รัฐมนตรีสภา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต

เรียบเรียงโดย : นายสุรเชษ์ฐ  สุขลาภกิจ


รัฐมนตรีสภา

          รัฐมนตรีสภาเป็นหนึ่งในสภาการแผ่นดินที่ตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่_5) เพื่อรับหน้าที่งานกฎหมายเป็นการเฉพาะแทนสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นสภาการแผ่นดินที่ตั้งขึ้นมาก่อนและยุติบทบาทลงไปแล้ว ต่อมาภาระหน้าที่ของรัฐมนตรีสภาถูกโอนไปอยู่กับที่ประชุมเสนาบดี เท่ากับถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ในรัชสมัยถัดมามีการเสนอให้รื้อฟื้นรัฐมนตรีสภาขึ้นอีกครั้ง แต่ไม่เป็นผล กระทั่งหลังการปฏิวัติ_พ.ศ._2475 รัฐมนตรีถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในความหมายตำแหน่งของฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญถาวรฉบับวันที่ 10_ธันวาคม_พ.ศ._2475

 

สภาการแผ่นดินก่อนรัฐมนตรีสภา

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2411 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศถูกดึงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกแบบยุโรปหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงใน พ.ศ. 2398 สยามต้องเข้าไปอยู่ในระเบียบโลกแบบใหม่ที่มียุโรปเป็นศูนย์กลาง ความศิวิไลซ์หรืออารยธรรมกลายเป็นเป้าหมายที่ต้องบรรลุให้ได้ ขณะเดียวกัน สภาวะกึ่งอาณานิคมโดยเฉพาะจากการสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตก็กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอีกไม่กี่ทศวรรษให้หลัง รวมถึงจะมีปัญหาพิพาทและถูกแทรกแซงจากมหาอำนาจด้วย ที่สำคัญ การปกครองประเทศในเวลานั้นยังไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่กษัตริย์และส่วนกลาง การปฏิรูปในด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองและแก้ไขสภาพการณ์เหล่านั้นจึงเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ในระยะก่อนที่การปฏิรูประบบราชการจะบรรลุถึงขั้นยุบเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและจตุสดมภ์ และตั้ง 12 กระทรวงขึ้นแทนในช่วง พ.ศ. 2428-2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มต้นการปฏิรูปด้วยการตั้งเคาน์ซิลออฟสเตท (Council of State) หรือสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และปรีวีเคาน์ซิล (Privy Council) หรือสภาที่ปรึกษาในพระองค์ขึ้นใน พ.ศ. 2417 เมื่อทรงบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 แล้ว โดยสภาแรกนั้นได้รับแบบอย่างมาจากสภาแห่งรัฐหรือกงแซย์เดตา (Conseil d’État) ของฝรั่งเศสที่จักรพรรดินโปเลียน โบนาบาร์ต (Napoleon Bonaparte) ตั้งขึ้นเพื่อร่างและตีความกฎหมายกับวางเกณฑ์และแก้ไขปัญหาทางการปกครอง[1]

          สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินนี้เป็นกลไกในการบริหารและการออกกฎหมายที่จะนำไปสู่การสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเวลาต่อมา สมาชิกของสภานี้ถูกกำหนดให้มีสถานะเป็นรองจากเสนาบดี ประกอบด้วยขุนนางระดับพระยาจำนวน 12 คน[2] มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนพระบรมราโชบายที่จะปฏิรูประบบการคลังของประเทศด้วยการรวมศูนย์การบริหารรายได้และรายจ่ายของรัฐ รวมถึงการปฏิรูประบบกำลังคนด้วยการยกเลิกทาสอย่างช้าๆ[3] ซึ่งโดยเฉพาะการปฏิรูปในเรื่องแรกที่จะนำไปสู่การลดอำนาจของกลุ่มอนุรักษนิยมลงนั้นได้นำมาซึ่งแรงต่อต้านอย่างหนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงประนีประนอมด้วยการอนุญาตให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง_บุนนาค) มีอำนาจจัดเก็บภาษีฝิ่นต่อไปได้ตามเดิม

