คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้นายธราธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:05, 29 เมษายน 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พา...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ


ความนำ

          การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ถือเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปครั้งที่ 28 ของประเทศไทย และเป็นครั้งแรกภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้นั้น ทำให้พรรคอนาคตใหม่ภายใต้การนำของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 สามารถนำพาสมาชิกของพรรคชนะการเลือกตั้งในระดับเขตและได้คะแนนแบบบัญชีรายชื่อแบบเหนือความคาดหมาย จนทำให้ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่ ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. จำนวนมาก มากกว่าพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่มีเครือข่ายของนักการเมืองและเคยมีบทบาททางการเมืองมาก่อน และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มี มติ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยสถานภาพของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจสิ้นสุดตามมาตรา 101 (6) ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ซึ่งทำให้ศาลรัฐรรมนูญเห็นว่าอาจเกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้ง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการประชุมสภา จึงมีมติ 8  ต่อ 1  ให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย'[1]'

 

ปรากฎการณ์ “ปีศาจธนาธร”

          การชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากเป็นลำดับ 3 ของพรรคที่ลงแข่งขันเข้ารับการเลือกตั้ง ทำให้ไม่เพียงแต่สร้างปรากฎการณ์ให้เกิดขึ้นกับแวดวงการเมืองการเลือกตั้ง ยังได้สร้างแรงกดดันให้กับกลุ่มการเมืองเดิมหลายกลุ่ม เพราะการก้าวขึ้นสู่อำนาจของนายธนาธรครั้งนี้มีแรงสนับสนุนจากประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้จนสามารถได้จำนวน ส.ส. มาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับที่ผ่านมา การหาเสียงสนับสนุนของธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ เน้นไปที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจเชิงลึก และมุ่งเน้นไปที่การล้มล้างผลพวงของการรัฐประหาร ซึ่งได้ปรากฏในนโยบายหาเสียงของพรรคอนาคตใหม่ ที่ว่า “ปักธงประชาธิปไตย ล้างมรดกรัฐประหาร สร้างการเมืองแบบใหม่ เจ้านายคือประชาชน”[2] ซึ่งผลจากการดำเนินแนวนโยบายและกระแสตอบรับของประชาชนต่อการเมืองที่นายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ได้นำเสนอ ธนาธรจึงเป็นเสมือนคนแปลกหน้าที่เข้ามาในการเมืองที่เต็มไปด้วยอำนาจและระบบอุปถัมภ์ที่ผูกสายสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน[3]

          ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ปีศาจธนาธร” มาจากกระแสข่าวว่า คนรุ่นเก่าไม่ต้องการให้นายธนาธรเข้าสภาได้ และมองว่าวิธีการดำเนินงานทางการเมืองของนายธนาธรและอนาคตใหม่เป็นอันตราย จึงพยายามสกัดกั้นทุกวิถีทางเพื่อขวางการเข้าสู่สภาของนายธนาธร ซึ่งนายธนาธร กล่าวว่า “ผมและพรรคอนาคตใหม่ โดนโจมตีหลาย ๆ รอบตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการทำกันเป็นกระบวนการทำกันเป็นระบบ โดยมีเป้าหมาย คือ การสร้างธนาธรให้เป็นปีศาจ นี่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความนิยมที่ประชาชนมีต่อพรรคอนาคตใหม่แรงขึ้นทุกวัน จนทำให้คนประสงค์ร้ายกับพวกเรา”[4] นายธนาธร ยังเชื่อว่า มีขบวนการต้องการกำจัดนายธนาธรแลพรรคอนาคตใหม่ออกจากระบบการเมือง เพราะการปล่อยให้นายธนาธรเข้าสภาได้ คือ การเปิดโอกาสให้ธนาธรมีบทบาทในสถาบันการเมืองจนอาจมีอิทธิพลต่อสังคมยิ่งขึ้นในอนาคต แต่แน่นอนว่า ข้อมูลในกรณีดังกล่าวเป็นเพียงข้อกังวลของทางฝั่งอนาคตใหม่ ซึ่งไม่มีหลักฐานและผู้ร่วมขบวนการที่ชัดเจนในการสกัดกั้นนายธนาธร แต่ปรากฎการณ์ “ปีศาจธนาธร” และการสกัดกั้น ก็เป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมรับรู้ โดยมีสื่อมวลชนรายงานข่าวถึงประเด็นแผนการสกัดกั้นต่าง ๆ จำนวนมาก

