สมาคมนักกฎหมายแห่งอาเซียน (ASEAN Law Association)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:58, 18 มีนาคม 2559 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย '==บทนำ== ต้นกำเนิดของสมาคมนักกฎหมายแห่งอาเซียนน...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

บทนำ

ต้นกำเนิดของสมาคมนักกฎหมายแห่งอาเซียนนั้น เกิดขึ้นจากที่ประชุมพัฒนากฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซียในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979 ซึ่งในขณะนั้น มีประเทศที่เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน 5 ประเทศ อันได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย โดยที่ประชุมมองว่านักกฎหมายมีบทบาทสำคัญในการสร้างความร่วมมือภายในภูมิภาคดังนั้นที่ประชุมจึงตัดสินใจว่าควรจะมีการก่อตั้งสมาคมนักกฎหมายอาเซียนขึ้น [1]

วัตถุประสงค์ของสมาคมนักกฎหมายอาเซียน

สมาคมนักกฎหมายแห่งอาเซียนมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 4 ประการ[2] ได้แก่

1. เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และเข้าใจตรงกันของนักกฎหมายในอาเซียน

2. เพื่อจัดกรอบการทำงานขององค์กรเพื่อความร่วมมือกันในภูมิภาค โดยกรอบความร่วมมือมี 3 เรื่องใหญ่ๆได้แก่ การศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของกฎหมายซึ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายในภูมิภาค การส่งเสริมและสร้างความสะดวกในการประสานงานระหว่างนักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ศูนย์วิจัยกฎหมาย และสถาบันอื่นๆของอาเซียน และสุดท้ายเพื่อดำเนินการวัตถุประสงค์ต่างๆที่ได้กำหนดไว้ในบันทึกการประชุม การแถลงการณ์ต่างๆ รวมไปถึงจากการหารือกันระหว่างองค์กร ที่ประชุมใหญ่ และข้อตกลงอื่นๆ

3. เพื่อช่วยให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกมีอุปสรรคทางกฎหมายให้น้อยลง

4. ประสานกับนานาประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคเพื่อให้จุดประสงค์ต่างๆข้างต้นเป็นจริงได้

โครงสร้างองค์กรและการทำงานของสมาคมนักกฎหมายแห่งอาเซียน

3.1 ที่ประชุมสมัชชา

ที่ประชุมสมัชชานั้นประกอบไปด้วยตัวแทนจากชาติอาเซียนทุกประเทศ โดยที่ประชุมสมัชชานั้นจะจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยประเทศสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพโดยเวียนกันตามตัวอักษร ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้งประเทศสมาชิกจะส่งตัวแทนมาตามจำนวนที่กำหนดไว้ในระเบียบลำดับรองลงมา ทั้งนี้องค์ประชุมของที่ประชุมสมัชชาจะต้องประกอบด้วยตัวแทนไม่น้อยกว่า 6 ประเทศสมาชิก

อำนาจของที่ประชุมสมัชชานั้นได้แก่ การกำหนดนโยบายของสมาคม ตัดสินใจและยอมรับความเห็นตามรายงานของกรรมการสมาคม เลือกตั้งเจ้าหน้าที่ของสมาคม ทำการแก้ไขธรรมนูญของสมาคม ยกเลิกกฎระเบียบใดๆที่คณะกรรมการได้ตั้งขึ้น จัดหาสถานที่ประชุมสมัชชาในแต่ละครั้ง และกระทำการอื่นใดที่เหมาะสมหรือจำเป็นเพื่อการส่งเสริมและรักษาผลประโยชน์ของสมาคมเอาไว้ ซึ่งในการตัดสินใจในเรื่องใดๆจะต้องให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมด [3]

3.2 คณะมนตรีบริหาร

มีหน้าที่หลักในการดำเนินงานของสมาคม และออกกฎระเบียบลำดับรองอื่นๆที่ไม่ล่วงเกินไปยังอำนาจของสมัชชาที่ประชุมใหญ่ โดยสมาชิกของคณะมนตรีบริหารจะประกอบไปด้วย 5 สมาชิกหลักจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียนอันได้แก่ตัวแทนนักกฎหมายของภาครัฐ ตัวแทนตุลาการของประเทศนั้นๆ ตัวแทนทนายฝึกหัดของประเทศนั้นๆ ตัวแทนอาจารย์สอนกฎหมาย และ ตัวแทนอื่นๆอีก 1 คน

อำนาจของคณะมนตรีบริหารที่สำคัญก็เช่น การออกกฎระเบียบเพื่อบังคับใช้กับประเทศสมาชิก การเสนอแนวทางปฏิบัติให้รัฐ การจัดประชุมคณะมนตรีบริหาร การอนุมัติงบประมาณ การกำหนดหัวข้อการประชุมสมัชชา และการกำหนดและแต่งตั้งหน้าที่พนักงานของสมาคมตามที่เห็นสมควร [4]

