รัฐบาลแห่งชาติ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:30, 28 พฤศจิกายน 2562 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบท...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


รัฐบาลแห่งชาติ

ความนำ

          ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมืองไทยรอบหลังสุดในช่วงปลายปี 2556 ถึงกลางปี 2557 ข้อเสนอหนึ่งอันเป็นความพยายามในการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว คือข้อเสนอเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามักปรากฏขึ้นตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดความขัดแย้งที่แหลมคมและลุกลามแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั้งจากการเมืองระบบรัฐสภาและการเมืองบนท้องถนน ทั้งนี้ อาจลำดับข้อเสนอที่เกี่ยวเนื่องกับ “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่ผ่านมา[1]  ได้ดังนี้

 

ข้อเสนอ

ผู้เสนอ

วันที่เสนอ

นายกฯคนกลาง-รัฐบาลสมานฉันท์

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

27 เมษายน 2549

รัฐบาลเฉพาะกาล

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

6 สิงหาคม 2551

รัฐบาลแห่งชาติ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

11 เมษายน 2553

รัฐบาลเฉพาะกิจ-นายกฯคนกลาง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

3 พฤษภาคม 2557

 

'ข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ในห้วงวิกฤตการเมืองไทย ('2556-2557)

          วิกฤตการณ์การเมืองไทยในช่วงปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงปี 2557 นั้น ในราวเดือนสิงหาคม 2556 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พยายามเสนอตัวอย่าง “สภาปฏิรูปการเมือง” เพื่อเชิญชวนทุกฝ่ายเข้ามาร่วมพูดคุยสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ทั้งนี้ นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นอกจากจะตอบรับเข้าร่วมในสภาปฏิรูปการเมืองแล้ว ยังได้นำเสนอแนวคิด “รัฐบาลแห่งชาติ” ในฐานะความเห็นส่วนตัวว่า ควรเชิญทุกฝ่ายเข้าร่วมรัฐบาลบริหารประเทศเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป[2] ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวความเห็นเกี่ยวกับการเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมืองเพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตการณ์การเมืองและการพูดคุยเรื่องรัฐบาลแห่งชาติเป็นกระแสที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

          อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอ “สภาปฏิรูปการเมือง-รัฐบาลแห่งชาติ” นั้นมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ในทัศนะของนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่าหนทางในการคลี่คลายปัญหาทางการเมืองสามารถทำได้ 2 วิธี ประการแรก ขอให้ทุกฝ่ายถอยทีละก้าวและเจรจาหาข้อยุติร่วมกันอย่างสันติ โดยผู้ชุมนุมยึดการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ภาครัฐเฝ้าสังเกตการณ์โดยไม่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ประการที่สอง รัฐบาลประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเข้ามาบริหารประเทศ โดยที่ทั้งสองฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันและยึดประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง[3] ในขณะที่พลเอกเอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กลับเห็นว่า มีความเป็นไปได้ยากที่จะเกิดรัฐบาลแห่งชาติ เนื่องจากไม่เคยมีอยู่ในระบบที่ผ่านมา อีกทั้งข้อเสนอเท่าที่เคยเสนอมาในอดีตก็ล้วนถูกคัดค้านอย่างหนัก ทั้งยังไม่ใช่ทางแก้ปัญหาอีกด้วย เช่นเดียวกับรองศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นไปได้ยากที่จะเกิดรัฐบาลแห่งชาติ เพราะนอกจากพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 พรรค (พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์) ไม่อาจที่จะร่วมกิจกรรมทางการเมืองกันได้แล้ว ทั้งสองพรรคยังมีนโยบายที่แตกต่างกันอีกด้วย[4]

          ความขัดแย้งได้ลุกลามบานปลายกลายเป็นความรุนแรง จนกระทั่งรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ ได้ให้ความเห็นถึงตัวอย่าง “รัฐบาลแห่งชาติ” ว่าเงื่อนไขความยากลำบากของรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจไม่ใช่เรื่องของพรรคหนึ่งจะรวมกับอีกพรรคหนึ่ง เพราะการไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ในสภา ภาพที่ปรากฏออกมาก็ย่อมชัดเจนว่ารัฐบาลทำงานได้โดยปราศจากเสียงคัดค้านใดๆ การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อมุ่งสู่การปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขวิกฤตการฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยการเจรจาในทางใดทางหนึ่งให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมได้ ไม่ว่าจะเป็นในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี หรือการเป็นแกนกลางในคณะทำงานปฏิรูปการเมือง อาจเป็นหนทางในการสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินได้[5] ขณะที่ พันเอกอภิวันท์ วิริยะชัย ได้เสนอแนวคิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่าภายหลังการเลือกตั้ง วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง (ซึ่งอาจเป็น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลแห่งชาติ อันมีวัตถุประสงค์เพื่อวางแนวทางและกติกาการปฏิรูปประเทศร่วมกันในทุกๆ ด้าน ทั้งการเมือง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ระบบราชการ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ภายในระยะเวลา 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจึงยุบสภาจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่[6]

