AEC Blueprint

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:38, 16 มีนาคม 2559 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย '==ประวัติความเป็นมา== ในการประชุมสุดยอดอาเซียนค...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ประวัติความเป็นมา

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9 เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2003 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียนั้น ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Bali Concord II) [1] เห็นชอบให้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) [2] ทั้งนี้ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ในการประชุมสุดอาเซียนครั้งที่ 12 เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2007 ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาเซบูว่าด้วยการเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ให้บรรลุผลจากเดิมที่กำหนดไว้ในปี ค.ศ. 2020 เป็น ค.ศ. 2015 ด้วยเหตุนี้เอง ส่งผลให้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำประเทศได้ลงนาม “ปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน” ( Declaration of the ASEAN Economic Community Blueprint) [3] โดยแผนงานนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่

1. แผนงานในเชิงบูรณาการในด้านเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายในปี ค.ศ. 2015 หรือพิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint)

2. ตารางเวลาดำเนินกิจกรรมต่างๆ (Strategic Schedule) [4]

วัตถุประสงค์ของ AEC Blueprint

AEC Blueprint มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางและแผนงานในด้านเศรษฐกิจที่จะต้องดำเนินงานให้ชัดเจนตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องเจรจาตกลงกันว่า จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี ค.ศ. 2015 [5] และสร้างข้อกำหนดระหว่างประเทศสมาชิกที่จะดำเนินการไปสู่เป้าหมายร่วมกันดังกล่าว ทั้งนี้การจัดให้มี AEC Blueprint นั้น คล้ายกับกรณีของการทำเกณฑ์อ้างอิง(Benchmark)ในด้านเศรษฐกิจตามช่วงระยะเวลาต่างๆของสหภาพยุโรป [6]

องค์ประกอบของ AEC Blueprint

แผนงานในเชิงบูรณาการในด้านเศรษฐกิจต่างๆหรือพิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC Blueprint) มีองค์ประกอบที่สำคัญทั้งหมด 4 เรื่อง[7] ได้แก่

1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (Single Market & Production Base) ซึ่งองค์ประกอบนี้จะนำไปสู่การใช้กฎระเบียบการค้าในประเทศสมาชิกทั้งหมดเป็นอย่างเดียวกัน(Harmonization of Rules and Regulations) ทั้งในด้านมาตรฐาน คุณภาพ ราคา อัตราภาษีรวมถึงกฎระเบียบในการซื้อขาย การขจัดมาตรการและข้อกีดกันต่างๆรวมถึง การมีมาตรการอำนวย ความสะดวกทางการค้า เงื่อนไขการเคลื่อนย้ายบุคคล สัญชาติอาเซียน ประเภทการบริการและการลงทุนที่เสรีมากขึ้น[8] ตัวอย่างเช่น การยกเลิกภาษีศุลกากร การยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) การอำนวยความสะดวกทางการค้า การจัดตั้ง ASEAN Single Window ปรับประสานมาตรฐานและลดอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า รวมถึงการเปิดเสรีภาพทางการค้าและการลงทุน

2. การสร้างอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงในเวทีการค้าโลก (Highly Competitive Economic Region) คือ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งจะให้ความสำคัญกับประเด็นนโยบายอื่นๆที่จะช่วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยการออกกฎหมายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขนส่ง เป็นต้น การจัดระบบการค้าให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม และ มาตรฐานทางภาษีที่เหมาะสม

3. การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกอาเซียน(Equitable Economic Development) กรณีนี้จะเป็นการสนับสนุนและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เน้นการมีส่วนร่วมและขยายตัวของ SMEs การลดช่องว่างระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกใหม่ (CLMV)[9] และสมาชิกเก่า(ASEAN6)ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการ Initiative for ASEAN Integration (IAI) และ ASEAN-help-ASEAN Program เป็นต้น

4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Integration into Global Economy)องค์ประกอบนี้จะเน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจ ของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค โดยดำเนิน 2 มาตรการ [10]ประกอบด้วย

1.การจัดทําเขตการค้าเสรี(FTA) การให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุนภายใต้เขตการลงทุนอาเซียน (AIA : ASEAN Investment Area) กับนักลงทุนภายนอกอาเซียน และ

2. การมีส่วนร่วมในเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน คือการมีส่วนร่วมในการผลิตและจำหน่าย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีก [11] ได้แก่ การปรับปรุงกลไกด้านสถาบันโดยการจัดตั้งกลไกการหารือระดับสูง ประกอบด้วยผู้แทนระดับรัฐมนตรีทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนอาเซียนตลอดจนการพัฒนากลไกการตรวจสอบติดตามผลการดำเนิน (Peer Review) และจัดหาแหล่งทรัพยากรสำหรับการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ

ตารางสรุปรายละเอียดAEC Blueprint[12]

บรรณานุกรม

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม.2013.องค์ประกอบของ AEC Blueprint. http://www.dip.go.th/Portals/0/AEC/องค์ประกอบของAEC_Blueprint.pdf (accessed April 23.2015).

