แถลงการณ์ของคณะราษฎร
เรียบเรียงโดย : นายสุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
แถลงการณ์ของคณะราษฎร
แถลงการณ์ของคณะราษฎรหรือ “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” คือเอกสารเผยแพร่ของคณะราษฎรในการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ร่างขึ้นโดยนายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในขณะนั้น พิมพ์ที่โรงพิมพ์นิติสาสน์ เนื้อหาสำคัญเป็นการประกาศความไม่ชอบธรรมของระบอบเก่า และประกาศหลักการกับภารกิจของระบอบใหม่ที่คณะราษฎรสถาปนาขึ้นในวันนั้น ประกาศฉบับนี้คือผลรวมของแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในสังคมไทยที่มีอยู่แล้วก่อนการปฏิวัติ ขณะเดียวกันก็เป็นส่งต่อแนวคิดดังกล่าวออกไปในตัวเองด้วย กล่าวได้ว่าประกาศฉบับนี้ไม่เพียงแต่เป็นคำแถลงการสถาปนาระบอบใหม่ขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังเป็นคำมั่นสัญญาที่ระบอบใหม่ให้กับราษฎรด้วยว่ามีพันธะใดที่จะต้องปฏิบัติให้บรรลุความสำเร็จ
ประกาศความไม่ชอบธรรมของระบอบเก่า
ใจความสำคัญประการแรกของประกาศคณะราษฎรคือการสื่อสารข้อความไปยังราษฎรโดยตรง ดังเห็นได้จากคำขึ้นต้นในประกาศว่า “ราษฎรทั้งหลาย” ทั้งยังย้ำถึงคำว่า “ราษฎร” อีกหลายแห่ง นับรวมได้ถึง 41 แห่ง[1] เป็นการอธิบายความไม่ชอบธรรมและวิจารณ์ความล้มเหลวของระบอบเก่า ทั้งในแง่ที่ให้กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย ให้อภิสิทธิ์กับเจ้านาย ปล่อยให้มีการทุจริต ไร้หลักวิชาในการปกครอง และกดขี่ราษฎร ขณะเดียวกันก็ชี้แจงขอให้ราษฎรสำนึกตัวเองว่าเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ใช่กษัตริย์ และเรียกร้องให้สนับสนุนคณะราษฎรที่ได้กระทำการยึดอำนาจจากกษัตริย์ด้วย กล่าวคือดึงราษฎรให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองกับระบอบใหม่ที่จะเปิดโอกาสให้นั่นเอง ประกาศฉบับนี้เริ่มแจกจ่ายตั้งแต่ในวันที่คณะราษฎรก่อการขึ้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้าและตามที่ชุมนุมชนต่างๆ ความตอนหนึ่งของประกาศ มีว่า
เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต ... ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ... รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้
การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใดๆ ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นก็โค่นราชบัลลังก์ลงเสียแล้ว
รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากิน ... มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นเป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคนอีกต่อไป[2]
เนื้อความของประกาศนั้นสะท้อนให้เห็นถึงสำนึกทางสังคมการเมืองแบบ “ประชาธิปไตย” ที่มีอยู่แล้วในสังคมไทยก่อน พ.ศ. 2475 ซึ่งในขณะนั้นยังมีความหมายทั้งอย่างกว้างคือการจำกัดการปกครองของกษัตริย์และหมายความอย่างรุนแรงถึงการล้มเลิกระบอบกษัตริย์[3] ดังเห็นได้ว่ามีการใช้ภาษาที่รุนแรง ไม่ใช้ราชาศัพท์ และแจ้งว่าหากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธที่จะอยู่ภายใต้ “กฎหมายพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” คณะราษฎรก็จะเปลี่ยนประเทศไปสู่การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” แทน ซึ่งหมายถึงการให้ประมุขของประเทศมีที่มาจากสามัญชน อย่างไรก็ดี ในหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทำขึ้นในบ่ายของวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งลงนามโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) และพระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ได้เปลี่ยนสาระส่วนนี้ที่แถลงออกไปแล้วในประกาศคณะราษฎรเป็นว่าหากได้รับการปฏิเสธจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็จะเลือกเจ้านายพระองค์อื่นขึ้นเป็นกษัตริย์แทน[4]