          สถานการณ์ความวุ่นวายก่อนและระหว่างการเลือกตั้ง วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 อันเนื่องมาจากหลายเขตไม่สามารถลงคะแนนได้ หลายเขตไม่มีผู้สมัคร และอีกหลายเขตที่ไม่สามารถประกาศผลคะแนนได้ ดร.เจษฎ์ โทนะวณิก จากมหาวิทยาลัยสยาม เห็นว่าคู่ขัดแย้งต้องหันมาพูดคุยกันผ่านเวทีกลาง โดยอาจใช้กระบวนการเลือกตั้ง เช่น การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยรวมกันเป็นฝ่ายเสนอ ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของทั้งสองพรรคเป็นฝ่ายตรวจสอบ และแสวงหานายกรัฐมนตรีคนกลางที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย รวมทั้งแก้กฎหมายเพื่อให้เกิดสภาปฏิรูป โดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี[7] ขณะเดียวกัน นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เห็นว่าวิกฤตการณ์การเมืองอยู่ในทางสองแพร่ง ฝ่ายหนึ่ง คือ รัฐบาลที่สนับสนุนการเลือกตั้ง และอีกฝ่ายหนึ่ง คือ กปปส. ที่คัดค้านการเลือกตั้ง จึงเสนอให้จัดการเลือกตั้งตามกติการัฐธรรมนูญปี 2550 หลังจากนั้นจึงตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่ให้ทุกพรรคการเมืองมีรัฐมนตรีแบ่งไปตามสัดส่วน ดำเนินการปฏิรูปภายในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี จากนั้นจึงยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่[8] ทั้งนี้ ยังได้เสนอต่อไปว่า “...เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขอเสนอสัดส่วนภายหลังเลือกตั้ง ให้ ส.ส. 20 คนเสนอรัฐมนตรี 1 คน ที่เหลือเป็นคนนอก แนวทางนี้จะทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและสามารถทำได้ทันทีในระบบกลไกของรัฐสภาที่มีคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองอยู่แล้ว...”[9]

          ถึงแม้จะมีความพยายามในการเสนอการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากคู่ขัดแย้งทางการเมือง เพราะสำหรับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. แล้วได้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้พรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมเป็นรัฐบาล “...เพราะรัฐบาลจะต้องไม่มีคนโกงมาเป็นรัฐบาล แต่ต้องช่วยกันเอาคนดีมาแก้ปัญหาชาติ มาปฏิรูปประเทศ...”[10] ในช่วงเวลานี้เอง ข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ไม่เพียงจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่ายเท่านั้น หากยังถูกกลบลบเลือนไปด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อันส่งผลให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องพ้นจากอำนาจ พร้อมกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

          ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แนวคิดรัฐบาลแห่งชาติก็กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่งในฐานะข้อเสนอหนึ่งในอันที่จะเป็นกระบวนการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จลุล่วง ทั้งนี้ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้ให้สัมภาษณ์ ว่า “...ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การที่ทุกฝ่ายจะเข้ามารวมตัวร่วมคิดร่วมทำในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศ การวางกฎกติกาและกลไกที่จะเลือกตั้งกันต่อไป รวมทั้งอาจต้องพิจารณาถึงการทดลองมีระบบการเมืองในรูปใหม่เป็นการชั่วคราว นั่นคือ ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ โดยให้สังคมเป็นฝ่ายค้านที่คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพราะการแบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านอย่างตายตัวที่ผ่านมานำไปสู่ความแตกแยกมากเกินไป สังคมที่ตื่นตัวและเข้มแข็ง อาจตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ดีกว่าฝ่ายค้านในรัฐสภา...”[11]

กล่าวได้ว่าแนวความคิดเรื่องรัฐบาลแห่งชาตินั้นได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายในช่วงปี 2557 ถึงปี 2558 จนกระทั่งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอต่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจเรียกว่า “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” อันหมายถึง รัฐบาลที่มาจากการผสมหลายพรรคการเมือง[12] หรือแม้แต่กระแสข่าว “รัฐบาลแห่งชาติ-นายกฯคนกลาง” ที่ถึงขั้นมีการเสนอชื่อวางตัวให้ พลเอกอุดมเดช สีตบุตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนกลาง[13] แต่ก็กลับถูกปฏิเสธจากทางคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ[14] พร้อมกับการยืนยันจาก พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงความไม่จำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลเฉพาะกาลในช่วงรอยต่อจากรัฐบาลทหารไปสู่รัฐบาลพลเรือน เพราะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้บริหารราชการแผ่นดินตามแนวทางที่วางไว้จึงจะทำหน้าที่นี้จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ[15] ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐบาลแห่งชาติจึงค่อยๆ ลดความสำคัญลงไป

