เลียง ไชยกาล
ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
เลียง ไชยกาล : เจ้าของกระทู้ล้มรัฐบาล
“ด้วยข้าพเจ้าขอทำหน้าที่ควบคุมรัฐบาล โดยตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี”
เสียงนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้ง เริ่มกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2480 กระทู้ของนายเลียงครั้งนั้นกลายเป็นกระทู้ประวัติศาสตร์ เพราะมีแรงกดดันแรงถึงขนาดทำให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง นายเลียงนั้นเป็นผู้แทนราษฎรจากจังหวัดอุบลราชธานี รุ่นแรกจากการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทางอ้อม ครั้งแรกในปี 2476 ครั้งนั้นผู้แทนฯจากเมืองอุบลฯมีด้วยกัน 3 คน คือ นายเลียง ไชยกาล นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และนายเนย สุจิมา
นายเลียงเป็นคนอุบล มีบิดาชื่อสาย มารดาชื่อสำเนียง นามสกุลไชยกาล และมารดาของท่านนี่เองมาจากตระกูล "ณ อุบล" ดังนั้นจึงเป็นหลานเจ้าเมืองอุบล นายเลียง เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2445 ชีวิตครอบครัว มีภรรยาชื่ออรพิน ไชยกาล สตรีคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นผู้แทนฯ และมาจากจังหวัดเดียวกัน ทางด้านการศึกษาของเลียง ไชยกาล เริ่มขึ้นที่เมืองอุบลจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนประจำจังหวัดอุบลราชธานี แล้วจึงเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ มาเรียนวิชาครูจนจบได้ประกาศนียบัตร ประโยคประถม ที่โรงเรียนฝึกหัดครู วัดบวรนิเวศ จังหวัดพระนคร เมื่อปี 2464 และจบการศึกษาจากมหาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ดังที่ ปกครอง ไชยกาล บุตรชายคนโตของ นายเลียง ไชยกาล ระบุว่า
“พอเป็นผู้แทนแล้ว พ่อก็เข้าเรียนธรรมศาสตร์ ใช้เวลาเรียนแค่สองปีเศษก็ได้เป็นบัณฑิต ทำสถิติเรียนเร็วที่สุด”
หลังจากเข้าสู่วงการเมืองเป็นผู้แทนราษฎรได้ประมาณ 4 ปี นายเลียง ไชยกาล ได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีในเรื่องที่มีการขายที่ดินของกรมพระคลังข้างที่ให้แก่บุคคลในรัฐบาลในราคาที่ต่ำมาก และการซื้อขายก็ทำกันเงียบๆ แต่รวดเร็ว จนทำให้เกิดความสงสัย ดังที่นายเลียงได้ตั้งคำถาม
“เวลานี้เสียงโจษจันว่าในกรมพระคลังข้างที่เกิดทุจริตกันมาก น่าจะตั้งกรรมการคือคนภายนอกจริงๆ ไม่เกี่ยวแก่ส่วนได้เสีย ชำระสะสางถึงเรื่องทุจริตเกี่ยวแก่ที่ดินได้หรือไม่”
ในการอภิปราย นายเลียงได้กล่าวถึงรายชื่อและรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินแปลงต่างๆที่คนในรัฐบาลระดับรัฐมนตรีบางนาย รวมทั้งผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองบางคนด้วยว่าเป็นผู้ซื้อ เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีเองก็ตอบด้วยความยากลำบาก แต่ท่านก็ยอมรับว่ามีการซื้อขายที่ดินดังกล่าวจริง เรื่องนี้ทำให้ นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร ยื่นเรื่องทันทีขอเปิดอภิปรายทั่วไปว่าด้วยการจัดระเบียบพระคลังข้างที่ โดยนายกฯพระยาพหลฯก็ยอมให้อภิปรายได้ต่อไป ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนฯท่านอื่น ได้มีโอกาสอภิปรายด้วยอีกหลายคน นับเป็นการอภิปรายเล่นงานรัฐบาลของพระยาพหลฯที่ออกจะรุนแรง ฝ่ายรัฐบาลนั้นรัฐมนตรีอย่างหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อการฯคนสำคัญก็ได้พยายามลุกขึ้นอภิปรายช่วยชี้แจง การอภิปรายได้ยืดยาวต่อเนื่องไปจนค่ำ และเมื่อสิ้นสุดการอภิปรายในวันนั้น พระยาพหลฯก็ได้ขอลาออกจากนายกรัฐมนตรี ในคืนนั้น และไม่เพียงแต่เท่านั้น ในวันถัดมาคณะผู้สำเร็จราชการก็ได้ลาออกด้วยทั้งคณะ
การตั้งกระทู้ของนายเลียง ไชยกาล ที่ทำให้นายกฯลาออกนั้น ต่อมาสภาฯก็ได้มีมติขอร้องให้พระยาพหลฯกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และพระยาพหลฯก็กลับมาเป็นนายกอีกครั้ง แต่ผลของการตั้งกระทู้ดัง มีข้อมูลดี จนทำให้คนในสภาฯกระเทือนด้วย ทำให้นายเลียงมีเรื่องราวดังกระฉ่อนเมืองอีกครั้ง คราวนี้นายเลียงถูกสมาชิกสภาฯประเภทที่ 2 หลายคนอุ้มท่านไปโยนน้ำ
