หลวงโกวิทอภัยวงศ์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 20:45, 1 ธันวาคม 2562 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต



 “คนไทยเราที่มีเลือดเป็นไทยแท้ ๆ ในปัจจุบันจะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์
ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อเป็นไทยแล้ว ขอให้รักไทย
ทำเพื่อประโยชน์ของไทย เสียสละเพื่อประเทศไทย
และซื่อสัตย์สุจริต ต่อประเทศไทยก็แล้วกัน”

หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (นายควง อภัยวงศ์)[1]
 

          “ความเป็นไทย” เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งความเป็นไทยในช่วงเวลานั้นเกี่ยวข้องกับ “เชื้อชาติไทย” นอกจากนี้ความเป็นไทยยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามมาตลอด โดยในรายแรก ๆ ที่ถูกโจมตีถึงเรื่องความเป็นไทยนั่นคือ “หลวงโกวิทอภัยวงศ์” หรือ “นายควง อภัยวงศ์” หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อการของคณะราษฎร อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นหัวหน้าพรรคคนแรกด้วย เนื่องจากภูมิลำเนาเมื่อครั้งที่หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (นายควง อภัยวงศ์) ถือกำเนิดนั้น อยู่ในเมืองพระตะบอง ซึ่งปัจจุบันคือประเทศกัมพูชา ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นข้อครหาดังกล่าว ที่ฝ่ายตรงข้ามใช้โจมตี ทว่าหลวงโกวิทอภัยวงศ์ (นายควง อภัยวงศ์) ก็สามารถแก้ต่างได้ทุกครั้ง ด้วยปฏิภาณไหวพริบ และชั้นเชิงทางภาษาที่ดีเยี่ยม ความสามารถดังกล่าวทำให้บทบาททางการเมืองของหลวงโกวิทอภัยวงศ์ (นายควง อภัยวงศ์) มีความโดดเด่นอย่างยิ่ง อาทิ การเจรจากับจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อปลดออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นเวลาถึง 7 วัน 7 คืน การออกมาวิจารณ์การเมืองผ่านสื่อในช่วงรัฐบาลจอมพล_สฤษดิ์_ธนะรัชต์

 

ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว

          หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (นายควง อภัยวงศ์) ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 ที่เมืองพระตะบอง ปัจจุบันอยู่ในประเทศกัมพูชา เป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการมณฑลบูรพา ในขณะนั้น และนางรอด อภัยวงศ์ ชาวเมืองปราจีนบุรี มีพี่น้องต่างมารดารวมทั้งสิ้น 33 คน โดยเชื้อสายตระกูลอภัยวงศ์นั้น เป็นผู้ปกครองเขมรมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้นายควงถูกโจมตีทางการเมืองเรื่องไม่ใช่คนไทย และเป็นพวกศักดินา[2]

          หลวงโกวิทอภัยวงศ์ เริ่มเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ในปี พ.ศ. 2450 จนสอบไล่ได้ในระดับชั้นมูล 4 จึงได้ไปศึกษาต่อยังโรงเรียนอัสสัมชัญ ในปี พ.ศ. 2454 สอบไล่ได้ในระดับชั้น 3 แผนกฝรั่งเศส หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2461 ได้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส และปีถัดมาได้สอบเข้าศึกษาที่ Ecole Centrale De Lyon ในแผนกวิศวกรรมโยธา และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2470 โดยระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ฝรั่งเศสนั้น หลวงโกวิทอภัยวงศ์ ได้มีโอกาสศึกษาดูงานการรถไฟ โรงกระดาษ และอื่น ๆ อีกด้วย[3] รวมถึงการได้พบปะกับกลุ่มผู้ก่อการหนุ่มของ “คณะราษฎร” ในขณะนั้น เช่น นายปรีดี พนมยงค์ นายประยูร ภมรมนตรี หลวงพิบูลสงคราม หลวงทัศนัยนิยมศึก โดยมีการนัดพบปะกันของนักเรียนไทยที่ร้าน “คาเฟ่ซูเม่” หรือร้าน “อ้ายซุง” อยู่สม่ำเสมอ[4]

          หลวงโกวิทอภัยวงศ์ สมรสกับคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ (คุณะดิลก) ธิดาพระยาอรรถการประสิทธิ์ โดยมีบุตรธิดารวมกัน 3 คน คือ นายดิลก อภัยวงศ์ นายคทา อภัยวงศ์ และนางสาวคลอ อภัยวงศ์[5]  หลวงโกวิทอภัยวงศ์ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคมะเร็งปอด ณ บ้านพักหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2511 เวลา 06.07 น. สิริรวมอายุ 66 ปี[6]

