ห้องประชุม TOT

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:04, 14 ตุลาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ


ความนำ

ห้องประชุม TOT มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “หอประชุมใหญ่ อาคาร 9 ชั้น 2 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)” ตั้งอยู่บริเวณสำนักงานใหญ่ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
ซึ่งห้องประชุมดังกล่าวเคยถูกใช้เป็นสถานที่ประชุมรัฐสภา สถานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และสถานที่ประชุมวุฒิสภา เป็นการชั่วคราว ในช่วงปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากเป็นช่วงของการย้ายสถานที่ประชุมจากอาคารรัฐสภาที่ตั้งอยู่บริเวณถนนอู่ทองใน มาสู่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (เกียกกาย) หรือ “สัปปายะสภาสถาน” ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนสามเสน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น จึงได้มีการเลือกหาสถานที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อใช้สำหรับการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน จนกระทั่ง ได้เลือกห้องประชุม TOT ซึ่งกลายเป็นห้องประชุมที่ถูกใช้ในการประชุมครั้งสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาล คสช. ไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ชุดแรก และยังเป็นสถานที่ที่ถูกใช้เพื่อพิจารณาเรื่องสำคัญ ๆ อีกหลายประการ

 

'ทำไมต้องเป็นห้องประชุม 'TOT

สืบเนื่องจากอาคารรัฐสภาบริเวณถนนอู่ทองในมีกำหนดต้องส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่สำนักพระราชวังและจะย้ายไปประจำการ ณ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หรือ “สัปปายะสภาสถาน” ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนสามเสน ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 แต่ทว่าการก่อสร้างอาคารสัปปายะสภาสถานมีความล่าช้า ทำให้ไม่สามารถใช้เป็นอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ได้ในวันที่ 1 มกราคม 2562[1] สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่รัฐสภาในขณะนั้นจึงได้กำหนดให้มีการหาสถานที่ซึ่งจะใช้เป็นห้องประชุมของรัฐสภาเป็นการชั่วคราว เนื่องจากการก่อสร้างอาคารสัปปายะสภาสถานที่คาดว่าจะสามารถใช้การได้นั้น คือช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ดังนั้น ระหว่างนี้จึงต้องเตรียมการในด้านสถานที่เพื่อรองรับการประชุมที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ

ระหว่างนั้นบุคลากรในวงงานรัฐสภาได้มีการพิจารณาเตรียมการด้านสถานที่สำหรับการเป็นห้องประชุมรัฐสภาชั่วคราว โดยมีตัวเลือก 5 แห่ง คือ (1) ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (2) หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (3) หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (4) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และ (5) ห้องประชุมกองทัพภาคที่ 1 โดยมีเงื่อนไขสำคัญที่พิจารณาเลือกใช้เป็นสถานที่ประชุม คือ เรื่องของการอำนวยความสะดวกให้สมาชิก ทั้งสถานที่จอดรถ ห้องอาหาร ห้องพักของบุคคลที่รอเข้าชี้แจงที่ประชุม[2] ซึ่งจากการพิจารณาเงื่อนไขดังกล่าว พบว่า หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีความเหมาะสมมากสุด แต่มีค่าเช่าวันละ 8 หมื่นบาท

แต่ในระหว่างที่พิจารณาหาห้องประชุมรัฐสภาชั่วคราวอยู่นั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังสามารถใช้ห้องประชุมรัฐสภา ณ อาคารรัฐสภาบริเวณถนนอู่ทองใน ได้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 จากนั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติลดการประชุมลงโดยกำหนดให้พิจารณาเฉพาะเรื่องที่ค้างการพิจารณาและเรื่องที่มีความเป็นเร่งด่วนเท่านั้น เนื่องจากในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562

จนกระทั่งวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2562 มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง ตัวแทนพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง จำนวน 7 พรรค พร้อมด้วยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการวุฒิสภา ผู้บริหาร ผู้รับเหมา และผู้แทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เพื่อหารือประเด็นสถานที่ประชุมรัฐสภาเป็นการชั่วคราว ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกใช้หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เนื่องจากจากมีความพร้อมสามารถรองรับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ [3] ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติช่วง 3 นัดสุดท้ายได้มีการใช้ห้องประชุมประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ เป็นสถานที่สำหรับใช้ประชุมแทน และหากสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีการประชุมในช่วงก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 นั้น จะใช้ห้องประชุม ณ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (เกียกกาย) บริเวณถนนสามเสน เป็นสถานที่ประชุมแทน[4] แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่สามารถใช้สถานที่ดังกล่าวได้[5]