 

ข้อจำกัดของ “รัฐบาลแห่งชาติ” ในภาวะชะงักงันทางการเมืองของไทย

ข้อเสนอเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” มักปรากฏขึ้นในห้วงเวลาที่สังคมไทยตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งฝ่ายที่อยู่ในอำนาจต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตความชอบธรรมและสิทธิอำนาจในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความชะงักงันทางการเมือง อันส่งผลให้สังคมไทยโดยรวมไม่อาจก้าวข้ามไปได้ด้วยกระบวนการทางการเมืองตามปกติ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ข้อเสนอนี้เป็นไปได้อย่างยากยิ่ง ก็คือ เงื่อนไขสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นถูกผลักดันไปสู่ภาวะสุญญากาศทางการเมือง (political vacuum) ที่ไม่มีศูนย์อำนาจใดจะสามารถอ้างสิทธิอำนาจการปกครองอันชอบธรรมครองอำนาจนำได้อีกต่อไป ในแง่นี้ แนวคิดเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” จึงมักจะเป็นข้อเสนอที่ผนวกรวมกับการระบุถึงที่มาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเรียกร้องให้เป็น “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” อันหมายความว่าบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นต้องมีคุณลักษณะของความเป็นกลาง คือเป็นที่ยอมรับจากหลายๆ ฝ่าย หรือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งทางการเมืองหรือกลุ่มพลังทางสังคมการเมืองต่างๆ ในแง่นี้ บุคคลผู้จะดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” จึงไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง นอกจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติยังวางอยู่บนเงื่อนไขการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จเสร็จสิ้นก่อนการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลแห่งชาติไปสู่รัฐบาลพลเรือนตามปกติ ทั้งนี้ “รัฐบาลแห่งชาติ” โดยข้อเสนอทั่วไปแล้ว จะมีระยะเวลาอยู่ในอำนาจประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง หลังจากนั้นก็จะดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามสภาวการณ์ปกติของระบอบประชาธิปไตย สำหรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลแห่งชาติย่อมมาจากทุกพรรคการเมืองหรือให้พรรคการเมืองเสนอขึ้นมาตามสัดส่วนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ ซึ่งอาจมาจากสมาชิสภาผู้แทนราษฎร หรืออาจมาจากบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถที่ได้รับการไว้วางใจจากพรรคการเมืองก็ได้ นอกจากนั้นสำหรับการตรวจสอบควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินก็มีข้อเสนอว่าควรให้สาธารณชนเป็นฝ่ายค้านที่คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่ก็จำต้องอาศัยสาธารณชนพลเมืองที่ตื่นตัวและเข้มแข็งเท่านั้น จึงจะสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ

 

บรรณานุกรม

“ข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” แผ่นเสียงตกร่องในวิกฤตขัดแย้ง.” ประชาชาติธุรกิจ. (16 กรกฎาคม 2558), 38.

“หอการค้าชี้ทางออกวิกฤติการเมืองหนุนคนกลางไกล่เกลี่ยอยากเห็นรัฐบาลแห่งชาติ.” แนวหน้า. (23 พฤศจิกายน 2556), 9.

อมร วาณิชวิวัฒน์. “รัฐบาลแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปประเทศ.” กรุงเทพธุรกิจ. (9 มกราคม 2557), 10.

“เชิญทุกฝ่ายถกเลื่อน 2 ก.พ.ปูหัวโต๊ะกกต.เล็งยื่นศาล รธน.ชี้ขาดวันเลือกตั้งใหม่.” มติชนรายวัน. (15 มกราคม 2557), 11, 12.

“ศาลไม่ยุ่งเลือกนายกไร้อำนาจพท.-นปช.รุมค้านใช้ม.7วุฒิสภาถกแก้วิกฤตวันนี้กกต.ชงเลือกตั้ง3สิงหา.” มติชนรายวัน. (12 พฤษภาคม 2557), 6, 10.

“พท.ปัดฝุ่นรบ.แห่งชาติ ปชป.จี้ นิวัฒน์ธำรง สละเก้าอี้.” โพสต์ทูเดย์. (14 พฤษภาคม 2557), A6.

“ส่ง ภ.1ขอคืนแจ้งวัฒนะนัดลุยวันนี้ยึดแล้วมิสกวัน-มัฆวานเคลียร์พื้นที่รอบทำเนียบมือมืดยิงขู่ศาลอาญาสุเทพลั่นไม่รับคนกลางไล่ปู-ไม่เอารบ.แห่งชาติ.” มติชนรายวัน. (15 กุมภาพันธ์ 2557), 10, 11.

