การเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา และบาหลี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 12:51, 19 พฤษภาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง :ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์

หลังจากที่ได้เสด็จพระราชดำเนินในประเทศ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ มณฑลปัตตานี และมณฑลภูเก็ตใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๑ แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา และบาหลีระหว่างวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ซึ่งเป็นการเสด็จฯ นอกพระราชอาณาจักรครั้งแรกในรัชกาล โดยแต่เดิมกำหนดว่าจะเป็นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ แต่ต้องเลื่อนไปเพราะสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดชเสด็จทิวงคต [1]

เหตุผลในการเสด็จพระราชดำเนิน

การเยือนต่างแดนอย่างเป็นทางการเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีเป็นธรรมเนียมสากลสำหรับประมุขของรัฐเอกราชทั้งหลาย ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงมีพระราชดำริจะทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันสำคัญนี้ในโอกาสแรกที่เป็นไปได้ เป็นที่น่าสังเกตว่าทรงเริ่มด้วยการเสด็จฯ เยือนดินแดนอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนอื่น เพราะเป็นดินแดน “เพื่อนบ้าน” ของสยามประเทศที่มีความสัมพันธ์กันสืบมาแต่โบราณ ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในดินแดนเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบถึงสยามประเทศ ในขณะนั้น สิงคโปร์เป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ ส่วนชวาและบาหลี (ซึ่งเป็นส่วนของประเทศอินโดนิเซีย หนึ่งในประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติอาเซียนในปัจจุบัน) เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอาณานิคมอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เกาะชวา การเสด็จฯ เน้นหนักอยู่ที่เกาะนี้ โดยทรงแสดงพระราชปรารภว่านอกจากการเจริญพระราชไมตรีตามแบบแผนข้างต้นแล้ว ยังต้องพระราชประสงค์จะทรงศึกษาการบริหารจัดการปกครองเกาะชวา และทอดพระเนตรภูมิสถานบ้านเมือง[2] ซึ่งย่อมรวมถึงความเจริญก้าวหน้าต่างๆ ด้วย แต่ในขณะเดียวกัน เป็นที่ชัดเจนจากการศึกษาพระราชกรณียกิจที่ทรงประกอบว่า ได้ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการเสด็จฯ เยี่ยมเยือนถึงราชสำนักของเจ้าพื้นเมืองผู้ซึ่งแม้จะไม่ได้มีอำนาจทางการปกครองแล้ว ก็ยังทรงอิทธิพลเชิงวัฒนธรรมต่อชาวพื้นเมือง สงวนรักษาราชประเพณีและศิลปการแสดงทั้งดนตรีและนาฎศิลป์ไว้ในราชสำนัก นับเป็นโอกาสที่จะได้ทรงศึกษาเปรียบเทียบกับของสยาม ทั้งยังเป็นการสานต่อความสัมพันธ์ที่มีมาแต่กาลก่อน [3] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถ ผู้ได้เสด็จฯ ชวามาแล้วถึง ๒ ครั้ง ทรงปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ในกรณีการเสด็จประพาสอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส (เวียดนาม และกัมพูชา) ในพ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถไม่เคยเสด็จฯ ด้วย หลังจากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินเยือนดินแดนที่ไกลออกไป คือญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ และประเทศต่างๆ ๙ ประเทศในทวีปยุโรปใน พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗

ดังนั้น การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้จึงมีทั้งส่วนที่เป็นทางการและส่วนที่ไม่เป็นทางการ และมีระยะเวลานานกว่า ๒ เดือน