นอกจากนี้ ในการประชุมที่ห้องประชุม TOT นั้น มีระเบียบวิธีการประชุมที่สำคัญ และมีความแตกต่างจากการใช้ห้องประชุม ณ อาคารรัฐสภา อย่างมีนัยสำคัญดังนี้

1. ขั้นตอนการลงคะแนนเสียง ไม่สามารถใช้เครื่องลงคะแนนได้ เพราะไม่สามารถเคลื่อนย้ายมาติดตั้งได้ ดังนั้น วิธีการลงคะแนนเสียงจะถูกจำกัดให้ใช้ได้เพียงไม่กี่วิธี เช่น วิธีขานรายชื่อสมาชิกให้ลุกขึ้นเพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งวิธีการนี้ถูกนำมาใช้ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี วิธีใช้บัตรลงคะแนน โดยมีบัตร 3 สี คือ สีน้ำเงินแทนบัตรเห็นด้วย สีแดงแทนบัตรไม่เห็นด้วย และสีขาวแทนบัตรงดออกเสียง พอลงคะแนนเสร็จแล้วให้เจ้าหน้าที่เก็บบัตรไปนับ ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการที่เคยใช้อดีตก่อนที่จะมีการใช้เครื่องลงคะแนนเสียง ในปี พ.ศ. 2541

2. การจัดวางตำแหน่งไมโครโฟน เนื่องจากการประชุม ณ ห้องประชุม TOT ไม่สามารถจัดวางตำแหน่งไมโครโฟนไว้บริเวณหน้าที่นั่งของสมาชิกแต่ละคนได้ ดังนั้น จึงได้มีการจัดวางตำแหน่งไมโครโฟนดังเช่นที่เคยใช้ในอดีต กล่าวคือ จัดวางไมโครโฟนไว้ระหว่างหัวแถวแต่ละแถว เมื่อสมาชิกที่ประสงค์จะอภิปรายจะต้องลุกออกมาจากที่นั่ง แล้วอภิปรายด้านนอกแถวที่นั่ง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2540

3. การจัดบัลลังก์ของประธาน เนื่องจากการใช้ห้องประชุม TOT ซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการประชุมรัฐสภาเป็นการเฉพาะ ดังนั้น มีการนำบัลลังก์ของประธานรัฐสภาในอดีต โดยเป็นบัลลังก์ไม้สลักลายและสามารถเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งปัจจุบันยังมีสภาพที่สมบูรณ์อยู่ และเคยถูกใช้เป็นบัลลังก์ประธานเมื่อคราวประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 กลับมาใช้อีกครั้ง ณ ห้องประชุม TOT

 

'การประชุมครั้งสำคัญ ณ ห้องประชุม 'TOT

ห้องประชุม TOT ได้รับการกล่าวถึงและปรากฏในข่าวสารมากขึ้นเมื่อถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับการประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นรัฐสภาชุดแรกภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยมีการประชุมครั้งสำคัญ ดังนี้

“การประชุมเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา” การประชุมของรัฐสภานัดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ในเวลา 15.00 นาฬิกา จากนั้นเวลา 17.30 นาฬิกา เป็นการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ถือเป็นการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัตินัดแรก และใช้ห้องประชุม TOT เป็นสถานที่ประชุมในครั้งนี้ โดยการประชุมครั้งนี้เป็นไปเพื่อเลือกตำแหน่งสำคัญของวุฒิสภา นั่นคือ ประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และคนที่สอง สำหรับการประชุมครั้งนี้มีศาสตราจารย์ ร้อยเอก ทินพันธุ์  นาคะตะ สมาชิกวุฒิสภาที่อาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวของที่ประชุม ซึ่งการประชุมในวันดังกล่าวมีวาระการประชุม คือ รับทราบพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2562 รับทราบพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ทั้ง 250 คน และให้สมาชิกกล่าวปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับและปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ก่อนจะมีการเลือกประธานวุฒิสภา[6]

ในการเลือกประธานวุฒิสภานั้น นายสุวพันธ์  ตันยุวรรธนะ เป็นผู้เสนอรายชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งทั้ง 3 ตำแหน่ง โดยไม่มีผู้เสนอชื่อบุคคลใดแข่งขัน ได้แก่ นายพรเพชร  วิชิตชลชัย ให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา พลเอก สิงห์ศึก  สิงห์ไพร ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง และ นายศุภชัย สมเจริญ ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทั้งนี้ตามข้อบังคับการประชุมเมื่อผู้ที่เสนอชื่อได้รับการรับรองจากสมาชิกโดยการยกมือ เกิน 10 เสียง ให้ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อและเมื่อไม่มีบุคคลใดถูกเสนอชื่อแข่งขันให้ถือว่าได้รับเลือกโดยไม่ต้องมีการลงคะแนน[7] ซึ่งการประชุมวุฒิสภาดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที เท่านั้น

สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง มีขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และใช้ห้องประชุม TOT เป็นสถานที่ประชุมในการประชุมครั้งสำคัญนี้ โดยมีนายชัย  ชิดชอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรราษฎรที่อาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวของที่ประชุม ซึ่งการประชุมในวันดังกล่าวมีวาระการประชุม คือ รับทราบพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2562 รับทราบพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาวุฒิสภา ทั้ง 250 คน และให้สมาชิกกล่าวปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับและปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ก่อนจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกหลังจากที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกหลังจากการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

อย่างไรก็ตาม การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกในรอบเกือบ 6 ปี และเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุม TOT ก็กลายเป็นสนามของการต่อสู้/ต่อรองทางการเมืองทันที่ เมื่อนายวีระกร  คำประกอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ เสนอให้เลื่อนญัตติการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรออกไปก่อน ทำให้ที่ประชุมมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ก่อนจะมีการลงมติ ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยให้มีการเลื่อนญัตติดังกล่าว ทำให้ต้องดำเนินการประชุมต่อไป โดยในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร มีการเสนอรายชื่อจำนวน 2 รายชื่อ คือ นายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ และนายสมพงษ์  อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย และเมื่อมีการลงคะแนน ปรากฏว่า นายชวน  หลีกภัย ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

ต่อมาในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 มีการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการเสนอรายชื่อจำนวน 2 รายชื่อ คือ นายสุชาติ  ตันเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ และนางสาวเยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และเมื่อมีการลงคะแนนปรากฏว่า นายสุชาติ  ตันเจริญ ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง สำหรับรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง มีการเสนอรายชื่อจำนวน 2 รายชื่อ คือ นายศุภชัย  โพธิ์สุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมใจไทย และนายประสงค์  บูรณ์พงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเสรีรวมไทย และเมื่อมีการลงคะแนนปรากฏว่า นายศุภชัย  โพธิ์สุ ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ซึ่งการประชุมครั้งดังกล่าวถือเป็นการประชุมเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก นั่นคือ 2 วัน

“การประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 มีการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยใช้ห้องประชุม TOT เป็นห้องประชุมรัฐสภาชั่วคราว ซึ่งในวันดังกล่าวมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในที่ประชุมดังกล่าวการประกาศลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ในวันดังกล่าว โดยมีการแถลงบริเวณด้านหน้าห้องประชุม TOT ที่กำลังประชุมกันอยู่ และในที่ประชุมมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจำนวน 2 รายชื่อ คือ พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ และนายธนากร  จึงรุ่งเรืองกิจ ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่[8]

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการอภิปรายถึงคุณสมบัติของตัวแทนที่จะเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากแต่ละพรรค จนกระทั่งมีการลงมติในช่วงเวลาค่ำของคืนนั้น ปรากฏว่า สมาชิกรัฐสภาสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา จำนวน 500 เสียง แบ่งเป็นคะแนนเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 249 เสียง จากจำนวนทั้งหมด 250 คน ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงค่อนข้างมากเนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาลงมติเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด และจากการประชุมดังกล่าวส่งผลให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้กลับมาเป็นนายรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่งด้วยวิธีการที่ต่างออกไป[9]

“การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา” เป็นอีกการประชุมนัดหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ห้องประชุม TOT ซึ่งเป็นห้องประชุมรัฐสภาชั่วคราว โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ระหว่างวันที่ 25 – 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 โดยในช่วงแรกพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เริ่มแถลงนโยบายก็เกิดการประท้วง เพื่อให้นายกรัฐมนตรีแถลงให้ตรงตามเอกสารคำแถลงนโยบายที่ได้เสนอต่อรัฐสภา ซึ่งตลอดทั้งวันที่มีการแถลงนโยบายนั้น ได้มีการประท้วงและโต้ตอบกันระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลเป็นระยะ และในบางครั้งนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการแถลงนโยบายนั้น นายปิยบุตร  แสงกนกกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ ได้ได้เปิดประเด็นการอภิปรายเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ[10] และทำให้ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นประเด็นที่มีการตั้งคำถามไปยังรัฐบาลในเวลาต่อมา

