องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (สันต์ไชย รัตนะขวัญ)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 18:18, 1 ธันวาคม 2562 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง  สันต์ไชยรัตนะขวัญ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล



1. ความหมายและหลักการที่เกี่ยวข้อง

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรูปแบบการบริหารแตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นท้องถิ่นหนึ่งและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา เป็นต้น นอกจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ยังมีลักษณะทางกายภาพหรือองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เป็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นนั้นแตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไป เช่น เป็นท้องถิ่นที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจมาก มีประชากรอยู่หนาแน่น มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง หรือเป็นท้องถิ่นซึ่งมีปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบครอบคลุมพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งในพื้นที่บริเวณเดียวกัน[1] จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยให้มีลักษณะที่แตกต่างจากหน่วยการปกครองท้องถิ่นทั่วไป เพื่อให้มีการบริหารและจัดทำบริการสาธารณะที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่และตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   

ลักษณะสำคัญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ [2]

  1. โครงสร้างการบริหาร เพื่อให้การบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดความเหมาะสมกับสภาพและปัญหาของพื้นที่ที่มีความแตกต่างจากพื้นที่โดยทั่วไป จึงต้องมีการออกแบบโครงสร้าง องค์การหรือโครงสร้างการบริหารที่แตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป ซึ่งมักจะมีสภาที่ปรึกษา หรือสภาประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและให้คำแนะนำการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
  2. ที่มาของผู้บริหาร  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษมักจะมีที่มาของผู้บริหารที่แตกต่าง จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป โดยการกำหนดที่มาตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง แต่งตั้ง การว่าจ้างมืออาชีพ สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษของไทยในปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดให้ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง
  3. อำนาจหน้าที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะในเขตพื้นที่ท้องถิ่นที่มีลักษณะบางประการแตกต่างไปจากพื้นที่โดยทั่วไป ดังนั้นอำนาจหน้าที่ที่สามารถให้บริการสาธารณะที่มีลักษณะเฉพาะได้[3]
  4. ที่มาของรายได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษมีอำนาจหน้าที่ลักษณะพิเศษที่มากกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป จึงต้องมีงบประมาณเพื่อการบริหารตนเองที่เพียงพอสำหรับการจัดทำบริการสาธารณะจึงต้องมีอิสระทางการคลังและมีแหล่งที่มารายได้เพียงพอ   
  5. การบริหารงานบุคคล  เพื่อการบริหารที่คล่องตัวและมีอิสระในการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจะมีการบริหารบุคคลที่แยกออกจากระบบบริหารบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป  
  6. วิธีการจัดทำบริการสาธารณะ  จากการที่มีอำนาจหน้าที่และมีภารกิจต้องรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจึงต้องมีการเพิ่มวิธีการจัดทำบริการสาธารณะมากกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป
  7. การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษโดยส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กับ รัฐบาลกลางหรือการกำกับดูแลที่อาจจะมีความเหมือนหรือแตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป ตามลักษณะการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการท้องถิ่นรูปแบบพิเศษมีประสิทธิภาพ จึงต้องคำนึงถึงหลักการ 4 ประการ คือ ประการแรก การสร้างเอกภาพของการบริหารเมือง ทั้งในเชิงการป้องกันปัญหาและการส่งเสริมให้เมืองสามารถดำรงบทบาทตามภารกิจและทิศทางการพัฒนาในอนาคตได้ ประการที่สอง การสร้างดุลยภาพระหว่างการพัฒนาตามบทบาทเมืองและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในเมือง ประการที่สาม การกำหนดขนาดเมืองที่เหมาะสม เพื่อสามารถทำหน้าที่ได้ตามบทบาทภารกิจและการขยายของเมือง และประการที่สี่ การมีระบบชดเชยการเสียประโยชน์จากการพัฒนาและความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาที่เป็นธรรม[4]

 

องค์ประกอบพื้นฐานของการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

ในการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในพื้นที่หนึ่งๆ นั้นต้องเริ่มต้นจากความจำเป็นที่เกิดจาก “ความจำเพาะของพื้นที่”  กล่าวคือ ในแต่ละท้องถิ่นจะมีลักษณะเชิงพื้นที่ที่แตกต่างกัน รวมถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น การท่องเที่ยว พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม พื้นที่ที่เป็นเมืองขนาดใหญ่ เป็นต้น โดยพื้นที่เหล่านี้มีลักษณะเฉพาะที่สามารถส่งเสริม ผลักดันให้เกิดการพัฒนากลไกพิเศษในการบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยองค์ประกอบพื้นฐานของการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีดังนี้ '[5]'

