องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:16, 1 ธันวาคม 2562 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียงโดย  สันต์ชัย  รัตนะขวัญ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


บทนำ

          แนวคิดเรื่องการจัดชั้นถือเป็นหลักสากลที่ใช้กันทั่วไปในการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นในประเทศต่างๆ เพื่อทำให้ขอบเขต บทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เกิดความซ้ำซ้อนกัน โดยการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นออกเป็นชั้นต่างๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ[1] คือ

          ประการที่หนึ่ง ลักษณะด้านพื้นที่ โดยทั่วไปแล้วพื้นที่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นพื้นที่ที่ผสมกลมกลืนกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะสะท้อนถึงพื้นฐานของความเป็นชุมชนท้องถิ่น เป็นพื้นที่ที่สอดคล้องกับขนาดและการขยายตัวของชุมชน พื้นที่อีกลักษณะหนึ่งได้แก่ พื้นที่ที่ถูกกำหนดขึ้นเป็นชุมชนสมมุติ หมายถึง พื้นที่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเกิดจากการขีดเส้นสมมุติขึ้นเพื่อแบ่งเขตการปกครอง

          ประการที่สอง ภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมี 2 ลักษณะ คือ ภารกิจซึ่งเป็นบริการสาธารณะขนาดเล็กหรือมุ่งตอบสนองความต้องการภายในชุมชนหนึ่งๆ เป็นสำคัญ หากการบริการสาธารณะประเภทใดที่หน่วยงานในพื้นที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดทำได้และจัดทำแล้วเกิดความคุ้มค่า ก็อาจจะมอบหมายการบริการสาธารณะประเภทนั้นให้หน่วยงานในพื้นที่จัดทำได้เลย และภารกิจที่มีขนาดใหญ่ ครอบคุลมพื้นที่การให้บริการในหลายชุมชน หรือครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ที่แม้ว่าบางส่วนจะไม่มีชุมชนตั้งอยู่ก็ตาม เป็นภารกิจที่จะต้องอาศัยศักยภาพในการจัดทำสูง ต้องอาศัยงบประมาณและเทคโนโลยีชั้นสูงเกินกว่าที่หน่วยงานในพื้นที่จะจัดทำได้ เป็นบริการที่มีผลกระทบหรือครอบคลุมหลายพื้นที่ อาจจะมอบหมายให้หน่วยงานที่สูงขึ้นไปซึ่งมีศักยภาพที่สูงกว่า มีงบประมาณที่มากกว่า มีเทคโนโลยีที่สูงกว่า เป็นผู้จัดทำ

         

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างในประเทศไทย

          กรณีประเทศไทย บริการสาธารณะที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน เช่น การเก็บขยะ การจัดให้มีแสงสว่างตามทาง การจัดให้มีและบำรุงรักษาถนนหนทางในหมู่บ้าน บริการสาธารณะลักษณะนี้ก็มอบหมายให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้จัด แต่บริการสาธารณะที่มีขนาดใหญ่ ต้องใช้งบประมาณสูง เช่น การบำบัดนำเสียรวม เตาเผาขยะรวม สถานีขนส่งจังหวัด หรือเป็นบริการสาธารณะที่คาบเกี่ยวพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล 2 แห่ง หากปล่อยให้แต่ละหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นต่างดูแล อาจทำให้บริการสาธารณะนั้นไม่อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เช่น ถนนทางหลวงภายในจังหวัดที่ผ่านหลายองค์การบริหารส่วนตำบล การดูแลรักษาแม่น้ำ หรือการดูแลรักษาทางชลประทานที่ไหลผ่านหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น หรือเป็นบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด จำเป็นที่จะต้องมีเจ้าภาพเพื่อประสานความร่วมมือกับทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การวางผังเมืองรวมของจังหวัด การจัดแผนพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด เป็นต้น  บริการสาธารณะประเภทนี้ต้องมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่เหนือขึ้นไป ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นผู้จัดทำ

