บุญสนอง บุณโยทยาน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 20:26, 1 ธันวาคม 2562 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร



“ที่มีผู้อ้างว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยควรเป็นกลางทาวิชาการนั้นพอจะรับฟังได้ แต่จะให้เป็นกลางทางการเมืองทั้ง ๆ ที่ประเทศชาติกำลังจะล่มจมนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคมโดยแท้”

ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน[1]

           ณ เวลา 01.30 น. ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 ณ บริเวณปากซอยหมู่บ้านมงคลนิเวศน์ เพื่อจะกลับบ้านพักที่ บ้านเลขที่ 28 ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เขตพญาไท กรุงเทพ รถซีตรองสีขาวทะเบียน กท.อ.7888 ตกคลองข้างทาง ปรากฏร่างชายคนหนึ่งถูกยิงที่หน้าผาก ชายผู้นั้นคือเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย นั้นคือ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน อาจารย์หนุ่ม อายุ 40 ปี[2] จากอาจารย์จบปริญญาเอกจากเมืองนอกสู่นักการเมืองสังคมนิยมที่ต่อสู้เพื่อประชาชนตามวิถีประชาธิปไตย

ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว

           ดร.บุญสนอง เป็นลูกชายคนโตของ นายสนอง บุณโยทยาน และ นางบัวคลี่ (รัตนสัค) บุณโยทยาน เกิดที่บ้านประตูหวาย ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2479 ปู่ชื่อ ร.ต.อ.ขุนเรนทร์เสนีย์ (สวน บุณโยทยาน), ย่าชื่อ นางอั้น บุณโยทยาน, ตาชื่อ ขุนรัตน์ราชชน (สมบุญ รัตนสัค), ยายชื่อ นางแสงหล้า รัตนสัค มีน้องชายหนึ่งคน ชื่อนายกองสิน (ปัจจุบันชื่อ ทรัพย์สิน) บุณโยทยาน ภรรยาชื่อ นางทัศนีย์ บุณโยทยาน และมีลูกสาวสองคนชื่อ ดุษฎี บุณโยทยาน และ วีรุทัย (บุณโยทยาน) หาญประวีณ[3]

           ดร.บุญสนอง จบการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียน สามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย มัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนปรินส์รอแยล จังหวัดเชียงใหม่ ปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2502 ปริญญาโทที่ University of Kansas เมื่อ พ.ศ. 2506 ด้วยทุน Fulbright-Hayes Scholarship ได้รับ Master’s degree in Sociology เมื่อ พ.ศ. 2507 ในปี พ.ศ. 2510 เขาได้รับทุน Rocky Feller Scholarship ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ด้าน Sociologoly ที่ Cornell University และสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2514[4]

หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ

           หลังจากการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยมีความสามารถในภาษาอังกฤษ และมีความเข้าใจในระบบราชการไทยเป็นอย่างดี ดร.บุญสนอง จึงได้รับการว่าจ้างเป็นเจ้าหน้าที่ United State Information Service (USIS, Bangkok) เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาโท ดร.บุญสนองได้เป็นอาจารย์ประจำวิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่าง พ.ศ. 2508-2510 นอกจากนั้นในช่วงที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก  ดร.บุญสนองยังเป็นสมาชิกของ American Sociology Association และสมาชิก Association for Asian Studies ที่เข้าร่วมประชุมแทบทุกปีและเสนอผลงานในปี พ.ศ.2515 และ พ.ศ. 2518 พอจบการศึกษาระดับปริญญาเอก เขาได้เป็น Visiting Professor ที่ Harvard University หนึ่งปี และที่ University of Hawaii อีกหนึ่งปี และได้กลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2515 เขาได้เป็นอาจารย์และดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามเงื่อนไขทุนที่ได้รับ ยังรับงานสอนในที่ต่าง ๆ อาทิ อาจารย์พิเศษปริญญาโท ภาควิชาสื่อสารมวลชนและประชาสัมพันธ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์พิเศษให้กับวิชาสังคมวิทยา มหาวิยาลัยมหิดล และยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการสมาคมสังคมวิทยาแห่งโลก ในสภาพบ้านเมืองช่วงก่อน 14 ตุลา 2516[5]