นอกจากนั้น ในช่วงที่มีการอภิปรายนโยบายรัฐบาลนั้น มีการอภิปรายที่สำคัญ อาทิ การอภิปรายของนายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ และพลเอก อนุพงษ์  เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ตอบ ซึ่งประชาชนทั่วไปบางส่วนชื่นชมว่าเป็นการอภิปรายและตอบคำถามที่ดี และยังมีการอภิปรายของพลตำรวจเอก เสรีพิสุทธิ์  เตมียเวส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเสรีรวมไทย ทำให้พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลุกขึ้นตอบ และเกิดวลีที่สำคัญ คือ “ตัดพี่ตัดน้อง” และต้องพักการประชุมในที่สุด[11]

สำหรับการแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันที่สองนั้น ค่อนข้างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยกว่าวันแรก แต่ก็มีการโต้ตอบที่สำคัญระหว่างนายยุทธพงศ์  จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย กับนายกิตติศักดิ์  รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา[12] แต่ก็สามารถควบคุมการประชุมให้ดำเนินต่อไปได้

 

'ข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้ห้องประชุม 'TOT

แม้ว่าห้องประชุม TOT จะถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับการประชุมรัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการประชุมวุฒิสภา ที่สำคัญ ๆ อยู่หลายครั้ง แต่กระนั้นก็ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้สถานที่ดังกล่าว ซึ่งสรุปประเด็นที่สำคัญได้ดังนี้

“ค่าใช้จ่ายที่สูงมากเกินไป” เนื่องจากการใช้ห้องประชุม TOT ซึ่งเป็นสถานที่ของเอกชน และห้องประชุมดังกล่าวเป็นห้องประชุมรัฐสภาชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้น การใช้ห้องประชุมแต่ละครั้งจะต้องมีค่าเช่าสถานที่ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว เดือนละ 14 ล้านบาท โดยครอบคลุมห้องประชุมจำนวน 660 ที่นั่ง[13] และในกรณีที่มีการประชุมรัฐสภา ทางบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จะเสริมเก้าอี้ให้ครบ 750 ที่นั่ง ตามจำนวนสมาชิกรัฐสภา นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงห้องอาหารขนาดใหญ่ 500 คน ที่จอดรถ 900 คัน ห้องบริวารอื่น ๆ อีก 12 ห้อง ค่าน้ำไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าพนักงานทำความสะอาด ค่าพนักงานดูแลจัดรถ ค่าเจ้าหน้าที่ รปภ. และอื่น ๆ[14] และจากค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงนี้เอง ประกอบกับการที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีเพียง 4 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น และในบางคราวประชุมก็ใช้เวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น ทั้งนี้ ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้ทนราษฎรชี้แจงว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวครอบคลุมห้องประชุมย่อยอื่น ๆ รวมถึงห้องทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร
และรองงประธานด้วย ซึ่งมีการใช้ห้องประชุมเป็นประจำเกือบทุกวัน[15] 

“ไม่สมเกียรติของสมาชิกรัฐสภา” เนื่องจากการใช้ห้องประชุม TOT ที่เป็นสถานที่ของเอกชนนี้เอง
ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการใช้งานจริง เนื่องจากกระแสสังคมบางส่วนมีความเห็นว่า ห้องประชุมรัฐสภาเป็นสถานที่ที่ผู้แทนของประชาชนที่ถือว่าเป็นผู้ทรงเกียรติ ดังนั้น จึงถูกมองว่า สถานที่ดังกล่าวอาจไม่สามารถรองรับการดำเนินงานของรัฐสภาได้อย่างเต็มที่ เช่น การลงคะแนนเสียง การประชุมลับ การติดตั้งไมโครโฟนสำหรับอภิปราย เป็นต้น ซึ่งเมื่อการดเนินการดังกล่าวไม่สามารถทำได้อย่างเต็มรูปแบบ ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้ทรงเกียรติได้ อย่างไรก็ตาม นายสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง ได้ชี้แจงว่าการใช้ห้องประชุม TOT นั้น เป็นการใช้เป็นห้องประชุมชั่วคราวระหว่างที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่กำลังก่อสร้างอยู่และใช้เพียงระยะเวลาสั้นไม่กี่เดือนเท่านั้น[16]