3.3 สำนักเลขาธิการสมาคม

สถานที่ตั้งของสำนักเลขาธิการสมาคมนั้นตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา หัวหน้าของสำนักเลขาธิการสมาคมซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมสมัชชามีหน้าที่ในการดูแลตราประทับและบันทึกของสมาคม มีหน้าที่ในการเข้าร่วมประชุมและจับเวลาการประชุม แต่งตั้งพนักงานและตัวแทนของสมาคมตามความเหมาะสมเพื่อให้ดำเนินการแทนตนขณะที่ตนไม่ปฏิบัติหน้าที่ได้ และหน้าที่อื่นๆตามที่คณะมนตรีหรือประธานสมาคมมอบหมายให้เป็นครั้งคราว[5] โดยหัวหน้าคนปัจจุบันคือ นาย SwandyHalim ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมสมัชชาครั้งที่ 11 ในปี ค.ศ. 2012 [6]

นอกจากคณะทำงานต่างๆตามที่ปรากฏอยู่ในธรรมนูญของสมาคมแล้วนั้น ยังมีคณะทำงานย่อยอื่นๆอีกที่ช่วยงานในสมาคม เช่น

3.4 คณะกรรมการถาวร

สมาคมนักกฎหมายอาเซียนมีคณะกรรมการถาวรทั้งหมด 7 คณะ เพื่อทำหน้าที่ในการศึกษาเรื่องต่างๆในแง่มุมของกฎหมายเพื่อแสวงหาความร่วมมือกันภายในภูมิภาคอาเซียน โดยเรื่องทั้ง 7 ที่ทำการศึกษานั้นได้แก่ ความร่วมมือกันในการพิจารณาคดี กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายธุรกิจ การระงับข้อพิพาททางเลือก การเรียนการสอนด้านกฎหมาย อาชีพด้านกฎหมาย และ ข้อมูลด้านกฎหมายต่างๆ [7]

3.5 คณะกรรมการแห่งชาติ

เป็นคณะกรรมการของสมาคมที่ประจำอยุ่ในทุกประเทศ โดยสมาชิกของคณะกรรมการนี้ในแต่ละประเทศจะมีไม่เกินไปกว่า 10 คน ซึ่งได้มากจากการคัดเลือกของสมาคม โดยสมาชิกอย่างน้อย 2 คนจะต้องเป็นผู้พิพากษา นักกฎหมายของภาครัฐ นักกฎหมายฝึกหัด หรือ อาจารย์สอนกฎหมายของประเทศนั้นๆ ในส่วนของการทำงานนั้น หน้าที่ของคณะกรรมการแห่งชาตินี้จะถูกกำหนดโดยคณะมนตรีบริหาร ซึ่งจะมอบหมายให้แต่ละคณะต่างๆกันไปเป็นครั้งคราว [8]

3.6 กลุ่มวิจัยเกี่ยวกับองค์การการค้าโลก

จากการประชุมสมัชชาครั้งที่ 8 ณ ประเทศสิงคโปร์ในปี ค.ศ.2003 ได้มีการหารือกันถึงเรื่องการที่ประเทศสมาชิกหลายๆประเทศจะนั้นเข้าหรือ หรือตั้งใจจะเข้าร่วมกับองค์การการค้าโลก ซึ่งนโยบายขององค์การการค้าโลกนั้นอาจจะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้ เพราะองค์การการค้าโลกมีการแบ่งแยกกลุ่มประเทศเป็นประเทศด้อยพัฒนากับประเทศพัฒนาอย่างชัดเจน การกำหนดแนวทางต่างๆขององค์การนั้นก็มักจะขึ้นอยู่กับเหล่าประเทศพัฒนาแล้ว การดำเนินงานจึงค่อนข้างเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเตรียมความพร้อมของประเทศสมาชิกในการเข้าร่วมกับองค์การการค้าโลก ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าอาเซียนนั้นอาจจะไม่มีความพร้อมมากเพียงพอ ด้วยความกังวลเช่นนี้ ที่ประชุมจึงตัดสินใจที่จะให้มีการหารือในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้นทั้งในระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกันและผู้เชี่ยวชาญจากที่อื่นที่นอกเหนือไปจากองค์การการค้าโลก เพื่อที่อาเซียนจะได้รวมตัวกันรักษาผลประโยชน์ของตนเอาไว้ได้ ณ จุดนี้เองที่เป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่มวิจัยเกี่ยวกับองค์การการค้าโลกขึ้น [9]

4. การประชุม

การประชุมสมัชชานั้นจะจัดขึ้นในทุกๆ 3 ปี ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะมีการหารือกันในประเด็นสำคัญๆต่าง เช่น