ทั้งนี้ ถ้อยคำที่ใช้อยู่ในประกาศนั้นมีหลายตอนที่เหมือนกับข้อความที่ใช้และปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ที่เป็นเวทีทางการเมืองของทั้งนักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนและชาวบ้านทั้งหลายด้วย เช่น ความว่า “รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร” เป็นความเดียวกับที่นายกุหลาบ_สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” เขียนไว้ในบทความเรื่อง “มนุษยภาพ” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2474 หรือข้อความ “รัฐบาลได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์” ก็มีอยู่ในฎีกาของราษฎรบางฉบับก่อนการปฏิวัติ[5] ความในประกาศคณะราษฎรจึงสะท้อนถึงความคาดหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากราษฎรและความพยายามที่จะเป็นตัวแทนความรู้สึกนึกคิดแบบ “ประชาธิปไตย” ของราษฎร ซึ่งก็ปรากฏว่าคณะราษฎรได้รับการสนับสนุนอย่างดีพอสมควรจากชนชั้นกลางและราษฎรในเขตเมืองหลวง[6]
ประกาศหลัก 6 ประการ
นอกจากประกาศความไม่ชอบธรรมของระบอบเก่าแล้ว ประกาศคณะราษฎรยังวางแนวทางอันเป็นเป้าหมายของระบอบใหม่ด้วย นั่นคือหลัก 6 ประการที่จะทำให้การปกครองประเทศเป็นไปอย่างมี “หลักวิชา” ซึ่งวางอยู่บนบริบทปัญหาสังคมการเมืองที่ตระหนักรู้กันทั่วไปอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ
หลัก 6 ประการ ได้แก่
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
แม้ว่าอาจจะมีการตีความปัญหานั้นๆ ต่างกันไปตามประสบการณ์ ความคิด อุดมการณ์ หรือกลุ่มชนชั้นที่แต่ละคนสังกัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเจ้านาย ข้าราชการ ปัญญาชน หรือราษฎร นับได้ว่าเป็นการแถลงนโยบายของระบอบใหม่ต่อราษฎรครั้งแรก ซึ่งการประกาศพันธะที่มีต่อประเทศชาติและราษฎรเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนในระบอบเก่าที่ถือว่ากษัตริย์และเจ้านายมีหน้าที่ในการปกครองโดยชาติวุฒิอยู่แล้ว กษัตริย์เป็นผู้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงและนำความเจริญมาสู่ประเทศ พระราชประสงค์ถือเป็นที่สุดและถูกต้อง พระราชดำริคือรัฐนโยบายการปกครอง และยึดมั่นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ในระดับที่ค่อยเป็นค่อยไปเท่านั้น ส่วนราษฎรนั้นถือว่าควรอยู่ภายใต้การปกครอง[7]
หลัก 6 ประการเป็นภารกิจที่คณะราษฎรพยายามผลักดันให้สำเร็จ เช่น หลักเอกราช เห็นได้ว่ารัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในระบอบใหม่ได้เร่งรัดการร่างกฎหมายต่างๆ ที่ค้างมาตั้งแต่ระบอบเก่าให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้อยู่ในเงื่อนไขที่จะสามารถเจรจากับจักรวรรดินิยมต่างๆ โดยเฉพาะชาติตะวันตก เพื่อขอยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและขออำนาจการเก็บภาษีศุลกากรที่เสียไปคืนมา อันจะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากสภาวะกึ่งอาณานิคม กฎหมายสำคัญที่ยกร่างและพิจารณาจนแล้วเสร็จได้ประกาศใช้ก็คือ “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว” (พ.ศ. 2477) ที่เป็นปัญหายุ่งยากและถกเถียงกันมาตลอดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าจะใช้หลักผัวเดียวเมียเดียวหรือผัวเดียวหลายเมีย เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเป็นสมัยใหม่ อัตลักษณ์ไทย อธิปไตยของชาติ และการเผชิญหน้ากับอุดมการณ์จักรวรรดินิยมที่มีมาตรฐานทางอารยธรรมต่างจากไทย[8] ซึ่งในที่สุด ระบอบใหม่ได้ตัดสินใจใช้หลักการผัวเดียวเมียเดียวแบบตะวันตก เป็นการยืนยันถึงความก้าวหน้าของประเทศ ขณะเดียวกันก็เปิดทางไปสู่การเจรจายกเลิกสนธิสัญญาที่เคยทำไว้กับจักรวรรดินิยมและเป็นปัญหากับเอกราชในความหมายของการมีอำนาจอธิปไตยเต็มด้วย
การผลักดันหลักอื่นๆ โดยเฉพาะที่ผ่านการประกาศใช้กฎหมาย ได้แก่ การตรา “ประมวลรัษฎากร” หรือ “ พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481” ซึ่งเป็นการยกเลิกความสัมพันธ์ทางสังคมแบบศักดินาสอดคล้องกับหลัก 6 ประการในข้อที่ 3-5 กล่าวคือได้ยกเลิกการเก็บภาษีทางตรงทั้งภาษีจากที่ดิน (เช่น อากรค่านา ภาษีค่าที่สวน และภาษีค่าที่ไร่ เป็นต้น) และการเก็บเงินรัชชูปการ โดยเปลี่ยนมาเป็นการจัดเก็บภาษีตามรายได้สุทธิของราษฎร ซึ่งเป็นธรรมกว่าการจัดเก็บภาษีในลักษณะถอยหลังแบบเดิม เฉพาะการยกเลิกการเก็บเงินรัชชูปการที่เรียกเก็บจากราษฎรชายที่ในช่วงระหว่างทศวรรษ 2470 ถึงทศวรรษ 2480 มีจำนวนอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจ่ายถึงกว่า 3 ล้านคนนั้น เป็นผลให้ราษฎรไม่ต้องเสียทรัพย์สินหรือไปทำงานอนาถาแทนในกรณีที่ไม่มีเงินพอจ่าย เท่ากับได้ธำรงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของราษฎรเอาไว้[9] ทั้งยังมีการออกกฎหมายเอื้อประโยชน์แก่ประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นชาวนา ชาวไร่ และชาวสวนอีกด้วย
