะนั้นโดยเฉพาะคือบรรดานักการเมือง อันเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติต้องเข้ายึดอำนาจ

          ฉะนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญซึ่งถูกร่างขึ้นโดยหยิบชูสาระสำคัญเรื่องการ “ปราบโกง” ขึ้นมาเป็นจุดขายนี้ จึงได้วางกลไกและมาตรการต่างๆ ที่เข้มงวดเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยสอดแทรกอยู่ในมาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าสู่เส้นทางการเมืองที่ระบุให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องไม่เคยมีความผิดฐานทุจริต ผิดจริยธรรม รวมถึงเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ (มาตรา 98) หรือผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ (มาตรา 160) นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มบทบาทและอำนาจหน้าที่ให้กับศาลและองค์กรอิสระ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจในการแจกใบแดงชั่วคราวแก่ผู้สมัครก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง (มาตรา 224 และ 225) หรือการให้อำนาจแก่ศาลฎีกาในการพิจารณาเพิกถอนสิทธิผู้สมัครภายหลังการประกาศผลเลือกตั้งตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (มาตรา 226)[1]

          นอกจากขั้นตอนการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รัฐธรรมนูญยังได้วางมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบและถอดถอนนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการยื่นถอดถอนนักการเมืองที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามผ่านช่องทางของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา (มาตรา 82) การยื่นถอดถอนนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณ (มาตรา 144) หรือโดยวิธีการลงมติไม่ไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 151)[2] องค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังมีอำนาจหน้าที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในกรณีที่เห็นว่านักการเมืองคนใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม (มาตรา 82) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ที่มีอำนาจหน้าที่ในการยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดหรือศาลฎีกาเพื่อถอดถอนนักการเมืองที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม หรือมีความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติหรือทุจริตต่อหน้าที่ (มาตรา 235)[3]

          จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอันเป็นมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตถือได้ว่ามีความเข้มงวดและมุ่งเน้นควบคุมจัดการบรรดานักการเมืองเป็นการเฉพาะ มีบทกำหนดโทษที่รุนแรงทั้งการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตลอดถึงการตัดสิทธิ์ทางการเมือง อาทิ สิทธิในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น มาตราการที่เข้มงวดเหล่านี้ดูจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะผู้ร่างที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นกลไก “ปราบโกง” ที่มีประสิทธิภาพ ดังความคิดเห็นของนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้แสดงความเห็นไว้ว่า “ประเด็นสำคัญที่สุดคือ
ร่างรัฐธรรมนูญที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง และเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งปราบปรามการทุจริตอย่างแท้จริงทั้งในวงราชการและในเวทีการเมือง”[4] หรือดังที่อุดม รัฐอมฤต อีกหนึ่งโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้อธิบายความถึงมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ที่ว่า

 

ความคาดหวังในประเด็นสำคัญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่จะประสงค์ให้มีกลไกและมาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งมีการกล่าวขวัญกันอย่างมากว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น ‘รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง’ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว รัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่แค่ปราบโกงเท่านั้น แต่ยังมุ่งให้การบริหารงานของรัฐมีประสิทธิภาพตามความต้องการของประชาชนด้วย[5]

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตุว่าแม้รัฐธรรมนูญจะได้พยายามขยายช่องทางการควบคุม ตรวจสอบ
ไป จนถึงการลงโทษนักการเมืองที่เข้าข่ายกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริต โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทให้แก่ศาลและองค์กรอิสระ ทว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 กลับตัดบทบัญญัติที่ให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 และฉบับ พ.ศ.2550 ออกไป[6]

 

เสียงวิจารณ์: รัฐธรรมนูญปราบ (ใคร) โกง

          ดังจะเห็นว่ากลไกหรือมาตรการต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้ชื่อว่า “ปราบโกง” นั้น
มุ่งควบคุมตรวจสอบนักการเมืองเป็นการเฉพาะ ทั้งยังมีบทลงโทษต่อผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตที่รุนแรง จึงนำมาสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย โดยมีทั้งผู้ที่ไม่เชื่อว่าบรรดากลไกต่างๆ เหล่านี้จะสามารถลดล้างปัญหาการทุจริตหรือ “ปราบโกง” ได้จริง ไปจนถึงเสียงวิตกกังวลว่ารัฐธรรมนูญจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อมุ่งสกัดหรือเล่นงานนักการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือนักการเมืองที่อยู่ในขั้วตรงข้ามกับรัฐบาล

