กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


  “พอเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ฉันก็เล็งเห็นว่าไม่ใช่เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาติไทยทีเดียว มีหลักมูลแห่งวัฒนธรรมของเรา จะเปลี่ยนแปลงไปในทางประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นก็ได้คิดตั้งหนังสือพิมพ์ เพื่อจะชี้แจงให้ประชาชนชาวไทยเข้าใจ”

กรมหมื่นนราธิปฯ[1]

พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

          ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ เมื่อเอ่ยถึงบุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองอยู่หลายตำแหน่ง เคยมีบทบาททั้งด้านการทูตและการต่างประเทศ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการบัญญัติศัพท์และวางกฎเกณฑ์ในการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยที่หลายคำยังคงใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คงไม่อาจหมายถึงใครไปได้นอกจาก พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือที่เรียกกันคุ้นหูอย่างไม่เป็นทางการว่า “พระองค์วรรณ”     

 

ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว

          พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระนามเดิม คือ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2434 ที่ตำบลบ้านตะนาว อำเภอสำราญราษฎร์ จังหวัดพระนคร เป็นโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระนราธิปประพันธ์พงศ์ในรัชกาลที่ 4  และหม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ ในสกุลมนตรีกุล ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ทรงมีพี่น้องร่วมพระบิดารวมทั้งหมด 34 พระองค์ แต่มีพระองค์เดียวที่ประสูติแต่หม่อมหลวงต่วนศรีด้วยกัน คือ หม่อมเจ้าศิวากร วรวรรณ[2]

          กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงเสกสมรสกับ ม.จ. พิบูลย์เบ็ญจางค์ กิติยากร เมื่อ พ.ศ. 2463 มีโอรสซึ่งถึงแก่กรรมแล้วคือ ม.ร.ว. วิบูลเกียรติ วรวรรณ สมรสกับ ม.ร.ว. ทิพภากร (สกุลเดิม อาภากร) มีนัดดาคือ ม.ล. เกียรติกร วรวรรณ และ ม.ล. สุทธิ์ธรทิพย์ วรวรรณ กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงเสกสมรสกับหม่อมพร้อยสุพิณ (สกุลเดิม บุนนาค) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 มีธิดาคือ ม.ร.ว. วิวรรณ วรวรรณ เศรษฐบุตร[3]

          เมื่อ พ.ศ. 2433 ทรงศึกษา ณ โรงเรียนสวนกุหลาบ เป็นเวลา 1 ปีเศษ สอบไล่ได้ชั้น 1 พ.ศ. 2444 ทรงศึกษา ณ โรงเรียนราชวิทยาลัย เป็นเวลาประมาณ 3 ปี สอบได้ชั้น 5 พ.ศ. 2447 ได้ทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบเป็นเวลา 1 ปีเศษ ได้ชั้น 6 มัธยมพิเศษ พ.ศ. 2448 ศึกษาต่อที่โรงเรียนราชวิทยาลัย เป็นเวลาครึ่งปี ศึกษาชั้น 6 และสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ที่ 1 ต่อจากนั้นก็เสด็จไปทรงศึกษาต่อต่างประเทศ[4]

          เมื่อ พ.ศ. 2448 ได้เสด็จโดยชิงทุนหลวงได้ไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ณ โรงเรียน Marlborough College รวมเวลา 5 ปี สำเร็จวิชาทาง Modern และ Classical Side ชั้น 6 ทรงได้รางวัลพิเศษ 17  อย่าง พ.ศ. 2453 เสด็จเข้าทรงศึกษา ณ มหาวิทยาลัย Oxford ใน Balliol College เป็นเวลา 4 ปี ทรงได้ปริญญา B.A. เกียรตินิยมชั้นโททางประวัติศาสตร์ เสร็จแล้วในปี พ.ศ. 2458 ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ Ecole Libre des Sciences Politiques ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 2 ปี เพื่อศึกษาวิชาการทูตและทรงสอบไล่ได้รับประกาศนียบัตรวิชาการทูต รางวัลที่ 1 ในปี พ.ศ. 2470 ได้รับปริญญา M.A. แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ต่อมาทรงได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ รัฐศาสตร์ (การทูต) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ กฎหมาย มหาวิทยาลัยแฟร์ เลดิกกินสัน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด รวมทั้งได้รับปริญญาบัตร (กิตติมศักดิ์) จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร[5]

 

หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ

          ด้วยเหตุที่ กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ อยู่หลายตำแหน่ง จึงทำให้พระองค์ท่านมีพระนามที่ผู้คนเรียกถวายอยู่หลายพระนามด้วยกัน เช่น “ท่านอัครราชทูตวรรณไวทยากร” “ท่านวรรณ” “พระองค์วรรณ” “พระอาจารย์” “ท่านที่ปรึกษา” “ท่านเอกอัครราชทูต” “ท่านผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ” “เสด็จในกรมฯ” และ “เสด็จรองนายกรัฐมนตรี”[6]  

