มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation)
บทนำ
จุดเริ่มต้นของมูลนิธิอาเซียนนั้นได้เกิดขึ้นจากดำริของ ประธานาธิบดีซูฮาร์โต[1] ในระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่1 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ.1996 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย[2] ต่อมาในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting) ครั้งที่ 30 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1997 ที่ประชุมก็ได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียนซึ่งนำสู่การก่อตั้งมูลนิธิอาเซียนขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ.1997 มูลนิธิอาเซียนที่ตั้งอยู่ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย [3]
เป้าหมายและวัตถุประสงค์
มูลนิธิอาเซียนเป็นองค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการก็คือ
1.เสริมสร้างจิตสำนึกของความเป็นอาเซียนให้แก่ภาคประชาชน ด้วยการให้ประชาชนนั้นเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของอาเซียนให้มากขึ้น เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนด้วยกันในอาเซียน
2.ดำเนินการด้านต่างๆเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น[4] โดยใช้วิธีการดำเนินการในด้านต่างๆ เช่นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น การส่งเสริมการทำอาชีพการเกษตรการประมง และการจัดการทางอุบัติภัย[5] เป็นต้น การให้ภาคประชาชนเข้าใจถึงศักยภาพของตน และสามารถนำศักยภาพและความสามารถของตน นำมาส่งเสริมการพัฒนาของอาเซียนเพื่ออนาคตที่มั่งคงของอาเซียนต่อไป
กิจกรรมหลักของมูลนิธิก็คือ การสนับสนุนการวิจัย การฝึกอบรมในด้านต่างๆ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิชาชีพ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการต่างๆ การสนับสนุนด้านการศึกษาผ่านการมอบทุนการศึกษาและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเยาวชนแก่นักศึกษาในอาเซียน ในสาขาการพัฒนาการเกษตร พลังงาน สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางธรรมชาตินอกจากนี้ยังสร้างโครงการการพัฒนาต่อยอดในด้านดังกล่าว โดยมีโครงการการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่ชายฝั่ง แหล่งน้ำ และพลังงานทางเลือก เป็นต้นและโครงการพัฒนาด้านสังคมที่ครอบคลุมไปถึงด้านเกษตรกรรม [6]
บทบาทและหน้าที่
กฎบัตรอาเซียน ข้อ15 ได้กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของมูลนิธิอาเซียนไว้ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ [7]
1.ให้มูลนิธิอาเซียนสนับสนุนเลขาธิการอาเซียนและดำเนินการร่วมกับองค์กรของอาเซียนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน โดยการส่งเสริมความสำนึกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับ อัตลักษณ์ของอาเซียน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและการดำเนินงานร่วมกันที่ใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในอาเซียน
2.ให้มูลนิธิอาเซียนรับผิดชอบต่อเลขาธิการอาเซียนผู้ซึ่งต้องเสนอรายงานของมูลนิธิ ต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนผ่านคณะมนตรีประสานงานอาเซียน เสริมความตระหนักถึงอัตลักษณ์อาเซียน สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และเหล่าผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในอาเซียน การดำเนินงานโครงการต่างๆ นั้นจะได้รับมอบหมายจากผู้นำหรือรัฐมนตรีอาเซียน โดยเงินทุนสนับสนุนนั้นได้มาจากเงินบริจาคของประเทศสมาชิกอาเซียน บริษัทเอกชน มูลนิธิอื่นๆ หรือบุคคลทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น สมทบเงินจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศจีนและประเทศเกาหลีใต้ สมทบเงินจำนวน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
ปัจจุบัน มูลนิธิอาเซียนได้ให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่เสนอโดยสถาบันระดับชาติหรือระดับภูมิภาค องค์การของรัฐบาลหรือเอกชน เพื่อการพัฒนาอาเซียน ผ่านการมอบทุน ประชุมสัมนา อบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นจำนวนมากกว่า 200 โครงการโครงการที่จัดโดยมูลนิธิอาเซียนอาจแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลักๆ ดังนี้ [8]
1.ด้านพัฒนาเยาวชนและบุคลากร
1.1.ให้การสนับสนุน ASEAN University Network (AUN) ในการบริหารงานและจัดการประชุมรวมผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาค กว่า25 ครั้ง ในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์
1.2.The ASEAN Youth Science Summit : มูลนิธิอาเซียนร่วมมือกับญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ จัดโครงการเพื่อให้เยาวชนอาเซียนตระหนักถึงปัญหาวิทยาศาสตร์ที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