          ทั้งนี้องค์กรในการจัดทำบริการสาธารณะอาจมีองค์กรหลายองค์กรในพื้นที่เดียวกัน แต่บริการสาธารณะที่จัดให้บริการนั้นเป็นคนละประเภทกัน การจัดชั้นการปกครองจึงส่งผลต่อการจัดบริการสาธารณะ โดยการจัดชั้นการปกครองแบบชั้นเดียว เป็นการจัดชั้นที่ง่ายที่สุด โดยจัดให้องค์กรที่ตั้งขึ้นมีหน้าที่ทุกอย่างรวมกันอยู่ชั้นเดียว ในทางทฤษฎีนั้นแต่ละหน่วยการปกครองสามารถประมวลและรวบรวมกลุ่มเป้าหมายและนโยบายเพื่อทำเป็นรายการความต้องการของท้องถิ่น แล้วจัดเรียงลำดับความสำคัญ การจัดโครงสร้างแบบชั้นเดียวนี้ บางครั้งจะจัดบริการให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่าการจัดโครงสร้างแบบหลายชั้น เพราะการจัดให้ภารกิจหน้าที่ทุกอย่างรวมอยู่ในชั้นเดียว จะทำให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีอำนาจหน้าที่เบ็ดเสร็จและสามารถกำหนดทิศทางในการพัฒนาท้องถิ่นได้ เพราะหากอำนาจหน้าที่มีการกระจายไปอยู่หลายหน่วยงานอาจเป็นการยากที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาให้เป็นหนึ่งเดียว ส่วนการจัดโครงสร้างแบบหลายชั้น เป็นการทำให้ภารกิจหน้าที่ต่างๆ สามารถเข้าถึงผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นได้ง่าย โดยการแบ่งให้องค์กรที่อยู่ตรงกลางรับภารกิจที่เป็นอำนาจหน้าที่ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ระบบหลายชั้นยังสามารถหลีกเลี่ยงความไม่พอใจที่จะมีต่อองค์กรที่มีขนาดใหญ่องค์กรเดียวได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลายประการที่มีอิทธิพลต่อจำนวนชั้นและจำนวนขนาดขององค์กรที่อยู่ตรงกลาง โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ขนาดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของประเทศ จำนวนหน่วยการปกครองท้องถิ่นพื้นฐาน และระดับการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เมื่ออำนาจในการตัดสินใจถูกรวมศูนย์ก็จะมีการเพิ่มจำนวนความต้องการของการบริหาร โดยการเพิ่มองค์กรที่อยู่ตรงกลางเพื่อที่จะแปลงความต้องการของรัฐบาลกลางให้มีผลในทางปฏิบัติในท้องถิ่น ในหลายประเทศพื้นที่ชนบทก็จะมีจำนวนชั้นมากกว่าในเขตเมือง เพราะในเขตชนบทมีขนาดพื้นที่และงบประมาณที่น้อยจึงทำให้มีความต้องการหน่วยการปกครองที่อยู่ตรงกลางเพื่อเข้าไปช่วยจัดการภารกิจต่างๆ ให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นที่เล็กๆ แทน[2]

          ประเทศไทยในปัจจุบันได้มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นมี 2 รูปแบบ คือ (1) รูปแบบทั่วไป ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ได้บัญญัติให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กหรือระดับล่าง ที่มีอำนาจหน้าที่ในการให้บริการสาธารณะต่างๆ ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และ(2) รูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ได้บัญญัติให้เมืองพัทยามีฐานะเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กหรือระดับล่าง อำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาจึงเทียบเท่ากับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล

 

การกำหนดบทบาทหน้าที่ในการให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง

          พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา16 หมวด 2 กำหนดให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบล ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง มีภารกิจหน้าที่ในการให้บริการสาธารณะ ดังนี้[3]