          นับตั้งแต่ขั้นตอนของการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ดังที่เทพไท เสนพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นไว้ว่านอกจากรัฐธรรมนูญจะมีปัญหาในแง่ความชอบธรรมของที่มาที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว กลไก “ปราบโกง” ในรัฐธรรมนูญยังเป็นเพียงวาทกรรมลวงตาที่ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยกขึ้นมากล่าวอ้าง ทั้งที่ความเป็นจริงปัญหาการทุจริตมิได้รับการแก้ไขหรือทำให้ลดน้อยลง ซ้ำยังอาจเปิดช่องให้มีการทุจริตเพิ่มมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ จากการยกเลิกกระบวนการการถอดถอนผู้กระทำผิดให้คงเหลือแต่กลไกของศาลและองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เท่านั้น[7]

          เช่นเดียวกับในมุมมองของพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่มองว่าการให้หน่วยงานหรือองค์กรใดก็ตามสามารถใช้ดุลยพินิจอย่างเปิดกว้าง ยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้มีการทุจริตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ถูกแต่งตั้งขึ้นจากเครือข่ายอำนาจที่ยึดโยงกับคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ยิ่งทำให้ระบบการตรวจสอบหรือถ่วงดุลขาดประสิทธิภาพ[8] ขณะที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้แสดงความเห็นต่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไว้ในทำนองเดียวกันโดยเห็นว่า “ปราบโกง” เป็นเพียงภาษาทางการตลาดที่ทางคณะผู้ร่างหยิบขึ้นมาใช้เพื่อจับอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคม หากทว่าการแก้ไขปัญหาการทุจริตหรือ “ปราบโกง” อย่างได้ผลนั้น ลำพังการเขียนเป็นกฎหมายคงมิอาจเพียงพอ ยังจำเป็นต้องให้สังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมและสามารถเป็นแรงกดดันอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้[9]

นอกจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่มองว่ารัฐธรรมนูญไม่สามารถเป็นกลไกปราบโกงได้ดังที่กล่างอ้างแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังก่อเกิดข้อถกเถียงที่สำคัญอีกหลายประการ อาทิ การที่รัฐธรรมนูญได้จัดวางกลไกซึ่งเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ไม่ว่าผ่านการเขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือการการกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งจำนวน 250 คน และมีสิทธิในการร่วมลงคะแนนเสียงเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หรือในประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กระทำได้อย่างยากลำบาก เป็นต้น[10]

 

บทสรุป: เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ปราบโกง

          แม้ว่าภายหลังการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐจะสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล อันส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกวาระหนึ่ง แต่ก็เป็นดังที่หลายฝ่ายได้คาดหมายว่ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ต้องเผชิญกับแรงกดดันและกระแสต่อต้านทั้งจากการที่ถูกมองว่าเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ รวมถึงข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตของบรรดานักการเมืองที่ร่วมรัฐบาล ทว่ากลไกต่างๆ ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดูจะไร้ประสิทธิภาพเมื่อจำต้องตรวจสอบเอาผิดนักการเมืองในฝ่ายตนเอง จนเกิดเป็นข้อครหาว่ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ[11] นำไปสู่การตั้งฉายาต่างๆ ที่เสียดสีรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงเก๊”[12] “รัฐธรรมนูญไม่ตรงปก”[13] หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับปล่อยโกง”[14] ทั้งยังถูกมองว่าหากปล่อยให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไป จะยิ่งเป็นเงื่อนไขให้ความขัดแย้งทางการเมืองทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น[15] จึงนำมาสู่การที่หลายฝ่ายออกมาเสนอและกดดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนในที่สุดได้นำมาสู่การคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ โดยมีนายพีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานคณะกรรมาธิการ

 

 

 

บรรณานุกรม

“'เจ้หน่อย'ลั่นรัฐธรรมนูญ ฉบับส่งเสริมโกง-จำเป็นต้องแก้.” เดลินิวส์ออนไลน์. (22 เมษายน 2563). เข้าถึงจาก <https://www.dailynews.co.th/politics/731601>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

'เทพไท'หนุนตั้งกมธ.ศึกษาแก้รธน. อัด'รธน.ปราบโกง'แค่วาทกรรมลวงตา.” แนวหน้าออนไลน์. (22 เมษายน 2563). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/459672>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563

