สมคิด ศรีสังคม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

สมคิด ศรีสังคม : หัวหน้าพรรคสังคมนิยมฯ

 

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

        นักการเมืองไทยที่ประกาศตัวแสดงแนวทางทางการเมืองเป็นสังคมนิยมที่ชัดเจนคนหนึ่งนั้น
คือ พันเอกสมคิด ศรีสังคม และแนวทางของท่านก็คือสังคมนิยมประชาธิปไตย โดยเลือกเส้นทางประชาธิปไตย ลงสมัครรับเลือกตั้ง และดำเนินการหาเสียงอย่างเปิดเผย เมื่อตั้งพรรคการเมืองในสมัยที่การเมืองเปิด
และคนกล้าแสดงตัวว่านิยมแนวทางสังคมนิยมได้ ท่านก็เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ตั้งชื่อพรรคสังคมนิยม
แห่งประเทศไทย ขึ้นในปี 2517 ลงแข่งขันเลือกตั้งในปี 2518 และได้รับการสนองตอบอย่างดีพอสมควร
ได้สมาชิกของพรรคเข้าสภาถึง 15 คน นับว่าเป็นพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเป็นสังคมนิยมโดยเปิดเผย
ที่ชนะเลือกตั้งได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าพรรคแนวทางสังคมนิยมที่มีมาก่อนหน้านั้น สมาชิกพรรค
ที่ชนะเลือกตั้งทั้งหมดในครั้งนั้นมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเป็นสำคัญ และเมื่อรัฐบาล
ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ซึ่งมีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับความไว้วางใจในโอกาสแรกที่แถลงนโยบายต่อสภา ทำให้รัฐบาลต้องพ้นตำแหน่ง จึงได้มีการวิ่งเต้นที่จะจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่
เล่ากันว่าพันเอกสมคิด ศรีสังคม เกือบจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นพรรคที่ทุกฝ่ายต้องการดึงเข้ามา
ร่วมรัฐบาล แต่ว่าสมาชิกในพรรค 3 คน ถูกชักนำให้เห็นต่างจากมติพรรคไปสนับสนุนพรรคการเมืองอีกฝ่ายหนึ่ง จึงทำให้พรรคของท่านไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล

        ในชีวิตของพันเอกสมคิด ศรีสังคม นั้น ท่านเคยได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดบ้านเกิด
คือ จังหวัดอุดรธานีถึงสี่ครั้ง เคยเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516 ที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย และท่านยังเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กับเป็นสมาชิกวุฒิสภา จึงนับว่าหายากที่จะมีบุคคลที่ได้รับเลือกตั้งและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งได้ดังนี้ เพียงแต่ท่านยังไม่เคยเป็นฝ่ายบริหารประเทศคือรัฐมนตรีเท่านั้นเอง

        สมคิด ศรีสังคม เป็นคนเมืองอุดร เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ปี 2460 ที่บ้านสร้างคอม (คำนี้เลื่อนมาจากคำเดิมของชาวบ้านว่า “ส่างคอม” คำว่า “ส่าง” แปลว่าบ่อน้ำ ส่วน “คอม” คือชื่อต้นไม้ในพื้นที่ มีมาก
ที่บริเวณบ่อน้ำในหมู่บ้านนี้ จาก “ส่างคอม” ถูกดึงมาเป็น “สร้างคอม” ที่ทำให้เข้าใจกันผิดๆถูกๆได้)
ตำบลสร้างคอม อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานีในสมัยก่อน แต่วันนี้ตำบลที่ท่านเกิดได้แยกออกมาเป็นอำเภอสร้างคอมเลยมีคนคิดกันว่านามสกุล “ศรีสังคม” ของท่านอาจมาจากคำว่าสร้างคอมด้วยหรือไม่ บิดามารดาของท่านเป็นชาวนา ท่านนั้นเป็นบุตรชายคนสุดท้องของพี่น้องแปดคน มีพ่อชื่อนั่น และมีแม่ชื่อคำมี