          วิกฤตการณ์วังหน้าใน พ.ศ. 2417 เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่ตามมาหลังความพยายามปฏิรูประยะแรก กล่าวคือนอกจากเกือบจะเกิดการปะทะกันด้วยกำลังระหว่างฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับฝ่ายกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญแล้ว ยังนำไปสู่การดึงมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสให้เข้ามาแทรกแซงปัญหาด้วย ขณะเดียวกัน ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งไม่พอใจบทบาทของสภาที่ตั้งขึ้นก็พยายามดึงดุลอำนาจให้มาอยู่กับตนเองมากขึ้นด้วย หลังวิกฤตการณ์คลี่คลายลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงดำเนินการปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และบทบาทของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินก็ลดลง[4]

 

รัฐมนตรีสภาในสมัยรัชกาลที่ 5-6

          การสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นไปได้มากขึ้นหลังสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์พิราลัยใน พ.ศ. 2425 และกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตใน พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มการปฏิรูปด้วยการปรับปรุงขอบเขตอำนาจของหน่วยงานที่มีอยู่เดิม และตั้งกระทรวง/กรมขึ้นใหม่ เริ่มทดลองการบริหารด้วยระบบคณะเสนาบดี 12 ตำแหน่ง ซึ่งกว่าครึ่งเป็นพระราชอนุชา ก่อนหน้านี้ การกระชับอำนาจหัวเมืองเข้าสู่กรุงเทพฯ ก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดการศึกษาเพื่อรองรับการสร้างระบบราชการแบบใหม่ก็เริ่มต้นไว้แล้ว เมื่อการปฏิรูปค่อนข้างลงตัวแล้วในกลางทศวรรษ 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีสภาขึ้นใน พ.ศ. 2437 โดยมีพระราชประสงค์ให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานกฎหมายโดยเฉพาะแทนสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินที่ยุติบทบาทไป

          พระราชดำริที่จะให้มีสภาการแผ่นดินทำหน้าที่ด้านกฎหมายในครั้งนี้น่าจะสืบเนื่องจากการที่เจ้านายและข้าราชการที่ออกไปประจำยุโรปได้ร่วมกันทำความเห็นกราบบังคมทูลเสนอใน พ.ศ. 2428 ให้จัดการเปลี่ยนแปลงระบอบแอบโสลูดโมนากี (Absolute Monarchy) ไปเป็นคอนสติติวชั่นแนลโมนากี (Constitutional Monarchy)[5] โดยในพระราชหัตถเลขาตอบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริถึงการลียิสเลตีฟ (Legislative) หรือการทำกฎหมายว่าเป็นหนึ่งในข้อที่จำเป็นกว่าในตอนนั้นร่วมกับการคอเวอนเมนต์รีฟอม (Government Reform) ซึ่งจำเป็นต้องทำให้สำเร็จก่อนจึงจะดำเนินการอื่นๆ ได้[6] และต่อมาใน พ.ศ. 2437 กุสตัฟว์ รอแล็ง-ฌักแม็งส์ (Gustave Rolin-Jacquemyns) ที่ปรึกษาราชการชาวเบลเยียมก็ได้ถวายความเห็นให้ตั้งที่ประชุมพิจารณากฎหมายขึ้นมา[7] เป็นผลให้มีการตั้งรัฐมนตรีสภาในที่สุด

          ในเวลาเดียวกัน การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่เริ่มปรากฏบนหน้าสิ่งพิมพ์ที่แม้จะมีจำนวนจำกัด แต่ก็มีส่วนต่อการกระจายภาษาและความคิดทางการเมืองแบบตะวันตกให้แพร่หลายไป ย่อมเร่งเร้าต่อการตั้งสถาบันทางการเมืองที่รับอิทธิพลจากตะวันตกมาปรับใช้ด้วย จดหมายเหตุสยามไสมย ของซามูเอล เจ. สมิท (Samuel J. Smith) มิชชันนารีชาวตะวันตก ซึ่งออกระหว่าง พ.ศ. 2424-2428 นอกจากจะวิจารณ์ปัญหาความเป็นอยู่ที่เลวร้ายของไพร่ทาส การฉ้อฉลของข้าราชการ ภาษีฝิ่นและการพนัน และโอกาสที่ไม่เท่าเทียมทางการศึกษา ยังได้อภิปรายถึงรูปแบบรัฐบาลฝรั่งเศสที่เปลี่ยนจากสมบูรณาญาสิทธิ์มาเป็นระบบรัฐสภาด้วย[8] หรือปัญญาชนไทยอย่าง ก.ศ.ร.กุหลาบก็ใช้สิ่งพิมพ์อย่าง สยามไมตรี และ สยามออบเซอร์เวอร์ เป็นเวทีในการเสนอแนวคิดทางการเมืองใหม่แบบตะวันตกออกไป ทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่างๆ ด้วยเช่นกัน[9]