          ตลอดช่วงชีวิตการทำงานของ กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงมีความเกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญในด้านการต่างประเทศและการทูตของไทยเป็นอย่างยิ่ง จุดเริ่มต้นของการรับราชการในด้านการต่างประเทศของพระองค์ เริ่มจากเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2460 ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการตรีประจำสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส และเป็นเลขานุการคณะทูตไทยที่ประชุมสันติภาพภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2463 จึงทรงเสด็จกลับมารับราชการ ณ กระทรวงการต่างประเทศ ในตำแหน่งหัวหน้ากองบัญชาการ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งในขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ทรงเป็นเสนาบดี ในปี พ.ศ. 2467 ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็น ปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างประเทศ ทรงเป็นหัวหน้าคณะทูตในการเจรจาทำอนุสัญญาว่าด้วยอินโดจีน จากนั้นในปี พ.ศ. 2469 เมื่อตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียมว่างลง ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอัครราชทูตประจำประเทศทั้งสาม และในขณะที่ดำรงตำแหน่งนี้ ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไปประจำสมัชชาสันนิบาตชาติ ทรงได้รับเลือกเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการกำกับการเงินของสันนิบาตชาติ, รองประธานในการประชุมแก้ข้อบัญญัติแห่งศาลประจำศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ, ประธานคณะกรรมการระเบียบวาระแห่งสมัชชาสันนิบาตชาติ, สมาชิกสำนักการทูตระหว่างประเทศ และผู้แทนประจำคณะกรรมการอื่น ๆ[7]

          ส่วนบทบาทด้านการต่างประเทศภายหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 นั้น กรมหมื่นนราธิปฯ ก็ทรงเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากคณะผู้ก่อการให้ปฏิบัติราชการรับใช้ประเทศชาติอยู่หลายประการ โดยในปี พ.ศ. 2480 ทรงเป็นผู้แทนเจรจาในการแก้ไขสนธิสัญญากับนานาชาติจนบรรลุผล ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นประธานผู้แทนทูตไทยเพื่อเจรจากำหนดเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ณ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2486 ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของนายกรัฐมนตรีไปร่วมประชุมในการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีของชาติต่าง ๆ ในมหาเอเชีย ในช่วงที่สงครามทางด้านเอเชียบูรพากำลังเข้าขั้นวิกฤต ปี พ.ศ. 2489 ทรงได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เจรจาหาทางให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ปี พ.ศ. 2490 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน และผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2495 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งถือเป็นตำแหน่งราชการสูงสุดของการทำงานด้านการต่างประเทศของพระองค์ และหลังจากนั้นก็ยังทรงมีบทบาทและภารกิจที่สำคัญในด้านการทูตและการต่างประเทศอีกมากมาย[8]

          อีกบทบาทที่สำคัญของ กรมหมื่นนราธิปฯ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง คือการที่พระองค์ทรงถูกยกย่องว่าเป็น “เอตทัคคะทางภาษา” ด้วยเหตุที่ว่าทรงเป็นนักภาษาศาสตร์ชั้นเยี่ยมคนหนึ่งของไทย ทรงเคยมีบทบาทในการทำงานด้านหนังสือพิมพ์และยังทรงเป็นนักประพันธ์ และยังทรงมีบทบาทสำคัญในการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะศัพท์เทคนิค ศัพท์วิชาการและศัพท์เฉพาะทางที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบันหลายคำ เช่น คำว่า นิเทศศาสตร์, วารสารศาสตร์, สื่อสารมวลชน, อัตโนมัติ, รัฐธรรมนูญ, ประชาธิปไตย, โทรทัศน์ และวิทยุ เป็นต้น ด้วยทรงเล็งเห็นเหตุผลสำคัญในการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยขึ้นมาใช้แทนการทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “ในการจะเข้าถึงประชาชนนั้น เราจะใช้คำภาษาอังกฤษซึ่งยังไม่ได้ซาบซึ้งเข้าไปในระบบความคิดของเรานั้นไม่ได้ ถ้าเราหาคำไทยได้ก็ยิ่งดี แต่ถ้าเราหาไม่ได้ก็หันหน้าเข้าหาคำบาลี-สันสกฤต…[9]  ภายหลังจากที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง “ราชบัณฑิต” ขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2485 กรมหมื่นนราธิปฯ ก็ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกราชบัณฑิตคนแรกของประเทศไทย โดยผลงานชิ้นแรกที่ทรงบุกเบิกและสร้างสรรค์คือ พจนานุกรมฉบับบัณฑิตราชยสถาน พ.ศ. 2493 ผลงานและความสามารถของพระองค์ทำให้ในปี พ.ศ. 2534 ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ว่าเป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก[10]