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ที่ตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2477 ก็เป็นไปตามหลัก 6 ประการเช่นกัน เพื่อให้เป็นตลาดวิชา และสอนวิชาการเมือง ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การคนแรกของมหาวิทยาลัยได้อธิบายว่าวิชานี้ “แต่ก่อนมาเป็นวิชาหวงแหน เดี๋ยวนี้ตรงกันข้าม ยินดีเปิดสอนให้แพร่หลายที่สุด”[10] นอกจากนี้ ในเชิญสัญลักษณ์ หลัก 6 ประการยังได้ถูกถ่ายถอดออกมาเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะและสถาปัตยกรรมคณะราษฎรด้วย ซึ่งเริ่มปรากฏชัดเจนในการประกวดประณีตศิลปกรรมของงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2480[11]
สถานะทางประวัติศาสตร์
ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเมือง กล่าวได้ว่าแม้ประกาศคณะราษฎรเป็นเอกสารสำคัญที่ประกาศสถาปนาระบอบใหม่และหลักการใหม่ขึ้นมา แต่เนื่องจากเนื้อหาที่ไม่อาจลงตัวได้กับโครงเรื่องทางการเมืองแบบกษัตริย์นิยมประชาธิปไตยในปัจจุบัน ประกาศฉบับนี้จึงแทบไม่มีพลังทางการเมืองและเป็นที่รู้จักกันน้อยเสียยิ่งกว่าข้อความตัดตอนจากพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยเฉพาะพระราชหัตถเลขาสละราชย์นั้นได้ถูกใช้ในการเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิตนักศึกษาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญในเหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) ที่อยู่ภายใต้บรรยากาศทางภูมิปัญญากระแสกษัตริย์นิยมประชาธิปไตย ส่งผลให้กลายเป็นเอกสารสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยไป ทั้งที่โดยตัวเองแล้ว พระราชหัตถเลขานี้เป็นผลจากความล้มเหลวในการต่อรองขอเพิ่มพระราชอำนาจระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลคณะราษฎร เป้าหมายไม่ใช่การที่จะทรงรักษาหลักการของระบอบใหม่เอาไว้[12]
สถานะที่ลักลั่นของประกาศคณะราษฎรเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นภายใต้ปัญหาวิกฤตการเมืองปัจจุบันที่เริ่มขึ้นหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ดังที่มีรายงานข่าววันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ว่าประกาศคณะราษฎรที่เผยแพร่ในเว็บไซด์ของกลุ่มนิติราษฎรซึ่งเคยรณรงค์และเสนอให้แก้ไข “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112” ได้ถูกระงับการเผยแพร่ โดยไม่มีความชัดเจนว่าถูกระงับการเผยแพร่โดยบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่เว็บไซด์อื่นที่มีการเผยแพร่ประกาศฉบับนี้ไม่ได้ถูกระงับ เช่น เว็บไซด์ของสถาบันปรีดี พนมยงค์ [13] ยังผลให้ประกาศคณะราษฎรกลายเป็นประเด็นขึ้นมาในสังคมการเมืองและมีการเผยแพร่กันกว้างขวางยิ่งขึ้นในโลกออนไลน์
อย่างไรก็ดี สถานะลักลั่นของประกาศคณะราษฎรโดยเฉพาะในส่วนที่กล่าวถึงความไม่ชอบธรรมและโจมตีระบอบเก่าด้วยถ้อยคำรุนแรงจะเห็นได้ตั้งแต่ช่วงหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 แล้วไม่นาน ทั้งนี้เนื่องจากมีการประนีประนอมทางการเมืองระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งเป็นผลให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกษัตริย์กับสถาบันการเมืองหลังการปฏิวัติต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่กษัตริย์มีพระราชสถานะสูงขึ้นและหลักการที่ว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรได้ถูกแก้ไข ซ้ำประกาศคณะราษฎรเองยังถูกใช้โดยฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับการปฏิวัติด้วย กล่าวคือใช้เป็นเครื่องมือปลุกเร้าให้เกิดความไม่พอใจต่อคณะราษฎรที่โจมตีกษัตริย์และระบอบเก่าในวันปฏิวัติ เช่น ในราวเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2475 หนังสือพิมพ์ หญิงไทย ซึ่งเป็นฝ่ายกษัตริย์นิยมได้มีการเผยแพร่เนื้อหาของหนังสือชื่อ อยุธยานิก ของ ม.ร.ว.อักษรศิลป์ สิงหราที่มีการโจมตีนักการเมืองและสอดประกาศคณะราษฎรไปด้วย เป็นต้น[14]
บรรณานุกรม
“งงกันถ้วนหน้า!! ‘คำประกาศคณะราษฎร’ ถูกระงับการเผยแพร่ในเว็บไซต์ ‘นิติราษฎร์’.” มติชน [ออนไลน์]. 2555. แหล่งที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355421082&grpid=03&catid=no&subcatid=0000 [17 เมษายน 2559]
ชาตรี ประกิตนนทการ. “ศิลปะคณะราษฎร 2475-2490.” ใน ศิลปะ'-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์. หน้า 118-163. กรุงเทพฯ: มติชน, 2552.