          รัฐมนตรีสภาเปิดประชุมครั้งแรกเพื่อทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2438 สมาชิกชุดแรกประกอบด้วยเจ้านายและขุนนางรวม 42 พระองค์/คน มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา (พระยศขณะนั้น) เป็นสภานายก และพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เป็นอุปนายก[10] ต่อมามีการแต่งตั้งเพิ่มเติมขึ้นอีก โดยตลอดจนถึง พ.ศ. 2440 สภานี้ได้พิจารณากฎหมายไปทั้งสิ้น 12 ฉบับ แต่นับจาก พ.ศ. 2441 การประชุมก็เริ่มขาดไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้มีการพิจารณาว่าจะเลิกสภานี้หรือไม่ นำไปสู่การแก้ไขระเบียบการประชุมใหม่ให้สอดคล้องกับภาระของบรรดารัฐมนตรีที่ต้องทำการในหน้าที่อื่นๆ พร้อมกันไปด้วย ภายหลังงานพิจารณากฎหมายได้ถูกโอนไปขึ้นกับที่ประชุมเสนาบดี งานของรัฐมนตรีสภาจึงสิ้นสุดลง เท่ากับถูกยกเลิกไปโดยปริยาย[11]

          อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีสภาที่ตั้งขึ้นมาคงอยู่ในพระราชดำริที่จะให้เป็นสถาบันที่มีความต่อเนื่องมากกว่าจะเป็นสถาบันชั่วคราว ดังปรากฏว่าใน “ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม” กำหนดให้สภานี้เป็นหนึ่งในราชูปสดมภ์หรือเสาหลักค้ำจุนกษัตริย์และให้ทำหน้าที่ร่วมกับสภาอื่นๆ เช่น การพิจารณาเลือกผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เป็นต้น[12] แต่การที่รัฐมนตรีสภาไม่ได้มีบทบาทที่สืบเนื่องนั้น ในด้านหนึ่งคงเป็นผลจากจารีตของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เองที่ถือว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่กษัตริย์และไม่นำไปสู่การแจกแจงแยกส่วนอำนาจนั้นให้ชัดเจนออกเป็นบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ สถาบันการเมืองต่างๆ มีหน้าที่ปฏิบัติไปตามพระราชประสงค์เท่านั้น ไม่ใช่การใช้อำนาจที่แบ่งแยกชัดเจน

          เมื่อขึ้นรัชกาลใหม่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ_กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถได้ถวายความเห็นต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ให้ฟื้นรัฐมนตรีสภาขึ้น เพื่อแสดงให้ตะวันตกเห็นว่ามีพระบรมราโชบายสอดคล้องกับแนวโน้มของโลกในเวลานั้นที่เป็นไปในทางให้มีปาร์ลีย์เมนต์ (parliament) และเพื่อเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์พระองค์ใหม่ให้เท่ากับพระองค์ก่อนที่ได้ทรงเลิกทาสเป็นพระราชกรณียกิจใหญ่[13] มาใน พ.ศ. 2464 เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม_แสงชูโต) ก็ได้กราบบังคมทูลให้รื้อฟื้นรัฐมนตรีสภาขึ้นมาอีกเช่นกัน และเสนอเรื่องกษัตริย์ภายใต้กฎหมายด้วย[14] แต่ทั้งหมดไม่เป็นผลให้มีการตั้งรัฐมนตรีสภาขึ้นมาอีกครั้งแต่อย่างใด

 