  1. ความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ การสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ทุกระดับ ทุกฝ่าย เนื่องจากการจะจัดการกับพื้นที่ที่มีลักษณะจำเพาะจะต้องมีความเป็นเอกภาพและชัดเจนตั้งแต่การกำหนดจุดยืนที่จะสอดคล้องกับพื้นที่ และสะท้อนออกมาในรูปของนโยบายและการบริการสาธารณะต่างๆ  
  2. อำนาจหน้าที่พิเศษเพิ่มเติมอื่นๆ หัวใจสำคัญของการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคือ “อำนาจหน้าที่” ที่มีความพิเศษแตกต่างจากรูปแบบทั่วไป เพื่อให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่
  3. เครื่องมือและทรัพยากรทางการบริหารจัดการ ต้องมีการจัดสรรภารกิจหน้าที่ให้สอดรับกับความจำเพาะของพื้นที่ ซึ่งภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ภารกิจที่มีการถ่ายโอนให้สามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้มากกว่ารูปแบบทั่วไป กลุ่มที่สอง ภารกิจหน้าที่ที่มอบหมายหรือมอบอำนาจ และกลุ่มที่สามคือภารกิจหน้าที่ที่ส่งต่อความรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญเรื่องการคลังและงบประมาณ ที่จะต้องสอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ที่เพิ่มเติมเข้ามา อีกทั้งการบริหารงานบุคคลที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สอดรับกับภารกิจหน้าที่  
  4. โครงสร้างการบริหารงาน จะต้องมีการกำหนดรูปแบบโครงสร้างองค์กรที่มีความเหมาะสม สอดรับกับภารกิจหน้าที่ที่มีลักษณะเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และภารกิจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

ลักษณะการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

ลักษณะการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่พบโดยทั่วไปมีลักษณะดังต่อไปนี้[6]

  1. เขตนครหลวงหรือเขตพื้นที่ที่เป็นเมืองหลวง โดยทั่วไปการปกครองในเขตนครหลวงของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต่างก็มีลักษณะที่พิเศษแตกต่างจากการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบปกติทั่วไป เนื่องด้วยสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ โครงสร้างสังคม  จำนวนประชากร ภารกิจหน้าที่ที่ต้องดำเนินการ ทำให้เขตการปกครองในนครหลวงมักจะแตกต่างจากเขตการปกครองในรูปแบบอื่นๆ   
  2. เขตพื้นที่ชายแดน เป็นพื้นที่ที่มักจะเสี่ยงต่อการประสบกับปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านความมั่นคง ดังนั้น หน่วยงานที่เข้าไปดูแลในพื้นที่ควรจะมีอำนาจบางประการที่จะสามารถตัดสินใจในการดำเนินการที่ทันท่วงทีเมื่อเกิดวิกฤติการณ์บางอย่างขึ้น เพื่อให้สามารถรับกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีการบริหารจัดการเขตพื้นที่ในลักษณะดังกล่าวนี้ มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและอาจสามารถนำมาปรับใช้ในเขตบริเวณพื้นที่ชายแดนของประเทศไทยได้ก็คือ การปกครองแบบ “เขตแขวง” หรือ“ภาค” (Regions) ในประเทศอิตาลี ซึ่งมีตัวอย่างเช่น เขตเกาะซิชีเลีย ซึ่งมีปัญหาในด้านของการก่อความไม่สงบเกี่ยวกับการแยกตัวเป็นเอกราช  
  3. แหล่งท่องเที่ยว มักจะมีการกระจุกตัวของประชากรอยู่ในบริเวณที่เป็นศูนย์รวมการบริการการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าส่วนอื่นของพื้นที่ ลักษณะของการดำเนินชีวิตของประชาชนก็จะมีความแตกต่างจากในพื้นที่ส่วนอื่น ทำให้ความต้องการในการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานต่างกันไปด้วย ด้วยเหตุนี้ เมืองท่องเที่ยวหลายแห่งจึงมักมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
  4. พื้นที่เกาะและชนบท มีลักษณะเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ มักจะเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาค ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในเรื่องการให้บริการกับประชาชน นอกจากนั้น ความต้องการในเรื่องของการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานยังมีอยู่มาก การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นให้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำบริการสาธารณะจึงเป็นเรื่องที่สมควร   

ความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษขึ้นมานั้น ทำให้เกิดผลดีต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ดังต่อไปนี้ [7]

1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจะมีเอกภาพและศักยภาพในการบริหารจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และสามารถวางแผนการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นได้รวดเร็วมากขึ้น ทั้งด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  ด้านงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้านการจัดระเบียบชุมชน/สังคม/และการรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านการวางแผน การส่งเสริมการลงทุน พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว  ด้านการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น  

2) ด้านเศรษฐกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแหล่งรายได้สำหรับการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศมีการเจริญเติบโตมากขึ้น

3) ด้านสังคม ประชาชน ชุมชน ได้รับบริการสาธารณะที่มีคุณภาพมากขึ้น มีรายได้จากการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น มีสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยที่ดีขึ้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

4) ประเทศชาติมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ ด้านอุตสาหกรรม ด้านการท่องเที่ยวสู่มาตรฐานสากล สามารถแก้ไขปัญหาการค้าชายแดน การท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ประชากรแฝง การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และสินค้าหนีภาษี และสนองตอบการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ อันจะทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่พิเศษที่มีโอกาสพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดย มาตรา 78 กำหนดให้รัฐต้องพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษขนาดใหญ่โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น และมาตรา 284 กำหนดว่า การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีโครงสร้างการบริหารที่แตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นสามารถกระทำได้ แต่คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ได้ให้ความเป็นอิสระในการปกครองตนเองของท้องถิ่น สามารถจัดบริการสาธารณะที่ตรงกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง ตรวจสอบ และกำกับดูแลการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

2. พัฒนาการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายข้างต้นจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการและการจัดบริการสาธารณะของท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเหตุผลและความจำเป็นบางประการที่มีความพยายามในการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ[8] คือ 

  1. ประเทศไทยมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นเมือง (Urbanization) รวดเร็วขึ้นโดยสัดส่วนประชากรเมืองได้เพิ่มขึ้นและกระจุกตัวในพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ได้แก่ กทม. และปริมณฑล พื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก และเมืองศูนย์กลางความเจริญในภูมิภาค ส่งผลให้ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและจัดบริการในมาตรฐานระดับเมืองไว้รองรับทั้งด้านระบบคมนาคมและการขนส่ง ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นเมืองดังกล่าว จำเป็นต้องกระจายการพัฒนาไปสู่กลุ่มเมืองขนาดกลางในภูมิภาคเพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรเมืองที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นข้อจำกัดในการสร้างความเชื่อมโยงการพัฒนาเมืองและชนบท โดยเฉพาะการทำให้เมืองเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมและส่งทอดความเจริญสู่ชมชนชนบทอย่างเกื้อกูล
  2. การจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังตามไม่ทันการเติบโตของชุมชนเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจที่มีการเติบโตเร็ว และในพื้นที่ชุมชนเมืองนอกเขตเทศบาล เนื่องจากโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการในระดับท้องถิ่นมีข้อจำกัด ทั้งความล่าช้าในการถ่ายโอนภารกิจระหว่างส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างด้านการบริหารจัดการ และระเบียบวิธีบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่ยังถูกควบคุมจากราชการส่วนกลาง จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและกำหนดรูปแบบการให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความเหมาะสมในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้สามารถทำหน้าที่การให้บริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการวางรูปแบบการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการพื้นที่บางแห่งเป็นกรณีพิเศษให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ

ด้วยทิศทางและบริบทความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนารูปแบบการให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำการศึกษาและเสนอแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีพื้นที่นำร่องทั้งหมด 5 กลุ่มที่มีศักยภาพและความพร้อมสำหรับการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ กลุ่มเมืองท่องเที่ยว (เกาะสมุย) กลุ่มเมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (พระนครศรีอยุธยา-สุโขทัย) กลุ่มเมืองอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ (แหลมฉบัง-มาบตาพุด) และกลุ่มเมืองการค้าชายแดน (แม่สอด)

 

บรรณานุกรม

วสันต์  เหลืองประภัสร์. รายงานสรุปการศึกษารูปแบบองค์การบริหารจัดการในพื้นที่พิเศษ กรณีเมืองแม่สอดกับการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เสนอต่อเทศบาลนครแม่สอด, กรอบแนวคิดพื้นฐาน, (เอกสารอัดสำเนา)

วุฒิสาร ตันไชย. (2555). เมืองพิเศษ : แนวคิดและความเป็นไปได้. กรุงเทพฯ : ล็อคอิน ดีไซน์เวิร์ค.

สถาบันพระปกเกล้า. แนวทางการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ.กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2554.

สมคิด เลิศไพฑูรย์. (2547). การศึกษาสภาพปัญหา และแนวทางการปรับปรุงรูปแบบการบริหารและแนวทางการพัฒนาพื้นที่เกาะสมุย. รายงานต่อกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

 

อ้างอิง

[1] สถาบันพระปกเกล้า. แนวทางการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ.กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2554. หน้า 201

[2] สมคิด เลิศไพฑูรย์. (2547). การศึกษาสภาพปัญหา และแนวทางการปรับปรุงรูปแบบการบริหารและแนวทางการพัฒนาพื้นที่เกาะสมุย. รายงานต่อกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น.

[3] วุฒิสาร ตันไชย. (2555). เมืองพิเศษ : แนวคิดและความเป็นไปได้. กรุงเทพฯ : ล็อคอิน ดีไซน์เวิร์ค.

[4] สถาบันพระปกเกล้า. แนวทางการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ.กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2554. หน้า 202

[5] วสันต์  เหลืองประภัสร์, รายงานสรุปการศึกษารูปแบบองค์การบริหารจัดการในพื้นที่พิเศษ กรณีเมืองแม่สอดกับการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เสนอต่อเทศบาลนครแม่สอด, กรอบแนวคิดพื้นฐาน, (เอกสารอัดสำเนา)

[6] สถาบันพระปกเกล้า. แนวทางการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ.กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2554. หน้า 29-30

[7] สถาบันพระปกเกล้า. แนวทางการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ.กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2554. หน้า 208-209

[8] สถาบันพระปกเกล้า. แนวทางการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ.กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2554. หน้า 202