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.2555.ประชาคมอาเซียนกับตัวชี้วัดความสำเร็จ. http://tdri.or.th/tdri-insight/asean_measures/(accessed April 24 2015).

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ.2013. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) : โอกาสและผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย บทวิเคราะห์โอกาสและผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย จากการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC). http://www.senate.go.th/km_senate2/doc/asean/asean4%20Thai_Industry_and_AEC.pdf (accessed April 23. 2015).

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม.2553.ถนนสู่ AEC เพื่อ SMEs ไทย. www.sme.go.th/Documents/internationalization/ถนนสู่%20AEC%20เพื่อ%20SMEs%20ไทย.pdf2553 (accessed April 23.2015).

สภาปฏิรูปแห่งชาติ.2555.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน. https://edoc.parliament.go.th/getfile.aspx?id=589926&file=04.%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99.pdf&download=1.(accessed April 24 2015).

สำนักอาเซียน.2550.พิมพ์เขียวเพื่อการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint). http://www.thailandaec.com/files/834/1/aec_blueprint1.pdf (accessed April 23 2015).

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้.2013.AEC Blueprint. http://www.maejopoll.mju.ac.th/goverment/20111119104835_2011_maejopoll/Doc_25570616153529_431996.pdf (accessed April 24 2015).

Xinhua .2013.Backgrounder: Chronology of previous ASEAN summits. http://www.globaltimes.cn/content/816159.shtml. (accessed April 24 2015).


อ้างอิง

  1. ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Bali Concord II) เกิดขึ้นเนื่องจาก รัฐภาคีอาเซียนเห็นพ้องร่วมกันที่จะขยายความร่วมมือในเชิงลึกมากขึ้น ด้วยการพัฒนาความร่วมมือในการก่อตั้ง 3 เสาหลัก ที่ประกอบด้วยด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม วัฒนธรรม เพื่อทำให้รัฐภาคีร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และนำมาซึ่งผลประโยชน์ด้านสันติภาพ เสถียรภาพ อันจะก่อให้เกิดความรุ่งเรืองในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ภายใต้กรอบที่มีความเป็นพลวัตร มีความยืดหยุ่นท่ามกลางการอยู่ร่วมกันในประชาคมอาเซียน
  2. ประชาคมอาเซียนประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก คือ 1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community–ASC) 2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC ) เเละ 3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC)
  3. Xinhua .2013.“Backgrounder: Chronology of previous ASEAN summits”.http://www.globaltimes.cn/content/816159.shtml. (accessed April 24 2015).
  4. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ.2013. “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) : โอกาสและผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย บทวิเคราะห์โอกาสและผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย จากการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)”. http://www.senate.go.th/km_senate2/doc/asean/asean4%20Thai_Industry_and_AEC.pdf (accessed April 23. 2015).
  5. สภาปฏิรูปแห่งชาติ.2555.”ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”.
  6. สำนักอาเซียน.2550.”พิมพ์เขียวเพื่อการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซ๊ยน (AEC Blueprint)”. http://www.thailandaec.com/files/834/1/aec_blueprint1.pdf (accessed April 23 2015).
  7. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม.2013.”องค์ประกอบของ AEC Blueprint “ http://www.dip.go.th/Portals/0/AEC/องค์ประกอบของAEC_Blueprint.pdf (accessed April 23.2015).
  8. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางเเละขนาดย่อม.2553.”ถนนสู่ AEC เพื่อ SMEs ไทย”. http://www.sme.go.th/Documents/internationalization/ถนนสู่%20AEC%20เพื่อ%20SMEs%20ไทย.pdf2553(accessed April 23.2015).
  9. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.2555.”ประชาคมอาเซียนกับตัวชี้วัดความสำเร็จ”. http://tdri.or.th/tdri-insight/asean_measures/(accessed April 24 2015).
  10. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้.2013.”AEC Blueprint”. http://www.maejopoll.mju.ac.th/goverment/20111119104835_2011_maejopoll/Doc_25570616153529_431996.pdf (accessed April 24 2015).
  11. สำนักอาเซียน.2550.อ้างแล้ว.
  12. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม.2013. อ้างแล้ว.