การรื้อฟื้นตำแหน่งรัฐมนตรีหลัง พ.ศ. 2475

          หลังการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แม้รัฐมนตรีสภาจะถูกประกาศยกเลิกเป็นทางการ แต่ศัพท์ที่เป็นมรดกทางการเมืองของสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่าง “รัฐมนตรี” ถูกรื้อฟื้นมาใช้อีกครั้งโดยรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกที่ประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลจากการประนีประนอมกันระหว่างคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาบันทางการเมืองและความสัมพันธ์ของสถาบันเหล่านั้นที่เคยเป็นอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน กล่าวคือกษัตริย์ได้รับพระราชอำนาจเพิ่มเติม สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจน้อยลง ส่วนฝ่ายบริหารก็มีอำนาจมากขึ้น[15] ภายใต้บรรยากาศการประนีประนอมนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะมีส่วนในการกำหนดคำและความหมายของคำในรัฐธรรมนูญ

          คำสำคัญที่ทรงติงคือขอให้แก้ “กษัตริย์” เป็น “พระมหากษัตริย์” และทรงเสนอให้ใช้คำว่า “รัฐมนตรี” แทน “กรรมการราษฎร” “คณะกรรมการราษฎร” และ “ประธานกรรมการราษฎร” เนื่องจากมีพระราชดำริว่าไม่สอดคล้องกับระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ในการพิจารณาเรื่องคำนี้ของสภาผู้แทนราษฎร หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ชี้ว่าไม่ควรใช้ “รัฐมนตรี” เพราะ “มนตรี” คือที่ปรึกษา ไม่ได้หมายถึงผู้บริหาร และชวนให้นึกถึงรัฐมนตรีสภาที่ไม่มีบทบาทอะไรแล้ว พระยานิติศาสตร์ไพศาล (วัน_จามรมาน) ก็ให้เหตุผลในทำนองเดียวกัน และนายมังกร สามเสนเสนอว่าคำ “รัฐมนตรี” มีนัยที่ห่างจาก “ราษฎร” ไป อย่างไรก็ดี ผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากเห็นว่าควรเปลี่ยนตามที่ทรงทักมา ผลการลงคะแนนปรากฏว่ามี 28 เสียงสนับสนุนให้ใช้คำ “รัฐมนตรี” ไม่ออกเสียง 24 เสียง และให้ใช้คำอื่น 7 เสียง[16] “กรรมการราษฎร” จึงถูกเปลี่ยนเป็น “รัฐมนตรี” โดยรัฐธรรมนูญถาวรฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

          กล่าวได้ว่าแม้รัฐมนตรีสภาจะหมดบทบาทไปตั้งแต่ยังไม่ทันสิ้นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในแง่ศัพท์สำคัญทางการเมืองหลังการปฏิวัติที่รับเอาคำ “รัฐมนตรี” มาใช้จนถึงทุกวันนี้ คือ “นายกรัฐมนตรี” “รัฐมนตรี” และ “คณะรัฐมนตรี” ซึ่งหมายถึงผู้ใช้อำนาจบริหารตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นมรดกของการประนีประนอมทางการเมืองระหว่างคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังวันที่ 24_มิถุนายน_พ.ศ._2475 และบอกนัยถึงความสำเร็จของฝ่ายหลังที่สามารถช่วงชิงการนิยามศัพท์ให้กับระบอบใหม่ได้

 

บรรณานุกรม

“การเปิดรัฐมนตรีสภา.”  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 11 แผ่นที่ 44 (27 มกราคม ร.ศ. 113), หน้า 366-367.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต (รวบรวม).  เอกสารการเมืองการปกครองไทย (พ.ศ. '2417-2477).  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2532.

เตช บุนนาค.  การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. '2435-2458.  แปลโดย ภรณี กาญจนัษฐิติ.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์.  2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ.  กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์.  การปฏิวัติสยาม พ.ศ. '2475.  พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553.

บุญพิสิฐ ศรีหงส์.  “งานนิพนธ์ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ: ชนชั้นนำและการสร้างองค์ความรู้ในสยามต้นยุคใหม่.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556.