ระยะทางเสด็จพระราชดำเนิน

ข้อสังเกตบางประการ

๑. ฝ่ายเจ้าภาพทั้งอังกฤษและเนเธอร์แลนด์จัดการรับเสด็จฯ อย่างสมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ประมุขของประเทศเอกราช ที่สิงคโปร์ เซอร์ฮิว คลิฟฟอร์ด (Sir Hugh Clifford) ผู้สำเร็จราชการแห่ง Straits Settlements ขึ้นมารับเสด็จฯ บนเรือพระที่นั่ง ถวายพระราชโทรเลขของพระเจ้าจอร์จที่ ๕ แห่งอังกฤษ มีกองทหารเกีรติยศถวายทรงตรวจ และจัดที่ประทับถวายที่จวนผู้สำเร็จราชการ จัดการเลี้ยงใหญ่ (State Banquet) อีกทั้งการสวนสนาม ส่วนที่ปัตตาเวีย (จาการ์ตาในปัจจุบัน) ผู้สำเร็จราชการของพระราชินีวิลเฮมมินาแห่งเนเธอร์แลนด์เฝ้าฯ บนเรือพระที่นั่งเช่นกัน มีกองทหารเกียรติยศถวายทรงตรวจ ยิงสลุตถวายคำนับ ๒๑ นัด จัดที่ประทับถวายที่วังโรสไวค มีการเลี้ยงใหญ่ถวาย มีการสวนสนามเช่นกัน นอกจากนั้น ในทั้งสองดินแดน มีการถวายความปลอดภัยและความสะดวกในการเสด็จพระราชดำเนินทุกแห่ง แม้เมื่อไม่เป็นทางการ [4]

๒. ที่สิงคโปร์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พระองค์เดียวไปยังสโมสรกรมทหารเวลช (Welsh Regiment) เสวยพระกระยาหารกลางวันกับนายทหารทั้งหลาย มีพระราชดำรัสสดเกี่ยวกับเมื่อทรงเป็นนักเรียนนายร้อยและนายทหารอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบมากถึงกับจะยกย่องโดยการถวายหาม แต่ผู้บังคับการห้ามไว้ด้วยเห็นว่าไม่บังควร [5]

๓. ที่สิงคโปร์ ทรงใช้การกีฬาเชื่อมสัมพันธ์ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเทนนิสคู่กับเซอร์ชิลล์แข่งขันกับข้าราชการ ๒ คน ฝ่ายพระองค์ชนะ ๒ เซต ทรงไว้ว่า “นับว่าพอไม่เสียพระเกียรติยศ” ส่วนสมเด็จพระบรมราชินีทรงกอล์ฟกับเซอร์ฮิวแต่ทรงแพ้ ๒ หลุม แม้ว่าจะทรง “เล่นดีพอใช้” [6] นอกจากนั้นในงานสโมสรสันนิบาต (Garden Party) ยังได้ทอดพระเนตรการแข่งขันเทนนิสหน้าพระที่นั่ง และพระราชทานรางวัลแก่ผู้แข่งขันด้วย [7]

๔. ในช่วงที่เสด็จฯ จากสิงคโปร์สู่เกาะชวาที่ช่องลิมา ได้มีการจัดพิธีข้ามเส้นศูนย์สูตร (Equator) ตามประเพณีของชาวเรือบนดาดฟ้าเรือแต่เช้า พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ผู้บังคับการเรือพระที่นั่ง แต่งตัวเป็นเทพเจ้าเนปจูน (Neptune) ถือสามง่าม มีองครักษ์ไม่สวมเสื้อแต่ติดตราพระราชทาน แล้วผสมผสานทำพิธีแบบพราหมณ์ มีพระเจ้าวรวงศ์เธอฯ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ทรงอ่านฉันท์ซึ่งพระยาราชวังสันเป็นผู้แต่ง โดยแปลงมาจาก “วิวาห์พระสมุทร” เข้าทำนองเป็นโองการแช่น้ำในการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เมื่อทุกคนได้ลงน้ำในสระยางแล้ว เทพเจ้าเนปจูนอนุญาตให้เรือข้ามเส้นศูนย์สูตรได้ พิธีซึ่งผสมผสานประเพณี แต่เป็นที่สนุกสนามและเป็นกันเองนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงถ่ายภาพยนตร์ไว้ด้วย [8]

๕. ในการทรงสานและเชื่อมสัมพันธ์กับเจ้าผู้ครองนครชาวพื้นเมืองนั้นได้เสด็จฯ ยังวังของซูซูฮูนัน (Susuhunan) เจ้าผู้ครองนครสุระการ์ตา (Surakarta) หรือโซโล (Solo) และของเจ้าชายวังหน้าหลายครั้ง มีการจัดการรับเสด็จฯ อย่างเอิกเกริก และซูซูฮูนันทรงเป็นกันเองกับพระองค์ ทูลว่าปิติยินดีที่ได้อุตส่าห์เสด็จพระราชดำเนินดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เป็นประจักษ์พยานว่าทรงมีพระราชไมตรีอย่างดี[9] นอกจากนั้นมีการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมืองประเภทต่างๆ ถวายทอดพระเนตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงอธิบายไว้อย่างละเอียดลออในพระราชหัตถเลขา แสดงว่าสนพระราชหฤทัยยิ่ง [10] ส่วนที่ยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) ศรีสุลต่านทรงจัดการรับเสด็จฯ ที่วังเช่นกันแต่เป็นแบบฝรั่งกว่า มีการจัดการแสดงนาฎศิลป์และดนตรีถวายทอดพระเนตรเช่นกัน แต่ในวาระนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประชวรพระวาโย จึงไม่ได้ทรงอธิบายไว้มาก[11] สำหรับที่เกาะบาหลี ได้เสด็จฯ ไปยังเคหะสถานของอะนักอะกุงแห่งมณฑลกิอันจาร์ ซึ่งปิติยินดีเป็นอันมากที่เสด็จฯ ในพระราชสถานะพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์แรก อีกทั้งได้เสด็จฯ ยังเคหะสถานของอะนักอะกุงแห่งมณฑลการังเกษมที่เมืองเดนปาสาร์ เช่นกัน