 

“ถือหุ้นสื่อ” จุดเริ่มต้นของคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว

          จุดเริ่มต้นของคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้นายธราธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เริ่มต้นจากมีข้อกล่าวหาว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ เจ้าของนิตยสาร WHO (นิตยสาร WHO ได้หยุดตีพิมพ์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559) และนิตยสาร JibJib ซึ่งเป็นนิตยสารที่แจกให้กับผู้โดยสารที่เดินทางกับสายการบินนกแอร์ จำนวนหุ้นจดทะเบียน 4,500,000 หุ้น โดยในการถือหุ้นดังกล่าวปรากฏว่ามี นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 3,375,000 หุ้นรวมอยู่ด้วย

          จากรายงานการประชุมวิสามัญของผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 12 มกราคม  พ.ศ. 2558 นายธนาธร และนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา ได้มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นครั้งแรก โดย นายธนาธร ถือหุ้นจำนวน 675,000 หุ้น และนางรวิพรรณ ถือหุ้นจำนวน 225,000 หุ้น ขณะที่ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เป็นมารดาจำนวนหุ้นลดลงเหลือเพียง 675,000 หุ้น และต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 สำนักข่าวอิศรา ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นใน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นกิจการผลิตนิตยสาร ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งดำเนินการก่อนวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 3 วัน ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562[5] ขณะที่นายธนาธรแจ้งว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 10 คน โดยนายธนาธร และนางรวิพรรณ ได้โอนหุ้นให้กับนางสมพร ไปแล้ว ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560[6] มาตรา 98 (3) กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของบุคคลมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

          ภายหลังจากประเด็นเรื่องการถือหุ้นของนายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกรายงานข่าวและมีการหยิบยกขึ้นมาเพื่อตรวจสอบ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก “[0=68.ARAGaf3ySOg59m1vS8_6Ykf0Vff2iy4pV-44nirHhb-AOaSRI1B5FSvnBc9-mCIt2KzLtKszlP_Htl9_GUpU36zMhn1gAMgIPl-Ek55vsxLxHY6_U6HTTjBO_KdqlKGQ2U9hSYeH9yU3-98bLZBHHSQErZnpMLsmK6jxjsV3CXubmPNJR0hVhfBDLA6iYjDCI7uZWhC2i2lD8Dbh_DoWJYvmnCAawTxn3zTC1X5WtXrn8-qLaB8F3ryzYhjJ0gKw__DyktzBZYGF0x77RfiGA4vbvOmi4T16bg4l0qjfarB4T71BUeCQjluUpXcciFiFcKFNpnbsctEvGFbQRXRcQek Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ]” ในวันที่ 2 เมษายน 2562 กรณีข้อสงสัยเรื่องการถือหุ้นของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด โดยชี้แจงว่าได้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 จนถึงเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562  ตนเองและภรรยาได้มีการโอนหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย ที่ถืออยู่ทั้งหมดให้กับนางสมพร ผู้เป็นมารดา ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2562 นางสมพรได้โอนหุ้น จำนวน 675,000 หุ้น ให้หลานชายคนที่ 1 และวันเดียวกันก็ได้โอนหุ้นจำนวน 225,000 หุ้นให้กับหลานคนชายคนที่ 2 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2562 บริษัท วี-ลัค มีเดีย มีผู้ถือหุ้น 10 คน ส่วนในการประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 19 มีนาคม 2562 ที่มีการตั้งข้อสงสัยว่ามีผู้เข้าประชุม 10 คนนั้น ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏ ก็คือ มีผู้ถือหุ้นเข้าประชุม 4 คน และผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้เข้าประชุมอีก 6 คน รวมเป็น 10 คน และวันเวลาดังกล่าวตนเองติดภารกิจหาเสียงอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่ ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2562 หลานชายคนที่ 1 และ หลานชายคนที่ 2 ได้โอนหุ้นของบริษัทวี-ลัค มีเดีย กลับคืนมาให้นางสมพร ซึ่งวันเดียวกันนั้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้นำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทตามแบบ บอจ.5 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุจำนวนผู้ถือทั้งหมดของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ทั้งสิ้น 5 คน

          นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายธนาธร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ที่ระบุว่า บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2562 กกต. สั่งรับเรื่องที่นายศรีสุวรรณ ยื่นขอให้ตรวจสอบนายธนาธร กรณีถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส. ไว้พิจารณา และในวันที่ 5 เมษายน 2562 ได้เรียกให้ นายศรีสุวรรณ เข้าให้ถ้อยคำเรื่องนี้ เมื่อถึงวันที่ 23 เมษายน 2562 กกต. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา นายธนาธรถือหุ้นสื่อขัดคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส. และเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 นายธนาธร เดินทางกลับจากต่างประเทศ ระหว่างนั้นมีการแสดงหลักฐานผ่านเฟซบุ๊กเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ และได้เข้าชี้แจงข้อกล่าวหากับ กกต. ในวันที่ 30 เมษายน 2562 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562  กกต. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ว่า นายธนาธร ขาดคุณสมบัติ ส.ส. จากปมถือหุ้นสื่อ'[7]'

          วันที่ 23 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตามความที่ กกต. ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมรัฐธรรมนูญ 82 ว่าสมาชิกภาพสมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา98 (3) หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาหารือกันแล้วว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ได้บัญญัติให้ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามมาตรา มาตรา 101 (6)  ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาตามข้อเท้จจริงและเอกสารประกอบ ปรากฎว่า กกต. ในฐานะผู้ร้องได้มีมติส่งเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เพราะเหตุที่ว่า กกต. เห็นว่านายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ในวันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ศาลจึงมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา และคำร้องที่ขอให้มีคำสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติ 8 ต่อ 1 ให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

 

ประชุมรัฐสภาครั้งแรก: อ่านประกาศหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว

          แม้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งต้องอาศัยการรวบรวมเสียงสนับสนุนของ ส.ส. จำนวนมาก นายธนาธรก็ได้ประกาศเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลต่อไป โดยวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 นายธนาธรได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ที่ทำการพรรค ระบุว่าเขาและพรรคอนาคตใหม่ยังคงจะเดินหน้ารวบรวมเสียงจากพรรคต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยกล่าวต่อสมาชิกพรรคและสื่อมวลชนว่า “...ธนาธรยังพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ธนาธรยังมีศักดิ์และสิทธิที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี...” “...อยากให้เรายืนเงียบ ๆ แล้วเงี่ยหูฟัง พวกเราได้ยินเสียงของความคลั่งโกรธของผู้คนที่อยู่ข้างนอกไหม... คสช. ในวันนี้อยู่ในขาลง คสช. และระบอบเผด็จการที่มาพร้อมพวกเขา คืออาทิตย์ที่กำลังอัสดง...” โดยในช่วงท้าย นายธนาธรยังเชื่อว่าการตัดสินให้เขาหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสกัดดั้นการเข้าสู่สภาของเขา “ ...ถึงแม้ว่าวันนี้ผมถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส. แต่ผมยังเป็น ส.ส. ระหว่างรอการวินิจฉัยของศาล ผมจะยังคงทำงานกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในเมื่อพวกเขาไม่ให้ผมเข้าสภา ผมก็จะอยู่กับประชาชน ผมจะทำงานในฐานะบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน 6 ล้าน 3 แสนเสียงทั่วประเทศ"[8]

          จนเมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 นายชัย ชิดชอบ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุมชั่วคราว ได้ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้อ่านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำวินิจฉัยให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่นายธนาธรรับทราบคำสั่งและได้ยกมือเพื่อขออภิปรายแสดงความคิดเห็น โดยนายชัย ชิดชอบ ในฐานะประธานได้กล่าวว่า ขอให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้นายธนาธร ยุติการปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีสิทธิแสดงความเห็นใด ๆ ในที่ประชุมสภา ก่อนจะจับมือกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และเดินออกจากประชุมสภาทันที ท่ามกลางเสียงปรบมือจาก ส.ส. จำนวนมาก

 

บรรณานุกรม

“ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ 10/2562.” (23 พฤษภาคม 2562) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. <http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20190523175901.pdf>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.