 

หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ

          หลวงโกวิทอภัยวงศ์ เริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งนายช่างผู้ช่วยโท แผนกกองช่างโทรเลข กรมไปรษณีย์โทรเลข ในปี พ.ศ. 2471 และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงโกวิทอภัยวงศ์” ในปี พ.ศ. 2474 (ซึ่งลาออกจากบรรดาศักดิ์ในปี พ.ศ. 2484)[7] ต่อมาเป็นนายช่างอำนวยการโทรเลข ในปี พ.ศ. 2475 เป็นนายช่างอำนวยการโทรศัพท์ ในปี พ.ศ. 2477 และขยับขึ้นเป็นนายช่างกำกับการโทรศัพท์ ในปี พ.ศ. 2478 และในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2478 ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข[8]

          หลวงโกวิทอภัยวงศ์ เริ่มดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยการตำแหน่งรัฐมนตรีลอย ในปี พ.ศ. 2478 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2480 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงธรรมการ และย้ายไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในปี พ.ศ. 2484 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2485 ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์[9] หลวงโกวิทอภัยวงศ์ ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี สมัยแรก” ในปี พ.ศ. 2487 ภายหลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล[10] โดยระหว่างนั้นได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมควบด้วย ก่อนที่จะย้ายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในปี พ.ศ. 2488[11] เมื่อสงครามโลกครั้งที่_2 ยุติลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 หลวงโกวิทอภัยวงศ์ ได้ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เป็นที่ยอมรับแก่นานาประเทศ[12]

          หลวงโกวิทอภัยวงศ์กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2489 ภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังสิ้นสุดสงครามโลก โดยควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอีกหนึ่งตำแหน่งด้วย แต่รัฐบาลชุดนี้สิ้นสุดลงในระยะเวลาที่รวดเร็ว เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายประชาชน ที่รัฐบาลไม่เห็นด้วย หลวงโกวิทอภัยวงศ์ จึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[13] แต่ภายหลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 8_พฤศจิกายน_พ.ศ._2490 หลวงโกวิทอภัยวงศ์ ได้รับคำเชิญจากคณะผู้ยึดอำนาจให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการอีกหนึ่งตำแหน่งด้วย และสิ้นสุดตำแหน่งเมื่อมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2491 ทว่าหลวงโกวิทอภัยวงศ์ ก็ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ทว่าอยู่ได้เดือนเศษ เกิดกรณีนายทหาร 4 นาย บุกไปที่บ้านของท่าน ในวันที่ 6_เมษายน_พ.ศ._2491 พร้อมเสนอคำขาดให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นอันสิ้นสุดบทบาททางการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรี[14]

          นอกจากนี้บทบาททางการเมืองในด้านอื่น ๆ ของหลวงโกวิทอภัยวงศ์ ยังมีอีกมากมาย นับตั้งแต่การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดแรกเมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยเป็น “ส.ส. ประเภท 2”[15] หลังจากนั้นหลวงโกวิทอภัยวงศ์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของจังหวัดพระนคร เรื่อยมาในทุก ๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้ง[16]  ในส่วนของบทบาททางสังคมนั้น หลวงโกวิทอภัยวงศ์ได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญในหลาย ๆ หน่วยงาน เช่น เป็นกรรมการสภารถไฟ กรรมการหอการค้า กรรมการสภาขนส่ง กรรมการสภาขนส่ง ฯลฯ[17]

 

ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง

          เนื่องจากหลวงโกวิทอภัยวงศ์ อยู่ในแวดวงการเมืองมาอย่างยาวนาน และหลากหลายตำแหน่ง ได้แก่ การเป็นสมาชิกคณะราษฎร ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ผลงานในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ผลงานในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง ผลงานในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ

          “ผลงานในคณะราษฎร” โดยหลวงโกวิทอภัยวงศ์ มีบทบาทสำคัญในการตัดสายโทรศัพท์ เพื่อปิดทางไม่ให้ฝ่ายเชื้อพระวงศ์สามารถติดต่อถึงกันได้ โดยทางคณะราษฎรได้มอบหมายให้หลวงโกวิทอภัยวงศ์ เป็นผู้ตัดสายโทรศัพท์ ณ ชุมสายโทรศัพท์กลางวัดเลียบ ร่วมกับนายวิลาศ โอสถานนท์ ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นายประจวบ บุนนาค หลวงนิเทศกลกิจ และคณะ[18] จนกระทั่งภารกิจลุล่วง คณะราษฎรจึงติดต่อหลวงโกวิทอภัยวงศ์ ให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก เมื่อวันที่ 27_มิถุนายน_พ.ศ._2475 แต่หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2481 หลังจากที่หลวงโกวิทอภัยวงศ์ ได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 7 ณ กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ทำให้ความคิดของหลวงโกวิทอภัยวงศ์ เริ่มเปลี่ยนไป โดยมักจะกล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่า “เรามันผิดไปแล้ว ควรถวายพระราชอำนาจคืน”[19]

          “ผลงานในช่วงสงครามอินโดจีน” หลวงโกวิทอภัยวงศ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาการสื่อสารของกองบัญชาทหารสูงสุด และได้รับพระราชทานยศ “พันตรี” เหล่าทหารสื่อสาร รวมทั้งตำแหน่ง “ราชองครักษ์พิเศษ” และถูกส่งไปยังสมรภูมิเพื่อทำหน้าที่ในการติดต่อสื่อสาร จนกระทั่งสงครามยุติ ทางฝ่ายไทยได้รับดินแดนที่เคยสูญเสียไปกลับคืนมา รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งหลวงโกวิทอภัยวงศ์ เป็นประธานกรรมการรับมอบดินแดนจากรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส ณ จังหวัดพระตะบอง โดยหลวงโกวิทอภัยวงศ์ เป็นผู้เชิญธงช้าง อันเป็นธงชาติไทยในอดีตไปประจำ ณ จังหวัดพระตะบอง[20]

          “ผลงานในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี” ในปลายปี พ.ศ. 2484 นั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แยกกระทรวงเศรษฐการออกเป็น “กระทรวงพาณิชย์” และ “กระทรวงคมนาคม” โดยหลวงโกวิทอภัยวงศ์ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นคนแรก และเป็นผู้วางรากฐานระบบคมนาคมรูปแบบใหม่ให้กับประเทศไทย ต่อมาหลวงโกวิทอภัยวงศ์ได้ย้ายมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำให้เห็นปัญหาของนโยบายรัฐนิยมที่รัฐบาลประกาศออกมา ดังนั้นเมื่อหลวงโกวิทอภัยวงศ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2487 ได้มีการประกาศยกเลิกบทบัญญัติที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน อาทิเช่น การแต่งกายที่ต้องสวมกางเกง-กระโปรง การสวมหมวก รวมถึงการห้ามเคี้ยวหมาก ก็ถูกรัฐบาลของหลวงโกวิทอภัยวงศ์ประกาศยกเลิก ให้แต่งกายได้ตามสบายและสามารถกลับไปเคี้ยวหมากได้เช่นเดิม นโยบายดังกล่าวส่งผลให้หลวงโกวิทอภัยวงศ์เป็นที่นิยมชมชอบของประชาชน เมื่อมีการเลือกตั้งในช่วงเวลาต่อมา หลวงโกวิทอภัยวงศ์ก็จะได้รับความนิยมจากประชน และได้รับเลือกเข้าไปในสภาอยู่เสมอ[21]

          ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของหลวงโกวิทอภัยวงศ์ ท่ามกลางบารมีของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ยังเปี่ยมล้นอยู่ เนื่องจากจอมพล ป. ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด การบริหารประเทศของหลวงโกวิทอภัยวงศ์ จึงไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการมากนัก หลวงโกวิทอภัยวงศ์ จึงตัดสินใจเข้าไปเจรจากับจอมพล ป. ด้วยตัวเอง และออกประกาศยุบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด สร้างความไม่พอใจให้กับจอมพล ป. อย่างยิ่ง นอกจากนี้หลวงโกวิทอภัยวงศ์ ได้สั่งปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นบรรดาเชื้อพระวงศ์ที่ถูกจับกุมคุมขังไว้ นับตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมถึงกบฏครั้งต่าง ๆ ก่อนหน้า ให้มีอิสรภาพ ถือเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเหล่าเชื้อพระวงศ์อีกด้วย[22]  ขณะเดียวกันรัฐบาลของหลวงโกวิทอภัยวงศ์ สามารถประคับประคองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นให้ดำเนินไปได้ แม้ว่าญี่ปุ่นจะสงสัยท่าทีของท่าน รวมถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทย แต่ด้วยปฏิภาณไหวพริบของท่าน สามารถทำให้กองทัพญี่ปุ่นไม่โจมตีประเทศไทยในช่วงเวลานั้น[23]