        การศึกษาเบื้องต้นท่านเรียนที่โรงเรียนบ้านสร้างคอม แล้วมาเรียนต่อจนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูลรโดยได้คะแนนยอดเยี่ยมในปี 2478 จากนั้นจึงเดินทางเข้ามาเรียนวิชาครูที่โรงเรียนฝึกหัดครู
ในกรุงเทพฯ จนได้ประกาศนียบัตรครูประถม จึงกลับไปเป็นครูที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูลรในปี 2480 ตอนนั้นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเปิดเป็นตลาดวิชา ครูสมคิดจึงเรียนไปทำงานเป็นครูไปที่จังหวัดอุดรธานีไปพร้อมกัน และเรียนจบเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตได้ในปี 2483 จากนั้นสอบเข้าทำงานเป็นอัยการ
ได้ แต่ทำงานเป็นอัยการอยู่ไม่นาน ได้ไปสอบเข้าเป็นทหารพระธรรมนูญได้ในปี 2485 จึงย้ายงานจากข้าราชการพลเรือนมาเป็นทหารที่กรมพระธรรมนูญ และสามารถสอบชิงทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษได้ในปี 2492 ไปเรียนทางด้านวิชาสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม จนเรียนจบปริญญาตรี
ทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร รัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทั้งได้ประกาศนียบัตรจาก London Schoo of Economics ศึกษาที่อังกฤษได้ประมาณ 8 ปี ในปี 2500 จึงเดินทางกลับไทย แต่ก็ไม่ได้กลับมาคนเดียว
เพราะได้สตรีอังกฤษ คือคุณฟานซิสก้ากลับมาเป็นภรรยาด้วย และเป็นคู่ทุกข์คู่ยากมาตลอดชีวิต

        ท่านมาทำงานใช้ทุนโดยเป็นทหารตามเดิม และก็ได้เรียนปริญญาโททางนิติศาสตร์
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนจบปริญญาโทในปี 2503  ครั้นถึงปี 2506 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่ชื่อ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ชวนท่านที่ตอนนั้นมียศทหารเป็นพันเอกแล้วให้ออกมาทำงานด้วยกันที่ธนาคาร
แห่งประเทศไทย พันเอกสมคิดจึงได้ย้ายมาทำงานอยู่ที่ใหม่อีก6 ปี ถึงปี 2512 ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป หลังจากว่างเว้นมาถึง 11 ปีกว่า พันเอกสมคิดจึงได้ลาออกจากธนาคารชาติไปลงเลือกตั้ง
ที่จังหวัดอุดรธานีสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตย และท่านก็เป็นลูกพรรคเพียงคนเดียวที่ชนะเลือกตั้ง แต่ก็อยู่เป็นผู้แทนราษฎรได้ไม่นาน นายกฯ จอมพล ถนอมยึดอำนาจล้มรัฐธรรมนูญในเดือนพฤศจิกายนปี 2514 ครั้นถึงปี2516 รัฐบาลจอมพล ถนอม และคณะก็ถูกนิสิตนักศึกษาล้ม จนนำไปสู่การตั้งสมัชชาแห่งชาติให้คัดเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งพันเอกสมคิดก็ได้รับเลือกให้เป็นด้วยในปี 2516  จนมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 พันเอกสมคิด จึงได้ตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และส่งคนลงเลือกตั้งในปี 2518 ดังที่กล่าวมาแล้วแต่สภาผู้แทนฯก็อายุสั้น เพราะนายกรัฐมนตรีได้ยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ตอนต้นปี 2519 ครั้งนี้พันเอกสมคิดก็ยังชนะเลือกตั้ง หลังจากนั้นชื่อพันเอกสมคิดก็หายไปจากสภา จนถึงปี 2529 ท่านจึงชนะเลือกตั้ง เข้าสภาอีกเป็นครั้งที่ 4 และเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่านเป็นผู้แทนราษฎร เพราะต่อมาท่านได้รับเลือก
ให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 และเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2543 จนถึงปี 2549

        พันเอก สมคิด ศรีสังคม ได้มีชีวิตที่พ้นจากสภา อยู่มาจนถึงแก่กรรมในวันที่ 3 ตุลาคม ปี 2560
ดังนั้น นอกจากท่านจะมีชีวิตในสภาที่ยาวนานหลายบทบาทแล้ว ชีวิตจริงของตัวท่านเองก็ยั่งยืนเกิน 100 ปีด้วย