“การก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่ล่าช้า” จากการใช้ห้องประชุม TOT เป็นสถานที่ประชุมรัฐสภาชั่วคราวนั้น ก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกิดความล่าช้า เนื่องจากมีการเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 กำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2558 แต่แล้วก็มีการขอขยายเวลาถึง 3 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ขอขยายเวลาเพิ่มอีก 387 วัน เป็นสิ้นสุดวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ให้เหตุผลว่าการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ครั้งที่ 2 ขอขยายเวลาเพิ่มอีก 421 วัน เป็นสิ้นสุดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ให้เหตุผลว่าเกิดปัญหาการขนย้ายมูลดินออกจากโครงการก่อสร้าง และครั้งที่ 3 ขอขยายเวลาเพิ่มอีก 674 วัน เป็นสิ้นสุดวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ให้เหตุผลว่าเกิดความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่โรงเรียนโยธินบูรณะ ซึ่งความล่าช้าดังกล่าวถือเป็นความล่าช้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรายจ่ายของรัฐ จึงเป็นประเด็นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมา นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เช่น งบประมาณการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สูงถึง 8 พันล้านบาท การใช้ไม้สักจำนวน 5,000 ต้น เป็นต้น[17]

 

สถานที่ประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ: แนวคิด ความสำคัญ และนัยทางประวัติศาสตร์การเมือง

สถานที่สำหรับใช้ในการประชุมของรัฐสภาถือว่าเป็นสถานที่สำคัญสถานที่หนึ่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ของการใช้อำนาจนิติบัญญัติ โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาด้วยแล้วก็จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ภายใต้หลักการความเป็นสูงสุดของรัฐสภา (Supremacy of Parliamentary) เนื่องจากเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ดังนั้น การออกแบบห้องประชุมรัฐสภาจึงมีความสำคัญและสะท้อนแนวคิดทางการเมืองดังกล่าวผ่านสถาปัตยกรรมของสถานที่ประชุมรัฐสภาอยู่เสมอ

แนวคิดในการออกแบบห้องประชุมรัฐสภามีหลากหลายรูปแบบ ในบางประเทศใช้ลักษณะห้องสี่เหลี่ยมแบบห้องเรียน (Classroom) บางประเทศใช้ลักษณะวงกลม (Circle) บางประเทศใช้ลักษณะเกือกม้า (Horseshoe) บางประเทศใช้ลักษณะครึ่งวงกลม (Semi-circle) และบางประเทศใช้ลักษณะการเผชิญหน้า (Opposing-benches)[18] ซึ่งการออกแบบรัฐสภาในแต่ละรูปแบบจะคงไว้ซึ่งหลักคิดบางประการที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศนั้น ๆ เช่น รัฐสภาของประเทศฝรั่งเศสมีการออกแบบเป็นรูปครึ่งวงกลม ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ประวัติความคิดทางการเมืองของฝรั่งเศสในช่วงที่มีการแบ่งเป็นฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา โดยพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย คือ ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมจะนั่งฝั่งซ้ายมือของประธานสภา และฝั่งกษัตริย์นิยมจะนั่งฝั่งขวามือของประธานสภา[19] จากตำแหน่งแห่งที่ดังกล่าวนี้เองทำให้เกิดคำการเมืองใหม่ ๆ นั่นคือ ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ซึ่งสัมพันธ์กับอุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology) อย่างมีนัยสำคัญ หรือในกรณีรัฐสภาของประเทศอังกฤษที่มีการออกแบบเป็นการนั่งเผชิญหน้า ก็เป็นการออกแบบที่สะท้อนตำแหน่งที่นั่งของนักบวชและขุนนางที่ใช้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยมหากฎบัตร Magna Carta ในปี ค.ศ. 1215 ดังนั้น สำหรับรัฐสภาอังกฤษสะท้อนถึงจารีตประเพณีทางการเมืองและกลายวัฒนธรรมทางการเมืองของรัฐสภาอังกฤษที่เน้นการถกเถียงกันอย่างจริงจัง[20] 

จากการออกแบบห้องประชุมรัฐสภาในแต่ละรูปแบบที่สะท้อนแนวคิดและประวัติศาสตร์ทางการเมืองของแต่ละประเทศนั้น ห้องประชุมรัฐสภายังมีความสำคัญต่อกระบวนการทางการเมือง (Political Process) โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy) เนื่องจากกระบวนที่สำคัญในทางการเมืองแทบทุกอย่างจะเกิดขึ้นในห้องประชุมรัฐสภาทั้งสิ้น เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรี การให้ความเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล การควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล เป็นต้น นอกจากนี้ ห้องประชุมรัฐสภาก็ยังเป็นพื้นที่ในการต่อสู้/ต่อรองทางการเมืองของพรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในการผลักดันนโยบาย (Policy Making Process) ที่แต่ละฝ่ายต้องการ ซึ่งบริเวณห้องประชุมรัฐสภามักจะถูกใช้เป็นพื้นที่ในการเจรจาต่อรองทางการเมือง (Lobby) อยู่เสมอ ดังนั้น ห้องประชุมรัฐสภาจึงเป็นพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในทางการเมืองอยู่เสมอ เช่น การลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล การไม่เห็นชอบกับร่างกฎมายสำคัญของรัฐบาล การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น