“ทำไมคนรุ่นเก่าจึงคิดว่าธนาธรอันตราย จนต้องทำทุกวิถีทางไม่ให้ได้เข้าสภา.” The Momentum. (6 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://themomentum.co/why-old-gen-against-thanathorn-future-forward-party/>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.

“ธนาธร ตัดพ้อ ถูกสร้างให้เป็น “ปิศาจ” ชี้หมดเวลาของเผด็จการแล้ว.” ไทยรัฐออนไลน์. (20 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก < https://www.thairath.co.th/news/politic/1524601>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.

“นโยบายพรรคอนาคตใหม่.” (2562) พรรคอนาคตใหม่. เข้าถึงจาก <https://futureforwardparty.org/about-fwp/our-policies>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.

“บ.วี-ลัค มีเดีย แจ้ง 22 มี.ค.62 ‘เมียธนาธร’ลาออก กก. - มี‘กก.ผู้ถือหุ้น’ร่วมประชุม 10 คน.” สำนักข่าวอิศรา. (27 มีนาคม 2562) เข้าถึงได้จาก <https://www.isranews.org/isranews/75047-report00-75047.html>. เมื่อ 27 มีนาคม 2562

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 134 ตอนที่ 40 ก . วันที่ 6 เมษายน 2560, หน้า 26-27.

“สรุปปม “ธนาธร” ถือหุ้นสื่อบริษัท “วี-ลัค มีเดีย” โทษถึงพ้น ส.ส.?.” เวิร์คพอยท์นิวส์. (4 เมษายน 2562) เข้าถึงได้จาก <https://workpointnews.com/2019/04/04/2thanathornv/>. เมื่อ 27 มีนาคม 2562

“อนาคตใหม่ : ธนาธรประกาศเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลต่อ หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส..” บีบีซีไทย. (23 พฤษภาคม 2562)  เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48376410>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.

อ้างอิง

[1] “ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ 10/2562,” (23 พฤษภาคม 2562) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, <http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20190523175901.pdf>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.

[2] “นโยบายพรรคอนาคตใหม่,” (2562) พรรคอนาคตใหม่, เข้าถึงจาก< https://futureforwardparty.org/about-fwp/our-policies>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.

[3] “ทำไมคนรุ่นเก่าจึงคิดว่าธนาธรอันตราย จนต้องทำทุกวิถีทางไม่ให้ได้เข้าสภา,” The Momentum, (6 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://themomentum.co/why-old-gen-against-thanathorn-future-forward-party/>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.

[4] “ธนาธร ตัดพ้อ ถูกสร้างให้เป็น “ปิศาจ” ชี้หมดเวลาของเผด็จการแล้ว,” ไทยรัฐออนไลน์, (20 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1524601>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.

[5] “บ.วี-ลัค มีเดีย แจ้ง 22 มี.ค.62 ‘เมียธนาธร’ลาออก กก. - มี‘กก.ผู้ถือหุ้น’ร่วมประชุม 10 คน,” สำนักข่าวอิศรา, (27 มีนาคม 2562) เข้าถึงได้จาก <https://www.isranews.org/isranews/75047-report00-75047.html>. เมื่อ 27 มีนาคม 2562

[6] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนที่ 40 ก , วันที่ 6 เมษายน 2560, หน้า 26-27.

[7] “สรุปปม “ธนาธร” ถือหุ้นสื่อบริษัท “วี-ลัค มีเดีย” โทษถึงพ้น ส.ส.?,” เวิร์คพอยท์นิวส์, (4 เมษายน 2562) เข้าถึงได้จาก <https://workpointnews.com/2019/04/04/2thanathornv/>. เมื่อ 27 มีนาคม 2562

[8] “อนาคตใหม่ : ธนาธรประกาศเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลต่อ หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.,” บีบีซีไทย, (23 พฤษภาคม 2562)  เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48376410>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.