ม้ามืดเป็นม้าเต็ง
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ
ความนำ
“ม้ามืดเป็นม้าเต็ง” เป็นวลีที่เปรียบเปรยถึงพรรคภูมิใจไทย ในช่วงศึกเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองขนาดกลางที่ไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นเมื่อเทียบกับกระแสขั้วการเมืองอื่นๆ เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ ทั้งนี้ ในสังคมการเมืองโดยทั่วไปจะมักคุ้นเคยเฉพาะเพียงนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และสมาชิกในกลุ่มเพื่อนเนวินเท่านั้น จนกระทั่งภายหลังการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคภูมิใจไทยได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งหมด 51 คน จึงส่งผลให้พรรคภูมิใจไทยมีอำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองอื่นๆ อันส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลในฐานะพรรคตัวแปร โดยเฉพาะช่วงที่เสียงในสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ทำให้พรรคภูมิใจไทยมีลักษณะเป็น “ม้าเต็ง” กล่าวคือ มีอิทธิพลต่อนโยบาย และเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นอันมาก นอกจากนี้เมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัติย์ ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า หากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเหตุให้ต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตัวเลือกลำดับถัดไปของพรรคร่วมรัฐบาลจึงมีความเป็นไปได้สูงว่านายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยจะสามารถก้าวขึ้นสู่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้อสันนิษฐานและการคาดการณ์ความเป็นไปได้เหล่านี้ล้วนทำให้พรรคภูมิใจไทยมีฐานะเป็นม้าเต็งที่อาจจะเข้าเส้นชัยไปในท้ายที่สุด
พรรคภูมิใจไทย กับความเป็นมา
พรรคภูมิใจไทยก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 มีนายพิพัฒน์ พรมวราภรณ์ เป็นหัวหน้าพรรคนแรก และนายมงคล ศรีอ่อน เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก ต่อมาเมื่อปลายปี 2551 ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองของกลุ่มเพื่อนเนวินที่หันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ในการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชาชนพ้นจากตำแหน่ง ดังวลีเด็ดของนายเนวิน ชิดชอบ ที่ว่า “มันจบแล้วครับนาย” ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นการสื่อสารไปยัง ดร. ทักษิณ ชินวัตร จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้พรรคภูมิใจไทยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเพื่อสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทยได้ดูแลกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพานิชย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2552 ได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยชุมใหม่ โดยได้เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคเป็นนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล และนางรพทิวา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรค อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าการก่อตั้งพรรคภูมิใจไทยในช่วงแรกนั้นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงที่สุดในพรรคคงหลีกหนีไม่พ้นกลุ่มเพื่อนเนวิน ดังเห็นได้จากเหตุการณ์เปลี่ยนขั้วทางการเมืองในช่วงปลายปี 2551 ในเวลาต่อมา เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 ผลปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในขณะเดียวกันพรรคภูมิใจไทยได้จำนวนที่นั่งเพียง 34 ที่นั่งเท่านั้น[1] และได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ผลจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้พรรคภูมิใจไทยถูกลดบทบาทลงกลายเป็นพรรคขนาดกลางนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[2]
เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ได้เปิดให้มีการเลือกตั้งในปี 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกุล ในฐานะหัวหน้าพรรคซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคตั้งแต่ปี 2555[3] ได้นำพรรคภูมิใจไทยลงสมัครรับเลือกตั้ง ในช่วงนี้เองที่พรรคฯ ได้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอนโยบายที่แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กัญชาเสรี, Uber เสรี, ขึ้นเงินเดือน อสม.[4] ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้มีการดึงตัวผู้สมัครที่มีชื่อเสียงหลายคนมาร่วมงานด้วย เช่น นายภราดร-กรวีร์ ปริศนานันทกุล นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เจ้าของไทบ้านเดอะซีรีย์ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ นักการเมืองจากจังหวัดอุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา นอกจากนี้ยังมี พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายเดชา ศิริภัทร ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญ และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เจ้าของธุรกิจน้ำมันพีที (PT) ก่อนการเลือกตั้ง พรรคภูมิใจได้ประกาศว่าจะขอเป็นม้ามืด เข้าเส้นชัยในการเลือกตั้ง มีบทบาทในการก่อตั้งรัฐบาล[5] หลายฝ่ายจึงวิเคราะห์กันว่า “พรรคม้ามืด” นี้อาจจะกลายเป็น “ม้าเต็ง” ในอีกขั้วหนึ่งของการเมืองหลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่าผลการเลือกตั้งในคราวนั้น พรรคภูมิใจไทยได้จำนวนถึง 51 ที่นั่ง (หาอ้างอิงของ กกต.)[6] ทำให้พรรคภูมิใจไทยกลายเป็นม้ามืดทางการเมืองตามที่ประกาศไว้ก่อนเลือกตั้ง ต่อมาเมื่อมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 พรรคภูมิใจไทยได้มีการเชิญชวนอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่เข้าร่วมพรรคด้วย ทำให้พรรคภูมิใจไทยมี ส.ส. ถึง 61 คน กลายเป็นพรรคที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในสภาผู้แทนราษฎร[7] อันส่งผลให้พรรคภูมิใจไทยมีสถานะเป็นม้าเต็งตัวหนึ่งทางการเมืองไทยที่มีผลต่อความอยู่รอดเสถียรภาพของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาภาพรวมของพรรคภูมิใจไทยแล้วพบว่า พรรคภูมิใจไทยประกอบด้วย กลุ่มหลักๆ 3-4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเพื่อนเนวิน อันประกอบไปด้วย นายศุภชัย ใจสมุทธ,นายศุภชัย โพธิ์สุ, นายชัย ชิดชอบ, นายอนุทิน ชาญวีรกุล เป็นต้น 2) กลุ่มพรรคชาติไทยพัฒนาเดิม อันประกอบไปด้วย นายภราดร - กรวีร์ ปริศนานันทกุล, นายศิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นต้น กลุ่ม ส.ส. ภาคใต้ ที่นำโดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ 3) กลุ่มอนาคตใหม่เดิม อันประกอบไปด้วย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามา เช่น นายฐิตินันท์ แสงนาค นายอนาวิล รัตนสถาพร นายวิรัช พันธุมะผล ด้วยเหตุนี้ อาจกล่าวได้ว่าภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน พรรคภูมิใจไทยภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกุล เป็นพรรคการเมืองตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งนี้ เมื่อพิจารณากลุ่มก้อนทางการเมืองและความเคลื่อนไหวภายในพรรคแล้วก็จะพบว่าเป็นการเมืองที่มีเอกภาพมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองอื่นๆ
ในปัจจุบัน
พรรคภูมิใจไทย กับการหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562
ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 บรรดาพรรคการเมืองต่างมีกลยุทธ์ในการหาเสียงที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ที่ชูแคมเปญ “พอหรือยัง 5 ปี รวยกระจุก จนกระจาย, เราพร้อมแล้ว ได้เวลาคนรุ่นใหม่ แก้ไขประเทศ” พรรคพลังประชารัฐที่มีรูปพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คู่กับผู้สมัครในแต่ละเขต แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเสนอชื่อเคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคชาติพัฒนา ชูรูปถ่าย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค คู่กับผู้สมัคร พร้อมข้อความ “ชาติพัฒนา ไม่มีปัญหา #NO PROBLEM” พรรคประชาธิปัตย์ออกแคมเปญไม่สนับสนุนคนโกง และไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ อยู่ตรงกลางเป็นก๊กที่สาม พรรคเพื่อไทยเอง ใช้ตัวย่อ พท. โทนสีแดง-น้ำเงิน เป็นหลัก เน้นตัวโลโก้และหมายเลขของผู้สมัคร บางพื้นที่มีการขึ้นป้ายรูปคู่ โดยใช้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตบัญชีรายชื่อนายกฯ ในป้ายหาเสียง ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้นชูนโยบาย “ลดอำนาจรัฐ ชูเรื่องกัญชาไทย ปลูกได้เสรี แก้ พ.ร.บ.ยาเสพติด กัญชา เพื่อการแพทย์ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างความร่ำรวยให้คนไทย #ทลายทุกข้อจำกัด เพื่อปากท้องประชาชน” ตามป้ายหาเสียง[8]
เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วจะเห็นว่าแต่ละพรรคการเมืองต่างมียุทธศาสตร์การหาเสียงที่แตกต่างกันไป แต่พรรคภูมิใจไทยกลับเป็นพรรคที่มีนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ มากที่สุด กล่าวคือ ในบรรดาพรรคการเมืองอื่นๆ นั้น ใช้การหาเสียงแนวทางใหม่ เช่น พรรคอนาคตใหม่ที่ชูประเด็นคนรุ่นใหม่ รูปแบบเวทีปราศรัยแบบใหม่ ฯลฯ ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการ กระจายอำนาจ หรือแนวทางเดิม เช่น พรรคพลังประชารัฐนั้นใช้นโยบายหาเสียงโดยอิงจากนโยบายรัฐบาล เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, มารดาประชารัฐ เป็นต้น ใช้นโยบายแบบเศรษฐกิจแบบบนลงล่าง ให้ทุนใหญ่เป็นตัวนำทางเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทยที่ใช้การหาเสียงแบบอิงผลงานความสำเร็จในสมัยที่ตนเองเคยเป็นรัฐบาล เช่น เปิดเวทีที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์กรมหาชน) ซึ่งถือเป็นต้นแบบโรงพยาบาลที่บริหารจัดการด้วยตนเอง มีรายได้เป็นของตัวเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งส่วนกลางมากนัก พรรคชาติพัฒนาที่ชูสโลแกน NO PROBLEM ความสำเร็จสมัยนายกชาติชาย ชุณหวัณ แต่พรรคภูมิใจไทยกลับกล้าใช้นโยบายที่แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น กัญชาเสรี ปลดล็อค Uber พักหนี้ กยศ. บุรีรัมย์โมเดล ซึ่งนโยบายเหล่านี้ถือได้ว่าอยู่ในความสนใจของประชาชนจำนวนไม่น้อย อาจจะกล่าวได้ว่ามีเพียงแค่พรรคภูมิใจไทยเท่านั้นที่กล้าเลือกใช้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบนำเรื่องใต้ดินมาอยู่บนดิน และเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Shearing Economy) เปิดกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อยได้มีโอกาสตั้งตัวด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็น การปลูกต้นกัญชาขาย การขับ Uber มีเงินเก็บหลังจากเรียนจบแล้ว ฯลฯ นโยบายเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของพรรคภูมิใจไทยก็ว่าได้
นอกจากตัวของนโยบายแล้วคุณสมบัติของผู้สมัครก็มีความสำคัญไม่ยิ่งย่อยกว่ากัน การเลือกตั้งในครั้งนี้พรรคภูมิใจไทยได้สมาชิกพรรคที่ถือว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการได้สองพี่น้องปิศนานันทกุล[9] ซึ่งหมายถึงการได้คะแนนจากจังหวัดอ่างทองทั้งจังหวัด
การได้นายชาดา ไทยเศรษฐ[10] ซึ่งก็คือเสียงจังหวัดอุทัยธานีทั้งจังหวัด ขณะเดียวกันก็ได้นายพิพัฒน์
รัชกิจประการ ซึ่งถือว่าเป็นหัวหอกสำคัญในการได้มาซึ่ง ส.ส. จากจังหวัดในภาคใต้ถึง 8 ที่นั่ง ทั้งที่ปี 2554 เคยได้เพียง 1 ที่นั่งเท่านั้น
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณากลยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรคภูมิใจไทยดูจะเรียบง่าย แต่กลับได้ผลเกินคาด นั่นคือ การรักษาฐานที่มั่นเดิมไม่ให้หายไปไหน และเพิ่มที่นั่งใหม่ผ่าน ส.ส. ที่เข้ามา กล่าวคือ ในการเลือกตั้งปี 2554 นั่นพรรคภูมิใจไทยมีฐานที่มั่นอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และกระจายตามภาคอื่นๆ เพียงเล็กน้อย จนมีที่นั่งเพียง 34 ที่นั่ง แต่การเลือกตั้งในปี 2562 พรรคภูมิใจไทยยังคงรักษาที่นั่งพรรคเดิมของตนได้อย่างเหนียวแน่น ประกอบกับได้ที่นั่งเพิ่มจากตัว ส.ส.ที่ย้ายพรรคเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นจากจังหวัดอุทัยธานี อ่างทอง ศรีสะเกษ เป็นต้น จนได้จำนวน ส.ส. ถึง 51 ที่นั่ง[11] แม้จะเป็นยุทธศาสตร์ที่เรียบง่าย แต่ทำได้ยากยิ่ง เนื่องจากทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ต่างก็ล้มเหลวในการใช้ยุทธศาสตร์นี้อย่างหมดรูป
พรรคภูมิใจไทย กับเหตุการณ์หลังจากการเลือกตั้ง
เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงในวันที่ 24 มีนาคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศจำนวนส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ ผลคือ พรรคเพื่อไทยได้ไป 137 ที่นั่ง, พรรคพลังประชารัฐ 116 ที่นั่ง, พรรคอนาคตใหม่ 80 ที่นั่ง, พรรคประชาธิปัตย์ 52 ที่นั่ง, พรรคภูมิใจไทย 51 ที่นั่ง, พรรคเสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง, พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง, พรรคประชาชาติ 7 ที่นั่ง, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 2 ที่นั่ง และพรรคอื่นๆ 20 ที่นั่ง[12] พรรคเพื่อไทยจึงอ้างถึงประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดมีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเองก็อ้างจำนวนคะแนนโหวตของประชาชนที่พรรคของตนได้รับมากที่สุดเป็นเหตุผลในการจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยโดยนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ได้ให้ความเห็นว่าถ้าพรรคใดสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ก่อนก็ถือว่าได้เป็นรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคที่ได้อันดับที่ 1 เสมอไป[13] ส่วนทางนายอนุทิน ชาญวีรกุล ก็ยังไม่ได้มีท่าทีจะร่วมรัฐบาลกับฝ่ายใด โดยให้เหตุผลว่ารอให้คะแนนบัญชีรายชื่อประกาศอย่างเป็นทางการเสียก่อน[14] รองศาสตราจารย์ ดร. ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ให้ความเห็นว่า ช่วงเวลานี้พรรคภูมิใจไทยถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากทั้วขั้วของพรรคเพื่อไทยและขั้วของพรรคพลังประชารัฐต่างมีจำนวนที่นั่งไม่เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร[15]