  1. การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
  2. การจัดให้มี และบำรุงรักษาทางบกทางน้ำ และทางระบายน้ำ
  3. การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
  4. การสาธารณูปโภค และการก่อสร้างอื่นๆ
  5. การสาธารณูปการ
  6. การส่งเสริม การฝึก และการประกอบอาชีพ
  7. คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
  8. การส่งเสริมการท่องเที่ยว
  9. การจัดการศึกษา
  10. การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
  11. การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
  12. การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัด และการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
  13. การจัดให้มี และบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
  14. การส่งเสริมกีฬา
  15. การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  16. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
  17. การรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
  18. การกำจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย
  19. การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
  20. การจัดให้มี และควบคุมสุสาน และฌาปนสถาน
  21. การควบคุมการเลี้ยงสัตว์
  22. การจัดให้มี และควบคุมการฆ่าสัตว์
  23. การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนามัย โรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่นๆ
  24. การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  25. การผังเมือง
  26. การขนส่ง และการวิศวกรรมจราจร
  27. การดูแลรักษาที่สาธารณะ
  28. การควบคุมอาคาร
  29. การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
  30. การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินกิจอื่นใด ที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

          กล่าวโดยสรุป องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภารกิจหน้าที่ที่เป็นบริการสาธารณะขนาดเล็ก มุ่งตอบสนองความต้องการภายในขอบเขตของตัวเองเป็นสำคัญ มีการให้บริการสาธารณะที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน ในกรณีประเทศไทย คือ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และเมืองพัทยา

          แม้ว่าประเทศไทยจะมีการปกครองท้องถิ่นมาระยะเวลาหนึ่ง และเริ่มมีความชัดเจนอย่างมากภายหลังการมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 อย่างไรก็ดี การปกครองท้องถิ่นในประเทศไทยยังคงไม่บรรลุเจตนารมณ์หลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ โดยมีข้อถกเถียงและการนำเสนอถึงสาเหตุประการสำคัญของการจัดบริการสาธารณะที่ไม่มีประสิทธิภาพอันเนื่องมาจากความไม่เหมาะสมของการจัดระเบียบการปกครองฝ่ายบริหาร ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินภารกิจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังเช่น การควบคุมกำกับมากเกินขอบเขตของกระทรวงมหาดไทยในฐานะองค์กรในราชการบริหารส่วนกลาง และจังหวัดและอำเภอในฐานะองค์กรในราชการบริหารส่วนภูมิภาค และประเด็นสำคัญคือความไม่เหมาะสมของการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนท้องถิ่นเอง ซึ่งรวมถึงปัญหาความไม่เหมาะสมของการออกแบบให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสองระดับ จึงมีข้อเสนอสองประการต่อการออกแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง คือ การคงมีเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลควบคู่กันไป และแนวคิดที่เสนอให้คงมีเฉพาะเทศบาล[4] ทั้งสองข้อเสนอจึงเป็นสิ่งที่ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องนำไปพิจารณาเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง ทั้งในมุมมองของการปกครองตนเองระดับท้องถิ่นและการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

การจัดการปกครองท้องถิ่นระดับล่างในต่างประเทศ

ประเทศฝรั่งเศส  

          เป็นประเทศที่มีรูปของรัฐแบบรัฐเดี่ยว (Single State) และมีการจัดระเบียบราชการในฝ่ายบริหารออกเป็นราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น โดยการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนท้องถิ่น แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ภาค จังหวัด และเทศบาล โดยเทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างประเภทเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นการจัดรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบนพื้นฐานแนวคิดการทำให้มีมาตรฐานเดียวกันและเสมอภาคกัน (Standardization and Equalization) เทศบาลในฝรั่งเศสนั้นมีลักษณะเป็นเพียงหมู่บ้านขนาดเล็กในชนบทไปจนถึงเมืองขนาดใหญ่ เขตพื้นที่เทศบาลปกติจะมีที่มาจากเขตทางศาสนา(Parishes) ที่มีมาแต่เดิมในประวัติศาสตร์และความแตกต่างหลากหลายกันทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร ลักษณะทางสังคมวิทยาต่างๆ  ฯลฯ การจัดตั้งเทศบาลขึ้นบนฐานความเป็นชุมชนตามธรรมชาติยังทำให้คนที่อยู่ในเทศบาลมีความผูกพันกับองค์กรเทศบาลของตนเองโดยถือว่าเทศบาลเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นพลเมืองของตนเอง การหวงแหนและผูกพันระหว่างคนในชุมชนกับเทศบาลจึงมีอยู่สูง ทั้งนี้ในการจัดทำบริหารสาธารณะจะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับสูงขึ้นไปคือจังหวัดมาสนับสนุน ทำแทนหรือประสานงาน หากเทศบาลขาดศักยภาพในการดำเนินการ[5]

          ภารกิจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างในประเทศฝรั่งเศสมีการดำเนินกิจการต่างๆ ในลักษณะที่เรียกว่า “หลักความสามารถทั่วไป”(General Competence) ซึ่งเป็นกรอบบคิดทางกฎหมายที่ให้อำนาจกับท้องถิ่นในการจัดหาบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการและความจำเป็นของชุมชนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม แม้เทศบาลจะมีอำนาจอย่างอิสระ แต่ในทางปฏิบัติก็มีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องขนาดของเทศบาลที่มีขนาดเล็ก ทำให้ขาดศักยภาพทางการบริหารและทรัพยากร ส่วนกลางจึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือและแทรกแซงในการให้บริการสาธารณะบางประการ[6]

สหราชอาณาจักร

          การจัดระเบียบการปกครองท้องถิ่นในสหราชอาณาจักรยึดถือหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของรัฐสภา มีความเป็นพลวัตและมีความหลายหลายอย่างมากในระหว่างดินแดนทั้งสี่ ทั้งอังกฤษ เวลส์ สก็อตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นผลจากการโอนอำนาจ (Devolution) ทางการบริหารจากรัฐสภาอังกฤษกลับไปให้รัฐสภาของเวลส์ สก็อตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือในทศวรรษที่ 1990 ผลที่เกิดขึ้นคือ รูปแบบการจัดระเบียบการปกครองท้องถิ่นในทั้งสามแคว้นจะถูกกำหนดอย่างอิสระโดยรัฐสภาของแคว้นทั้งสามนั้น

          ในอังกฤษนั้น ก่อนทศวรรษ 1990 โครงสร้างการปกครองท้องถิ่นได้รับการจัดวางให้มี 2 ระดับทั่วประเทศ โดยระดับบนคือสภาเขต(County Council) และระดับล่าง(District Council) และการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเกิดขึ้นบนฐานชุมชนซึ่งเป็นเขตทางศาสนาที่มีมาแต่เดิมตั้งแต่ยุคกลางเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป แต่ในทศวรรษ 1990 รัฐบาลนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ได้ใช้นโยบายปรับโครงสร้างการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นใหม่ให้เป็นแบบระดับเดียวทั้งประเทศด้วยเหตุผลว่าโครงสร้างแบบ 2 ระดับก่อให้เกิดความสับสนและซ้ำซ้อน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับบนไม่ใกล้ชิดประชาชน ทำให้การตอบสนองความต้องการและการได้รับการตรวจสอบจากประชาชนเป็นไปอย่างจำกัด นโยบายนี้นำมาสู่การยุบเลิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน แล้วโอนอำนาจมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างที่มีความพร้อมและศักยภาพ โดยมีการยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กเข้าด้วยกัน

          สำหรับในเวลส์ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือใช้โครงสร้างแบบระดับเดียวและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเดียวทุกพื้นที่[7]

ประเทศสหรัฐอเมริกา

          หากพิจารณาในแง่ภารกิจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ของสหรัฐดำเนินการ อาจแบ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 2 ประเภทคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ทั่วไป ประกอบด้วย เคาน์ตี้(County) มูนิซิปอลลิตี้ (Municipality) หรือซิตี้(City) และทาวน์หรือทาวน์ชิพ(Town/Township) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้นมาทำภารกิจเฉพาะเรื่อง ได้แก่ เขตโรงเรียน(School District) และเขตพิเศษ(Special District)[8]  