สำหรับนัยทางประวัติศาสตร์และแนวคิดทางการเมืองของห้องประชุมรัฐสภาไทยนั้น ก็มีลักษณะที่ไม่แตกต่างจากหลักการในการออกแบบห้องประชุมรัฐสภาทั่วไป กล่าวคือ เป็นพื้นที่ที่สะท้อนความคิดทางการเมืองและจารีตประเพณี รวมถึงเป็นพื้นที่ที่มีการต่อสู้/ต่อรองทางการเมืองอยู่เสมอ โดยห้องประชุมรัฐสภายุคที่ 1 คือ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยเริ่มใช้ตั้งแต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 การเลือกใช้พระที่นั่งอนัตสมาคมนั้นเป็นเพราะสมัยก่อนหน้านั้น มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ใช้พระที่นั่งดังกล่าวสำหรับการออกมหาสมาคมในการรับรองคนจำนวนมาก ต่อมมาเมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ได้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ทำการและเป็นสถานที่ในการทูลเชิญพระบรมวงศานุวงศ์มาประทับเป็นประกัน และเมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกจึงเลือกใช้สถานที่ดังกล่าว เนื่องจากเป็นสถานที่สำคัญของคณะราษฎรและสามารถรองรับการประชุมจำนวนมากได้ ต่อมาเมื่อผ่านไปประมาณ 40 ปี พระที่นั่งอนันตสมาคมก็คับแคบและไม่สามารถรองรับการประชุมรัฐสภาที่มีจำนวนสมาชิกรัฐสภาเพิ่มมากขึ้นได้เพียงพอ จึงมีการก่อสร้างรัฐสภาแห่งที่สองขึ้น ณ บริเวณทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้เป็นอาคารหินอ่อน มีทั้งสิ้น 3 อาคาร สะท้อนศิลปกรรมแบบสมัยใหม่ (Modern Art) และบริเวณห้องประชุมมีการออกแบบที่สะท้อนแนวคิดทางการเมืองแบบประชาธิปไตยด้วยการเปิดชั้นลอยให้ประชาชนที่แจ้งความประสงค์เข้าชมการประชุมสามารถเข้ามานั่งด้านบนได้ ซึ่งสะท้อนแนวคิดการตรวจสอบการทำงานของสมาชิกรัฐสภาโดยประชาชน และยังมีสถาปัตยกรรมอีกหลายอย่างที่สะท้อนความคิดเกี่ยวกับความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยไทย แต่ยังมีการใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมสำหรับรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐพิธีและสถานที่ดังกล่าวสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับสถาบันรัฐสภาที่ดำเนินควบคู่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475[21] 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 เริ่มมีแนวคิดในการสำรวจสถานที่สร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เพื่อทดแทนอาคารรัฐสภาเดิมซึ่งเริ่มคับแคบลงไป เนื่องจากมีจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่เพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2551 ได้มีการอนุมัติงบประมาณสำหรับก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บริเวณแยกเกียกกาย โดยใช้ชื่อว่า “สัปปายะสภาสถาน” แปลว่า สถานที่ประกอบกรรมดี ตัวอาคารออกแบบให้มีเรือนยอดรูปทรงเจดีย์เพิ่มมุมไม้สิบสอง และมีการสร้างห้องประชุมสภา 2 ห้อง คือ “ห้องประชุมพระสุริยัน” สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และ “ห้องประชุมพระจันทรา” สำหรับการประชุมวุฒิสภา ทั้งหมดนี้สะท้อนความคิดโลกทัศน์แบบไตรภูมิตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นความคิดทางการเมืองของสังคมไทยในอดีต[22]

 