          นอกจากบทบาทการทำงานในด้านการต่างประเทศและด้านภาษาแล้ว กรมหมื่นนราธิปฯ ยังทรงมีบทบาทและเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ในปี พ.ศ. 2465 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง “องคมนตรี” รับปรึกษาราชการส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2473 ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทรงสอนภาษาอังกฤษและภาษาไทย และทรงมีบทบาทสำคัญในการทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2488 ทรงได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช_2489 และจากนั้นจึงทรงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปีเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2505 ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในปี พ.ศ. 2508 จึงทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

 

ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง

          กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทและผลงานในทางการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะในด้านการต่างประเทศ เรื่องแรก ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงมีผลงานที่โดดเด่นคือ ได้เป็นคณะผู้แทนเจรจาในการแก้ไขสนธิสัญญาเสียเปรียบที่ประเทศไทยทำกับต่างชาติ ตั้งแต่สมัยอดีต เช่น สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง และสัญญาแบบเดียวกันที่ประเทศไทยทำกับประเทศอื่น ๆ จนสามารถแก้ไขได้เป็นผลสมบูรณ์ จึงได้รับพระราชทานเข็มราชการแผ่นดินสำหรับประดับเหรียญดุษฎีมาลา เรื่องที่สอง ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นประธานผู้แทนทูตไทยในการเจรจากำหนดเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยทรงได้รับมอบอำนาจให้ทรงลงพระนามในสัญญาได้ ถือเป็นผลงานที่สำคัญในทางการเมืองอีกวาระหนึ่ง เรื่องที่สาม ทรงได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในสมัยนั้นให้เจรจาหาทางให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติให้ได้ ซึ่งก็ทรงเจรจาจนเป็นผลสำเร็จ ในที่สุดประเทศไทยก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2489 ประการที่สี่ ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะมนตรี ส.ป.อ. (สนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งจัดให้มีขึ้นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ตำแหน่งที่สำคัญทางการเมืองของพระองค์คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งได้ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดี สร้างผลงานและคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมากมาย รวมทั้งการเป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งแม้จะดูไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง แต่พระองค์ก็ทรงมีบทบาทด้านภาษาในการบัญญัติศัพท์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นจำนวนมาก

          กรมหมื่นนราธิปฯ สิ้นพระชนม์ในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2519 รวมพระชันษา 85 พรรษา ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศกุดั่นใหญ่ ประกอบเกียรติยศ ตั้งพระศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และต่อมาได้พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2519[11]       

 

บรรณานุกรม

กระทรวงการต่างประเทศ, 120 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กระทรวงการต่างประเทศ, 2554)

สิริ เปรมจิตต์, ชีวิตและงานของปรินซ์วรรณ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2516)

ทีมงานทรูปลูกปัญญา, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, ทรูปลูกปัญญา, (กันยายน 2556), Retrieved From:  http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/25875-038124, February 25, 2016.     

 

อ้างอิง

[1] กระทรวงการต่างประเทศ, 120 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กระทรวงการต่างประเทศ, 2554), น. 74.  

[2] กระทรวงการต่างประเทศ, 120 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กระทรวงการต่างประเทศ, 2554), น. 32-33.

[3] กระทรวงการต่างประเทศ, 120 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กระทรวงการต่างประเทศ, 2554), น. 33.

[4] กระทรวงการต่างประเทศ, 120 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กระทรวงการต่างประเทศ, 2554), น. 33-34.

[5] สิริ เปรมจิตต์, ชีวิตและงานของปรินซ์วรรณ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2516), น. 5.

[6] กระทรวงการต่างประเทศ, 120 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กระทรวงการต่างประเทศ, 2554), น. 94.  

[7] กระทรวงการต่างประเทศ, 120 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กระทรวงการต่างประเทศ, 2554), น. 34-37.

[8] กระทรวงการต่างประเทศ, 120 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กระทรวงการต่างประเทศ, 2554), น. 34-37.

[9] อ้างอิงจาก ทีมงานทรูปลูกปัญญา, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์,ทรูปลูกปัญญา, (กันยายน 2556), Retrieved From:  http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/25875-038124, February 25, 2016.     

[10] อ้างอิงจาก ทีมงานทรูปลูกปัญญา, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์,ทรูปลูกปัญญา, (กันยายน 2556), Retrieved From:  http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/25875-038124, February 25, 2016.     

[11] กระทรวงการต่างประเทศ, 120 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กระทรวงการต่างประเทศ, 2554), อ้างแล้ว, น. 37.