ณัฐพล ใจจริง. “คว่ำปฏิวัติ โค่นคณะราษฎร: การก่อตัวของ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’.” ใน ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ': ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500). หน้า 3-63. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556. (ชุดกษัตริย์ศึกษา)
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. '2475. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2555. (ชุดสยามพากษ์)
ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ '1 [ออนไลน์]. 2559. แหล่งที่มา: http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=11&s_id=19&d_id=19 [15 เมษายน 2559]
ประดิษฐ์มนูธรรม, หลวง. “สองปีที่ล่วงมาแล้ว.” ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และเพิ่มพล โพธิ์เพิ่มทอง (บก.), ปรีดี พนมยงค์': ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์. หน้า 147-154. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529. (จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสรับอัฐิธาตุ ท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ 6-11 พฤษภาคม 2529)
ศราวุฒิ วิสาพรม. ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ '2475. กรุงเทพฯ: มติชน, 2559.
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และประจักษ์ ก้องกีรติ. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7: ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง.” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. หน้า 20-30. กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544.
Loos, Tamara. Subject Siam: Family, Law, and Colonial Modernity in Thailand. Chiang Mai: Silkworm Books, 2006.
Jory, Patrick. “Republicanism in Thai History.” In Maurizio Peleggi (ed.), A Sarong for Clio: Essays on the Intellectual and Cultural History of Thailand--Inspired by Craig Reynolds. pp. 97-117. Itaca, NY: Southeast Asia Program, Cornell University, 2015.
[1] ศราวุฒิ วิสาพรม, ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ '2475 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559), หน้า 35.
[2] ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 [ออนไลน์], 2559, แหล่งที่มา: http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=11&s_id=19&d_id=19 [15 เมษายน 2559]
[3] Patrick Jory, “Republicanism in Thai History,” In Maurizio Peleggi (ed.), A Sarong for Clio: Essays on the Intellectual and Cultural History of Thailand--Inspired by Craig Reynolds (Itaca, NY: Southeast Asia Program, Cornell University, 2015), pp. 98, 104-110.
[4] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. '2475 (พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553), หน้า 309.
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 307.
[6] Patrick Jory, “Republicanism in Thai History,” p. 110.
[7] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. '2475, หน้า 52-58.
[8] Tamara Loos, Subject Siam: Family, Law, and Colonial Modernity in Thailand (Chiang Mai: Silkworm Books, 2006), chapter 4, 7.
[9] ศราวุฒิ วิสาพรม, ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ '2475, หน้า 110-112.
[10] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, “สองปีที่ล่วงมาแล้ว,” ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และเพิ่มพล โพธิ์เพิ่มทอง (บก.), ปรีดี พนมยงค์': ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529), หน้า 153.
[11] ชาตรี ประกิตนนทการ, “ศิลปะคณะราษฎร 2475-2490,” ใน ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2552), หน้า 36-38.
[12] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และประจักษ์ ก้องกีรติ, “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7: ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง,” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544), หน้า 20-28.
[13] “งงกันถ้วนหน้า!! ‘คำประกาศคณะราษฎร’ ถูกระงับการเผยแพร่ในเว็บไซต์ ‘นิติราษฎร์’,” มติชน [ออนไลน์], 2555, แหล่งที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355421082&grpid=03&catid=no&subcatid=0000 [17 เมษายน 2559]
[14] ณัฐพล ใจจริง, “คว่ำปฏิวัติ โค่นคณะราษฎร: การก่อตัวของ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’,” ใน ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ': ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556), หน้า 11-16, 26.