แม้คะแนนจะยังไม่เป็นที่แน่นอน ในวันที่ 27 มีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย ได้ลงนามในสัตยาบัน "หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” เพื่อผนึกเสียงในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีจำนวนถึง 255 เสียง ในช่วงเวลานี้เองที่หลายคนมองไปยังพรรคภูมิใจไทยว่าหากเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเหล่านี้ด้วยจะทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ แต่กระนั้นก็ตาม ในช่วงนี้พรรคภูมิใจไทยก็ยังมีท่าทีไม่เข้าร่วมกับฝ่ายใด โดยให้เหตุผลว่ารอประกาศคะแนนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างเป็นทางการวันที่ 9 พฤษภาคม 2562[16]
อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2562 ในระหว่างการต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลนี้เอง ที่พรรคภูมิใจไทยได้รับความสนใจในสายตาของประชาชนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการมีทูตจากต่างประเทศเข้าพบเพื่อหารือสถานการณ์ภายในประเทศ[17] ในช่วงการรับหนังสือรับรองการเป็น ส.ส. พลตำรวจเอกเสรีพิสุทธิ์ เตมียเวศ เอ่ยปากชวนนายอนุทิน ชาญวีรกุล มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยคำพูดที่ว่า “ไปทางนู้นเขาไม่ให้อะไรคุณหรอก มาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันสิ เป็นนายกยังได้เลย รัฐมนตรีคมนาคมก็ได้ เพื่อไทยเขาให้ทั้งนั้นแหละ”[18] ในฝั่งของพรรคภูมิใจไทยได้ตั้งเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะต้องไม่เอาเรื่องความขัดแย้ง ยอมรับกติกาผลของการเลือกตั้ง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ต้องสนับสนุนนโยบายทั้งหมดของพรรคที่ได้ให้ไว้กับประชาชน และที่สำคัญ พรรคภูมิใจไทยเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งกว่าชีวิต[19]
ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 กกต.ได้ประกาศรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 149 ที่นั่ง โดยมีพรรคขนาดเล็กที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ 11 พรรค ได้ ส.ส.พึงมีพรรคละ 1 ที่นั่ง ทำให้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร มีเสียงคะแนนที่เปลี่ยนไป โดยพรรคเพื่อไทย ได้ 136 ที่นั่ง, พรรคพลังประชารัฐได้ 115 ที่นั่ง, พรรคอนาคตใหม่ได้ 80 ที่นั่ง, พรรคประชาธิปัตย์ได้ 52 ที่นั่ง, พรรคภูมิใจไทยได้ 51 ที่นั่ง, พรรคชาติไทยพัฒนาได้ 10 ที่นั่ง, พรรคเสรีรวมไทยได้ 10 ที่นั่ง, พรรคประชาชาติได้ 7 ที่นั่ง, พรรคเศรษฐกิจใหม่ได้ 7 ที่นั่ง, พรรคเพื่อชาติได้ 5 ที่นั่ง, พรรครวมพลังประชาชาติไทยได้ 5 ที่นั่ง, พรรครักษ์ผืนป่าได้ 2 ที่นั่ง, พรรคชาติพัฒนาได้ 3 ที่นั่ง, พรรคพลังท้องถิ่นไทยได้ 3 ที่นั่ง โดยที่คะแนนเสียงฝ่ายที่ต่อต้านพลเอกประยุทธ์นั้น จาก 255 ที่นั่งเหลือเพียง 245 เสียง เท่านั้น[20] โดยพรรคขนาดเล็กทั้ง 11 พรรคที่ได้ที่นั่งนั้น ได้ประกาศสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากที่ กกต.ประกาศรับรองไม่กี่วันถัดมา[21]
ท้ายที่สุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2562 พรรคภูมิใจไทยได้ประกาศแสดงจุดยืนทางการเมือง ร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ โดยให้เหตุผลว่า ตรงกับเงื่อนไข 4 ข้อที่พรรควางเอาไว้ นั่นคือ 1. ความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2. การไม่สร้างความขัดแย้ง 3. การผลักดันนโยบายจากพรรคภูมิใจไทยไปบริหารใช้ในรัฐบาล เพื่อประโยชน์ประชาชน และ 4. รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล กล่าวว่า “เรามีนโยบายที่ให้ไว้กับผู้ที่เลือกเราเข้ามา เราต้องการเข้ามาทำงาน ไม่ได้ต้องการเล่นเกมการเมืองใดๆ เราจึงร่วมกับขั้วที่มีเสถียรภาพ สามารถผลักดันนโยบายต่างๆ กับคนที่มอบความไว้วางใจให้เรา”[22] ปิดฉากเกมส์การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลในที่สุด
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคภูมิใจไทย
เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้วนั้นจะพบว่า พรรคภูมิใจไทยได้กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรีค่อนข้างสูง กล่าวคือ รัฐธรรมนูญมาตรา 159 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา 88 นอกจากนี้พรรคการเมืองที่เสนอบัญชีรายชื่อนั้นจะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราฎรไม่น้อยว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นเมื่อพิจารณาตามจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลังวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ตามที่กกต.รับรอง จะพบว่ามีบัญชีรายชื่อผู้ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 5 พรรคเท่านั้น นั่นคือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ตรงจุดนี้เองที่ทำให้พรรคภูมิใจไทยเป็นที่น่าจับตามากยิ่งขึ้น เพราะนายอนุทิน ชาญวีรกุลในฐานะผู้ที่อยู่ในบัญชีที่พรรคเสนอต่อ กกต. มีสิทธิที่จะได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
ขณะเดียวกัน ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560 มาตรา 272 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาร่วมกันเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในระหว่าง 5 ปีแรก นับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ประกอบกับมาตรา 159 วรรคสาม ที่กำหนดให้การลงมติเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ขอสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็คือ 376 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามขั้วการเมืองแล้วนั้นจะพบว่า ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ล้วนไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรได้ นั้นคือขั้วพรรคเพื่อไทย 245 เสียง ขั้วพรรคพลังประชารัฐ และพรรคอื่นๆ 144 เสียง ดังนั้นทั้งสองขั้วจึงต้องการเสียงของพรรคขนาดกลางอย่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อทำให้รัฐบาลกลายเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และมีเสถียรภาพในการเป็นรัฐบาล อย่างไรก็ดีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์เคยกล่าวว่าจะไม่ร่วมมือกับทั้งพรรคเพื่อไทย และไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี[23] แต่หลังจากการเลือกตั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี[24] ทำให้พรรคภูมิใจไทยเป็นเพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจต่อรองกับทั้งสองขั้วการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับขั้วพรรคเพื่อไทย เนื่องจากหากรวมเสียงกับพรรคภูมิใจไทยได้สำเร็จก็จะเสียงมากถึง 296 เสียง ซึ่งอาจจะสามารถกดดันให้วุฒิสภางดออกเสียงในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้
นอกจากนี้ หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์
และพรรคภูมิใจไทยได้สำเร็จ คำถามที่น่าสนใจคือ หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อันส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อตามมาตรา 88 ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปสภาผู้แทนราษฎรสามารถเลือกผู้ใดจากบัญชีดังกล่าวได้บ้าง เมื่อพิจารณาในขั้วรัฐบาลแล้วก็จะพบว่า มีเพียงนายอนุทิน ชาญวีรกุล และนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะเท่านั้นเท่านั้นที่สามารถได้รับเลือกตามมาตรา 159 ได้ กล่าวได้ว่า ด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับพ.ศ. 2560 ได้ส่งผลให้ พรรคภูมิใจไทยได้กลายเป็นม้าเต็งไปโดยดุษฎี
ทิ้งท้าย: ภูมิใจไทยและการเมืองไทยในปัจจุบัน
ภายใต้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งกติกาการเลือกตั้งบีบบังคับให้ไม่ให้พรรคขนาดใหญ่ เช่น พรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่งหนึ่ง ทั้งยังให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก เช่น พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรครวมพลังประชาชาติไทย ฯลฯ ได้ที่นั่งจำนวนหลักสิบ ดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นนั้น ทำให้พรรคขนาดกลางอย่างพรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคที่เป็นส่วนสำคัญในการต่อรองทางการเมือง กล่าวคือ เมื่อพรรคขนาดกลางในรัฐบาลย้ายข้างทางการเมือง จะส่งผลให้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรของรัฐบาลเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่งในทันที ซี่งหมายถึงความเป็นไปได้ในการไม่ผ่านร่างงบประมาณ ไม่ผ่านร่างกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการอภิปรายไม่ไว้ว่างใจ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 (ชุดที่มีการเลือกตั้ง พ.ศ.2562) พรรคขนาดกลางอย่างพรรคภูมิใจไทย กลายเป็นพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม การต่อรองทางการเมืองในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรคภูมิไทยมีอำนาจในการต่อรองทางการเมืองสูง เมื่อย้อนดูการย้ายข้างทางการเมืองเมื่อปี 2551 ในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทย ณ ขณะนั้นถือได้ว่าเป็นพรรคตัวแปรทางการเมืองที่มีสถานะไม่ต่างกับปัจจุบันมากนัก จนทำให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ประสานงานในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลต้องพูดคุยกับนายเนวิน ชิดชอบเป็นคนแรก กระทั่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด[25]