4.1 การประชุมสมัชชาครั้งที่ 8

ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการพยายามที่จะหาแนวทางในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการพิจารณาคดีซึ่งต้องโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ การบริการกฎหมายข้ามพรมด้านภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลกโดยที่ประชุมเห็นว่าควรที่จะให้แต่ละประเทศสามารถบังคับใช้กฎหมายของประเทศตนและกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆได้ในทุกประเทศสมาชิก เพียงแต่ยังมีอุปสรรคหลายๆแง่ที่ต้องแก้ไข เช่น ภาษาและความต่างกันของกฎหมาย การพัฒนาระบบการศึกษากฎหมายซึ่งควรจะศึกษาให้เข้ากับโลกาวิวัฒน์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม สัญญาการค้าขายไฟฟ้าในภูมิภาคเองก็เป็นอีกเรื่องที่มีการหารือกัน โดยมองว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ต่างกันอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการค้าขายได้ ซึ่งยังคงต้องหาทางแก้ไขในเรื่องนี้ต่อไป และสุดท้ายคือการก่อตั้งกลุ่มวิจัยเกี่ยวกับองค์การการค้าโลก ซึ่งเห็นควรให้ก่อตั้งขึ้นเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของสมาชิกอาเซียนที่จะเข้าร่วมกับองค์การการดังกล่าวและรักษาผลประโยชน์ของตนเอาไว้ [10]

4.2 ผลการประชุมสมัชชาครั้งที่ 9

มีการประชุมหารือในหัวข้อหลักๆ ได้แก่ การเรียนการสอนกฎหมายในศตวรรษที่ 21 ควรสอดคล้องกับโลกาวิวัฒน์ ควรมีการเพิ่มเนื้อหาในวิชาที่ไม่ใช่กฎหมายเข้าไป และควรมีการพัฒนาแหล่งข้อมูลทางกฎหมาย การคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรีจากการค้ามนุษย์ การกระทำผิดทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีการพิจารณาให้การกระทำผิดดังกล่าวมีโทษที่รุนแรงขึ้น ทั้งในเรื่องของโทษอาญาและการชดใช้เยียวยาผู้เสียหายเป็นตัวเงินผลกระทบขององค์การการค้าโลกและความร่วมมือทางการค้าภายในภูมิภาคต่ออาเซียน และ การฟ้องคดีและประโยชน์สาธารณะโดยเห็นว่าควรจะมีองค์กรที่จะมาควบคุมดูแลให้การดำเนินคดีนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่ต้องให้ทุกคดีความต้องขึ้นสู่ศาล [11]

4.3 ผลการประชุมสมัชชาครั้งที่ 10

มีการประชุมทั้งหมด 6 หัวข้อ โดยเน้นไปที่การศึกษาผลกระทบจากกฎบัตรอาเซียนที่จะมีต่อกฎหมาย ทั้งในแง่ของการศึกษา การขนย้ายแรงงานข้ามชาติ การปฏิรูปกฎหมายภายในของประเทศสมาชิก หรือแม้กระทั่งการค้าขายภายในภูมิภาค ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับกฎบัตรอาเซียนด้วย เพื่อที่จะเป็นการปูทางให้กับกฎหมายอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้เพื่อประโยชน์ในการสร้างประชาคมทั้งสามของอาเซียน จำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มหลักเกณฑ์และกฎหมายใหม่ๆอีกมาก มีความพยายามที่จะผลักดันให้สมาคมกับหน่วยงานอาเซียนนั้นร่วมมือกัน และวางแผนในการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างตุลาการกลางขึ้น รวมไปถึงการระงับข้อพิพาทด้วยอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นจะต้องมีการประสานกฎหมายภายในของตนให้สามารถนำระบบดังกล่าวมาใช้ได้ [12]

4.4 การประชุมสมัชชาครั้งที่ 11

ในท้ายที่สุดของการประชุมครั้งนี้มีความเห็นร่วมกันว่าสมาคมนักกฎหมายอาเซียนควรที่จะมีการวางแนวทางในการศึกษาและวิเคราะห์กฎหมายภายในภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งระบุให้ได้ว่ามีปัญหาใดที่พบบ่อยหรือกฎหมายใดที่อาจจะก่อให้เกิดผลเสียได้ พร้อมทั้งยกระดับวิชาชีพกฎหมายให้ผู้ที่ประกอบวิชาชีพมีความเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความซื่อสัตย์ และสุดท้ายคือการผลักดันให้สมาคมมีส่วนร่วมและร่วมมือกับองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และสถานศึกษาต่างๆ เรื่องที่หารือกันในครั้งนี้ก็เช่นการสร้างศูนย์กฎหมายอาเซียน การประสานกฎหมายธุรกิจของแต่ละประเทศสมาชิกเข้าด้วยกัน การใช้การระงับข้อพิพาททางเลือก และผลกระทบจากกฎบัตรอาเซียนที่มีต่อกฎหมาย [13]