“‘ปชป.-พท.’ อัด รธน.ปราบโกง ‘มาร์ค’ บอกปราบแต่ฝ่ายตรงข้าม ‘พงษ์เทพ’ อัดใช้ดุลพินิจทำปราบโกงพัง.” มติชนสุดสัปดาห์. (22 เมษายน 2563). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_
957639>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์. “รายงาน: รัฐธรรมนูญ 2560 "ต้านโกง" หรือ "ทุนขุนนาง".” บีบีซี.
(4 เมษายน 2560). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-39487584>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“"เพื่อไทย" ให้ฉายารัฐธรรมนูญฉบับปล่อยโกง.” สยามรัฐออนไลน์. (27 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/87166>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“สมชัย ชี้ถึงเวลาแก้รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงเก๊.” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์. (11 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/600338>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

สมชาย ปรีชาศิลปกุล. “รัฐธรรมนูญแสนงาม: ความใฝ่ฝันจากนักร่างรัฐธรรมนูญ 2560.” the101. (11 มีนาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.the101.world/dream-of-constitution-drafters>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: กลไกการปราบ(โกง) “นักการเมือง”.” iLAW. (7 มีนาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://
www.ilaw.or.th/node/4044>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“'เอี่ยม'เหน็บรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงเก๊ ตอนร่างโฆษณาเกินจริง.” ไทยโพสต์ออนไลน์. (5 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/49577>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

 

อ้างอิง

[1] “สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: กลไกการปราบ(โกง) “นักการเมือง”,” iLAW, (7 มีนาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://www.
ilaw.or.th/node/4044>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[2] “สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: กลไกการปราบ(โกง) “นักการเมือง”,” iLAW, (7 มีนาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://www.
ilaw.or.th/node/4044>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[3] “สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: กลไกการปราบ(โกง) “นักการเมือง”,” iLAW, (7 มีนาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://www.
ilaw.or.th/node/4044>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[4] สมชาย ปรีชาศิลปกุล, “รัฐธรรมนูญแสนงาม : ความใฝ่ฝันจากนักร่างรัฐธรรมนูญ 2560,” the101, (11 มีนาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.the101.world/dream-of-constitution-drafters>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[5] สมชาย ปรีชาศิลปกุล, “รัฐธรรมนูญแสนงาม : ความใฝ่ฝันจากนักร่างรัฐธรรมนูญ 2560,” the101, (11 มีนาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.the101.world/dream-of-constitution-drafters>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[6] “สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: กลไกการปราบ(โกง) “นักการเมือง”,” iLAW, (7 มีนาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://www.
ilaw.or.th/node/4044>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[7] 'เทพไท'หนุนตั้งกมธ.ศึกษาแก้รธน. อัด'รธน.ปราบโกง'แค่วาทกรรมลวงตา,” แนวหน้าออนไลน์, (22 เมษายน 2563). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/459672>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563

[8] “‘ปชป.-พท.’ อัด รธน.ปราบโกง ‘มาร์ค’ บอกปราบแต่ฝ่ายตรงข้าม ‘พงษ์เทพ’ อัดใช้ดุลพินิจทำปราบโกงพัง,” มติชนสุดสัปดาห์, (22 เมษายน 2563). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_957639>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[9] “‘ปชป.-พท.’ อัด รธน.ปราบโกง ‘มาร์ค’ บอกปราบแต่ฝ่ายตรงข้าม ‘พงษ์เทพ’ อัดใช้ดุลพินิจทำปราบโกงพัง,” มติชนสุดสัปดาห์, (22 เมษายน 2563). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_957639>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[10] พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์. “รายงาน: รัฐธรรมนูญ 2560 "ต้านโกง" หรือ "ทุนขุนนาง",” บีบีซี, (4 เมษายน 2560). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-39487584>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[11] “'เอี่ยม'เหน็บรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงเก๊ ตอนร่างโฆษณาเกินจริง,” ไทยโพสต์ออนไลน์, (5 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/49577>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[12] “สมชัย ชี้ถึงเวลาแก้รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงเก๊,” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, (11 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/600338>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[13] “'เจ้หน่อย'ลั่นรัฐธรรมนูญ ฉบับส่งเสริมโกง-จำเป็นต้องแก้,” เดลินิวส์ออนไลน์, (22 เมษายน 2563). เข้าถึงจาก <https://www.dailynews.co.th/politics/731601>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[14] “"เพื่อไทย" ให้ฉายารัฐธรรมนูญฉบับปล่อยโกง,” สยามรัฐออนไลน์, (27 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/87166>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[15] “'เอี่ยม'เหน็บรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงเก๊ ตอนร่างโฆษณาเกินจริง,” ไทยโพสต์ออนไลน์, (5 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/49577>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.