ประเทศญี่ปุ่น

          เป็นรัฐเดี่ยวที่ไม่มีราชการบริหารส่วนภูมิภาคคือมีเฉพาะราชบริหารส่วนกลางและราชการบริหารส่วนท้องถิ่น เฉพาะราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นมีการจัดแบ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 2 ประเภทคือประเภททั่วไป มีการออกแบบโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นออกเป็น 2 ระดับคือในระดับบนได้แก่จังหวัด(Prefecture) และระดับล่างซึ่งมีเพียงรูปแบบเดียวคือเทศบาล(Municipality) คือ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลหมู่บ้าน โดยเทศบาลมีภารกิจหน้าที่ที่น่าสนใจ เช่น การป้องกันอัคคีภัย งานผังเมือง ถนนในเขตแม่น้ำชั้นรอง ท่าเรือ อ่าว เคหะชุมชน การระบายน้ำ โรงเรียนประถม โรงเรียนระดับมัธยมต้น สวัสดิการผู้ชรา สวัสดิการเด็ก การกำจัดขยะสิ่งปฏิกูล ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และการใช้พื้นที่ทางการเกษตร เป็นต้น

          นอกจากนี้ยังมีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบประเภทพิเศษ เพื่อให้เกิดองค์กรความร่วมมือในการจัดทำบริการสาธารณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กทำไม่ได้ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ เช่น สหภาพการปกครองท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางอย่างหรือแม้แต่ทุกอย่างแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขตทรัพย์สิน เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บรรษัทพัฒนาท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่จัดหาและเตรียมสถานที่ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่อยู่ในแผนการพัฒนาภูมิภาค[9]

 

บรรณานุกรม

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์และคณะ. ทิศทางการปกครองท้องถิ่นของไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด. 2546.

พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา16 หมวด 2

สถาบันพระปกเกล้า.'สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวดที่ '4 องค์ประกอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลำดับที่ 1 การจัดรูปแบบและโครงสร้างภายใน. นนทบุรี. 2547. 

สถาบันพระปกเกล้า.'สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวดที่ '4 ลำดับที่ 2 ภารกิจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. นนทบุรี. 2547. 

ศักดิ์ณรงค์ มงคล. รายงานผลการศึกษาเรื่อง ทางเลือกสำหรับการออกแบบองค์กรปกครองท้องถิ่นระนาบล่าง เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน. มปป. 

 

อ้างอิง

[1] สถาบันพระปกเกล้า.'สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวดที่ '4 องค์ประกอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลำดับที่ 1 การจัดรูปแบบและโครงสร้างภายใน. นนทบุรี, 2547. หน้า 4-6.

[2] สถาบันพระปกเกล้า.'สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวดที่ '4 ลำดับที่ 2 ภารกิจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. นนทบุรี, 2547. หน้า 33-34.

[3] พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา16 หมวด 2

[4] ศักดิ์ณรงค์ มงคล. รายงานผลการศึกษาเรื่อง ทางเลือกสำหรับการออกแบบองค์กรปกครองท้องถิ่นระนาบล่าง เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน. มปป. หน้า 12-14.

[5] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์และคณะ. ทิศทางการปกครองท้องถิ่นของไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2546.หน้า.101-120.

[6] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์และคณะ. ทิศทางการปกครองท้องถิ่นของไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2546.หน้า.121.

[7] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์และคณะ. ทิศทางการปกครองท้องถิ่นของไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2546.หน้า144-180.

[8] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์และคณะ. ทิศทางการปกครองท้องถิ่นของไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2546.หน้า 317

[9] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์และคณะ. ทิศทางการปกครองท้องถิ่นของไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2546.หน้า 189-202.