๖. ในวันที่ ๖ สิงหาคม เกือบจะทันทีที่เสด็จฯ ถึงเกาะชวา ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีว่าการต่างประเทศ (ผู้โดยเสด็จฯ ใน “กระบวนพิเศษ”) ไปฟังสภาราษฎร (Volksraad-People’s Council) ปรึกษาหารือกัน แล้วทำรายงานทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งได้ทรงทำในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓ สภาฯ นี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ได้อนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๘ (พ.ศ. ๒๔๖๑) เป็นส่วนของการปฏิรูปการปกครองเมื่อขบวนการชาตินิยมที่ประสงค์เอกราชมีความคึกคักขึ้น โดยมีสมาชิกประเภทแต่งตั้งและประเภทเลือกตั้งผสมกัน และใน ค.ศ. ๑๙๒๙ (พ.ศ. ๒๔๗๒) ซึ่งเป็นปีที่เสด็จฯ ได้มีชาวพื้นเมืองเป็นสมาชิกมากกว่ากึ่งหนึ่ง ทั้งนี้สภาฯ นี้มีสิทธิ์ที่จะซักถามและออกความเห็นในประเด็นนโยบายและการบริหารต่างๆ (right of interpellation) แต่ไม่มีอำนาจในการออกเสียง (vote of confidence) ในรัฐบาล หรือในการตั้งคณะกรรมาธิการ นับว่าคล้ายคลึงกับสภากรรมการองคมนตรีซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นในสยามเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๗๐ การที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าไตรทศฯ เสด็จไปทอดพระเนตรสภาราษฎรนี้ จึงน่าจะเป็นเพื่อการเปรียบเทียบวิธีดำเนินการประชุม และเป็นส่วนของการสนองพระราชประสงค์ของการเสด็จพระราชดำเนินที่ว่า เพื่อศึกษาการบริหารจัดการปกครองเกาะชวา

๗. ความสนพระราชหฤทัยในโบราณสถานและโบราณวัตถุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางศาสนาปรากฏชัดในพระราชกรณียกิจหลายกรณี ที่สำคัญคือจันดีเปลาชานซึ่งเป็นโบราณสถานทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และเทวสถานปรัมบานันในศาสนาพราหมณ์ มีลักษณะเป็นเขาไกรลาส มีระเบียงลายสลักเรื่องรามายณะดำเนินเรื่องคล้ายรามเกียรติ์ของไทยมาก เทวสถานนี้กำลังได้รับการปฏิสังขรณ์ เป็นต้น[12] อีกทั้งจันดีเมนดุต จันดีปาวัน และโบโรบูดูร (บุโรพุทโธ) ซึ่งเป็นโบราณสถานในพระพุทธศาสนามาแต่เดิม สร้างขึ้นระหว่าง ๑,๑๐๐-๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว สำหรับบุโรพุทโธนั้นเป็นรูปเขาสุเมรุ มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในเจดีย์องค์เล็กๆ แลเห็นได้ผ่านช่องตั้งอยู่จำนวนมาก ต่อมาได้ทรุดโทรมลงเมื่อศาสนาอิสลามแผ่เข้ามา อีกทั้งจากเหตุแผ่นดินไหวจึงหักพังลงมาแต่ได้รับการซ่อมแซมขึ้นมาได้มากแล้ว และได้เสด็จฯ ขึ้นบันไดชันไปถึงชั้นยอด[13] ทรงถ่ายภาพนิ่งและภาพยนตร์ศิลปกรรมไว้อย่างละเอียดเป็นมรดกตกทอดมาถึงทุกวันนี้ แสดงถึงความสนพระราชหฤทัยยิ่ง