“พระราชดำรัสในการเปิดการประชุมรัฐมนตรีสภา.”  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 11 แผ่นที่ 22 (27 มกราคม ร.ศ. 113), หน้า 367-372.

“พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติรัฐมนตรี.”  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 (7 ธันวาคม 2475), หน้า 427-428.

“พระราชบัญญัติรัฐมนตรี รัตนโกสินทร์ศก 113.”  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 11 แผ่นที่ 42 (13 มกราคม ร.ศ. 113), หน้า 329-333.

มัทนา เกษกมล.  “การวิเคราะห์ในเชิงประวัติศาสตร์เรื่องการเมืองและการปกครองในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2468).”  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517.

ราชกิจจานุเบกษารัชกาลที่ '5 เล่มที่ 1 จ.ศ. 1236.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, 2540.

ราม วชิราวุธ.  ประวัติต้นรัชกาลที่ '6.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.

วุฒิชัย มูลศิลป์.  “พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครอง: พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการปกครองแผ่นดิน.”  วารสารประวัติศาสตร์ ฉบับพิเศษ 50 ปี เอกประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (2553-2554), หน้า 3-29.

Kullada Kesboonchoo Mead.  The Rise and Decline of Thai Absolutism.  London and New York, NY: RoutledgeCurzon, 2004.

อ้างอิง

            [1] Kullada Kesboonchoo Mead, The Rise and Decline of Thai Absolutism (London and New York, NY: RoutledgeCurzon, 2004), p. 54.

            [2] “ประกาศที่ 3 ว่าด้วยตั้งเกาน์ซิล แลพระราชบัญญัติ,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 แผ่นที่ 1 (วันอาทิตย์ เดือนเจ็ด ขึ้น 2 ค่ำ ปีจอฉศก จ.ศ. 1236), หน้า 4; และ “พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตดคือที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 แผ่นที่ 16 (วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 3 ค่ำ ปีจอฉศก จ.ศ. 1236), หน้า 147.

            [3] Kullada Kesboonchoo Mead, The Rise and Decline of Thai Absolutism, pp. 56-57.

            [4] Ibid, pp. 60-65.

            [5] “คำกราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 และพระราชดำรัสตอบ,” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต (รวบรวม), เอกสารการเมืองการปกครองไทย (พ.ศ. '2417-2477)(พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2532), หน้า 50.

            [6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 64-66.

            [7] ชาญชัย รัตนวิบูลย์, “บทบาทของอภิรัฐมนตรีสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” (ปริญญานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2519), หน้า 74-75.

            [8] Kullada Kesboonchoo Mead, The Rise and Decline of Thai Absolutism, pp. 109-110.

            [9] บุญพิสิฐ ศรีหงส์, “งานนิพนธ์ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ: ชนชั้นนำและการสร้างองค์ความรู้ในสยามต้นยุคใหม่” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556), บทที่ 4.

            [10] “การเปิดรัฐมนตรีสภา,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 11 แผ่นที่ 44 (27 มกราคม ร.ศ. 113), หน้า 366; และ “พระราชดำรัสในการเปิดการประชุมรัฐมนตรีสภา,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 11 แผ่นที่ 22 (27 มกราคม ร.ศ. 113), หน้า 371-372.

            [11] ชาญชัย รัตนวิบูลย์, “บทบาทของอภิรัฐมนตรีสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว,” หน้า 82-85.

            [12] รายงานการประชุมเสนาบดีสภารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ 1 เรื่องสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน, อ้างใน วุฒิชัย มูลศิลป์, “พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครอง: พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการปกครองแผ่นดิน,” วารสารประวัติศาสตร์ ฉบับพิเศษ 50 ปี เอกประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (2553-2554), หน้า 16.

            [13] ราม วชิราวุธ, ประวัติต้นรัชกาลที่ '6(พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: มติชน, 2546), หน้า 67-71.

            [14] มัทนา เกษกมล, “การวิเคราะห์ในเชิงประวัติศาสตร์เรื่องการเมืองและการปกครองในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2468)” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517), หน้า 124.

            [15] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. '2475(พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553), หน้า 320.

            [16] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543), หน้า 123-126.