1.3. ASEAN Foundation Scholarship Programme :มูลนิธิอาเซียนได้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาสังคมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์แก่มหาวิทยาลัยในในภูมิภาค อาทิASEAN Institute of Technology (AIT),National University of Singapore (NUS)เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา และพัฒนาคุณภาพการดำรงชีวิตของประชาชนซึ่งมีมหาวิทยาลัยไทยที่เข้าร่วมได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น
2.ด้านสังคมการให้ความรู้แก่ภาคประชาชน
2.1.โครงการ ASEAN CSR Network: A Network of CSR Practitioners in ASEAN Countriesเพื่อศึกษาสภาวะความรับผิดชอบทางสังคมของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้การพัฒนาของแต่ละประเทศเป็นไปอย่างสอดคล้องและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2.2.ร่วมมือกับ Microsoft Indonesia ในด้านการเผลแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยจัดทำสื่อวีดีทัศน์อาเซียนแจกจ่ายไปยังศูนย์ชุมชนในประเทศอินโดนีเซีย
3.ด้านการแก้ไขปัญหายากจนในอาเซียน
3.1.สนับสนุนสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (The ASEAN Institute of Technology-AIT)จัดโครงการ “Capacity Building in Poverty Mapping in the ASEAN Member Countries”เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในปัญหาความยากจน โดยมีผู้เข้าร่วมจากเหล่าประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้เชี่ยวชาญ นิสิตนักศึกษา
การบริหารงานมูลนิธิอาเซียน
กลไกด้านการบริหารที่สำคัญคือ คณะกรรมการบริหาร ประกอบไปด้วย ผู้อำนวยการบริหาร สภาที่ปรึกษา และคณะเจ้าหน้าที่ประจำสำนักเลขาธิการมูลนิธิอาเซียน [9]โดยอยู่ภายใต้การดูแลของเลขาธิการอาเซียน ซึ่งจะคอยส่งรายงานต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
งบประมาณการดำเนินงาน
ในทุกๆปี ประเทศสมาชิกจะต้องให้เงินทุนสนับสนุนแก่มูลนิธิอาเซียน 15,000 เหรียญ มูลนิธิอาเซียนได้รับเงินสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ยกตัวอย่างเช่น การเข้าร่วมกับสมาคมเกษตรกรเอเชีย(Asian Farmers Association (AFA)) ทำให้ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการเกษตรนานาชาติ (The International Fund for Agricultural Development (IFAD)) โดยสิ้นปี ค.ศ.2014 มีรายได้เข้ามูลนิธิ 185,389 เหรียญสหรัฐ มูลนิธิมีเงินทุนบริจาคจำนวน 3.12 ล้านเหรียญสหรัฐ และทุนสำหรับลงทุนหมุนเวียนรวม167,695 เหรียญสหรัฐ [10]
บรรณานุกรม
กองการสื่อสารมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ,2557."มูลนิธิอาเซียน:แหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาอาเซียน."http://www.ryt9.com/s/ryt9/260106(accessed July 1 ,2015)
ฐกร ภูวสุวรรณ.2557."มูลนิธิอาเซียน."<http://www.aec.thanjob.com/aec/คอลัมน์-aec-pedia/1794-มูลนิธิอาเซียน-asean-foundation.html > (accessed July 1 ,2015)
สำนักงานศึกษาธิการภาค8.2557. “ความร่วมมือกับมูลนิธิอาเซียน.”<http://www.reo8.moe.go.th/index.php/knowledgeasean/420--m---m-s> (accessed July 3 ,2015)
อักษรเจริญทัศน์.2555.“มูลนิธิอาเซียน(ASEAN Foundation).” <http://www.aksorn.com/lib/detail_print.php?topicid=529> (accessed July 5 ,2015)
ASEAN Foundation.2014."The ASEAN Foundation"<http://www.asean.org/archive/publications/ASEAN-Charter.pdf>(accessed July 7 ,2015)
Bernamanews.2015. “REPORT OF THE EXECUTIVE DIRECTOR OF THE ASEAN FOUNDATION TO THE 26TH ASEAN SUMMIT.” http://asean2015.bernama.com/psdetail.php?id=786 (Acesssed 11Jan,2016)
Terra viva grants directory.2014.”ASEAN Foundation.” www.Terravivagrants.org/home/view-grant-makers/asean-foundation.com (accessed July 3 ,2015)
อ้างอิง
- ↑ อดีตประธานาธิบดี ประเทศอินโดนีเซีย
- ↑ ฐกร ภูวสุวรรณ.2557."มูลนิธิอาเซียน."< http://www.aec.thanjob.com/aec/คอลัมน์-aec-pedia/1794-มูลนิธิอาเซียน-asean-foundation.html >(accessed July 1 ,2015)
- ↑ สำนักงานศึกษาธิการภาค8.2557. “ความร่วมมือกับมูลนิธิอาเซียน.”<http://www.reo8.moe.go.th/index.php/knowledgeasean/420--m---m-s> (accessed July 3 ,2015)
- ↑ อักษรเจริญทัศน์.2555.“มูลนิธิอาเซียน(ASEAN Foundation).”<http://www.aksorn.com/lib/detail_print.php?topicid=529>(accessed July 5 ,2015)
- ↑ Terra viva grants directory.2014.”ASEAN Foundation.”www.Terravivagrants.org/home/view-grant-makers/asean-foundation.com (accessed July 3 ,2015)
- ↑ ฐกร ภูวสุวรรณ.2557.อ้างแล้ว.
- ↑ ASEAN CHARTER : Article 15
- ↑ ฐกร ภูวสุวรรณ.2557.อ้างแล้ว.
- ↑ กองการสื่อสารมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ,2557."มูลนิธิอาเซียน:แหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาอาเซียน."http://www.ryt9.com/s/ryt9/260106(accessed July 1 ,2015)
- ↑ Bernamanews.26-27 April 2015.REPORT OF THE EXECUTIVE DIRECTOR OF THE ASEAN FOUNDATION TO THE 26TH ASEAN SUMMIT.http://asean2015.bernama.com/psdetail.php?id=786 (Acesssed 11Jan,2016)