          ในด้านเศรษฐกิจของประเทศที่บอบช้ำ เนื่องจากมีการพิมพ์ธนบัตรใบละพันออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นกู้ ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในสังคมไทย รัฐบาลหลวงโกวิทอภัยวงศ์  ได้แก้ปัญหาด้วยการเรียกเก็บธนบัตรใบละพัน ซึ่งการประกาศนี้ ออกมาอย่างเร่งด่วนเพียงข้ามคืน ทำให้นายทุนไม่สามารถกักตุนเงินตราได้ทันท่วงที[24]  นอกจากนี้รัฐบาลของหลวงโกวิทอภัยวงศ์ยังมีนโยบายต่าง ๆ เช่น การเปิดบ่อนคาสิโน เพื่อเก็บเงินจากเศรษฐีที่มีเงินเหลือ หรือการตั้งฉางรัฐบาล เพื่อรับซื้อข้าวจากชาวนาโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

          “ผลงานในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” หลังจากที่หลวงโกวิทอภัยวงศ์ ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างท่วมท้น และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาสั้น ๆ พ.ศ. 2489 – 2491 และในช่วงเวลาดังกล่าวหลวงโกวิทอภัยวงศ์ ยังเป็นบุคคลสำคัญในการก่อตั้ง “พรรคประชาธิปัตย์” โดยการรวมกันของพรรคก้าวหน้า ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และพรรคประชาธิปไตย ของนายโชติ คุ้มพันธ์ ซึ่งบุคคลทั้งสองได้ทาบทามให้หลวงโกวิทอภัยวงศ์ดำรงตำแหน่งหัวพรรค เมื่อท่านตอบรับ พรรคประชาธิปัตย์จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยหลวงโกวิทอภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และดำรงตำแหน่งนี้จนถึงแก่อสัญกรรม[25] นอกจากนี้บทบาทสำคัญในสภาผู้แทนราษฎรของหลวงโกวิทอภัยวงศ์  ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือการทำหน้าที่ “ฝ่ายค้าน” ซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่ม โดยเห็นได้จากการเป็นผู้นำในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในปี พ.ศ. 2490 โดยใช้ระยะเวลาอภิปรายทั้งสิ้น 7 วัน 7 คืน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลใน 8 ประเด็น ถือเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย[26]

 

ฉายาและข้อวิจารณ์

          หลวงโกวิทอภัยวงศ์ มีบุคลิกเฉพาะตัวเป็นผู้ที่มีอารมณ์ขัน และมีปฏิภาณไหวพริบอย่างดียิ่ง ซึ่งหลายครั้งได้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่อยู่ในภาวะสงคราม รวมถึงอารมณ์ขันที่ได้มีส่วนในการสร้างภาพความจำให้กับประชาชนด้วย จึงได้รับฉายาว่า “จอมตลก” “ตลกหลวง” หรือ “นายกฯ ผู้ร่ำรวยอารมณ์ขัน[27]

          ด้วยปฏิภาณไหวพริบทางด้านการเจรจา ที่สามารถทำลายบารมีของจอมพล ป. พิบูลสงครามลงได้ เมื่อครั้งที่หลวงโกวิทอภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกนั้น ส่งผลให้ได้รับฉายาว่า “วีรบุรุษผู้พิชิตจอมพลด้วยมือเปล่า[28] หรือแม้กระทั่งเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2492 – 2500 หลวงโกวิทอภัยวงศ์ มีบทบาทเป็นฝ่ายค้านตลอดมา และมีการให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองอยู่เป็นระยะ เมื่อจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนกระทั่งมีการยึดอำนาจซ้ำในปี พ.ศ. 2502 ได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร และยุบพรรคการเมืองทุกพรรค ส่งผลให้บทบาททางการเมืองของหลวงโกวิทอภัยวงศ์เหลือเพียงการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเท่านั้น จนได้รับฉายาว่า “โหรหน้าสนามกีฬา[29]