๘. การทอดพระเนตรภูมิสถานบ้านเมือง ไม่ได้มีแต่เฉพาะโบราณสถานหากแต่รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองและในชนบท รวมถึงตลาด พ่อค้าหาบเร่และการทำนาบนขั้นบันไดและการทำนาเกลือ เป็นต้น อีกทั้งความเจริญก้าวหน้าต่างๆ เช่นโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าพลังน้ำ บ่อน้ำมัน ไร่กาแฟ สวนยาง โรงบ่มใบชา สวนกุหลาบ สถานผสมพันธ์ปลา การทำยาควินินจากต้นชิงโคนา สถานพยาบาลและโรงเรียน โรงงานกองอากาศยาน เรือดำน้ำ และอู่ต่อเรือ ในส่วนของภูมิประเทศ เป็นที่น่าสังเกตว่าทรงตรากตรำพระวรกายเสด็จฯ ทอดพระเนตรภูเขาไฟถึง ๓ แห่ง โดยได้ทรงถ่ายภาพยนตร์ไว้ด้วย ทั้งนี้นอกเหนือไปจากการทรงสดับดนตรีและทอดพระเนตรเอกสารวรรณคดีต่างๆ เช่นอิเหนา และทรงตั้งข้อสังเกตไว้เป็นอันมากในพระราชหัตถเลขาตอนต่างๆ

๙. การทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากหลายเช่นนี้ได้ส่งผลให้ทรงพระประชวรที่เมืองโวโนโซโบ (Wonosobo) อยู่ ๓-๔ วัน ด้วยไข้มาลาเรีย (malaria) และหลอดลมอักเสบ (bronchitis) แต่ทั้งนี้ ได้ทรงพยายามหาเวลาปลีกพระองค์ไปทรงพระสำราญเป็นการส่วนพระองค์อยู่ได้บ้าง เช่นทอดพระเนตรสวนพฤกษศาสตร์ที่บอยเตนซอร์ก (ซึ่งแปลว่าไกลกังวล) ใกล้ที่ประทับ ทรงรถพระที่นั่งรอบเมืองและทรงจับจ่ายซื้อของครั้งสองครั้ง เสด็จฯ ไปสตูดิโอฉายพระรูป ทอดพระเนตรภาพยนตร์ที่เมืองบันดุงอย่างไม่ทรงแสดงพระองค์ แต่ทางโรงภาพยนตร์ก็ทราบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย และคุณหญิงเนื่อง บุรีนวราษฐ์ นางสนองพระโอษฐ์ไปประทับและนั่ง “เป็นพระองค์” แทน ทรงไว้ในพระราชหัตถเลขาว่า“ดีกว่าโรงภาพยนตร์กรุงเทพฯ มากและสะอาดกว่ามาก โรงหนังของเราเมื่อไหร่จะมีดีๆ เสียบ้างก็ไม่ทราบ เงินก็ได้เป็นกอง เดี่ยวนี้ออกจะขายหน้าเต็มที ไม่สมควรกับเมืองหลวงของประเทศที่ “ซิวิไลส์” เลย”[14] เป็นเหตุให้เมื่อเสด็จฯ กลับมา ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงขึ้น

๑๐. พระราชกรณียกิจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจนับเป็นการกึ่งส่วนพระองค์ ก็คือการเสด็จฯ ยังบ้านนายบีกวัตกุ่น ชาวจีนเศรษฐีน้ำตาล ตำบลสาลาติกา (Salatiga) เพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวันเป็นอาหารจีน และ ทอดพระเนตรการแสดงต่างๆ ซึ่งทรงถ่ายภาพยนตร์สีไว้ด้วย นายบีกวัตกุ่น หรือเบฮวดกูน ผู้นี้เคยรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงนับได้ว่าเป็นการทรงสานต่อพระราชไมตรีกับพ่อค้าชาวจีนในท้องถิ่น [15]