บทสรุป

ห้องประชุม TOT ถือเป็นห้องประชุมรัฐสภาชั่วคราวที่ใช้ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม พ.ศ. 2562 แต่เป็นห้องประชุมที่มีความสำคัญ เนื่องจากในช่วงที่มีการประชุมที่นี่นั้น เป็นการประชุมที่สำคัญในทางการเมือง อาทิ การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ใช้เวลายาวนาน การเลือกพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง การรับฟังการแถลงนโยบาย ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญอันสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร โดยมีห้องประชุมสภาเป็นพื้นที่สำคัญในการใช้ต่อสู้/ต่อรองทางการเมือง แม้ว่าห้องประชุมดังกล่าวจะเป็นห้องประชุมชั่วคราว ซึ่งมีระยะเวลาใช้งานเพียง 2 เดือน แต่ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ในหลายประเด็น ทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูง ความไม่สมเกียรติของสมาชิก รวมทั้งการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่หรือ “สัปปายะสภาสถาน” ที่ล่าช้ากว่ากำหนดอีกด้วย

 

บรรณานุกรม

ธนกร วงษ์ปัญญา. "เตรียมปิดตำนานอาคารรัฐสภา 44 ปีรับใช้ฝ่ายนิติบัญญัติจากเลือกตั้งและแต่งตั้ง." The Standard (6 ธันวาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/parliament-parcy/>. เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563.

“เปิดใจ! 'ส.ว.กิตติศักดิ์' ท้าใส่เดี่ยว ส.ส. ด่าไม่หยุด ฟังแล้วขึ้น ดีนะมีคนห้าม." ข่าวสดออนไลน์ (26 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2746718>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563.

“เปิดเรตราคาต่อวัน “ค่าเช่าห้อง” ประชุมสภา 17 นาที ชาวเน็ตแซว คุยไลน์กลุ่มดีกว่า." ไทยรัฐออนไลน์ (19 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1595416>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563.

“มหากาพย์ "รัฐสภา" 6 ปี คืบ 60% ส่อเค้ายินยอม "ยืด" อีกรอบ." ไทยรัฐออนไลน์ (26 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/scoop/1599768>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563.

“เมินกระแส ใช้ห้อง ประชุมTOT ไม่สมเกียรติ เลือก “นายกฯ-ปธ.สภา”." มติชนออนไลน์ (3 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1435867>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563.

“ระอุแต่เช้า เจอประท้วงวุ่น ‘ปิยบุตร’ ลุกขึ้นซัด ‘บิ๊กตู่’ ปฏิญาณตนไม่ครบตามรธน.." ข่าวสดออนไลน์ (25 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2741256>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563.

“เลือกตั้ง 2562 : เล็งใช้ศูนย์ประชุม TOT ประชุมสภา ค่าเช่า 14 ล้าน." ThaiPBS (21 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/280232>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563.

วรรณภา ติระสังขะ. (2562). ฝรั่งเศส: สาธารณรัฐ รัฐธรรมนูญ โครงสร้างสถาบันการเมืองการปกครอง. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล. (2561). อาคารรัฐสภาไทย จากพระที่นั่งอนันตสมาคม...สู่สัปปายะสภาสถาน. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

“สนช.นัดประชุม23-24เม.ย.ห้องประชุมประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า." สยามรัฐออนไลน์ (4 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/73115>. เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563.

“สนช.นัดสุดท้าย!ผ่านกม.มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ." แนวหน้าออนไลน์ (7 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/412187>. เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563.

“สภาวุ่น! "ประยุทธ์-เสรีพิศุทธ์" ปะทะคารมเดือดตัดสัมพันธ์พี่น้อง." ThaiPBS (25 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/282037>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563.

“สภาใหม่เสร็จไม่ทัน เตรียมใช้ห้องประชุมทีโอทีโหวตเลือกนายกฯ." ผู้จัดการออนไลน์ (3 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9620000033005>. เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563.

“สรุปผลเลือกนายกฯ 500 ต่อ 244 เสียง ดูชัดๆ ใครโหวตใคร." Workpoint News (6 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointnews.com/2019/06/06/votepm62/>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง).
วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2562. เข้าถึงจาก

<https://www.senate.go.th/document/mRecordM/Ext42/42812_0001.PDF>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563.

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. "44 ปี รัฐสภา ประวัติศาสตร์-ภาพจำก่อนปิดฉาก ก.พ. 2562." บีบีซี (26 ธันวาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/features-46678584>. เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563.

อรณิช รุ่งธิปานนท์. (มปป.). รัฐสภาสหราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

Idea book. Parliament. access from <http://www.parliamentbook.com/spaces?system=flawed
&typology=>. Date 18 April 2020.

 

อ้างอิง

[1] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, "44 ปี รัฐสภา ประวัติศาสตร์-ภาพจำก่อนปิดฉาก ก.พ. 2562," บีบีซี (26 ธันวาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/features-46678584>. เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563.