           ในช่วงที่จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีมีสภาพที่อยู่ในสภาวะระส่ำระส่าย เผด็จการทหารควบคุมอำนาจทางการเมืองและทำตามอำเภอใจเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน สิทธิต่าง ๆ ของประชาชนที่ลิดรอน นำมาสู่การเดินขบวนเรียกร้องขนานใหญ่ที่ในที่สุดกลายเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และจบลงด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนหน้านั้นก็ได้มีกลุ่มคน 100 คนผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ดร.บุญสนองก็เป็นหนึ่งในหนึ่งร้อยผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ในขณะที่อยู่ระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สัญญา_ธรรมศักดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้มีการแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ หรือสภาสนามม้า เพื่อทำหน้าที่เลือกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน 299 คนเพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แทนธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 เพื่อให้ประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง ดร.บุญสนองก็ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. 2516 จากทั้งหมด 2,347 คน นอกจากนี้ ดร.บุญสนองยังร่วมกับ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม กลุ่มนักการเมือง และนักวิชาการสายสังคมนิยมคนอื่น ๆ ร่วมกันก่อตั้งรพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ.2517 จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2517 ได้สำเร็จ โดยมี พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เป็นหัวหน้าพรรค และ ดร.บุญสนอง เป็นเลขาธิการพรรค กระทั่งการเลือกตั้งในวันที่ 26 ม.ค. 2518 พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ได้รับเลือกตั้ง ส.ส. 15 คน จากผู้สมัครทั่วประเทศ 82 คน ในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช[6] ซึ่ง ดร.บุญสนอง ก็ลงสมัคร ส.ส. เขตบางรักกับดร.นพพร สุวรรณพาณิช เช่นกัน แต่ไม่ได้รับเลือก[7] และในปี พ.ศ.2518 เมื่อนายทองดี อิสราชีวิน ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ ถึงแก่กรรมทำให้ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้น พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคพลังใหม่ และพรรคแนวร่วมสังคมนิยมจึงยินยอมพร้อมใจสนับสนุนให้ ดร.บุญสนอง ลงสมัครรับเลือกตั้ง และพยายามช่วยรณรงค์หาเสียงอย่างเต็มที่แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่ชนะการเลือกตั้ง[8]

ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง

           ผลงานที่สำคัญของ ดร.บุญสนองนั้น คือร่วมมือกับกลุ่มนักการเมืองและนักวิชาการสายสังคมนิยมก่อตั้ง "พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย" ขึ้นมาซึ่งนี้น่าจะเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่เป็นของประชาชน เพราะที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่าง ๆ ต่างเป็นพรรคการเมืองของคนส่วนน้อยที่เป็นชนชั้นนำในสังคมหรือนายทุนใหญ่[9] โดยพรรคมีเป้าหมายเพื่อที่จะผลักดันให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับความเป็นธรรม สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตย อย่างแท้จริง[10] โดยพรรคใช้สัญลักษณ์ “สี่เคี่ยวเกี่ยวกันในฟันเฟือง” มีคำขวัญว่า “ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” และมีคำประกาศ อุดมการณ์ และนโยบายของพรรคว่า “เด่นชัดเป็นรูปธรรม และมีพลัง บนจุดยืนผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ[11] ซึ่งกลุ่มนักการเมืองแนวสังคมนิยมเหล่านี้ได้แก่ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม และนายไขแสง สุกใส นักวิชาการก้าวหน้าอย่าง ดร.แสง สงวนเรืองและผู้นำนักศึกษา ได้แก่ ชัยวัฒน์ สุรวิชัย จรัล ดิษฐาอภิชัย ประสาร มฤคพิทักษ์ ปรีดี บุญซื่อ ธัญญา ชุนชฎาธาร วิรัติ ศักดิ์จิระพาพงษ์ สมคิด สิงสง วิสา คัญทัพ และผู้นำระดับท้องถิ่น เช่น วิชัย หินแก้ว เฉลิมและเลียมละออ กลางสาธร สุรสีห์ ผาธรรม อุดม ตะนังสูงเนิน ศรีศักดิ์ นพรัตน์ กมล กมลตุงวัฒนา และที่มีบทบาทสำคัญคือ ธีรยุทธ บุญมี ลุงฟัก ณ สงขลา ลุงแช่ม พนมยงค์(มุตตาฟา) และบางส่วนจาก “กลุ่มคน 100 คน ที่ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” และ “13 กบฏ เรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ที่เป็นจุดสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รวมถึงที่ลงสมัคร ส.ส. ในนามของพรรค ได้แก่ ประยงค์ มูลสาร  อุดร ทองน้อย ประเสริฐ เลิศยะโส ศิริ ผาสุก สุทัศน์ เงินหมื่น อินสอน บัวเขียว อาคม สุวรรณนพ ชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ พิรุณ ฉัตรวานิชกุล พีรพล ตรียะเกษม และสมาชิกกลุ่ม 6 และกลุ่มแท็กซี่ก้าวหน้า โดยในที่สุด มีที่ทำการพรรคแห่งแรก ณ. บ้านเลขที่ 20 ซ.ร่วมมิตร ถนนพระราม 6 กทม.[12]