          นอกจากนี้ด้วยบุคลิกของหลวงโกวิทอภัยวงศ์ที่มีความเรียบง่าย มักจะแต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตและกางเกงขายาว จึงได้รับฉายาว่า “นายกฯ เสื้อเชิ้ต[30]  ด้วยมีบุคลิกที่ไม่ถือตัวและเป็นกันเองกับข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน ส่งผลให้หลวงโกวิทอภัยวงศ์เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน แต่ฝ่ายทหารกลับไม่พอใจ และได้อ้างเหตุผลดังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ “ขาดวินัย” เนื่องจากปล่อยให้ข้าราชการแต่งกายไม่เรียบร้อย จึงบีบบังคับให้ท่านต้องพ้นจากตำแหน่งนากรัฐมนตรีไป[31]

 

บรรณานุกรม

ควง อภัยวงศ์, การต่อสู้ของข้าพเจ้า, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อนุรักษ์, ม.ป.ป.).

คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช, 100 ปี ควง อภัยวงศ์, (กรุงเทพฯ : หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง สถาบันพระปกเกล้า, 2546).

ไทยน้อย, 12 นายกรัฐมนตรีไทย, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา, 2517).

นรนิติ เศรษฐบุตร, เกิดมาเป็นนายก, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554).

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, พันตรี ควง อภัยวงศ์ นากรัฐมนตรี 4 สมัย, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รับพิมพ์, 2529).

พันตำรวจเอก ชัยณรงค์ ธรรมศักดิ์, ชีวประวัตินายกรัฐมนตรี, (กรุงเทพฯ : ประจักษ์การพิมพ์, 2516).

รงค์ วงษ์สวรรค์, นินทานายกรัฐมนตรี, (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2542).

วีรชาติ ชุ่มสนิท, 24 นายกรัฐมนตรีไทย, (กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549).

'อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ป.จ.',ม.ป.ช.,ป.ม.,(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพนธ์, 2511).      

         

อ้างอิง

[1] ไทยน้อย, 12 นายกรัฐมนตรีไทย, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา, 2517), น. 76.

[2] คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช, 100 ปี ควง อภัยวงศ์, (กรุงเทพฯ : หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง สถาบันพระปกเกล้า, 2546), น. 6-7.

[3] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ป.จ.,ม.ป.ช.,ป.ม.,(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพนธ์, 2511), น.13.

[4] บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, พันตรี ควง อภัยวงศ์ นากรัฐมนตรี 4 สมัย, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รับพิมพ์, 2529), น.78-80.

[5] คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช, อ้างแล้ว, น. 14.

[6] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ป.จ.,ม.ป.ช.,ป.ม., น. 104.

[7] เพิ่งอ้าง, น. 18.

[8] เพิ่งอ้าง, น. 14.

[9] เพิ่งอ้าง.

[10] วีรชาติ ชุ่มสนิท, 24 นายกรัฐมนตรีไทย, (กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549), น. 30.

[11] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ป.จ.,ม.ป.ช.,ป.ม., น. 14.

[12] ควง อภัยวงศ์, การต่อสู้ของข้าพเจ้า, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อนุรักษ์, ม.ป.ป.), น. 117.

[13] นรนิติ เศรษฐบุตร, เกิดมาเป็นนายก, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554), น. 83.

[14] พันตำรวจเอก ชัยณรงค์ ธรรมศักดิ์, ชีวประวัตินายกรัฐมนตรี, (กรุงเทพฯ : ประจักษ์การพิมพ์, 2516), น. 149.

[15] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ป.จ.,ม.ป.ช.,ป.ม., น. 15.

[16] เพิ่งอ้าง.

[17] เพิ่งอ้าง, น. 16.

[18] ควง อภัยวงศ์, อ้างแล้ว, น.23-34.

[19] คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช, อ้างแล้ว, น. 41.

[20] เพิ่งอ้าง, น. 43-44.

[21] ไทยน้อย, อ้างแล้ว, น. 77-79.

[22] คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช, อ้างแล้ว, น. 77.

[23] เพิ่งอ้าง, น. 83-89.

[24] เพิ่งอ้าง, น. 78-79.

[25] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ป.จ.,ม.ป.ช.,ป.ม., น. 82.

[26] บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, อ้างแล้ว, น. 397-461.

[27] รงค์ วงษ์สวรรค์, นินทานายกรัฐมนตรี, (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2542), น. 46.

[28] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ป.จ.,ม.ป.ช.,ป.ม., น. 67.

[29] เพิ่งอ้าง, น.101.

[30] คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช, อ้างแล้ว, น. 157.

[31] นรนิติ เศรษฐบุตร, อ้างแล้ว, น.89.