กรมวัง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:58, 19 ธันวาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง :  ดร.โดม ไกรปกรณ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ  รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


กรมวัง

          ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้มีการตั้งขุนนางในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยขุนนางตำแหน่งสำคัญในสมัยนั้นได้แก่ตำแหน่ง “จตุสดมภ์” อันประกอบไปด้วย เวียง วัง คลัง นา[1] ขุนนางตำแหน่งกรมวังนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกล่าวไว้ว่า เจ้ากรมวังมียศเป็น “เจ้าพระยาธรรมาธิบดี[2] จากการสืบค้นในกฎมณเฑียรบาลพบว่า เจ้าพระยาธรรมาธิบดีหรือ “ออกญาธารมาธิบดี” ถือศักดินา 10000[3]

          สำหรับอำนาจหน้าที่ของกรมวังนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชาธิบายว่า กรมวังเป็นเสนาบดีในพระราชวัง เป็นพนักงานที่จะจัดการพระราชพิธีต่างๆ ได้บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายหน้าซึ่งมีตำแหน่งอยู่ในพระบรมมหาราชวังชั้นในและข้าราชการฝ่ายในทั่วไป รวมทั้งมีอำนาจที่จะตั้งศาลชำระความซึ่งเกี่ยวข้องกับกรมกองต่างๆ[4]  โดยอำนาจหน้าที่ที่เป็นหัวหน้าในพระราชสำนักและดูแลเรื่องศาลยุติธรรมนี้เอง เสนาบดีกรมวังจึงมีอีกนามหนึ่งว่า “ธรรมาธิกรณ์”[5]

          ด้วยอำนาจหน้าที่หลายด้าน  ดังนั้นเสนาบดีกรมวังจึงมีอำนาจควบคุมกรมย่อยๆจำนวนมาก เช่น พระตำรวจวัง กรมพระราชยาน (ช่างทอง ช่างเงิน ช่างทำเครื่องหอม ช่างทำเครื่องเรือน อยู่ในกรมนี้) กรมอาวุธหลวง กรมฉางข้าวหลวง กรมสวนหลวง[6] อีกทั้งยังมีอำนาจในการแต่งตั้งขุนนางสำคัญประจำเมืองต่างๆคือ “ยกกระบัตร” ซึ่งเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ไปทำหน้าที่ดูแลความยุติธรรม เป็นเสมือนหัวหน้าศาลในหัวเมืองและทำหน้าที่เป็นเหมือนรองเจ้าเมือง[7]

          แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะล่มสลายไปในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 แต่การปกครองระบบขุนนางของกรุงศรีอยุธยาได้รับการรื้อฟื้นโดยพระมหากษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ ดังนั้นจึงมีการตั้งเสนาบดีกรมวังขึ้นอีกครั้ง เห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีการแต่งตั้งขุนนางตำแหน่งเสนาบดีกรมวัง ซึ่งได้รับราชทินนาม “ธรรมาธิกรณ์” ได้แก่ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (สด)  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เทศ) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (สมบุญ) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ (เสือ) และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญศรี) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (ลมั่ง) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[8]

          หลังจาก เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (ลมั่ง) ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ไม่มีการตั้งขุนนางผู้ใดในราชทินนาม “เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์”  อีกและได้เปลี่ยนกรมวังเป็นกระทรวงวัง ยกเลิกตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์ (เวียง วังคลัง นา) อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯให้พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง แล้วโปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาธรรมาธิกรณ์ เมื่อพ.ศ. 2456  พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง แล้วโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าพระยาธรรมธิกรณาธิบดี พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เป็นขุนนางคนสุดท้ายที่ได้รับราชทินนาม “เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์/เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี” [9]

บรรณานุกรม

กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2537.

เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.

เวลส์, ควอริช . การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ. กาญจนี ละอองศรี และยุพา ชุมจันทร์ (แปล), กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527.

ส. พลายน้อย. ขุนนางสยาม ประวัติศาสตร์ “ข้าราชการ” ทหารและพลเรือน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน, 2559.

อาคม พัฒิยะ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์.  ศรีรามเทพนคร รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น.กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2527.

 

อ้างอิง

[1] อาคม พัฒิยะ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศรีรามเทพนคร รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น, กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2527, หน้า 46.

[2] สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549, หน้า 14.

[3] กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2537, หน้า 237.

[4] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557, หน้า 22.

[5] สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ประชุมพระนิพนธ์สรรพความรู้, กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2555, หน้า 71.

[6] ควอริช เวลส์, การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ, กาญจนี ละอองศรี และยุพา ชุมจันทร์ (แปล), กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527,  หน้า 75.

[7] สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์, หน้า 15.

[8] ส. พลายน้อย, ขุนนางสยาม ประวัติศาสตร์ “ข้าราชการ” ทหารและพลเรือน, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ: มติชน, 2559, หน้า 113-118.

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 118-119.