“เสนอบิ๊กโด่งนายกฯคนกลาง รบ.แห่งชาติฟันคดีอาญาสาวมือโพสต์.” เดลินิวส์. (11 กรกฏคม 2558), 8.

“ประยุทธ์ไม่รับมุกนายกฯคนกลางรับบาลแห่งชาติ เกิดยาก.” ผู้จัดการรายวัน. (14 กรกฏคม 2558), 7, 8.

“แนะพท.-ปชป.ผลักดันตั้งรัฐบาลแห่งชาติ.” โพสต์ทูเดย์. (3 กุมภาพันธ์ 2557), A6.

“ยุบสภา - รัฐบาลแห่งชาติ ทางออกประเทศไทย.” สยามรัฐ. (26 พฤศจิกายน 2556), 5.

“ชทพ.ชูรัฐบาลแห่งชาติ.” กรุงเทพธุรกิจ. (7 สิงหาคม 2556), 13, 16.

“ปฏิรูปเร่งด่วนอนาคตประเทศไทย.” ไทยรัฐ. (27 มิถุนายน 2557), 5.

“รธน.ฉบับปฏิรูป สร้างรัฐบาลแห่งชาติ.” โพสต์ทูเดย์. (18 มกราคม 2558), B1, B2.

“รัฐบาลแห่งชาติไม่จำเป็น.” โพสต์ทูเดย์. (22 กุมภาพันธ์ 2559), A17.

อ้างอิง

[1] ปรับปรุงจาก “ข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” แผ่นเสียงตกร่องในวิกฤตขัดแย้ง,” ประชาชาติธุรกิจ, (16 กรกฎาคม 2558), 38.

[2] “ชทพ.ชูรัฐบาลแห่งชาติ,” กรุงเทพธุรกิจ, (7 สิงหาคม 2556), 13, 16.

[3] “หอการค้าชี้ทางออกวิกฤติการเมืองหนุนคนกลางไกล่เกลี่ยอยากเห็นรัฐบาลแห่งชาติ,” แนวหน้า, (23 พฤศจิกายน 2556), 9.

[4] “ยุบสภา - รัฐบาลแห่งชาติ ทางออกประเทศไทย,” สยามรัฐ, (26 พฤศจิกายน 2556), 5.

[5] อมร วาณิชวิวัฒน์, “รัฐบาลแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปประเทศ,” กรุงเทพธุรกิจ, (9 มกราคม 2557), 10.

[6] “เชิญทุกฝ่ายถกเลื่อน 2ก.พ.ปูหัวโต๊ะกกต.เล็งยื่นศาล รธน.ชี้ขาดวันเลือกตั้งใหม่,” มติชนรายวัน, (15 มกราคม 2557), 11, 12.

[7] “แนะพท.-ปชป.ผลักดันตั้งรัฐบาลแห่งชาติ,” โพสต์ทูเดย์, (3 กุมภาพันธ์ 2557), A6.

[8] “ศาลไม่ยุ่งเลือกนายกไร้อำนาจพท.-นปช.รุมค้านใช้ม.7วุฒิสภาถกแก้วิกฤตวันนี้กกต.ชงเลือกตั้ง3สิงหา,” มติชนรายวัน, (12 พฤษภาคม 2557), 6, 10.

[9] “พท.ปัดฝุ่นรบ.แห่งชาติ ปชป.จี้ นิวัฒน์ธำรง สละเก้าอี้,” โพสต์ทูเดย์, (14 พฤษภาคม 2557), A6.

[10] “ส่ง ภ.1ขอคืนแจ้งวัฒนะนัดลุยวันนี้ยึดแล้วมิสกวัน-มัฆวานเคลียร์พื้นที่รอบทำเนียบมือมืดยิงขู่ศาลอาญาสุเทพลั่นไม่รับคนกลางไล่ปู-ไม่เอารบ.แห่งชาติ,” มติชนรายวัน, (15 กุมภาพันธ์ 2557), 10, 11.

[11] “ปฏิรูปเร่งด่วนอนาคตประเทศไทย,” ไทยรัฐ, (27 มิถุนายน 2557), 5.

[12] “รธน.ฉบับปฏิรูป สร้างรัฐบาลแห่งชาติ,” โพสต์ทูเดย์, (18 มกราคม 2558), B1, B2.

[13] “เสนอบิ๊กโด่งนายกฯคนกลาง รบ.แห่งชาติฟันคดีอาญาสาวมือโพสต์,” เดลินิวส์, (11 กรกฏคม 2558), 8.

[14] “ประยุทธ์ไม่รับมุกนายกฯคนกลางรับบาลแห่งชาติ เกิดยาก,” ผู้จัดการรายวัน, (14 กรกฏคม 2558), 7, 8.

[15] “รัฐบาลแห่งชาติไม่จำเป็น,” โพสต์ทูเดย์, (22 กุมภาพันธ์ 2559), A17.