๑๑. มีเยาวราชวงศ์ในพระราชอุปการะ ๒ องค์ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต และหม่อมเจ้าสีดาดำรวง สวัสดิวัตน์ (ชุมพลในภายหลัง) โดยเสด็จฯ ด้วย ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จฯ ยังสถานที่ต่างๆ ตามความเหมาะสม เป็นการเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่และรู้จักปฏิบัติตนกับชาวต่างประเทศ ส่วนข้าราชบริพารอื่นๆ ที่โดยเสด็จฯ นั้นได้ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในทุกข์สุข โปรดเกล้าฯ ให้ฝ่ายในและสตรีพักไม่ต้องโดยเสด็จฯ ได้หลังจากที่ได้ตรากตรำ[16] รวมทั้งทรงหยอกล้อผู้ที่ยังไม่คุ้นชิน เช่นคุณกอบแก้ว วิเศษกุล นางพระกำนัลให้ผ่อนคลาย [17] สำหรับข้าราชบริพารที่กรุงเทพฯ ได้ทรงวิทยุโทรศัพท์ทางไกลทรงสอบถามทุกข์สุข ซึ่งเป็นการทรงทดลองใช้เทคโนโลยี่ซึ่งสยามกำลังพัฒนาขึ้นเช่นกัน [18]

ความสืบเนื่องจากการเสด็จพระราชดำเนิน

จากข้อสังเกตที่ได้ตั้งไว้นี้ เห็นได้ว่าการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้เป็นการสานพระราชไมตรีกับทั้งผู้ปกครองอาณานิคม เจ้านายและผู้ครองเมืองชาวพื้นเมือง ตลอดจนข้าราชการ พ่อค้าและประชาชน ซึ่งได้สร้างความเข้าใจอันดี ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม สะท้อนให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเก้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเป็นหนึ่งในบุคคลแรกๆ ที่ได้กรุยทางความสัมพันธ์กับดินแดนเพื่อนบ้านสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) ในปัจจุบัน

กล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไป ในแง่ของวิธีการปกครองได้ทรงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติของฝรั่งเจ้าอาณานิคมต่อเจ้าผู้ครองนครชาวพื้นเมืองในเมืองต่างๆ ไว้ในเชิงเปรียบเทียบ ทั้งต่อมาเมื่อเสด็จฯ เยือนอินโดจีนของฝรั่งเศสก็ได้ทรงตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบกับที่ชวาไว้ด้วย ที่สำคัญได้โปรดเกล้าฯ ให้หาข้อมูลและศึกษาการปฏิบัติจริงของสภาราษฎรที่ปัตตาเวียเพื่อเปรียบเทียบกับของสภากรรมการองคมนตรีในสยาม ดังกล่าวแล้ว

ในแง่ของความเจริญทางการเกษตรและอุตสาหกรรม ได้ทอดพระเนตรกิจการต่างๆ มากหลาย ซึ่งน่าจะเป็นเพื่อการปรับใช้ในสยาม หากแต่การศึกษาเพียงเท่าที่ทำได้ในระดับพื้นฐานในที่นี้ ยังระบุถึงความสืบเนื่องโดยละเอียดเป็นรูปธรรมไม่ได้ เว้นในกรณีของโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง และอาจจะเป็นกรณีของการวางโครงการสร้างท่าเรือที่คลองเตยด้วย

ในแง่ของศิลปวัฒนธรรม เห็นได้ชัดเจนว่าได้ทรงบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและภาพยนตร์ นับว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สังคมและโบราณคดีซึ่งตกทอดมาให้ได้ศึกษากันในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังทรงได้เครื่องดนตรีวงกัมมะลัง (gamelan) ๒ วงจากชวา และตุ๊กตาหินจากบาหลีมาด้วย โดยอย่างแรกปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อย่างหลังประดับอยู่ในสวนวังไกลกังวล หัวหิน

ดังนั้น การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้จึงเป็นเรื่องราวที่ควรค่าแก่การศึกษาให้ลึกซึ้งลงไปโดยมีการเปรียบเทียบเอกสารภาษาไทยกับของต่างประเทศ