[2] ธนกร วงษ์ปัญญา, "เตรียมปิดตำนานอาคารรัฐสภา 44 ปีรับใช้ฝ่ายนิติบัญญัติจากเลือกตั้งและแต่งตั้ง," The Standard (6 ธันวาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/parliament-parcy/>. เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563.

[3] "สภาใหม่เสร็จไม่ทัน เตรียมใช้ห้องประชุมทีโอทีโหวตเลือกนายกฯ," ผู้จัดการออนไลน์ (3 เมษายน 2562), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9620000033005>. เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563.

[4] "สนช.นัดประชุม23-24เม.ย.ห้องประชุมประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า," สยามรัฐออนไลน์ (4 เมษายน 2562), เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/73115>. เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563.

[5] "สนช.นัดสุดท้าย!ผ่านกม.มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ," แนวหน้าออนไลน์ (7 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/412187>. เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563.

[6] สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง), วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2562, เข้าถึงจาก <https://www.senate.go.th/document/mRecordM/Ext42/42812_0001.PDF>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563.

[7] สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง).

[8] "สรุปผลเลือกนายกฯ 500 ต่อ 244 เสียง ดูชัดๆ ใครโหวตใคร," Workpoint News (6 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://workpointnews.com/2019/06/06/votepm62/>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563.

[9] "สรุปผลเลือกนายกฯ 500 ต่อ 244 เสียง ดูชัดๆ ใครโหวตใคร," Workpoint News (6 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://workpointnews.com/2019/06/06/votepm62/>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563.

[10] "ระอุแต่เช้า เจอประท้วงวุ่น ‘ปิยบุตร’ ลุกขึ้นซัด ‘บิ๊กตู่’ ปฏิญาณตนไม่ครบตามรธน.," ข่าวสดออนไลน์ (25 กรกฎาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2741256>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563.

[11] "สภาวุ่น! "ประยุทธ์-เสรีพิศุทธ์" ปะทะคารมเดือดตัดสัมพันธ์พี่น้อง," ThaiPBS (25 กรกฎาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/282037>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563.

[12] "เปิดใจ! 'ส.ว.กิตติศักดิ์' ท้าใส่เดี่ยว ส.ส. ด่าไม่หยุด ฟังแล้วขึ้น ดีนะมีคนห้าม," ข่าวสดออนไลน์ (26 กรกฎาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2746718>. เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563.

[13] "เลือกตั้ง 2562 : เล็งใช้ศูนย์ประชุม TOT ประชุมสภา ค่าเช่า 14 ล้าน," ThaiPBS (21 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/280232>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563.

[14] "เปิดเรตราคาต่อวัน “ค่าเช่าห้อง” ประชุมสภา 17 นาที ชาวเน็ตแซว คุยไลน์กลุ่มดีกว่า," ไทยรัฐออนไลน์ (19 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1595416>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563.

[15] "เปิดเรตราคาต่อวัน “ค่าเช่าห้อง” ประชุมสภา 17 นาที ชาวเน็ตแซว คุยไลน์กลุ่มดีกว่า," ไทยรัฐออนไลน์ (19 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1595416>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563.

[16] "เมินกระแส ใช้ห้อง ประชุมTOT ไม่สมเกียรติ เลือก “นายกฯ-ปธ.สภา”," มติชนออนไลน์ (3 เมษายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1435867>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563.

[17] "มหากาพย์ "รัฐสภา" 6 ปี คืบ 60% ส่อเค้ายินยอม "ยืด" อีกรอบ," ไทยรัฐออนไลน์ (26 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/scoop/1599768>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563.

[18] Idea book, Parliament, access from <http://www.parliamentbook.com/spaces?system=flawed&typology=>, Date 18 April 2020.

[19] วรรณภา ติระสังขะ, ฝรั่งเศส: สาธารณรัฐ รัฐธรรมนูญ โครงสร้างสถาบันการเมืองการปกครอง (กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562), หน้า 321-348.

[20]  อรณิช รุ่งธิปานนท์, รัฐสภาสหราชอาณาจักร (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, มปป.), หน้า 1.

[21] วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล, อาคารรัฐสภาไทย จากพระที่นั่งอนันตสมาคม...สู่สัปปายะสภาสถาน (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2561), หน้า 1-2.

[22] วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล, อาคารรัฐสภาไทย จากพระที่นั่งอนันตสมาคม...สู่สัปปายะสภาสถาน, หน้า 1-2.