เหตุการณ์โยนน้ำเกิดขึ้นหลังวันตั้งกระทู้ประมาณสองสัปดาห์ ในตอนบ่ายของวันประชุมสภาฯ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2480 ขณะนั้นเป็นเวลาที่พักการประชุม นายเลียง ไชยกาล กำลังนั่งดื่มสบายๆอยู่ในสโมสรรัฐสภา ก็มีกลุ่มสมาชิกสภาฯประเภทที่ 2 จำนวน 3 คน ที่รวมทั้งผู้ที่มีชื่อว่าเป็นคนซื้อที่ดินของพระคลังข้างที่ด้วยได้กรูกันเข้าไปยกเก้าอี้และตัวนายเลียง โดยจับตัวไม่ให้นายเลียงดิ้นหลุดได้ นำออกไปจากสโมสรรัฐสภา และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 อีกบางคนถือถาดและเครื่องโลหะเคาะเสียงดังให้เป็นจังหวะ เดินตามกันออกมาเป็นกลุ่มด้วย นายเลียงนั้นก็คงคาดการณ์ไม่ได้ว่าเพื่อนสมาชิกสภาฯผู้ทรงเกียรติจะทำอะไร เรื่องที่คนทั้งหลายคาดไม่ถึงคือคนที่เป็นใหญ่ในวันนั้นกลุ่มเล็กกลุ่มนี้ จะนำตัวนายเลียง ไชยกาล และเก้าอี้โยนลงในสระน้ำตื้นๆ หน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน จนตัวนายเลียงเปียกน้ำและเปื้อนโคลน ขณะเดียวกันนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ที่มาจาการเลือกตั้งหลายคน ซึ่งเห็นเหตุการณ์มาตั้งแต่ต้น เห็นเขาอุ้มเพื่อนของตนออกมาจากสโมสรรัฐสภาอย่างเอิกเกริกเช่นนั้นก็วิ่งตามมาดูด้วย โดยเฉพาะผู้แทนราษฎรจากจังหวัดอุบลราชธานีเหมือนกัน คือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ คนกลุ่มนี้พากันวิ่งลงไปช่วยพานายเลียง ขึ้นมาจากสระน้ำ ดังนั้นวันนั้นจึงมีสมาชิกสภาฯเปียกน้ำเปื้อนโคลนมากบ้างน้อยบ้างกันเป็นเพื่อนนายเลียง ไชยกาล กันหลายคน เรื่อง “โยนน้ำ” นายเลียงจึงเป็นเรื่องดังในเวลานั้น
ในปี 2480 เมื่อครบวาระการเป็นผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก จึงมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเป็นครั้งที่ 2 แต่เป็นการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งนายเลียง ไชยกาล ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งและคนเมืองอุบลก็เลือกนายเลียงกลับมาเป็นผู้แทนอีก นายเลียงนั้นต่อมาลงเลือกตั้งก็ได้รับเลือกตั้งทุกครั้งจนได้ชื่อว่าเป็น “ผู้แทนตลอดกาล”
เมื่อเลือกตั้งในปี 2480 เสร็จเรียบร้อย พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่คราวนี้รัฐบาลของท่านอยู่ได้ไม่นาน เพราะมีเหตุการณ์ในสภาฯที่รัฐบาลแพ้มติ จนพระยาพหลฯยุบสภาฯและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2481ครั้งนี้สภาฯได้เลือกนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งเป็นนายทหารผู้มีอำนาจเป็นที่เกรงใจของสภาฯมาก ดังนั้นในช่วงระยะเวลาที่นายพันเอกหลวงพิบูลฯ ที่ต่อมาเป็นจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงเป็นช่วงเวลาที่สภาฯค่อนข้างจะสงบ ทั้งรัฐบาลก็ยังดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญขยายเวลาในบทเฉพาะกาล และต่ออายุสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยอ้างเหตุจากสถานการณ์สงคราม จึงยิ่งทำให้สมาชิกสภาฯค่อนข้างจะเกรงใจนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม
ต่อมาเมื่อสงครามใกล้จะสิ้นสุด รัฐบาลของหลวงพิบูลฯจึงชักจะเผชิญกับการท้าทาย และในปี 2487 รัฐบาลแพ้มติในสภาฯสองครั้งติดต่อกัน จึงได้ขอลาออกไป และมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือนายควง อภัยวงศ์ ตามด้วยรัฐบาลของนายทวี บุณยเกตุ รัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และการยุบสภาที่นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489 ซึ่งนายเลียง ไชยกาล ก็ได้รับเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ นายควง ผู้ซึ่งลงสมัครและได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรี และนายเลียง ก็ได้ร่วมรัฐบาลเป็นครั้งแรกเป็นรัฐมนตรีลอย การเมืองทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งครั้งนี้มีลักษณะของการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ตลอดจนเป็นพรรคการเมืองมากขี้นกว่าเดิม เช่นการตั้งพรรคก้าวหน้า พรรคแนวรัฐธรรมนูญ และพรรคสหชีพ เป็นต้น และเมื่อรัฐบาลของนายควง ที่นายเลียงร่วมอยู่ด้วย แพ้มติในสภาฯและลาออก ทำให้ผู้ที่สนับสนุนนายควงไปหารือกันตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเตรียมต่อสู้ทางการเมือง นายเลียงเป็นสมาชิกสภาฯคนหนึ่งที่ได้ร่วมเป็นผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ที่น่าสังเกตก็คือส่วนมากของผู้แทนราษฎร ที่มาจากจังหวัดในภาคอีสานนั้นมักจะไปอยู่ในพรรคสหชีพและสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ดังเช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรเมืองเดียวกันและเป็นเพื่อนกันมา ก็ไปเป็นเลขาธิการพรรคสหชีพ
นายเลียงพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีมาเป็นฝ่ายค้านตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2489 นั่นก็คือเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ตอนที่นายปรีดีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นที่จริงมีสมาชิกสภาฯออกเสียงค้านอยู่เพียง 3 คนเท่านั้น ครั้นมีกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัฐบาลในขณะนั้นจึงกระทบกระเทือน และมีเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องถึงนายเลียงด้วย โดยมีผู้ไปตะโกนใส่ร้ายนายกฯ ปรีดี พนมยงค์ ในโรงภาพยนตร์ ผู้กระทำการครั้งนั้นโยงเรื่องไปยังนายเลียงและพรรค จนมีการขอโทษกับนายกฯ แต่มีบันทึกของนายสวัสดิ์ คำประกอบ อดีตรัฐมนตรี ที่เป็นนักการเมืองเก่าและเคยร่วมพรรคประชาชนมากับนายเลียง เล่าเอาไว้ว่า
“คุณเลียงคงจะปราศรัยในที่ต่างๆรุนแรงเกินไป จึงในที่สุดทางฝ่ายรัฐบาลได้ให้ตำรวจจับกุมไปคุมขังไว้ในเรือนจำลหุโทษเสีย '37 วัน”
รัฐบาลของนายปรีดี อยู่ต่อมาไม่นานในเดือนสิงหาคม ปี 2489 นายปรีดีก็ขอลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และสภาฯก็ได้เลือกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่ฝ่ายค้านและฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลนอกสภาฯก็กดดันรัฐบาล ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 รัฐบาลของหลวงธำรงฯก็ถูกคณะรัฐประหารที่นำโดยพลโทผิน ชุณหะวัน ยึดอำนาจ ล้มรัฐบาล และยกเลิกรัฐธรรมนูญ กับนำนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาล แต่นายเลียงไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลด้วย รัฐบาลได้จัดการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ ในการเลือกตั้งใหม่นายเลียงก็ลงเลือกตั้งอีกและชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎรเข้าสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตามรัฐบาลของนายควงก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะคณะรัฐประหารได้ขอให้รัฐบาลลาออก
ครั้งนี้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่จำเป็นต้องได้เสียงหนุนจากสมาชิกสภาฯซึ่งนายเลียงก็ช่วยได้ดังที่ เสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ เขียนเล่าว่า
“คุณเลียง ไชยกาล ได้โน้มน้าวจิตใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ลงชื่อ '‘สนับสนุนจอมพล ป.ตลอดกาล’ ได้เป็นจำนวน 66 คน”
นายเลียงจึงได้ร่วมรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามลำดับจนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494จึงพ้นตำแหน่งเนื่องจากคณะทหารได้ยึดอำนาจ แต่นายเลียงกลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกครั้งและเป็นครั้งสุดท้ายในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ที่ถูกประชาชนประท้วงว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก แต่รัฐบาลนี้ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำกำลังเข้ายึดอำนาจ ล้มรัฐบาล ต่อมามีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ธันวาคม ปีเดียวกัน นายเลียงก็ชนะเลือกตั้งเข้าสภาฯอีก
ครั้นมีการยึดอำนาจอีกครั้งโดยจอมพล สฤษดิ์ ในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501 นายเลียงก็พ้นจากการเป็นผู้แทนราษฎร และก็ไม่ได้เข้ามาสู่วงการเมืองอีกจนเสียชีวิตในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2529