บทบาทของสมาคมนักกฎหมายอาเซียนและทิศทางที่ควรจะเป็นในอนาคต

สมาคมนักกฎหมายอาเซียนเป็นที่ร่วมตัวกันของนักกฎหมายชั้นนำของภูมิภาคทั้งจากภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายหรือคณาจารย์ผู้สอนกฎหมาย สมาคมนี้จึงมีบทบาทอย่างมากในการสร้างเครือข่ายนักกฎหมายอาเซียน ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูลและวิทยาการต่างๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนากฎหมายในภาพรวม แต่อย่างไรก็ดีแม้ว่าข้อมูลการศึกษาค้นคว้าต่างๆของสมาคมกับหน่วยงานต่างๆในอาเซียนจะได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นทางการ [14] ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้หรือนำไปอ้างอิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระนั้นในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะมีการร่วมมือกันระหว่างองค์กรมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากรายงานการประชุมของทางสมาคมที่พยายามผลักดันความร่วมมือดังกล่าว รวมไปถึงที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านกฎหมายซึ่งได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะสนับสนุนการทำงานของสมาคมนักกฎหมายอาเซียนด้วย [15] ดังนี้หากความร่วมมือระหว่างสมาคมนักกฎหมายอาเซียนกับหน่วยงานอื่นๆของอาเซียนได้รับการพัฒนา สิ่งนี้น่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาในแง่กฎหมายของอาเซียน โดยสมาคมนักกฎหมายอาเซียนนั้นจะมีส่วนสำคัญในการเสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงและการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆในอาเซียน รวมไปถึงจะมีส่วนช่วยในการประสานกฎหมายที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิกได้

บรรณานุกรม

ASEAN Law Association. 2014. “Brief History.” http://www.aseanlawassociation.org/history.html (accessed June 15, 2015)

ASEAN Law Association. 2014. “Secretary-General.” http://www.aseanlawassociation.org/secgen.html (accessed June 15, 2015)

ASEAN Law Association. 2014. “Standing Committee.” http://www.aseanlawassociation.org/standingcommittees.html (accessed June 15, 2015)

PornchaiDanvivathana. 2010. “Role of ALA in the Current Legal Issues under the ASEAN Charter.”http://www.thailawforum.com/articles/Role-of-ALA.html (accessed June 15, 2015)

REPORT OF THE RAPPORTEUR-GENERAL (2 Dec 2003) (2003)

REPORT OF THE GENERAL RAPORTEUR(17 October 2009) (2009)

REPORT OF THE RAPPORTEUR GENERAL TO THE 34TH GOVERNING COUNCIL OF THE ASEAN LAW ASSOCIATION (2012)

อ้างอิง

  1. ASEAN Law Association. 2014. “Brief History.” http://www.aseanlawassociation.org/history.html(accessed June 15, 2015)
  2. Constitution of The ASEAN Law Association (2004): article 2.
  3. Constitution Of The ASEAN Law Association (2004): article 5
  4. Constitution Of The ASEAN Law Association (2004): article 6
  5. Constitution Of The ASEAN Law Association (2004): article 7
  6. ASEAN Law Association. 2014. “Secretary-General.” http://www.aseanlawassociation.org/secgen.html (accessed June 15, 2015)
  7. ASEAN Law Association. 2014. “Standing Committee.” http://www.aseanlawassociation.org/standingcommittees.html (accessed June 15, 2015)
  8. BY-LAWS OF THE ASEAN LAW ASSOCIATION (2004)
  9. REPORT OF THE RAPPORTEUR-GENERAL (2 Dec 2003) (2003)
  10. Ibid 9.
  11. The Ninth Session of the General AssemblyOf the ASEAN Law AssociationBangkok, Thailand22-25 November 2006Report of the Rapporteur-General (2006)
  12. REPORT OF THE GENERAL RAPORTEUR(17 October 2009) (2009)
  13. REPORT OF THE RAPPORTEUR GENERAL TO THE 34TH GOVERNING COUNCIL OF THE ASEAN LAW ASSOCIATION (2012)
  14. PornchaiDanvivathana. 2010. “Role of ALA in the Current Legal Issues under the ASEAN Charter.”http://www.thailawforum.com/articles/Role-of-ALA.html(accessed June 15, 2015)
  15. Joint Statement of the Seventh ASEAN Law Ministers Meeting (ALAWMM) Bandar Seri Begawan, 20 October 2008 (2008)