           ถึงที่สุดแล้วแม้ ดร.บุญสนองจะมีผลงานเพียงไม่กี่อย่างที่ได้ทำไว้ เพราะ ดร.บุญสนอง เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 40 ปี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2519 โดยการลอบยิงบริเวณหน้าปากซอยเข้าบ้าน แต่ถึงกระนั้นผลงานที่ ดร.บุญสนอง ได้ทำไว้ก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนอีกมากมายที่จะอุทิศทำงานเพื่อประชาชนอย่างเช่นที่ ดร.บุญสนอง ได้ทำลงไป เขาอาจจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าโลกวิชาการและโลกการเมืองนั้นเชื่อมโยงกันและไม่ได้แยกออกจากกันเลย และอาจเป็นอุดมการณ์ที่ ดร.บุญสนอง ได้ยึดถือโดยดูได้จากคำพูดของ ดร.บุญสนอง ที่ใช้เป็นคำพูดเปิดของงานชิ้นนี้

บรรณานุกรม

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (บก.), จาก 14 ถึง 6 ตุลา, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2542)

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, รำลึกถึง บุญสนอง บุณโยทยาน ใน อ่านจนแตก : วรรณกรรม ความทันสมัย และความเป็นไทย, ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ (แปล), (กรุงเทพฯ : อ่าน, 2558), น.293-298.

ธิติ มีแต้ม, รำลึก 37 ปีที่จากไป "ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน", Retrieved from http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1363766220, February 21, 2016.

ประวัติ บุญสนอง บุณโยทยาน, Retrieved from http://doctorboonsanong.blogspot.com/p/blog-page.html, February 21, 2016.

สมพร จันทรชัย (บก.), ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน , (กรุงเทพฯ : สถาบันพัฒนาการเมือง, 2544)

อ้างอิง 

[1] สมพร จันทรชัย (บก.), ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน , (กรุงเทพฯ : สถาบันพัฒนาการเมือง, 2544), น.26.

[2] สมพร จันทรชัย (บก.), ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน , (กรุงเทพฯ : สถาบันพัฒนาการเมือง, 2544), น.146-150.

[3] ประวัติ บุญสนอง บุณโยทยาน, Retrieved from http://doctorboonsanong.blogspot.com/p/blog-page.html, February 21, 2016.

[4] ประวัติ บุญสนอง บุณโยทยาน, Retrieved from http://doctorboonsanong.blogspot.com/p/blog-page.html, February 21, 2016.

[5] ประวัติ บุญสนอง บุณโยทยาน, Retrieved from http://doctorboonsanong.blogspot.com/p/blog-page.html, February 21, 2016.

[6] อ้างแล้ว; ธิติ มีแต้ม, รำลึก 37 ปีที่จากไป "ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน", Retrieved from http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1363766220, February 21, 2016.

[7] ประวัติ บุญสนอง บุณโยทยาน, Retrieved from http://doctorboonsanong.blogspot.com/p/blog-page.html, February 21, 2016.

[8] สมพร จันทรชัย (บก.), ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน , (กรุงเทพฯ : สถาบันพัฒนาการเมือง, 2544), น.105.

[9] สมพร จันทรชัย (บก.), ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน , (กรุงเทพฯ : สถาบันพัฒนาการเมือง, 2544), น.8-10.

[10] ประวัติ บุญสนอง บุณโยทยาน, Retrieved from http://doctorboonsanong.blogspot.com/p/blog-page.html, February 21, 2016. และ สมพร จันทรชัย (บก.), ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน , (กรุงเทพฯ : สถาบันพัฒนาการเมือง, 2544), น.157-160.

[11] สมพร จันทรชัย (บก.), ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน , (กรุงเทพฯ : สถาบันพัฒนาการเมือง, 2544), น.124.

[12] ประวัติ บุญสนอง บุณโยทยาน, Retrieved from http://doctorboonsanong.blogspot.com/p/blog-page.html, February 21, 2016.