บรรณานุกรม
“ข้อมูลสถิติการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ส. 2554.” สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. เข้าถึงจาก<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article
_20170405163102.pdf>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
ข่าวสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. “กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง.” สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (7-8 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.ect.go.th/ect_th/news
_all.php?cid=24&filename=>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
“ชาดา เผยลาชาติไทยพัฒนาด้วยดี ระบุซบภูมิใจไทยเพราะเป็นพรรคสายกลาง.” โพสต์ทูเดย์. (2 ตุลาคม 2561). เข้าถึงจาก<https://www.posttoday.com/politic/news/566274>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
“เทียบผลการเลือกตั้ง 54-62 แต่ละภาคคะแนนโหวตเปลี่ยนแปลงอย่างไร.” Workpoint News.
(31 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก<https://workpointnews.com/2019/05/31/news190531/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
ธนกร วงษ์ปัญญา. “11 พรรคการเมืองหนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ ร่วมรัฐบาล พปชร. พร้อมอดทนต่อการวิจารณ์.” The Standard. (13 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/11-parties-support-prayut-as-pm/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563
ธนกร วงษ์ปัญญา. “สองพี่น้องปริศนานันทกุล ย้ายร่วมงานภูมิใจไทย ผนึกกำลังเลือดใหม่ ลุยสนามเลือกตั้งม” The Standard. (12 พฤษจิกายน 2561).
เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/prissanananthakul-bhumjaithai-party/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 129 ตอนที่ 148 ง, หน้า 64.
“ประวัติพรรคภูมิใจไทย.” พรรคภูมิใจไทย. เข้าถึงจาก <https://www.bhumjaithai.com/party/about>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
“ผลการเลือกตั้งทั่วประเทศ.” PPTV. (8 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://election.pptvhd36.com>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
พลวุฒิ สงสกุล. “‘อนุทิน’ ประกาศพร้อมเป็นนายกฯ หลังภูมิใจไทยเปิดนโยบายเสรีกัญชา-พักหนี้ กยศ.” The Standard. (17 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/anutin-charnvirakul-announced-as-prime-minister/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
พลวุฒิ หงษ์สกุล. “สุเทพเล่าเบื้องหลังตั้งอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ บินเจรจาลับกับเนวินที่อังกฤษ” The standard. (14 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/thailandelection2562-suthep/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563
“‘ภท.' ลั่นเป็นม้ามืด เบียดเข้าเส้นชัยจัดตั้งรัฐบาล.” กรุงเทพธุรกิจ. (19 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก<https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/830009>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
“ภูมิใจไทย คอนเฟิร์มรับ 9 ส.ส.อดีตอนาคตใหม่ ขยับขึ้นเป็นพรรคใหญ่ลำดับ 3.” ไทยรัฐออนไลน์. (25 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1780111>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
“ยุทธศาสตร์เรียกคะแนน ทำเลทองป้ายหาเสียง.” ไทยรัฐออนไลน์. (25 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1499511>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
“เลือกแล้ว!! อภิสิทธ์ ประกาศชัดไม่สนับสนุน ‘บิ๊กตู่’” the Bangkok insight. (10 มีนาคมคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thebangkokinsight.com/114948/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563
“เสรีพิศุทธ์ ชวนอนุทินร่วมรัฐบาล บอกเป็นนายกฯ หรือ รมต. ก็ได้ พร้อมยก 10 เสียงให้ ตัวเองไม่เอาตำแหน่ง.” The Standard. (13 พฤษภาคม 2562).
เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/sereepisuth-ask-anutin-join-the-government/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. “ผลการเลือกตั้ง 2562: เพื่อไทยนำตั้งรัฐบาลผสม 255 เสียง ด้าน คสช. เตือนอย่าชี้นำให้แตกแยกม.” บีบีซี. (27 มีนาคม 2562).
เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47707485>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. “ผลการเลือกตั้ง 2562 : ศึกชิงเสียงตั้งรัฐบาล ยึด “ที่นั่งในสภา” หรือ “คะแนนมหาชน”?.” บีบีซี. (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47707490>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
อนุชิต ไกรวิจิตร. “อนุทินแจงเหตุร่วมพลังประชารัฐ เพราะเป็นขั้วที่มีเสถียรภาพมากที่สุด ย้ำเข้ามาทำงาน ไม่ได้แสวงหาอำนาจ.” The Standard. (27 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/anutin-reason-pprp-coalition/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563
“‘อนุทิน’ ดีใจเลือกตั้งปี 2562 ได้เก้าอี้เพิ่ม ยังไม่ตอบร่วมรัฐบาลฝั่งไหนม” The Standard. (25 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/thailandelection2562-bhumjaithai-party-9/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
“อนุทินเนื้อหอม 6 ทูตต่างชาติเข้าพบ คาดถกสถานการณ์บ้านเมือง.” The Standard. (26 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/internayional-ambassador-visit-anutin-charnvirakul/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
“อนุทินยังไม่คุยกับฝ่ายไหนตั้งรัฐบาล ย้ำเงื่อนไขเทิดทูนสถาบันฯ-ต้องหนุนทุกนโยบายของพรรค.” The Standard. (4 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/thailandelection2562-bhumjaithai-party-10/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563
““อภิสิทธิ์” ลาออกจาก ส.ส. ประกาศกร้าวยึดมั่นจุดยืนอุดมการณ์ รักษาคำพูด (คลิป)” ไทยรัฐออนไลน์. (5 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1584541> . เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ และ เพื่อไทย ต่างไม่สามารถที่จะครองเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา โดยตัวแปรสำคัญอาจเป็นพรรคภูมิใจไทย.” สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (16 มีนาคม 2562).
เข้าถึงจาก <https://curadio.chula.ac.th/Breaking-News-Detail.php?id=99305>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
อ้างอิง
[1] “ข้อมูลสถิติการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ส. 2554,” สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. เข้าถึงจาก <https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20170405163102.pdf>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[2]“ประวัติพรรคภูมิใจไทย,” พรรคภูมิใจไทย. เข้าถึงจาก <https://www.bhumjaithai.com/party/about>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[3] “ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 129 ตอนที่ 148 ง, หน้า 64.