อ้างอิง

  1. ดินาร์ บุญธรรม. (๒๕๕๐). พระราชกรณียกิจ: การแสดงบทบาทในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีแบบสากล.เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์เขียนขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำบทนิทรรศการถาวรสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว , หน้า ๑๘.
  2. ดินาร์ บุญธรรม. (๒๕๕๐). พระราชกรณียกิจ: การแสดงบทบาทในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีแบบสากล. เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์เขียนขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำบทนิทรรศการถาวรสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว , หน้า ๑๖-๑๗.
  3. ดินาร์ บุญธรรม. (๒๕๕๐). พระราชกรณียกิจ: การแสดงบทบาทในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีแบบสากล. เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์เขียนขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำบทนิทรรศการถาวรสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว , หน้า ๑๖-๑๗.
  4. ดำรัสดำรงค์ เทวกุล, หม่อมเจ้า. (๒๕๐๔). จดหมายเหตุระยะทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา และบาหลี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาไพชยนต์เทพ (ทองเจือ ทองเจือ) ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ๒๒ เมษายน. พระนคร: โรงพิมพ์เรืองธรรม.
  5. ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๙๒). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาฯ ทรงพิมพ์แจกในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ. หน้า ๑๔-๑๕.
  6. ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๙๒). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาฯ ทรงพิมพ์แจกในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ. หน้า ๘-๙.
  7. ดำรัสดำรงค์ เทวกุล, หม่อมเจ้า. (๒๕๐๔). จดหมายเหตุระยะทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา และบาหลี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาไพชยนต์เทพ (ทองเจือ ทองเจือ) ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ๒๒ เมษายน. พระนคร: โรงพิมพ์เรืองธรรม. หน้า ๑๒.
  8. ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๙๒). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาฯ ทรงพิมพ์แจกในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ. หน้า ๑๙-๒๐.
  9. ดำรัสดำรงค์ เทวกุล, หม่อมเจ้า. (๒๕๐๔). จดหมายเหตุระยะทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา และบาหลี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาไพชยนต์เทพ (ทองเจือ ทองเจือ) ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ๒๒ เมษายน. พระนคร: โรงพิมพ์เรืองธรรม. หน้า ๖๕-๖๐.
  10. ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๙๒). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาฯ ทรงพิมพ์แจกในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ. หน้า ๙๗-๑๐๔.
  11. ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๙๒). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาฯ ทรงพิมพ์แจกในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ. หน้า ๑๔๔-๑๕๐.
  12. ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๙๒). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาฯ ทรงพิมพ์แจกในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ. หน้า ๑๓๔-๑๓๕.
  13. ดำรัสดำรงค์ เทวกุล, หม่อมเจ้า. (๒๕๐๔). จดหมายเหตุระยะทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา และบาหลี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาไพชยนต์เทพ (ทองเจือ ทองเจือ) ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ๒๒ เมษายน. พระนคร: โรงพิมพ์เรืองธรรม. หน้า ๗๙-๘๑.
  14. ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๙๒). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาฯ ทรงพิมพ์แจกในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ. หน้า ๖๕-๖๖.
  15. ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๙๒). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาฯ ทรงพิมพ์แจกในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ. หน้า ๘๑-๘๓.
  16. ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๙๒). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาฯ ทรงพิมพ์แจกในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่ กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ. หน้า ๔๗.
  17. ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๙๒). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาฯ ทรงพิมพ์แจกในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่ กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ. หน้า ๔๗.
  18. ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๙๒). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาฯ ทรงพิมพ์แจกในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ. หน้า ๖๖-๖๗.

บรรณานุกรม

กอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา, หม่อม. (๒๕๓๘). คำให้สัมภาษณ์ ในสุวิทย์ ไพทยวัฒน์ (บรรณาธิการ) พระราช ประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่า. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. หน้า ๓๗-๕๙.

ดินาร์ บุญธรรม. (๒๕๕๐). พระราชกรณียกิจ: การแสดงบทบาทในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีแบบสากล. เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์เขียนขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำบทนิทรรศการถาวรสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณีฯ ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ดำรัสดำรงค์ เทวกุล, หม่อมเจ้า. (๒๕๐๔). จดหมายเหตุระยะทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ ประพาสสิงคโปร์ ชวา และบาหลี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาไพชยนต์ เทพ (ทองเจือ ทองเจือ) ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ๒๒ เมษายน. พระนคร: โรงพิมพ์เรือง ธรรม.

เทววงศ์วโรทัย, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. (๒๔๗๓). กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ลงวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานว่าด้วยสภาผู้แทนราษฎรในชะวา พร้อมด้วยเอกสารประกอบรวม ๕ ฉบับ. เอกสารกรมราชเลขานุการ ร.๗ รล. ๑๗ เล่ม ๔ เรื่องที่ ๖๓.

ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ๒๔๙๒. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาฯ ทรงพิมพ์แจกในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่ กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ.

Beck. Sanderson Beck: www. San. Beck. Org/20-11 Indonesia 1800-1950. Html. (accessed on July 7, 2015)