[4] พลวุฒิ สงสกุล, “‘อนุทิน’ ประกาศพร้อมเป็นนายกฯ หลังภูมิใจไทยเปิดนโยบายเสรีกัญชา-พักหนี้ กยศ,” The Standard. (17 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/anutin-charnvirakul-announced-as-prime-minister/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[5] “'ภท.' ลั่นเป็นม้ามืด เบียดเข้าเส้นชัยจัดตั้งรัฐบาล,” กรุงเทพธุรกิจ. (19 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก<https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/830009>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[6] ข่าวสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, “กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง,” สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (7-8 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.ect.go.th/ect_th/news_all.php?cid=24&filename=>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[7] “ภูมิใจไทย คอนเฟิร์มรับ 9 ส.ส.อดีตอนาคตใหม่ ขยับขึ้นเป็นพรรคใหญ่ลำดับ 3,” ไทยรัฐออนไลน์. (25 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1780111>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[8] “ยุทธศาสตร์เรียกคะแนน ทำเลทองป้ายหาเสียง,” ไทยรัฐออนไลน์. (25 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1499511>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[9] ธนกร วงษ์ปัญญา, “สองพี่น้องปริศนานันทกุล ย้ายร่วมงานภูมิใจไทย ผนึกกำลังเลือดใหม่ ลุยสนามเลือกตั้งม” The Standard. (12 พฤษจิกายน 2561). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/prissanananthakul-bhumjaithai-party/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[10] “ชาดา เผยลาชาติไทยพัฒนาด้วยดี ระบุซบภูมิใจไทยเพราะเป็นพรรคสายกลาง,” โพสต์ทูเดย์. (2 ตุลาคม 2561). เข้าถึงจาก<https://www.posttoday.com/politic/news/566274>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[11] “เทียบผลการเลือกตั้ง 54-62 แต่ละภาคคะแนนโหวตเปลี่ยนแปลงอย่างไร,” Workpoint News. (31 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก<https://workpointnews.com/2019/05/31/news190531/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[12] “ผลการเลือกตั้งทั่วประเทศ,” PPTV. (8 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://election.pptvhd36.com>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[13] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “ผลการเลือกตั้ง 2562 : ศึกชิงเสียงตั้งรัฐบาล ยึด “ที่นั่งในสภา” หรือ “คะแนนมหาชน”?,” บีบีซี. (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47707490>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[14] “‘อนุทิน’ ดีใจเลือกตั้งปี 2562 ได้เก้าอี้เพิ่ม ยังไม่ตอบร่วมรัฐบาลฝั่งไหนม” The Standard. (25 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/thailandelection2562-bhumjaithai-party-9/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[15] “อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ และ เพื่อไทย ต่างไม่สามารถที่จะครองเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา โดยตัวแปรสำคัญอาจเป็นพรรคภูมิใจไทยมม” สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (16 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://curadio.chula.ac.th/Breaking-News-Detail.php?id=99305>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[16] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “ผลการเลือกตั้ง 2562 : เพื่อไทยนำตั้งรัฐบาลผสม 255 เสียง ด้าน คสช. เตือนอย่าชี้นำให้แตกแยกม” บีบีซี. (27 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47707485>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[17] “อนุทินเนื้อหอม 6 ทูตต่างชาติเข้าพบ คาดถกสถานการณ์บ้านเมือง,” The Standard. (26 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/internayional-ambassador-visit-anutin-charnvirakul/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[18] “เสรีพิศุทธ์ ชวนอนุทินร่วมรัฐบาล บอกเป็นนายกฯ หรือ รมต. ก็ได้ พร้อมยก 10 เสียงให้ ตัวเองไม่เอาตำแหน่ง,” The Standard. (13 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/sereepisuth-ask-anutin-join-the-government/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[19] “อนุทินยังไม่คุยกับฝ่ายไหนตั้งรัฐบาล ย้ำเงื่อนไขเทิดทูนสถาบันฯ-ต้องหนุนทุกนโยบายของพรรค,” The Standard. (4 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/thailandelection2562-bhumjaithai-party-10/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[20] ข่าวสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, “กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง” อ้างอิงแล้ว
[21] ธนกร วงษ์ปัญญา, “11 พรรคการเมืองหนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ ร่วมรัฐบาล พปชร. พร้อมอดทนต่อการวิจารณ์,” The Standard. (13 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/11-parties-support-prayut-as-pm/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[22] อนุชิต ไกรวิจิตร, “ อนุทินแจงเหตุร่วมพลังประชารัฐ เพราะเป็นขั้วที่มีเสถียรภาพมากที่สุด ย้ำเข้ามาทำงาน ไม่ได้แสวงหาอำนาจ,” The Standard. (27 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/anutin-reason-pprp-coalition/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[23] “เลือกแล้ว!! อภิสิทธ์ ประกาศชัดไม่สนับสนุน ‘บิ๊กตู่’” the Bangkok insight. (10 มีนาคมคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thebangkokinsight.com/114948/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[24] ““อภิสิทธิ์” ลาออกจาก ส.ส. ประกาศกร้าวยึดมั่นจุดยืนอุดมการณ์ รักษาคำพูด (คลิป)” ไทยรัฐออนไลน์. (5 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1584541> . เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.
[25]พลวุฒิ หงษ์สกุล, “สุเทพเล่าเบื้องหลังตั้งอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ บินเจรจาลับกับเนวินที่อังกฤษ,” The Standard. (14 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/thailandelection2562-suthep/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.